บันทึกที่ ๕ ปัญหาเกี่ยวกับ การสร้างรากฐานของความเจริญที่แท้

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 14 จาก 20 ตอนของ

บันทึกที่ ๕
ปัญหาเกี่ยวกับ

การสร้างรากฐานของความเจริญที่แท้

 

เลียนได้ แต่ไม่ได้เรียน

ความเจริญแบบสมัยใหม่ของไทย ถือว่าเริ่มขึ้นเมื่อเริ่มรับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ สังคมไทยได้นำเอาระบบการต่างๆ ของสังคมตะวันตกมาใช้ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า พยายามทำตามอย่างความเจริญของตะวันตก และพร้อมกับการรับความเจริญอย่างใหม่นั่นเอง ปัญหาใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย เป็นปัญหาที่เกิดจากการปรับตัวไม่ดี หรือการเอาอย่างโดยไม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่จะเอา และปรับสิ่งที่จะเอาให้เข้ากับตัว

ปัจจุบันนี้ แม้จะมีการพูดว่าจะไม่ตามฝรั่ง ไม่เอาอย่างฝรั่ง อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตามสภาพที่ปรากฏอยู่ ก็ต้องยอมรับอยู่นั่นเองว่า สังคมไทยยังพยายามทำตามอย่างสิ่งที่เรียกว่าความเจริญในสังคมตะวันตก และปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาเดิม คือไม่สามารถทำตามได้จริงอย่างเขา หรือปรับตัวไม่ถูกต้อง

เราหวังว่า ถึงแม้เราจะเป็นผู้ตามเขา ในด้านความเจริญแบบสมัยใหม่ แต่ในแง่หนึ่ง เราก็ได้เปรียบเขา เพราะเมื่อเห็นเขาเดินล่วงหน้าไป เรามีโอกาสเรียนรู้ความสำเร็จและข้อผิดพลาดของเขา นอกจากจะรับความเจริญแล้ว ยังจะได้บทเรียนจากความผิดพลาดของเขาด้วย เราจึงน่าจะเดินไปได้ดีกว่าเขา เพราะส่วนที่ดีของเขา เราก็รับได้ ส่วนที่เขาพลาด เราก็หลีกพ้น

แต่การที่จะทำอย่างนั้นได้ เราจะต้องเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่จะทำตามเสียก่อน แนวความคิด ระบบ ตลอดจนการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่จะรับเอาเข้ามา จะต้องพยายามให้มั่นใจที่สุดว่าได้รู้เข้าใจถึงแก่นแท้ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์อยู่ด้วยอย่างถ่องแท้

ความรู้ความเข้าใจย่อมเป็นรากฐานของความเจริญที่แท้ เพราะเป็นหลักประกันว่าสิ่งที่นำมาทำตามนั้น เป็นตัวถูกตัวแท้ของมัน มิใช่เป็นเพียงสิ่งที่มีรูปร่างลักษณะอาการภายนอกพ้องกันเท่านั้น การเพียงทำตามหรือรับเอามา หรือมีเหมือนเขา ไม่เป็นเครื่องหมายว่าได้มีความเจริญนั้นขึ้นแล้วแต่อย่างใดเลย เป็นได้เพียงภาพลวงของความเจริญที่ผิวเผินเลื่อนลอย อาการแสดงออกภายนอกที่คล้ายกันอาจมาจากสาระที่ตรงข้ามกันก็ได้

ความนิ่งเฉยของคนไม่รู้ อาจเหมือนความนิ่งเฉยของบัณฑิตก็ได้ จนกว่าจะถึงจังหวะที่ต้องแสดงความรู้หรือความไม่รู้นั้นออกมา การมีรถยนต์ของคนหนึ่ง อาจหมายถึงการมีโอกาสปฏิบัติหน้าที่การงานได้สะดวกขึ้น แต่สำหรับอีกคนหนึ่งอาจหมายถึงการเที่ยวแสวงหาความสุขสำราญได้มากขึ้น การมีเครื่องรับวิทยุ สำหรับคนหนึ่ง หรือคนส่วนมากในพวกหนึ่ง อาจมีคุณค่าในทางช่วยให้รับฟังข่าวสารต่างๆ ได้กว้างขวางรวดเร็วขึ้น แต่สำหรับอีกคนหนึ่ง หรือคนส่วนมากในอีกพวกหนึ่ง อาจมีความหมายเพียงการจะได้มีโอกาสฟังรายการบันเทิงสนุกสนานมากขึ้น สะดวกขึ้น

ตามที่สังเกตดู มีพฤติการณ์หลายอย่างในสังคมไทยที่ชวนให้สงสัยว่า การทำตามอย่างตะวันตก จะเป็นเพียงการรับเอามาแต่รูปแบบภายนอกที่ผิวเผิน เข้าทำนองว่า เลียนได้ แต่ไม่ได้เรียน

อย่าว่าแต่จะเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของเขาเลย แม้เพียงความตระหนักในความสำคัญของการที่จะต้องรู้ต้องเข้าใจเนื้อหาสาระที่แท้จริง ก็ยังไม่มีด้วยซ้ำไป

ถ้ายังอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปแล้ว อย่าว่าแต่จะเดินหน้าไปได้ดีกว่าเขาเลย แม้เพียงจะเดินไปให้ดีเท่าเขาในส่วนที่เขาผ่านไปแล้ว ก็จะทำไม่ได้ มีแต่จะสร้างความวุ่นวายสับสน ความเสื่อมโทรม และปัญหาให้แก่ตนมากยิ่งขึ้น ความจริง บทเรียนแห่งความผิดพลาดเก่าๆ ก็มีมากพออยู่แล้ว ไหนๆ จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกันใหม่อีก ก็ควรให้รอบคอบจริงสักที หัดสำรวจดูเรี่ยวแรงและการออกแรงของตัวให้ชัดเจนเสียบ้าง อย่ามัวแต่ติเตียนมือและเปลี่ยนเครื่องมืออยู่เลย ถ้าไม่ปรับปรุงการกระทำของตัว ถึงจะเปลี่ยนเครื่องมือแล้วๆ เล่าๆ หรือถึงจะได้เครื่องมือดีมาใหม่ ก็คงไม่สำเร็จ วนเข้ารูปเดิม

ในที่นี้ จะยกตัวอย่างการกระทำสักสองสามอย่างที่ในทัศนะของผู้เขียนบทความนี้ เห็นว่าได้เข้าสู่สภาพหรือน่ากลัวว่ากำลังจะเข้าสู่สภาพของการทำตามอย่างผิวเผิน ไม่เข้าถึงความหมายที่แท้จริงของการกระทำเดิม

ตัวอย่างที่ยกมานี้ นอกจากแสดงถึงการทำตามอย่างผิวเผิน ไม่เข้าถึงความหมายที่แท้จริงแล้ว ยังแสดงถึงการกระทำที่เอียงสุด คือ เปลี่ยนจากการกระทำเดิมที่ผิดพลาด ไปสู่การกระทำอีกอย่างหนึ่ง ในทิศทางตรงข้าม ที่ผิดพลาดเช่นเดียวกัน

กรณีเช่นนี้ เป็นเครื่องเตือนสติให้ระมัดระวังไว้ว่า การกระทำที่ต่างออกไปหรือตรงข้ามกับสิ่งเดิมที่ผิด ไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ถูก อาจเป็นเพียงการกระทำที่ผิดอีกแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่พึงถูกหลอกให้เขวไปเพียงเพราะเห็นความแตกต่าง แล้วคลาดจากจุดที่ถูกต้องไปเสีย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บันทึกที่ ๔ ปัญหาเพราะ ระบบศักดินา หรือ เข้าไม่ถึงสังคมไทย— ๑. ความเฉื่อยชา >>

No Comments

Comments are closed.