— ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 11 จาก 35 ตอนของ

ความรู้ประเภทที่ ๒ :
ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา

ทีนี้ ก็มีปัญหาต่อไปอีกว่า การมองความหมายและการตีค่าในแบบอวิชชาและตัณหาเป็นอย่างไร ลักษณะของอวิชชาคือความไม่รู้ ที่ว่าไม่รู้นั้น ไม่รู้อย่างไร ที่ว่าไม่รู้ก็ตรงข้ามกับปัญญาที่ว่ารู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีหรือไม่ใช้ปัญญาแล้ว ก็เป็นอวิชชา คือไม่รู้ก็มาถึงความหมายของปัญญาอีก ว่าปัญญามีความหมายอย่างไร เมื่อไม่มีปัญญาอย่างนั้นแล้วก็ต้องเป็นอวิชชา เป็นอันว่าสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือคำว่าปัญญา

หันมาพิจารณาความหมายของปัญญาว่า ปัญญาคืออะไร เราแปลกันง่ายๆ ว่า ปัญญาคือ ความรู้ ความรู้ชัด ความรอบรู้ ความเข้าใจ อะไรต่างๆ คำแปลเพียงแค่นี้ยังไม่ทำให้เกิดความชัดเจนอะไรแต่อย่างใด ทำอย่างไรจึงจะเกิดความชัดเจนขึ้นไปอีก เราแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาคือความรู้ตามความเป็นจริง การรู้ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็เกิดปัญญาอีกนั่นแหละ ที่รู้กันตามธรรมดานี้ไม่ใช่รู้ตามความเป็นจริง

หรือลองมาวิเคราะห์กันดู ที่ว่าเรารู้กันตามธรรมดานั้น รู้กันแค่ไหน ที่เรารู้กันตามธรรมดาก็คือ รู้รูปลักษณ์ รู้เป็นก้อนๆ คำว่ารูปลักษณ์ ก็คือ รูปลักษณะ หมายความว่าคนเราธรรมดาจะถือว่าเรารู้ เมื่อรู้รูปลักษณ์ภายนอกแล้ว รู้จักสิ่งนั้นเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นตัวตนต่างหากจากอันอื่นแล้ว เช่นเรารู้จักแก้ว ก็เอาเพียงแค่รู้ว่า อ้อ รูปร่างมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นของใสอย่างนี้ รูปร่างสูงต่ำขนาดนี้ ใช้บรรจุสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือว่าถ้ารู้จักโต๊ะ ก็เอาแค่รู้ว่าเป็นไม้สี่เหลี่ยมมาปูอยู่ มีขา มีฐานรองรับ ใช้เป็นที่เขียนหนังสืออะไรต่ออะไร นี้เรียกว่าความรู้ในแบบรูปลักษณ์ เป็นความรู้ขั้นต้น ยังไม่ถือว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง

ปัญญาไม่ใช่รู้เพียงรูปลักษณ์ ไม่ใช่เพียงรู้ข้อเท็จจริงเป็นก้อนๆ ต้องรู้อะไรต่อไป ต้องรู้แยกแยะ รู้เข้าไปถึงองค์ประกอบ รู้ถึงเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งที่อยู่รอบตัวมัน รู้จนกระทั่งไม่มีเป็นชิ้นเป็นอันเป็นก้อน เป็นตัวตนที่แยกต่างหากออกไปจากชิ้นอื่น อันอื่น ก้อนอื่น หรือตัวตนอื่นอย่างเด็ดขาดจริงจัง ถ้ารู้ถึงขั้นนี้เราเรียกว่าเป็นปัญญาได้

ทีนี้ ลองพิจารณาถึงตัวอย่างเท่าที่พูดมา ว่ามันเป็นการขาดปัญญาหรือเป็นการมองที่ไม่สามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ โดยเข้าถึงองค์ประกอบ เหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ทำไมเราจึงเรียกว่าเป็นอวิชชา คือการมองขั้นรูปลักษณ์

ชาวชนบทบางคน หรือเด็กชาวชนบทที่มองเห็นภาพตึกสวยงามในกรุงเทพฯ แล้ว เขาจะมองเพียงรูปลักษณ์อันเป็นที่น่าพอใจ น่าสนองความต้องการ น่าจะเห็น น่าจะอยู่ น่าจะเอา คือเขาจะเห็นว่าตึกอาคารสิ่งประดับประดาต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้นสวยงาม แล้วความคิดของเขาก็จะติดข้องวนอยู่ในรูปลักษณ์เท่านั้น เขาจะไม่คิดต่อไปถึงความจริงที่เกี่ยวเนื่องกับตัวอาคารที่สวยงามนั้นว่า ตัวอาคารที่สวยงามนั้น มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มีอะไรนอกจากนี้อีกบ้าง นอกจากนั้นแล้ว ความเป็นอยู่ของคนในอาคารนั้นเป็นอย่างไร แล้วถ้าชีวิตของตัวเขาเองจะสัมพันธ์กับตัวตึกเหล่านี้ เขาจะไปอยู่ได้หรือไม่ ถ้าเขาจะไปอยู่จะอยู่ได้อย่างไร เป็นต้น ความคิดของเขาจะหยุดแค่เห็นภาพที่สวยงาม และรูปอาคารสิ่งประดับประดาเหล่านั้น เมื่อหยุดแล้ว ต่อจากนั้นความคิดของเขาจะหันกลับเข้ามาสู่ภายในตนเอง พร้อมด้วยภาพเมืองกรุงที่สวยงามภาพหนึ่ง อันหนึ่ง ต่อจากความคิดที่วาบขึ้นภายในจิตใจของตนเองแล้ว ความคิดที่ต่อจากนั้น เป็นความคิดในทำนองภาพฝัน ซึ่งปรุงสร้างขึ้นในจิตใจของเขาเอง ความคิดเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ตัวจริงที่อยู่ข้างนอกนั้นหยุดแล้ว หยุดอยู่แค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ต่อจากนั้นเขาก็จะหันมาสร้างภาพวาดขึ้นในจิตใจของเขาเอง เป็นบทบาทการแสดงระหว่างตัวเขาตัวหนึ่งกับกรุงเทพฯ อีกตัวหนึ่ง มีตัวเขาที่จะได้จะเอาตัวหนึ่ง กับตัวเมืองกรุงที่น่าได้น่าเอาและจะถูกได้ถูกเอาอีกตัวหนึ่ง ลักษณะการมองแบบนี้ถือว่า ไม่พัฒนาปัญญา คือเขาจะไม่สามารถพิจารณาเข้าถึงความจริงของสิ่งเหล่านั้นต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ— อวิชชา – ตัณหา – อัตตา >>

No Comments

Comments are closed.