ปัญหาเบ็ดเตล็ด เช่น ความมั่นคงในอุดมคติ

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 17 จาก 20 ตอนของ

ปัญหาเบ็ดเตล็ด
เช่น ความมั่นคงในอุดมคติ

 

ทำอย่างไรจะมั่นอยู่ได้ในอุดมคติ?

ถาม ถ้าทุกคนมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ แต่ท่านอาจารย์สอนให้มุ่งในงานและความสัมฤทธิ์ของงาน เราจำเป็นต้องอยู่กับคนที่มุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ เราควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะให้จิตใจของเรามั่นคงต่อตัวงานได้เสมอไป?

ตอบ มันอยู่ที่ฐานในใจของเราว่ามีฉันทะ มีความรักงานนั้นหรือไม่ ถ้าเรารักงานนั้นจริงจังแล้ว แม้แต่ความสุขของเราก็จะเกิดจากการทำงาน และการเห็นความสัมฤทธิ์ของงานนั้นเอง

จุดแรกต้องแยกให้ได้ก่อนว่า ตัวเรามีเพียงความยึดมั่นในอุดมคติ หรือมีอุดมคติที่ฝังอยู่ภายใน เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ

ความยึดมั่นในอุดมคติ กับการมีอุดมคติอยู่ในใจของตนเองไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจทำการด้วยความยึดมั่นในอุดมคติ อาจทำด้วยพลังปลุกอันรุนแรง

อย่างนักศึกษาที่ออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตย โดยการยึดมั่นในอุดมคติ ไม่มีอุดมคติเป็นพื้นฐานอยู่ในใจของตนเอง ความสุขที่จะได้ ก็เป็นเพียงความสุขทางอ้อม คือได้รับความกระตุ้นเร่งเร้าในทางการปลุกใจเป็นต้น เป็นไปได้ชั่วกำลังส่งของแรงปลุกใจนั้น แล้วได้ความสุขตอบแทน เช่นว่าภูมิใจในวีรกรรม ได้รับความชื่นชม รู้สึกมีเกียรติ โก้ เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าทำด้วยความยึดมั่นในอุดมคติ ยึดมั่นโดยไม่ได้เกิดจากรากฐานในจิตใจของตนเอง มันไปได้ไม่ยั่งยืน

ถ้าจะให้ยั่งยืน ก็ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจชัดแจ้งและความพอใจอยู่ในจิตใจของตน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เรามีความสุขความพอใจอยู่ข้างใน อุดมการณ์ข้างนอกเข้ากับอุดมคติข้างใน ไปได้ตลอด ไม่ใช่ไปด้วยเสียงปลุกรุนรัว พอเขาเลิกเร้า ตัวก็หมดแรง

แล้วที่สำคัญ เรามีความสุขกับความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความพอใจในการดำรงชีวิตอย่างสามัญที่ไม่มีเครื่องปรนปรือฟุ่มเฟือย เราชอบเราพร้อมที่จะมีชีวิตอย่างนั้นในตัวของเราเองอยู่แล้ว มีความพร้อมเป็นรากฐานอยู่ในใจของเราเองแล้ว ไม่ใช่ไปไม่ใช่อยู่อย่างนั้นได้เพราะแรงปลุก ถ้าอย่างนี้ จึงจะมั่นคง

นักศึกษาที่ไปเผยแพร่ประชาธิปไตย หรือไปทำอะไรกันนี้ ถ้าเขาได้แค่ยึดมั่นในอุดมคติ ไปด้วยเสียงปลุกแรงเร้าแบบนี้ละก็ ต่อไปเขาก็ต้องการเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายฟุ้งเฟ้อ การอยู่อย่างเสียสละก็เป็นความฝืนใจ อุดมคติที่ยึดมั่นไว้ กับรากฐานในใจ มันขัดกัน ก็ไปไม่ตลอด พอไปเป็นข้าราชการ หรือไปทำงานอะไร ก็น่ากลัวอีก

ฉะนั้น ถ้าจะสร้างระยะยาว ต้องเข้าถึงจุดนี้ให้ได้ ถ้ามันอยู่ข้างในเป็นพื้นใจแล้ว ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรเราก็มีความสุขอยู่ในตัว เรามีความพอใจเกิดขึ้นจากตัวงานนั่นเอง มันมั่นคงยั่งยืน ส่วนที่ว่าเมื่ออยู่กับผู้อื่นแล้ว ถ้าใจของเราเป็นอย่างนี้ มีรากฐานอยู่ในตัว ก็จะหาทางปรับตัวได้เอง ดีกว่าคนที่สักแต่ว่ายึดมั่นในอุดมคติ

ไม่นึกถึงคนอื่น คือเห็นแก่ตัวหรือ?

ถาม คนที่มีทางไปอยู่แล้ว เช่น มีอาชีพมีเงินบ้าง (ชนชั้นกลาง) การทำดีหรือนึกถึงคนอื่น คงจะทำได้บ้าง แต่พวกกรรมกร คนยากจน ไม่มีจะกินเลย พวกนี้ก็ต้องไปนึกถึงปากถึงท้องของตัวเองแน่ และจะไปโทษคนพวกนี้ว่าเห็นแก่ตัวจะถูกหรือ และใครจะแก้ไข?

ตอบ อันนี้ต้องแยกว่า ที่พูดไปแล้วนั้น เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เช่นเรื่องการศึกษาเป็นต้น คือการสร้างค่านิยมในทางที่ทำให้คนไม่เริ่มการอันใดเพียงด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่ให้มุ่งไปสู่ความสำเร็จของตัวงาน หรือจุดมุ่งหมายของสิ่งนั้นเอง

การทำสิ่งใด ก็ควรเป็นไปเพื่อจุดหมายโดยตรงของสิ่งนั้น การปลูกหญ้า ก็เพื่อให้หญ้างอกงาม การกวาดถนน ก็เพื่อให้ทางสะอาด ส่วนการได้ผลประโยชน์หรือได้เงิน ไม่ใช่เป็นจุดหมายโดยตรงของงาน แต่เป็นจุดหมายอ้อม เป็นผลพ่วงต่อ หรือผลพลอยตาม โดยมนุษย์สร้างเงื่อนไขขึ้นมา เป็นจุดหมายที่เรายกให้แก่การกระทำนั้นตามที่คนตกลงกัน อีกทีหนึ่ง ไม่ใช่เป็นจุดหมายของการกระทำนั้นเอง

ในระยะยาว เราต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาแบบนั้น คือให้คนตรงต่องาน โดยมีฉันทะที่ใจรักมุ่งตรงไปยังจุดหมายของตัวงานเองเป็นเป้าแรกก่อน แล้วให้คนตรงต่อคน ก็ว่ากันอีกชั้นหนึ่ง นี่ก็ต้องทำโดยสร้างค่านิยมด้วยการศึกษา เป็นต้น

ทีนี้ ในระยะสั้นเฉพาะหน้า ที่ถามว่าสำหรับกรรมกร คนยากจน จะไปนึกถึงคนอื่นได้อย่างไร ในกรณีนี้ก็ไม่ได้ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่มีอยู่อันหนึ่งเป็นค่านิยมพื้นฐานในตัวคนที่สร้างได้ ไม่ใช่เรื่องว่านึกถึงใครไม่นึกถึงใคร คือ ถึงแม้เป็นกรรมกร ก็นึกถึงความสำเร็จของงานที่ตัวทำ เช่นอย่างเมื่อกี้บอกว่า ถ้าเป็นคนกวาดถนน ใจเขารักอยากเห็นถนนสะอาดราบเรียบ ไม่มีเศษของ ไร้ขยะ ถ้าเป็นพนักงานประปา ก็อยากเห็นน้ำไหลดี เห็นท่อเรียบร้อย ไม่มีที่ไหนผุพัง อะไรอย่างนี้ คนที่ใจนึกอย่างนี้ เรียกว่ามีธรรมฉันทะ ใฝ่ที่จะแก้ไขปัญหา ให้ลุถึงความดีงาม เป็นสิ่งที่สร้างได้ คนสร้างได้ ไม่ใช่สร้างไม่ได้ และคนจำนวนไม่น้อยมีจิตใจอย่างนี้ ฝึกขึ้นมาได้

แต่ทีนี้ไปเป็นกันเสียอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาทำอะไร เอาแต่จะนึกถึงผลประโยชน์ตอบแทนอย่างเดียว การนึกแบบนี้นำไปสู่การที่ว่าอยากจะลัดต่อไป คือ ทีแรก ต้องทำอันนี้ แล้วจะได้อันนั้น ทำงานนี้ จะได้เงินนั้น ก็ยังดีที่งานเป็นสะพานไปสู่เงิน ถึงอย่างไรก็ยังได้งานเพราะต้องการเงิน

แต่ต่อไปล่ะ เขาอาจจะต้องการว่าไม่ต้องทำงาน แต่ให้ได้เงิน หรือพอให้เห็นว่าได้ทำงานแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำจริงทำจัง หรือให้ได้เงินมาก โดยทำงานแต่น้อย อะไรทำนองนี้ ก็ต้องหาทางหลบเลี่ยงหรือทำเล่ห์ ให้เห็นว่างานสำเร็จ โดยที่ไม่ได้สำเร็จจริงจัง ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะเขาต้องการเงินก้อนนั้น แต่เขาไม่ได้ต้องการความสำเร็จของงานนั้น จึงไม่นึกว่าตัวงานนั้นจะออกผลอย่างไร เอาพอให้บอกว่างานนั้นมันเสร็จแล้ว ได้เงินแล้ว ก็แล้วกัน นี่คือแย่

สิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ก็คือ เมื่อคนจะทำงานอะไร ก็ให้เขามุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ของงานนั้น ถึงแม้เป็นกรรมกร ก็ทำได้ คือ ไม่ว่าจะทำงานอะไร ผลที่ต้องการก็อยู่ที่งานนั้นอยู่แล้ว เมื่อทำอาชีพคือทำงานของเขา ก็มุ่งไปที่ตัวงานนั้นเองเป็นจุดหมายให้มันสำเร็จอย่างดีที่สุด

เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็เข้าสู่จุดหมาย ส่วนเรื่องปากเรื่องท้องนั้น แน่นอนอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่พ่วงอยู่ด้วยกัน คนก็ต้องมีปัจจัย ๔ ที่ชีวิตต้องอาศัย ก็จัดสรรให้เหมาะให้ดี แต่คนที่มีค่านิยมอย่างที่ว่าเมื่อกี้นั้นเป็นพื้นฐานแล้ว จะทำงานอะไรก็ได้ ย่อมปูรากฐานที่ดีของสังคมไว้ตลอดเวลา อย่างน้อยก็ปูฐานนั้นไว้ในตัวเอง ส่วนที่ตัวทำก็ไม่เสีย และไม่มีส่วนที่จะไปพอกเพิ่มให้ส่วนรวมต้องทรุดลงไป

ส่วนที่ว่าใครจะแก้ไขนั้น ทุกคนมีส่วนต้องช่วยแก้ไขทั้งนั้น โดยเฉพาะใครสำนึก ใครตระหนัก คนนั้นต้องลงมือทำ เริ่มแต่ตัวผู้ทำงานเองนั้นไป ส่วนผู้อื่นที่รับผิดชอบมากที่สุด คือ ผู้ที่รับหน้าที่มาจากสังคม หรือตั้งตัวเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ทำงานสังคมสงเคราะห์ ถ้าคนที่ทำมีธรรมฉันทะ ก็จะแก้ไขได้ดีที่สุด คือทำงานแก้ปัญหาสังคม เพื่อให้สังคมหมดปัญหาจริงๆ ไม่ใช่เพื่อมุ่งอย่างอื่นที่อ้อมๆ

การให้มีค่านิยม เป็นการส่งเสริมภวตัณหาหรือไม่?

ถาม การให้มีค่านิยม จะมิกลายเป็นส่งเสริมภวตัณหาหรือ?

ตอบ ขณะนี้เราเอาศัพท์สมัยใหม่มาใช้ คำว่า “ค่านิยม” แบบนี้ หมายถึงสิ่งที่เทิดค่าพอใจเชิดชูกันในหมู่ชน สิ่งที่นิยมยึดถือเป็นแนวทางความประพฤติปฏิบัติโดยปกตินิสัย หมายความว่า ลักษณะความคิดจิตใจมันโน้มที่จะเป็นไปหรือถือตามอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว มันตรงกับสังขารมากกว่าเป็นตัณหา หรือเป็นภพ หรือเป็นภวตัณหา

จริงอยู่ เมื่อค่านิยมเป็นสังขาร ก็ย่อมนำไปสู่ภพได้ แต่ข้อนั้นเป็นธรรมดาวิสัยของปุถุชน และปุถุชนก็อาศัยสังขารฝ่ายดีนั่นเองในการปฏิบัติเพื่อพ้นจากภพ

เหมือนอย่างเมื่อกี้บอกว่า เราไปทำอะไรโดยเพียงยึดมั่นในอุดมคติ บอกว่าฉันมีอุดมการณ์นั้น เขาปลุกใจ ก็แล่นไป อย่างนี้มันก็เป็นสังขารที่นำไปสู่ภวตัณหาอย่างชัดเจน อย่างนี้ก็ทุกข์ละ ทุกข์มาแต่ต้น มันไม่ยั่งยืน มันเป็นไปพร้อมด้วยชาติ ชรา มรณะ แตกสลาย เรายึดมั่นในอุดมการณ์ ยึดมั่นด้วยแรงปลุกใจ พอแรงปลุกใจที่สร้างพลังไว้หมดไป มันก็หมดแรง ยิ่งถ้ามีกิเลสอยากได้คำเยินยอสรรเสริญเพิ่มขึ้นมา พอไม่ได้คำชื่นชม ก็ได้ทุกข์

ตรงข้ามจากนี้ ถ้าทำด้วยความรู้ความเข้าใจ คือเรารู้ว่าอะไรควรเป็นอะไร ทำด้วยความรู้ความเข้าใจ ด้วยความใฝ่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อย่างที่เรียกว่าธรรมฉันทะแล้ว ก็หมายความว่า เป็นเพียงค่านิยมแห่งปัญญา หรือการที่จะทำอะไรด้วยอาศัยปัญญานั่นเอง

สังขารอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของภวตัณหา แต่เป็นไปเพื่อทำลายภวตัณหา ไม่ใช่ค่านิยมที่เราจับคว้าเอามายึดมั่น แต่เป็นเรื่องของการสร้างลักษณะจิตใจที่วินิจฉัยและทำการด้วยปัญญา

ถึงอย่างไรเราก็ต้องสร้างคนให้มีความชื่นชมที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าค่านิยมอยู่ดี ถ้ามันไม่ออกในค่านิยมนี้ ก็เป็นค่านิยมนั้น สำหรับชาวโลกนี้ เราต้องสร้างในแบบใดแบบหนึ่งอยู่แล้ว เราควรต้องให้คนมีค่านิยมไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเลือกค่านิยมแบบไหนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ในเมื่อถึงอย่างไรเขาก็ต้องมีค่านิยมอยู่แล้ว เราก็ให้เขามีค่านิยมที่ดีเท่านั้นเอง

มันช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้คนมีค่านิยม เป็นสิ่งที่จะต้องสร้าง เพราะฉะนั้น ถ้าจะสร้าง ก็สร้างให้มันดีที่สุด

คิดทำความดีเฉพาะตัว ไม่คิดช่วยสังคม จะถูกต้องไหม?

ถาม การที่เราคิดทำแต่ความดีเฉพาะตัวเราเอง ไม่คิดช่วยสังคมเลย จะถูกต้องหรือไม่?

ตอบ อันนี้อยู่ที่การตีความ และการรู้จักแยกแยะด้วย การที่เราคิดทำแต่ความดีเฉพาะตัวเราเอง คล้ายๆ กับว่าเป็นการเห็นแก่ตัว แต่ทำความดีคือทำอะไร ตามปกติ ถึงจะทำความดีเฉพาะตัวเรา ความดีมันก็ต้องสัมพันธ์กับผู้อื่น อิง โยง หรือส่งผลต่อผู้อื่นด้วย

ความดีบางอย่างที่ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน เช่นว่า เราขยันเล่าเรียนศึกษาเพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์ตน

อันนี้ การทำความดีของตัวเอง สำหรับคนหนึ่งหมายความว่า เพื่อเขาจะได้มีความก้าวหน้าในสติปัญญา แล้วจะได้สามารถทำงานทำการอันนั้นๆ ให้ได้อย่างดี แต่สำหรับอีกคนหนึ่งหมายความว่า เพื่อเขาจะได้สามารถหาเงินทองมาได้มากๆ จะได้เป็นใหญ่ หรือร่ำรวย เป็นอยู่กินใช้ได้เต็มที่

นี่ ความดีเฉพาะตัวของ ๒ คนนี้ ก็มีความหมายไม่เหมือนกันแล้ว ความดีเฉพาะตัวของคนหนึ่งอาจเป็นการช่วยสังคมไปในตัว ขณะที่ความดีเฉพาะตัวของอีกคนหนึ่งอาจเป็นการเบียดเบียนรังแกสังคมไปในตัว นี่ก็แยกแยะได้ ไม่ยาก

ตามปกติ ในสังคมนั้น มีระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน ต่างก็อาศัยกันและเกื้อกูลกันอยู่ในตัว ด้วยระบบการงานอาชีพ แล้วยังมีระบบครอบครัว เครือญาติ หมู่มิตรมาหนุนอีกชั้นหนึ่ง บุคคลที่ทำการอาชีพของตนเลี้ยงชีวิตของตัวอยู่โดยสุจริต และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในระบบสังคมนี้ ก็คือทำหน้าที่ต่อสังคม และช่วยเหลือสังคมอยู่แล้วในตัว นี้เป็นข้อที่พึงเข้าใจเป็นพื้นฐานไว้

ในสภาพที่ว่ามานั้น เมื่อมีกรณีเฉพาะรายที่มีคนตกระกำลำบาก เป็นกรณียกเว้น หรือมีเหตุการณ์เหนือคาดหมายที่เป็นภัยพิบัติ จึงมีการที่ต้องช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ สังคมที่เจริญก็จัดระบบการแก้ไขปัญหา และจัดช่องทางที่จะให้คนในสังคมนั้นช่วยคนอื่นหรือช่วยสังคมได้ พร้อมทั้งมีการศึกษาที่พัฒนาคุณธรรมให้คนพร้อมที่จะทำหน้าที่ของตนๆ และเกื้อกูลกันด้วย อย่างนี้สังคมจึงจะอยู่ดีมีความมั่นคงอยู่ในตัว โดยแทบไม่ต้องมาพูดถึงการช่วยสังคมอะไรกันอีก

เป็นอันว่า ในสังคมที่ดี เมื่อระบบสังคมดำเนินไปด้วยดี การที่บุคคลทำหน้าที่ของตนให้ดีนั่นแหละ เป็นการช่วยตัวเอง และช่วยสังคมพร้อมไปในตัว แล้วก็มีการศึกษาที่พัฒนาคนไว้ให้มีจิตใจที่มีคุณธรรมที่ทำให้พร้อมจะช่วยคนอื่นช่วยสังคมได้ตามสถานการณ์

นี่คือ ในยามปกติ ก็มีความเป็นมิตรเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันด้วยน้ำใจไมตรี (เมตตา) มีใครเดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก ก็ช่วยปลดเปลื้องไถ่ถอน (กรุณา) มีผู้ทำดีทำประโยชน์สร้างสรรค์ได้ ก็พลอยชื่นชม ส่งเสริมสนับสนุน (มุทิตา) มีคนทำผิดทำร้ายวิวาทขัดแย้ง ก็วางตัวตรง ไม่เอนเอียงเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติจัดแก้ไขไปตามธรรม(อุเบกขา)

ทั้งนี้ก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการให้ข้าวของเงินทุนบ้าง (ทาน) ด้วยการปลอบโยนให้กำลังใจให้ความรู้ความเข้าใจแนะนำบอกทางบ้าง (ปิยวาจา) ด้วยเอาแรงกายกำลังสมองเข้าไปช่วยทำให้บ้าง (อัตถจริยา) ด้วยการเข้าถึงตัวร่วมสุขร่วมทุกข์กันในการสร้างสรรค์ และแก้ปัญหาบ้าง (สมานัตตตา) การช่วยกันช่วยสังคมก็เป็นไปสบายๆ เป็นไปในความสัมพันธ์ทางสังคมที่กลมกลืน ไม่ต้องไปคิดให้เป็นเรื่องแยกออกไป เมื่อเรื่องเป็นไปอย่างนี้ ก็คงจะพอแล้ว

ทีนี้ก็พูดแถมหรือเสริมอีกหน่อย ตามที่ว่านี้ เรามองสั้นๆ ว่า เรามุ่งความดีเฉพาะตัว แต่ความจริงแม้แต่เป็นความดีเฉพาะตัว เพียงแต่เราทำความดีของตัวนั้น ก็เป็นประโยชน์แก่สังคมอยู่แล้วในตัว หรืออยู่ในตัวด้วย ตั้งแต่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นต้นไป

แต่นั่นยังน้อยไป เราขยันหมั่นเพียรเอาใจใส่ในการศึกษาค้นคว้าของเรา ความดีนั้นก็มีผลกว้างยาวออกไป เมื่อเราได้ศึกษาค้นคว้าค้นพบสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ก็เป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้นด้วย นี้แง่หนึ่ง

ทีนี้ ลึกลงไป ในขั้นของความคิดความตั้งใจ การทำความดีแม้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง ถ้าเป็นผู้มีปัญญารู้จักหลักธรรมที่เรียกว่า ธรรมของสัตบุรุษ หรือสัปปุริสธรรม ก็มีการพิจารณาให้เป็นไปด้วยความรู้เข้าใจด้วย คือรู้แม้แต่ในการทำความดีนั้นว่า ในสภาพการณ์อย่างนี้ ในการดำรงชีวิตอย่างนี้ เราควรทำความดีแก่เราเองแค่ไหน เราควรเกื้อกูลแก่สังคมแค่ไหน ไม่คำนึงอยู่แค่ว่าตัวเองทำความดี

จริงอยู่ เราทำความดีเฉพาะตัวเรา ก็เป็นประโยชน์แก่สังคมไปด้วย ไม่น้อยก็มาก ไม่ระยะสั้นก็ระยะยาว แต่ในทางที่ควรแล้ว พึ่งให้เป็นไปด้วยความตระหนักรู้และตั้งใจว่าจะให้เป็นความดีที่เกื้อกูลทั้งสองฝ่าย นี่คือเป็นการบำเพ็ญความดีโดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจ และตั้งใจทำให้ดี ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น แก่สังคม ทั้งหมดจริงๆ

ทางสายกลางในพุทธศาสนา ถ่วงความเจริญก้าวหน้าหรือไม่?

ถาม ทางสายกลางในพุทธศาสนา จะเป็นการถ่วงหรือขัดขวางความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ หรือไม่ ท่านมีความเห็นอย่างไรในการนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องทางสายกลางมาใช้กับการพัฒนาประเทศ หรือความเจริญของโลก?

ตอบ ที่ถามมาอย่างนี้ คล้ายกับว่าได้ตกลงยอมรับความหมายของทางสายกลางกันแล้วว่าเป็นอย่างนี้ๆ แต่ที่จริงนั้น เรายังไม่ทราบชัดเลยว่าเราเข้าใจตรงกันไหม หรือเราเข้าใจกันดีหรือยัง

ฉะนั้น ก่อนที่จะก้าวไปสู่ตัวปัญหา จะต้องมาพูดกันเสียก่อนว่า ทางสายกลาง คืออะไร?

เห็นหนังสือพิมพ์บางฉบับลงแสดงทัศนะ บางท่านบอกว่า ทางสายกลาง คือมัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นทางนำไปสู่พระนิพพานที่เป็นโลกุตตรธรรม นำมาใช้สำหรับชาวบ้านไม่ได้ นี่จะไปกันใหญ่

อันที่จริง ที่ว่านำไปสู่พระนิพพานนั้นถูก แต่นิพพานในทัศนะของท่านผู้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่คนธรรมดาจะยุ่งเกี่ยวอีกนั่นแหละ กลายเป็นไปอีกทิศหนึ่งเลย กลายเป็นใช้กับคนสามัญไม่ได้

ทางสายกลางคืออะไร ทางสายกลางคือทางที่ถูกต้อง เพราะเมื่อไปเทียบกับทางที่เป็นสุดโต่ง ๒ ทาง คือทางที่มุ่งหาความสุขปรนเปรออย่างเดียว ลุ่มหลงจนเกินไป อย่างหนึ่ง กับทางที่ทรมานตนเองจนเกินไป อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไปเทียบกับ ๒ อย่างนี้ เลยกลายเป็นทางสายกลางไป ที่จริงคือทางที่ถูกต้องนั่นเอง

ทางสายกลางนั้น เนื้อแท้อยู่ที่ไหน ฐานมันอยู่ที่ปัญญา ยอมรับไหมว่าปัญญาเป็นตัวแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้ายอมรับ ตัวนี้นี่แหละคือทางสายกลาง

ทางสายกลางมีสัมมาทิฏฐิ ความรู้เข้าใจเห็นถูกต้องเป็นฐาน สัมมาทิฏฐิคือปัญญา เพราะฉะนั้น ทางสายกลางคือทางที่มีปัญญาเป็นฐาน เดินไปโดยใช้ปัญญา และนำไปสู่ความเจริญแห่งปัญญา เพื่อการสำเร็จผลคือพ้นจากปัญหา อันนี้คือทางสายกลาง เพราะฉะนั้น เรื่องทางสายกลางก็ตอบได้แค่นี้

ถ้าเรายอมรับว่าการแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจากการมีปัญญา มีความเข้าใจถูกต้อง ก็พยายามสร้างปัญญาให้เพิ่มขึ้น ต้องใช้ปัญญาและสำเร็จการพ้นปัญหาด้วยปัญญา นี้ก็คือทางสายกลางนั่นเอง จำกัดความง่ายๆ อย่างนี้

เมื่อบอกว่าจะนำทางสายกลางมาใช้ในการพัฒนาประเทศ หรือความเจริญของโลก ก็อยู่ที่ว่าเรายอมรับไหมว่า ตัวแก้ปัญหาที่แท้อยู่ที่ปัญญาเป็นฐาน

การใช้ปัญญานั้นมีหลักอย่างไร ก็มีศีลมาประกอบ ศีลคืออะไร? ศีลคือความประพฤติดีทางกาย วาจา และสัมมาชีพ โดยมากเราลืม เวลาเราพูดถึงศีล เรามักตกคำว่าสัมมาชีพไปตัวหนึ่ง ที่จริงศีลนั้นต้องมีสัมมาชีพด้วย และต้องสัมพันธ์กับสมาธิ

สมาธิคืออะไร? สมาธิ คือการมีสติ การมีความเพียรพยายาม และการมีความตั้งใจมั่น สมาธิประกอบด้วยหลักใหญ่ๆ ๓ ประการเป็นสำคัญ จากนี้เราจะไปขยายออกอย่างไรก็แล้วแต่

ทางสายกลางนี้ เป็นเพียงหลักใหญ่ ซึ่งจะต้องนำไปประยุกต์ในกรณีเฉพาะ เป็นกรณีๆ ไป ดังนั้น อาตมภาพเห็นจะไม่ต้องตอบโดยตรงว่าจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศหรือความเจริญทางโลกได้หรือไม่ เพราะตัวของทางสายกลางอยู่ที่ปัญญา ปัญหาอยู่ที่ว่าเรายอมรับการแก้ปัญหาด้วยปัญญาหรือไม่ นี่คงตอบได้เอง

หัวหน้าที่ดีแต่สั่งสอนคนอื่น จะแก้อย่างไร?

ถาม ในสถาบันใดก็ตาม ที่มีหัวหน้าดีแต่แนะนำหรือสั่งสอนอนุชน แต่ในทางปฏิบัติ ท่านผู้นั้นกลับไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เข้าทำนอง “จงทำอย่างฉันพูด แต่อย่าทำอย่างฉันทำ” อย่างนี้จะมีวิธีแก้ไขหรือไม่ อย่างไร และทำไมในสถาบันนั้นจึงมีหัวหน้าอย่างนั้น?

ตอบ ในระยะยาว การแก้ปัญหานี้รวมอยู่ในการศึกษาให้มีการฝึกผู้นำที่ดี และระบบการบริหารงานที่จะให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติข้อนี้ในการแต่งตั้งหัวหน้างานด้วย

อันนี้ ถ้าแก้ปัญหาระยะสั้นก็คือ แก้ที่หัวหน้านั้น อย่าให้เป็นคนดีแต่พูด ต้องทำด้วย ปฏิบัติอย่างนั้นด้วย โดยแก้ที่ตัวบุคคล บางทีเขาเองไม่รู้ตัว ต้องหาคนที่เขายอมรับ ที่จะบอก หรือแนะนำตักเตือน การที่ถามนี้ก็อาจจะเป็นการบอกให้รู้ตัวโดยอ้อม

แต่ในระยะยาวที่ว่า ทำอย่างไรจะให้หัวหน้าที่จะมีต่อๆ ไป ดีอย่างที่ควรต้องการ อันนี้สำคัญกว่า ไม่ใช่ว่าหัวหน้าคนนี้ดีอยู่ แต่คนใหม่ต่อๆ ไป อาจจะไม่ดีอีก ไม่มีหลักประกันหรือแนวทางที่จะให้มั่นใจ

เพราะฉะนั้น ต้องตรวจสอบและแก้ไขที่ระบบและสถาบันนั้นด้วย จึงจะได้ผลระยะยาว ไม่ใช่แก้เฉพาะตัวคนนั้น จะแก้เฉพาะที่ตัวผู้นำไม่พอ ต้องแก้ที่สถาบัน สถาบันนั้นคงจะมีช่องว่างในการสร้างคนในระบบของตัว ที่ทำให้ได้ผู้นำที่มีคุณภาพอย่างนี้

สังคมไทยใน ๕๐ ปีหน้านี้ จะเป็นอย่างไร?

ถาม อยากจะรู้ว่าชีวิตคนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร เนื่องจากกระผมมีอายุมากแล้ว และเข้าใจว่าจะอยู่ไปก็ไม่นาน ถ้าไม่ตายเสียก่อน ก็ไม่พ้นใน ๕ ปี ๑๐ ปีนี้ พระคุณเจ้ามีหูตากว้าง ถ้ารู้ว่าสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็จะได้ให้อนุชนรุ่นหลังของเราเตรียมตัวไว้เสียก่อนที่จะแก้ไข หรือดัดแปลงแก้ไขให้สังคมนั้นมีความสุขความเจริญต่อประเทศชาติ กระผมยังนึกไม่ออกว่า สังคมไทยของเราในระยะ ๕๐ ปีนี้จะเป็นอย่างไร?

ตอบ ขอเจริญพร ในเรื่องของการทำนายสังคมในภายหน้านี้ เป็นเรื่องยากอยู่ การทำนายภายหน้าก็ต้องอาศัยมูลฐานหรือเหตุปัจจัยที่สร้างขึ้นจากปัจจุบัน ว่าเราได้สร้างอะไรขึ้น

ถ้าหากปัจจุบันนี้เราได้หาทางสร้างเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่สภาพที่ดีงาม เราก็ย่อมจะหวังได้ว่ามันจะเป็นไปในรูปที่ดีงาม แต่ถ้าหากเราปล่อย เห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราไม่แก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง มันก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นไปในรูปไม่ดีไม่งามแน่ อาจถึงแก่หายนะก็ได้ เพราะฉะนั้น ใน ๕๐ ปีข้างหน้า เราก็ต้องดูจากปัจจุบันว่าเราทำอะไรบ้าง

ในกิจกรรมทุกอย่างของสังคมมนุษย์ที่เราร่วมกันทำนี้ อย่างเมื่อกี้ ถ้าเรายอมรับว่าค่านิยมของสังคมปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นแบบมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยไปอีก ๕๐ ปีข้างหน้า ก็เห็นได้ว่า จะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมต่างๆ มากมาย และก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ถึง ๕๐ ปีข้างหน้าหรือไม่ มันจะต้องมีเหตุอะไรวุ่นวายมากกว่านี้

แต่ทีนี้ ถ้าเราแก้ปัญหาทันในปัจจุบันนี้ โดยมีความตระหนัก หรือมีความเข้าใจในปัญหา ในสาเหตุแล้ว พยายามแก้ไขปรุงแต่งเหตุปัจจัยให้ดี ก็คิดว่าใน ๕๐ ปีข้างหน้า มันอาจจะดีก็ได้

ถ้าหากว่าเราสร้างธรรมฉันทะให้เกิดขึ้นได้ บ้านเมืองไทยในอนาคตอาจเป็นบ้านเมืองที่เจริญ เต็มไปด้วยความมีระเบียบเรียบร้อย มีความสุขก็ได้ เจริญพร เห็นว่าทำนายได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำอะไรในปัจจุบันนี้ แค่นี้เอง

เอาสังคมคอมมูนิสต์เข้ามาในประเทศไทย จะเหมาะดีไหม?

ถาม ผมอยากเรียนถามว่า ถ้าเราจะเอาสังคมคอมมูนิสต์เข้ามาในประเทศไทย จะเหมาะสมเพียงไรกับสังคมปัจจุบัน?

ตอบ อาตมภาพยังไม่รู้จักชัดว่าสังคมคอมมูนิสต์เป็นอย่างไรบ้าง เห็นจะทำนายยาก คือเราไม่รู้จักตัวแท้ของมันว่าสังคมคอมมูนิสต์เป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีปัญหายากลำบากเกิดขึ้นในสภาพที่เราไม่ได้ดำรงอยู่แต่ผู้เดียว และในการที่เราเกี่ยวข้องกับสังคมอื่นนั้น ยังมีเจตนาที่จะนำเอาระบบเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกันอีกด้วย ถ้าอย่างนี้ มันก็ต้องคิดเตรียมเหมือนกันว่า ถ้ามาอย่างนั้น จะเอาอย่างไร

แต่อาตมภาพเชื่อว่า ถ้าเรามีหลักที่ดีแล้ว เราสามารถทำสังคมให้ดี และดำรงสังคมของเราได้

ปัจจุบันนี้ แม้เป็นสังคมพุทธ แต่เรามีจุดอ่อนให้เขาโจมตีได้ ไม่ใช่หรือ เขาจึงมีช่องทาง ถ้าเราพยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้เราเข้าสู่สภาพของเราที่แท้จริง ให้มันถูกต้องจนเรามั่นใจแล้ว เราก็ไม่ต้องกลัวเหมือนกัน มันไม่มีช่องเข้ามา

แต่ปัจจุบันนี้ เราต้องยอมรับจุดอ่อนของเราว่าพร่องจากอุดมการณ์มากเหมือนกันด้วย จึงเป็นช่องให้เขาแทรกเข้ามาได้

เวลาเขาจะแทรกเข้ามา ย่อมเป็นธรรมดาที่เขาจะเผยแพร่อุดมการณ์และอุดมสภาวะที่เขาเองก็อยากเข้าถึง มาให้เรารับรู้ ส่วนสภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เขาจะเข้าถึงและบกพร่องจากอุดมการณ์และอุดมสภาวะนั้นเพียงใด เราก็ไม่เห็น ถ้าอย่างนี้ ก็มีหวังจะกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ

แต่สำหรับเรา เวลามองเทียบ เรามองดูตัวเราที่สภาพซึ่งเป็นจริงอยู่ในทางปฏิบัติ และมองดูเขาที่สภาพในอุดมการณ์และอุดมสภาวะ เราย่อมเสียเปรียบเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่าคอมมูนิสต์ดีแค่ไหนหรือไม่ ดีแค่ไหน ถ้าเรามั่นใจว่าของเราดีจริง เราก็ไม่กลัว แต่สำหรับปัจจุบันนี้ เราไม่มั่นใจ หรือเรามั่นใจในสิ่งที่เป็นอุดมคติ แต่ในทางปฏิบัติเรายังทำไม่ได้ เรามีจุดอ่อน เราก็ไม่มั่นใจตนเอง จึงอยู่ที่ว่า เราต้องรีบแก้ปัญหาแต่ต้น

ถ้าเราแก้ปัญหาให้เราทำได้อย่างอุดมคติของเราที่วางไว้จนเรามั่นใจแล้ว อาตมภาพเห็นว่าไม่น่ากลัว ถึงเขาจะดีไม่ดี ถ้าเขาดี ก็เข้ากันได้ ถ้าเขาไม่ดี เราจะไม่ยอมรับเอง เราทั้งหมดไม่ยอมรับ แต่ที่เข้ามาได้ เพราะมีช่องให้บางคนไปยอมรับ มันก็ยุ่ง

เหมือนอย่างพุทธศาสนาบอกว่าอยู่ได้ด้วยบริษัท ๔ นี่แหละ บริษัท ๔ นั่นแหละต้องทำให้ถูก คนอื่นมา ก็ไม่สำคัญเท่าไร ถ้าคนอื่นมา ก็หมายความว่า เขาทำบริษัท ๔ นี้ให้เสียไปได้ก่อน ถ้าบริษัท ๔ ไม่เสีย ก็ไม่เป็นไร ต้องมีจุดอ่อนข้างใน เพราะฉะนั้น อยู่ที่ทำตัวเราให้มั่นคง

เอาเป็นว่า เวลานี้อยู่ในขั้นของการแข่งขัน ที่เขาว่า อุดมการณ์ของเขาเลิศ จุดหมายของเขายอดเยี่ยม เขาก็ยังทำไม่ได้อย่างนั้น เมื่อเราเห็นเขาไม่สมจริงชัดอยู่แล้ว ของเราที่เราก็พูดได้ว่าเลิศ ว่าเยี่ยมยอด เราก็ยังไม่ได้ทำ ถึงตอนนี้ ก็มาทำให้ได้ ให้เป็นจริงขึ้นมา คือทำจริงกันเสียที แล้วก็จะได้รู้กัน ไม่ต้องมาถามแบบคาดเดากันอยู่อย่างนี้ เจริญพร อาตมภาพไม่รู้สึกว่าต้องตอบโดยตรง

จะให้สังคมไทยมีอุดมคติ จะทำตามลำดับอย่างไร?

ถาม ถ้าท่านอาจารย์เป็นผู้มีสิทธิทุกอย่างที่จะทำอะไรก็ได้ จะทำให้สังคมไทยมีอุดมคติ จะทำอย่างไรโดยลำดับ?

ตอบ ปัญหานี้ยิ่งใหญ่เหลือเกิน คล้ายๆ กับว่าจะให้เป็นผู้นำ เห็นจะต้องให้มีผู้นำที่ดีด้วยเป็นลำดับแรก

ทีนี้เราต้องตกลงกันก่อน หนึ่งต้องคิดกันให้ตกว่า เราจะเอาอะไรเป็นอุดมคติของสังคมไทย สิ่งแรกที่จะทำนี้ยังไม่ตกลงกันเลย จะไปกำหนดขั้นตอนว่าจะทำอย่างไรบ้างให้สังคมไทยไปสู่อุดมคติ จะขอตอบเท่านี้ก่อน เพราะถ้าไม่รู้อุดมคตินั้นก็วางขั้นตอนไม่ถูกด้วย

แต่ถ้าตกลงเอาตามอุดมคติที่อาตมภาพพูดไปแล้ว ก็เป็นอันยุติได้ว่า เท่าที่บรรยายและตอบคำถามมาทั้งหมดนี้ ก็ได้กำหนดขั้นตอนในการกระทำไว้คร่าวๆ แล้วเช่นเดียวกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ๒. ความกล้าแสดงออก กับประชาธิปไตยบุพนิเทศ >>

No Comments

Comments are closed.