บันทึกที่ ๑ ปัญหาเกี่ยวกับ คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน (พิจารณาในแง่การศึกษา)

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 2 จาก 20 ตอนของ

บันทึกที่ ๑
ปัญหาเกี่ยวกับ
คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน
(พิจารณาในแง่การศึกษา)

เสียงว่า พระสงฆ์เอาเปรียบสังคม

ปัจจุบัน มีผู้วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์กันมาก คำวิจารณ์จำนวนมากเป็นไปในรูปการติเตียนและโจมตี มีไม่น้อยที่กล่าวทำนองว่า พระสงฆ์เอาเปรียบสังคม ที่ถึงกับว่าควรทำลายสถาบันพระพุทธศาสนาลงเสียทั้งหมดก็มี

จึงเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันไว้บ้าง เพื่อช่วยให้ปฏิบัติการต่างๆ มีพื้นฐานทางสติปัญญามากขึ้น รู้จักแก้ปัญหากันด้วยความเข้าใจปัญหามากขึ้น และถ้าหากจะช่วยให้เกิดนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่แสวงปัญญา พยายามศึกษาค้นคว้าให้ถึงตัวแท้ตัวจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างจริงจัง ไม่วินิจฉัยสิ่งต่างๆ เพียงด้วยภาพที่มองเห็นแค่พื้นผิว อีกด้วย ก็จะเป็นกุศลยิ่งขึ้น

เมื่อมองอย่างที่เห็นๆ กัน หรือเรียกได้ว่ามองอย่างผิวเผิน จะได้ภาพที่ชวนให้พูดว่า มีความเสื่อมโทรมหลายอย่างในสถาบันสงฆ์ พระสงฆ์ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ซ้ำร้ายบางทียังทำการและมีพฤติการณ์ที่เป็นโทษแก่สังคม ชักนำประชาชนไปในทางไขว้เขวอีกด้วย

คำตำหนิเหล่านี้มีส่วนที่จะต้องยอมรับอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเป็นคนใฝ่แสวงปัญญา เป็นนักศึกษาแท้จริง มองให้ลึกซึ้งลงไปอีก จะเห็นว่า ทั้งที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมากเช่นนี้ สถาบันสงฆ์ก็ยังมีคุณค่าต่อสังคมอย่างมากมาย

ในที่นี้จะชี้เสนอสักข้อหนึ่ง คือในแง่การศึกษา ซึ่งคุณค่าด้านนี้เพียงอย่างเดียว ก็คุ้มกับการที่จะธำรงรักษาสถาบันสงฆ์เอาไว้ ทั้งที่ยังมีความเสื่อมโทรมอยู่เช่นนั้น

อนึ่ง นอกจากเห็นคุณค่าของสถาบันสงฆ์ที่แฝงซ่อนอยู่ในส่วนลึกแล้ว ยังจะช่วยให้มองเห็นปัญหาและสาเหตุของปัญหาของสังคมอย่างอื่นๆ ที่ซ้อนกันอยู่อีกด้วย จะลองชี้เสนอตามลำดับดังนี้

๑. บทบาทในด้านการศึกษาที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นเพียงการสืบต่อประเพณีในสังคมไทยเดิมเท่านั้น มิใช่การริเริ่มขึ้นใหม่ หรือการกระทำด้วยความตระหนักในคุณค่าแต่อย่างใด ประโยชน์ที่สังคมได้รับจึงเป็นเพียงผลได้จากการปล่อยปละละเลยและการสักว่าทำ

ถ้าจะเข้าใจ ก็ต้องหันกลับไปพิจารณาบทบาทด้านนี้ของคณะสงฆ์ในสังคมไทยเดิมสักเล็กน้อย

ในสังคมไทยแบบเดิม เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยเฉพาะในด้านการศึกษา

ชุมชนหนึ่งๆ มีลักษณะการปฏิบัติภารกิจที่ครบจบสิ้นในตัว วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นสมบัติของทุกคนในชุมชน จึงทำหน้าที่ให้การศึกษาตลอดชีวิตแก่สมาชิกทุกคนของชุมชนนั้น อยู่ชุมชนไหน ก็ไปเรียน ไปปรึกษาไต่ถามฟังธรรมที่วัดของชุมชนนั้น

โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นแบบแผนสักหน่อย ก็คือการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนของชุมชนนั้น ทุกรุ่น ทุกฐานะ ทุกประเภท ทั้งที่มั่งมีและยากจน ซึ่งหมุนเวียนเข้าไปรับการศึกษาในรูปของศิษย์วัดบ้าง ชั้นสูงขึ้นไปเป็นสามเณรบ้าง เป็นพระภิกษุบ้าง ถึงโอกาสอันควรแก่ตนหรือตามบุญบารมีของตนแล้ว (เรียกอย่างสมัยใหม่ว่า สำเร็จการศึกษาระดับต่างๆ ตามควรแก่อัตภาพ ตามกำลังความสามารถของตนแล้ว) ก็ออกมาประกอบกิจหน้าที่ต่างๆ อยู่ในชุมชนนั้นต่อไป

รวมทั้งส่วนน้อยที่บวชอยู่ต่อไปจนกลายเป็นผู้รับผิดชอบในการให้การศึกษาแก่อนุชนรุ่นต่อๆ มาของชุมชนนั้นด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วย สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน— การศึกษาระบบวัดที่ถูกเขาทิ้ง ทำอะไรอยู่ในสังคมไทย >>

No Comments

Comments are closed.