— ๒. ความกล้าแสดงออก กับประชาธิปไตย

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 16 จาก 20 ตอนของ

ความกล้าแสดงออก กับประชาธิปไตย

๒. ในระยะที่กำลังตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยกันอย่างมากเช่นเวลานี้ รู้สึกกันว่า ความกล้าแสดงออก จะเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของคนในสังคมประชาธิปไตย เพราะเป็นทั้งอาการ และเป็นทั้งเครื่องหมายของการมีเสรีภาพในทางความคิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบประชาธิปไตย และก็รู้สึกกันว่า ความกล้าแสดงออกนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะต้องปลูกฝังแก่เด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาดำรงชีวิตอยู่ และร่วมสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย

บางคราวการแสดงออกต่างๆ ก็ชวนให้เห็นไปว่า เราได้รวบเอาความกล้าแสดงออก กับความเป็นประชาธิปไตย เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือความกล้าแสดงออกนั้นเป็นเนื้อตัวทั้งหมดของประชาธิปไตย หรือทำนองว่าเพียงมีความกล้าแสดงออกแล้ว ก็เป็นอันได้มีประชาธิปไตยขึ้นมาแล้วเสร็จสิ้นบริบูรณ์

ดูเหมือนว่าเราจะยกเอาความกล้าแสดงออกนี้ขึ้นเป็นสูตรสำเร็จของประชาธิปไตย โดยไม่ต้องคำนึงว่า มันมีตำแหน่งอยู่ตรงไหนในระบบสังคมประชาธิปไตย มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ ของประชาธิปไตยอย่างไร อะไรเป็นคุณค่าของมันต่อความเป็นประชาธิปไตย ตลอดจนว่ามันมีขอบเขตความหมาย และความสำคัญต่อประชาธิปไตยแค่ไหนเพียงไร

ความกล้าแสดงออกนั้น ในฐานะที่เป็นอุปกรณ์สำคัญของเสรีภาพในทางความคิด ย่อมมีคุณค่าในแง่ที่เป็นช่องทางนำเอาสติปัญญาความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละบุคคลออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม หรือเป็นส่วนประกอบที่มาสมทบช่วยกันกับสติปัญญาของสมาชิกอื่นๆ ในการร่วมกันหาลู่ทางไปสู่การแก้ปัญหาของสังคมนั้น

ในแง่ของตัวบุคคลเอง ความกล้าแสดงออกย่อมเป็นอุปกรณ์ในการแสวงปัญญา เป็นบันไดที่ช่วยให้ก้าวคืบหน้าไปสู่ความจริง ด้วยการเสาะหาและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น มันเป็นเครื่องมือสำหรับแสดงความรับผิดชอบของบุคคลต่อสังคมของตนด้วย และเป็นเครื่องประกันสิทธิของเขาที่จะให้สังคมรับฟังความต้องการของเขาด้วย

แต่การแสดงออกที่จะมีคุณค่าดังต้องการอย่างนี้ได้ ก็ต้องมีรากฐาน รากฐานนั้นคือ ความใฝ่ธรรม ได้แก่ ความต้องการที่จะเข้าถึงความจริงความถูกต้องดีงาม หรือธรรมฉันทะนั่นเอง

ลำพังความกล้าแสดงออก ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะมีรากฐานถูกต้องเสมอไป และความกล้าแสดงออกที่ขาดรากฐานอันถูกต้อง ย่อมเป็นสิ่งไร้คุณค่า หาใช่สิ่งที่ดีไม่ กลับจะเกิดโทษได้ และไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตย หรือการเตรียมสร้างคนสำหรับสังคมประชาธิปไตยเสมอไป อาจเป็นเพียงการกระทำที่เลื่อนลอย หลงผิดหรือเกิดโทษแก่สังคมอย่างร้ายแรงได้ ถ้าผู้ฝึกนั้นขาดความเข้าใจที่เป็นรากฐาน ทึกทักเอาเพียงความกล้าแสดงออกว่าเป็นตัวประชาธิปไตย

ความกล้าแสดงออกที่ขาดรากฐาน ก็คือความผิดพลาดที่เอียงสุดอีกด้านหนึ่ง ตรงข้ามกับความนิ่งงำไม่กล้าขัดแย้ง และว่าตามๆ กัน

ธรรมดาของคนส่วนมาก เมื่อไม่พอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นว่าสิ่งนั้นผิดพลาดไม่ถูกต้องแล้ว พอมองเห็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต่างออกไป หรือตรงข้ามกับสิ่งนั้น ก็มักหลอกตัวเองหรือวินิจฉัยโดยผลีผลามว่า สิ่งใหม่นั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง หรือเป็นสิ่งที่กำลังต้องการ โดยมิได้ตรวจดูเนื้อหาสาระให้ชัดเจนก่อน จึงมักทำความผิดพลาดซ้ำเข้าอีก

ความกล้าแสดงออก และความนิ่งงำว่าตามๆ กัน ถ้าขาดรากฐานแล้ว ก็เป็นการกระทำด้วยโมหะได้ด้วยกันทั้งคู่

จริงอยู่ การชอบสงวนท่าทีสงบเสงี่ยมเกรงใจ ไม่ชอบโต้แย้ง และว่าตามๆ กัน โดยเฉพาะตามผู้ใหญ่นั้น ในระยะยาวจะเป็นค่านิยมที่มีทางเหนี่ยวรั้งความคิด หน่วงการใช้ปัญญา ทำให้เฉื่อยชาในทางความคิดได้มาก และเห็นกันว่า อาการอย่างนี้เป็นบุคลิกลักษณะของคนในสังคมไทยที่ถูกสร้างมาตามระบบสังคมเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียหาย จะต้องแก้ไข และเป็นตัวก่อปฏิกิริยาให้หันไปนิยมความกล้าแสดงออกเพิ่มมากขึ้น

แต่ที่ถูกแล้ว ก่อนจะล้มล้างสิ่งหนึ่งรับสิ่งหนึ่ง ควรวิเคราะห์สิ่งทั้งสองให้ชัดเจนก่อน

ในลักษณะเดิมที่ว่าไม่ดีนั้น มีเค้าส่วนดีแฝงอยู่ด้วย คือ การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และการเคารพต่อประสบการณ์ แต่เพราะขาดรากฐานคือความใฝ่รู้ จึงทำให้เป็นผู้ไม่รู้จักคิดด้วยตนเอง และความคิดเฉื่อยชา อาศัยปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมประกอบเข้าด้วย ในระยะยาวลักษณะที่เป็นส่วนดี ก็กลับเป็นส่วนเสริมของลักษณะที่ไม่ดีไปเสีย กลายเป็นการว่าตามๆ กัน แล้วแต่ผู้ใหญ่ ไม่กล้าขัดแย้ง ไม่รู้จักคิดเอง

ส่วนความกล้าแสดงออกดูเหมือนเป็นลักษณะตรงข้าม เป็นค่านิยมที่ช่วยกระตุ้นให้ใช้ความคิด เร้าให้ใช้ปัญญา ว่องไวในทางความคิดได้มาก แต่ที่จะให้ได้ผลดีอย่างนั้น จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงลำพังตัวความกล้าแสดงออกลอยๆ จะต้องมีรากฐานด้วย คือถ้าเป็นการฝึกเด็ก จะต้องมีธาตุแห่งความใฝ่รู้เป็นพื้นอยู่ในเด็กนั้นอยู่แล้ว หรือผู้ฝึกตระหนักดีอยู่แล้วถึงความมุ่งหมายในการที่จะปลุกและปลูกความใฝ่รู้นี้ขึ้นแก่เด็ก

แสดงออกเพื่อให้เขาเห็นว่ารู้ กับแสดงออกเพื่อหาความรู้

การฝึกแต่เพียงภายนอก โดยขาดสติ ไม่ตระหนักถึงรากฐานที่อยู่ภายใน เป็นการเสี่ยงต่อการสร้างลักษณะร้ายที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมามากกว่า ลักษณะเช่นว่านั้น คือ ความโอ้อวด หยิ่ง ลำพองตน รุกราน ชอบแสดงเด่น ความไม่เอื้อเฟื้อต่อระเบียบวินัย ตลอดจนการแสดงออกเพื่อให้เขาเห็นว่ารู้ มากกว่าจะแสดงออกเพื่อหาความรู้

ลักษณะเหล่านี้มิใช่เครื่องหมายแห่งความใฝ่แสวงปัญญา หรือเป็นนิมิตแห่งความเจริญก้าวหน้าแต่ประการใดเลย

ผู้ใฝ่รู้ใฝ่แสวงปัญญานั้น เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพต่อสิ่งที่จะเพิ่มเติมเสริมปัญญา และเป็นผู้พร้อมจะรับความรู้ มิใช่ผู้พองลมท่วมล้นต้องเที่ยวพ่นเป่าใส่ผู้อื่น โดยไม่มีช่องที่รับเข้า

บุคลิกที่ต้องการนั้น คือลักษณะสองด้านที่เสมือนตรงข้าม แต่ความจริงกับเสริมกัน ได้แก่ความเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ความเคารพต่อประสบการณ์ ความพร้อมที่จะแสดงออกด้วยความ สุภาพ เอื้อเฟื้อ กับความใฝ่รู้แกล้วกล้ามั่นคงในการแสวงปัญญา

ภายในแฝงเอาความคิดค้นแสวงธรรมเข้าไว้ ภายนอกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้พร้อมที่จะนำภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้ว ออกมาต่อเอาภูมิปัญญาใหม่เข้าไปเพิ่ม

ระหว่างบุคคลผู้มีเพียงความกล้าแสดงออก ทำความอาจหาญให้ปรากฏในที่ชุมนุม กับบุคคลผู้กล้าสู้ทนบุกฝ่าความลำบากตรากตรำ ยอมนอนกลางดินกินกลางทรายแม้นานปีได้ เพียงเพื่อแสวงคำตอบเล็กน้อยมาช่วยเสริมปัญญาของมนุษย์ บุคคลประเภทหลังเป็นผู้ที่สังคมไทยยังขาดแคลนมากกว่า และเป็นบุคคลที่พึงต้องการมากกว่า ในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามต่อไป

ไหนๆ ก็จะสร้างสรรค์สังคมใหม่กันให้ดีที่สุดทั้งที และมีโอกาสเพราะถึงยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ควรจะทำอย่างที่ให้แน่ใจที่สุด

ถ้าเชื่อว่าวิธีการแห่งปัญญาดีที่สุด ก็ควรจะใช้สติปัญญากันให้ถึงที่สุด มิใช่จะผละทิ้งอย่างหนึ่งไปหาอีกอย่างหนึ่ง เพียงเพราะไม่พอใจอย่างหนึ่ง แล้วพอใจอีกอย่างหนึ่งด้วยสักว่าเห็นรูปร่างตรงข้ามหรือต่างออกไป ซึ่งทำให้หนีไม่พ้นจากค่านิยมที่ผิวเผินฉาบฉวย และได้รับผลแห่งความเปลี่ยนแปลงเพียงสลับจากรสชาติของยานอนหลับมาเป็นยาปลุกประสาท หรือซ้ำร้ายเป็นยาพิษไปเสียเลย

ภารกิจของคนไทยที่จะสร้างสรรค์สังคมใหม่ โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือตั้งตัวขึ้นมารับผิดชอบสังคมในขณะนี้นั้น เป็นภารกิจที่หนักยิ่งนัก และเป็นข้อสำคัญที่จะต้องตระหนักถึงความหนักนี้ไว้เป็นอย่างสูง เพื่อมิให้ถือเอาเป็นเพียงการหาทางเล่นสนุกจากเรื่องที่น่าตื่นเต้น

แม้แต่ถ้าจะนำเอาคุณค่าหรือระบบอะไรสักอย่างในสังคมอื่น มาสร้างขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่จะต้องทำในสังคมไทยก็ยากและซับซ้อนกว่า การเพียงแต่ทำตามอย่างที่เขาทำอยู่แล้วในสังคมนั้น หาเพียงพอไม่

ตัวอย่างเช่น การฝึกความกล้าแสดงออกเป็นต้น ในสังคมของเขา การฝึกเพียงแค่ภายนอก ก็เป็นการเพียงพอ เพราะสังคมได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการสร้างรากฐานมาจนถึงขั้นเกิดสภาพรูปแบบขึ้นแล้ว การฝึกก็เป็นเพียงการรับถ่ายทอดหรือทำให้คุ้นกับระบบพฤติกรรมของสังคมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งระบบพฤติกรรมของสังคมนั้นจะคอยกำกับวิถีพฤติกรรมของบุคคล ให้อยู่ในแนวของสาระที่เป็นรากฐานเองในตัว

แต่การฝึกจากภายนอกอย่างเดียวในสังคมไทย เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเขวออกไป ทำให้ได้เพียงรูปแบบที่เทียบคล้าย แต่มีสาระเป็นอย่างอื่น

งานสร้างรากฐานจึงเป็นภารกิจสำคัญเพิ่มพิเศษในสังคมที่กำลังสร้างสรรค์ใหม่ นี่เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่งเท่านั้นของการที่จะต้องมีสติตระหนักเช่นนี้

ไม่ใช่แล่นจากที่สุดข้างหนึ่ง ไปอีกสุดข้างหนึ่ง

ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง แต่ก็ควรเป็นช่วงเวลาแห่งความห่วงใยด้วย เพราะเมื่อโอกาสเปลี่ยนแปลงมาถึง ก็ยังมองเห็นแต่สิ่งที่ทำให้คลางแคลงใจ อย่างน้อยก็ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า มีอะไรที่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า สังคมได้ใช้โอกาสนี้อย่างดีแล้วเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่พึ่งประสงค์ สังคมพ้นแล้วหรือไม่จากการที่จะแล่นจากความผิดพลาด ณ สุดทางข้างหนึ่ง ไปสู่ความผิดพลาดอีกสุดทางหนึ่ง

ดูเหมือนว่าสังคมเก่า ก็มีแต่ความหลับใหล ลุ่มหลงมัวเมา ไม่สนใจจะแก้ไขปรับปรุงอะไร แต่เมื่อตื่นขึ้น จะสร้างสังคมใหม่ ก็ดูเหมือนว่าจะมัวแต่ตื่นเต้นกันอยู่ ชอบรุมสนใจกันก็แต่เรื่องที่ถูกยกขึ้นปรุงแต่งสีสันรสชาติให้น่าตื่นเต้น เรื่องอื่นๆ หรือแง่อื่นๆ ของเรื่องเดียวกัน แม้จะมีอีกมากมายและสำคัญกว่า แต่เงียบเฉยจืดชืดก็ถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจคิดไตร่ตรองพิจารณา

แม้เรื่องที่ปรุงแต่งรสชาติวาดลวดลายจนแตกตื่นกันมาดูแล้วนั้น เมื่อการชุมนุมมุงดูผ่านพ้นไป จะมีใครสักกี่คนหรือมีสักคนบ้างหรือไม่ ที่จะใส่ใจศึกษาดูให้ลึกซึ้งลงไปอีกว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ มีรายละเอียดปลีกย่อยอะไรยิ่งกว่านั้นอีกบ้าง ส่วนที่ยกขึ้นมาร้องชวนให้รุมดูกันนั้น มีเหตุผลที่มาที่ไปซับซ้อนสัมพันธ์ต่อเนื่องมาอย่างไร

เราพร้อมที่จะผ่านช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้น ไปสู่ระยะเวลาของการเรียนรู้และลงมือทำอย่างจริงจังด้วยความอดทนหรือยัง มีวี่แววแห่งความหวังบ้างหรือไม่ว่า เราได้มีองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นหลักประกันสำหรับสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามขึ้นแล้ว แม้แต่ความเป็นนักศึกษาที่แท้จริง

ถ้าจะยกพุทธภาษิตมาเตือนสติ ก็คงจะได้แก่กึ่งคาถาว่า

โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ      ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ

จึงวิจัยธรรม(สืบค้นความจริง)ให้ตลอดถึงต้นสาย
จึงจะเห็นความหมาย(แง่มุมคลี่ขยาย)แจ้งชัดด้วยปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ๑. ความเฉื่อยชาปัญหาเบ็ดเตล็ด เช่น ความมั่นคงในอุดมคติ >>

No Comments

Comments are closed.