บุพนิเทศ

9 กันยายน 2558
เป็นตอนที่ 18 จาก 20 ตอนของ

บุพนิเทศ

หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน นี้ เกิดจากการพูดการเขียนประกอบคำบรรยายเมื่อปี ๒๕๑๗ ในยุคของ “เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ” (พ.ศ. ๒๕๑๖) ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการขัดแย้งระหว่างกระแสอำนาจเก่า กับการปลุกเร้าตื่นตัวในอุดมการณ์ทางความคิดใหม่ มีการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับขบวนการนักศึกษาที่นับเนื่องในปัญญาชน ต่างฝ่ายก็จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคมไทย ตลอดจนสถาปนาสังคมไทยในอุดมคติขึ้นมา

ผู้เขียนหนังสือนี้มองว่าทั้งสองฝ่ายที่กล่าวมานั้น ก็เช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไปในสังคมนี้ ที่ไม่รู้จักสังคมไทย เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจปัญหา ไม่รู้จักสิ่งซึ่งเป็นปัญหาที่ตนจะแก้ไข ก็ย่อมแก้ไม่ได้ แถมจะก่อปัญหาใหม่ขยายปัญหาเก่าซ้ำเข้าไปอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ชินมากับความไม่รู้ ก็จะอยู่กับปัญหาและพัฒนาปัญหาเพิ่มขึ้นต่อไป อีกฝ่ายหนึ่งคิดใหม่ แต่คิดบนฐานของความไม่รู้ เมื่อไม่คิดด้วยความรู้ ก็เสี่ยงที่จะคิดไปตามที่รู้สึก หรือคิดตามความรู้สึก (ภาษาไทยว่าคิดด้วยอารมณ์) เลยกลายเป็นว่า คิดจะแก้ไขกำจัดความชั่วร้าย แต่กลับจะทำลายส่วนดีที่มีอยู่ ซึ่งควรจะใช้แก้ปัญหา แล้วก็จะทำสังคมไทยให้เสียหายหรือย่อยยับวอดวาย

ซ้ำร้าย ของใหญ่โตที่ตั้งค้างอยู่ท่ามกลางหมู่คน ในสังคมของตัว เมื่อไม่รู้จักไม่รู้เข้าใจ ไม่จัดสัมพันธ์เข้าในระบบสังคมให้เข้าที่เข้าทาง ก็ตั้งคาอยู่เป็นเหมือนตอที่เกะกะกีดขวาง นอกจากไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังกลายเป็นปัญหาก่อโทษที่ไม่ทันคาดหมาย

แม้กระทั่งบัดนี้ คนไทยก็ยังไม่รู้เข้าใจกันเอง ไม่รู้จักสังคมของตนเอง แถมไม่รู้ตัวว่าไม่รู้ เลยกลายเป็นสังคมครึ่งๆ กลางๆ ที่ชวนขำ เมื่อสังคมไทยอยู่ในสภาพที่ว่านั้น การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาทั้งหลาย ก็จะวกเวียนอยู่ในวังวนของความล้มเหลวเก่าๆ

ด้วยเหตุดังว่านั้น การให้คนไทยรู้เข้าใจสังคมไทยของตนเอง จึงเป็นข้อที่ควรยกขึ้นมาเน้นให้เป็นจุดตั้งต้นและเป็นแกนกลางของการแก้ปัญหาและการพัฒนาสังคมประเทศชาติ

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เป็นบันทึกประกอบคำบรรยายเรื่อง “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข” ตัวคำบรรยายเองมิได้พิมพ์ลงไว้ในหนังสือนี้ แต่อยู่ในหนังสือเล่มอื่น (จะกล่าวถึงข้างหน้า)

เป็นธรรมดาว่า การบรรยายย่อมมีเวลาจำกัด ตัวคำบรรยายเองเมื่อพิมพ์ในหนังสือมีความยาว ๓๓ หน้า เนื้อความที่มากมายเกินที่จะพูดในเวลาที่จำกัดนั้น จึงต้องนำไปเขียนเป็นบันทึกประกอบคำบรรยาย ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้ยาว ๑๒๗ หน้า ซึ่งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ดำเนินการพิมพ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น จัดเป็นเอกสารเผยแพร่รวมอยู่ในหนังสือชุดที่เรียกว่า “เอกสารเผยแพร่ ชุดพระพุทธศาสนาสำหรับประชาชน” โดยให้ชื่อว่า บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วยสถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน

ข้อความในคำบรรยายที่พูดไว้ได้เพียงสั้นๆ อันทำให้ต้องเขียนบันทึกอธิบายประกอบ มีตัวอย่างเช่นว่า

“การจะแก้ปัญหาระยะยาว ก็ต้องเกิดจากความรู้..ในชั้นนักวิชาการปัญญาชนก็ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ อะไร? ไม่รู้เข้าใจสภาพสังคมของตนเอง…

“นักวิชาการและปัญญาชนเองยังขาดความพร้อมอยู่มาก…สังคมไทยเป็นสังคมที่เราเองยังไม่ค่อยรู้…เป็นปัญหาที่สำคัญมาก คือการที่เกิดจากความไม่รู้…”

(หนังสือเล่มที่มีคำบรรยายนั้น หน้า ๗๔-๗๙, ใช้คำว่า “เรา” คือพูดอยู่กับนักศึกษาและครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัย)

ที่ว่ามานั้น เป็นเรื่องเก่าในระยะใกล้ พ.ศ. ๒๕๑๗ คือ ๔๑ ปี ล่วงแล้ว

บัดนี้ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) แจ้งว่า โดยคำเสนอของท่านผู้รู้เรื่องเก่าท่านหนึ่ง องค์การนิสิต บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เห็นชอบ และมีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน ขึ้นเผยแพร่ใหม่อีก พร้อมทั้งได้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่คัดลอกจากหนังสือเล่มดังกล่าวไปให้แก่ผู้เขียน

ขออนุโมทนา องค์การนิสิตบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่มีกุศลเจตนาจะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะแก่นักศึกษาและนักการเมือง เพื่อให้คนในสังคมไทยเข้าใจบทบาทของพระสงฆ์ และการศึกษาของพระสงฆ์ที่อยู่ร่วมด้วยในสังคมไทย พร้อมทั้งขออนุโมทนาขอบใจ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) ที่ได้คัดลอกเนื้อความในหนังสือเล่มนั้น จัดทำเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่งไปให้แก่ผู้เขียน

เนื่องจาก สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน นี้เป็นหนังสือรุ่นเก่าเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อนโน้น มีการจัดทำรูปเล่มที่ค่อนข้างอ่านยากสำหรับคนสมัยนี้ ในการตรวจจัดทำเล่มสำหรับการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ผู้เขียนจึงจัดแต่งและเพิ่มเติมในข้อสำคัญ ๒ ประการ คือ

ก) ของเดิม เนื้อความย่อหน้าหนึ่งๆ ยาวมาก ถึงหนึ่งหรือครึ่งหน้า คราวนี้ได้ซอยย่อหน้าให้ถี่ เพื่อให้จับความได้สะดวก

ข) หนังสือเก่าที่เป็นแหล่งข้อมูล ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ซ้ำในปี ๒๕๒๙ ไม่มีสารบัญ คราวนี้ได้ทำสารบัญใส่เข้ามา แต่เป็นสารบัญพิเศษ คือ มิใช่เป็นสารบัญของบทและหัวข้อที่แสดงไว้ในเล่มหนังสือ แต่เป็นสารบัญจับสรุปแง่มุมที่พึงสังเกตหรือที่น่าสนใจ ของเนื้อความส่วนนั้นๆ

นอกจากนั้น ได้ปรับแก้ในส่วนที่ไม่สำคัญเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้ความดีขึ้น

ผู้อ่านคงสงสัยว่า คำบรรยายที่ชื่อว่า “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข” ที่เป็นต้นเรื่องของหนังสือ บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วยสถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน เล่มนี้ อยู่ในหนังสือเล่มไหน

ขอเล่าเรื่องราวให้ทราบชัดเจนขึ้นว่า ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ มูลนิธิ โกมลคีมทอง ได้รวบรวมข้อเขียน บทความ และคำบรรยายต่างๆ ของผู้เขียน จัดประมวลเป็นหมวด แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มๆ เล่มที่เกี่ยวกับสังคม ได้แก่ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย, พุทธศาสนากับสังคมไทย และ ลักษณะสังคมพุทธ ทั้งนี้โดยคุณดุษฎี อังสุเมธางกูร (อดีตกรรมการชุมนุมพุทธฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปัจจุบันคือ พระอธิการ ดุษฎี เมธงฺกุโร) เป็นผู้เริ่มงานประมวลและจัดประเภท

หนังสือชื่อแรกคือ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย นอกจากมี บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วยสถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็มีคำบรรยาย “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข” ที่เป็นต้นเรื่องของบันทึกเหล่านั้นด้วย

นอกจากนั้น หนังสือเล่มดังกล่าวยังมีบทความ คำบรรยาย คำอภิปราย คำให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ สภาพของสถาบันสงฆ์ ศาสนจักร ในแง่ของสังคม เรื่องอื่นๆ อีก ๖ เรื่อง รวมเป็นเนื้อหนังสือ ๓๙๔ หน้า

โดยนัยนี้ หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน เล่มนี้จึงเป็นเพียงส่วนย่อยตอนหนึ่งในหนังสือที่ชื่อคล้ายกันว่า สถาบันสงฆ์ กับ สังคมไทย

เนื่องจากการพิมพ์หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน ครั้งนี้ เป็นเหมือนการย้อนกลับไปพิมพ์ส่วนย่อยตอนหนึ่งของหนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมไทย ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องชี้แจงให้ท่านที่เกี่ยวข้องได้ทราบเรื่องราวให้ชัดเจน และจึงขอถือการพิมพ์ครั้งนี้ เป็นการพิมพ์ครั้งกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจสับสน และเพื่อให้เป็นโอกาสที่จะจัดเรื่องราว และจัดงานพิมพ์เล่มหนังสือ ให้เป็นระบบที่มีองค์ประกอบและลำดับที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ขออนุโมทนาองค์การนิสิตบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อีกครั้งหนึ่ง ที่มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติและพระศาสนา และได้ฟื้นการพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นมา หวังว่าบันทึกประกอบทั้งหลายในหนังสือนี้ จักอำนวยประโยชน์เป็นเครื่องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสังคมไทย ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ อย่างถูกทางสืบต่อไป

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๙ กันยายน ๒๕๕๘

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาเบ็ดเตล็ด เช่น ความมั่นคงในอุดมคติคำปรารภ (ในการพิมพ์ครั้งแรก) >>

No Comments

Comments are closed.