คำนำ

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 1 จาก 35 ตอนของ

คำนำ

(พิมพ์ครั้งที่ ๒)

มูลนิธิโกมลคีมทอง มีกุศลเจตนา จะจัดพิมพ์หนังสือ “ปรัชญาการศึกษาไทย” เพื่อเผยแพร่ใหม่เป็นครั้งที่ ๒ เพื่อให้เป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น

“ปรัชญาการศึกษาไทย” นี้ จัดพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

ดังได้กล่าวไว้ในคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกนั้นว่า หนังสือนี้ เป็นประมวลคำบรรยายต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งแสดงในต่างโอกาส ต่างสถานที่ ไม่ใช่เป็นผลงานทางวิชาการที่เขียนขึ้น เพื่อแสดงปรัชญาการศึกษาไทยอย่างจำเพาะโดยตรง แม้แต่ชื่อหนังสือของ “ปรัชญาการศึกษาไทย” ก็เป็นคำที่คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้คิดริเริ่มจัดพิมพ์ในครั้งที่ ๑ นั้นเป็นผู้ตั้งให้

ในการพิมพ์ครั้งแรก คำบรรยายและบทความที่รวมพิมพ์ มีทั้งที่ว่าด้วยศาสนธรรมและที่ว่าด้วยสถาบันพุทธศาสนา มีทั้งในด้านการศึกษาและในด้านสังคม แต่ในการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ ผู้พิมพ์ได้จัดเนื้อหาใหม่ โดยตัดคำบรรยายและบทความที่เกี่ยวกับสถาบันและเรื่องทางด้านสังคมออกทั้งหมด เพื่อแยกออกไปพิมพ์เป็นเล่มต่างหาก แล้วนำคำบรรยายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา เฉพาะที่เป็นด้านศาสนธรรมอย่างเดียวเพิ่มเข้ามา ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เพิ่มใหม่ และเข้ากับชื่อหนังสือว่า “ปรัชญาการศึกษาไทย” มากยิ่งขึ้น

เพราะเป็นที่รวมคำบรรยายต่างวาระต่างสถานที่ หนังสือนี้อาจมีเนื้อความซ้ำซ้อนกันบ้าง แต่ก็หวังว่าส่วนมากจะเป็นการซ้ำเพียงในด้านหลัก ส่วนคำอธิบายอาจมีรายละเอียดต่างกัน และช่วยเสริมกันให้ชัดยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่าหากมีโอกาสเขียนเรื่องปรัชญาการศึกษาไทยเป็นงานทางวิชาการเต็มรูปก็จะเป็นการดี แต่เท่าที่เป็นมา ยังไม่มีเวลาเพียงพอและปัจจัยต่างๆ ดูจะยังไม่สุกงอมเท่าที่จะทำเช่นนั้น เฉพาะหนังสือเล่มนี้ อาจจะถือว่าเป็นปรัชญาการศึกษาไทยฉบับกรุยทาง หรือฉบับเกริ่นนำ เพื่อให้เชื่อมกับความหวังที่ว่าอาจจะมีงานเขียนเรื่องนี้โดยตรงในกาลต่อไป

หนังสือฉบับที่พิมพ์ครั้งใหม่นี้ สำเร็จขึ้นได้เพราะคุณดุษฎี อังสุเมธางกูร ขวนขวายช่วยรวบรวมเรื่องมาประมวลจัดประเภทและเข้าใจว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการจัดพิมพ์ครั้งนี้ขึ้น จึงขออนุโมทนาต่อคุณดุษฎี อังสุเมธางกูรไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างมาก

ทางด้านมูลนิธิโกมลคีมทอง คุณมนัส แต้ ซึ่งเป็นผู้จัดดำเนินในด้านการจัดพิมพ์ ได้เอาใจใส่ทำงานด้วยความตั้งใจจริงที่จะให้หนังสือสำเร็จออกมาอย่างเรียบร้อย จึงขออนุโมทนาต่อคุณมนัส แต้ ไว้เป็นอย่างมากด้วย

ธรรมทานในการพิมพ์ครั้งนี้ ขอยกมอบให้เป็นสิทธิของมูลนิธิโกมลคีมทองด้วยความยินดี เพราะเป็นกิจการกุศลที่มีวัตถุประสงค์ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ จักได้เป็นกุศลกรรมร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมกว้างขวางยิ่งขึ้นสืบไป

(พระราชวรมุนี)
๑๔ ก.ย. ๒๕๒๕

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ) >>

No Comments

Comments are closed.