— ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 8 จาก 35 ตอนของ

ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด
ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม

เราแบ่งแยกการเริ่มต้นความคิด หรือการเริ่มก่อรูปความคิดได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน ก่อนที่จะชี้แจงว่าสองประเภทนี้มีอะไรบ้าง จะขอยกตัวอย่างเสียก่อน เมื่อพูดถึงตัวอย่างแล้ว จึงค่อยมาช่วยกันแยกจากตัวอย่างนั้นว่า การเดินสายจุดชนวนเริ่มต้นของความคิด ๒ ประเภทใหญ่ๆ นั้นเป็นอย่างไร

ขอให้คิดดู ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย ก็เพราะเราต้องการประโยชน์จากมัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อเรา คือเราเห็นว่ามันมีคุณค่าที่จะสนองความต้องการของเราได้ เราจึงต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน เพื่อเอาคุณค่านั้นจากมัน เรียกว่าใช้ประโยชน์จากมัน ทีนี้สิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เรามองความหมายและเห็นคุณค่าที่จะสนองความต้องการของเราอย่างไรบ้าง เช่น ในการรับประทานอาหาร ขอยกเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย เรารับประทานอาหารทุกๆ วัน เมื่อมองเห็นอาหารที่จัดไว้ เราจะมีท่าทีแห่งความคิดที่เรียกว่า การมองความหมายและตีค่าเกิดขึ้น

ตามปกติการมองนี้จะแยกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ แบบที่ ๑ เราอาจจะมองความหมายในแง่ที่ว่าอาหารนี้เอร็ดอร่อยหรือไม่ จัดอย่างไร หรูหรือไม่ สมเกียรติกับเราหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น แล้วการเห็นคุณค่าก็จะตามมาว่า มันมีคุณค่าที่สนองความต้องการของเราหรือไม่ ตามความหมายที่มองนั้นนี้เป็นแบบที่หนึ่ง ทีนี้แบบที่ ๒ อีกคนหนึ่งอาจจะมองความหมายของอาหารที่จัดนั้นในแง่ที่ว่า อาหารนี้มีส่วนประกอบที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายหรือไม่ พอแก่ความต้องการของร่างกายที่ใช้งานหรือไม่ ย่อยง่ายหรือย่อยยาก เกื้อกูลหรือเป็นอันตรายแก่สุขภาพหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น อันนี้เป็นการมองความหมายของอาหาร ๒ แบบ

โดยปกติแล้ว คนทั่วๆ ไป มักจะมองปนกันไปทั้งสองแบบ แต่เท่าที่เห็นมักจะเน้นในแง่ของการมองหาความเอร็ดอร่อยและความโก้หรูเสียมากกว่า

จากจุดเริ่มต้นของการมองความหมายและตีค่าของสิ่งเหล่านี้ที่มีต่อเรานั้น ก็จะมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเราต่อไปในระยะยาว ถ้าหากเราเป็นคนที่มุ่งความหมายและคุณค่าในแง่ที่สนองความต้องการในด้านความสุขสำราญ ความปรนปรือ เราก็จะมีนิสัยหนักไปในแง่ฟุ่มเฟือยโก้หรูฟุ้งเฟ้อ เราอาจจะไม่สามารถรับประทานอาหารที่บ้าน เพราะไม่โก้ ไม่เด่น แล้วก็เอร็ดอร่อยน้อย เราอาจจะต้องไปนั่งในภัตตาคารหรือในสถานที่มีความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อมากขึ้น แทนที่เราจะเสียค่าอาหารเพียงอิ่มเดียว ในเวลาเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม คนที่มองความหมายและมองคุณค่าจากอาหารนั้น ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งที่ให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิต ช่วยให้เรามีชีวิตดำรงอยู่เป็นไปได้ ทำให้เรามีสุขภาพดี สามารถทำกิจ ทำหน้าที่ของเราได้ ในแง่นี้ของเขาจะต้องการที่มีคุณค่าแต่ราคาไม่มากนัก อาจจะเป็นมื้อละเพียงสิบบาทก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาพลังงานและความคิดไปกับความวุ่นวายด้วยเรื่องความฟุ้งเฟ้อ โก้หรู เอาดีเอาเด่น มีหน้าที่ต่างๆ การมองสองอย่างนี้มันจะมีผลที่ผิดกันไปเป็นอย่างมาก ทั้งต่อบุคคลและต่อสังคมโดยเฉพาะในระยะยาว

เท่าที่กล่าวมาตามตัวอย่างนี้จะเห็นว่า การมองความหมายและการตีค่าออกมาเป็นสองแบบคือ อย่างหนึ่ง ตีค่าในแง่ที่ว่า สิ่งนั้นสนองความต้องการในด้านปรนเปรอแค่ไหนเพียงไร และอีกอย่างหนึ่ง การมองโดยคำนึงถึงคุณค่าที่มีต่อชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งจะมองเห็นได้ง่ายในตัวอย่างเรื่องอาหารนั้น

ขอยกตัวอย่างอื่นๆ อีก เช่นว่า เด็กดูโทรทัศน์หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ได้ เมื่อดูรายการต่างๆ ตัวอย่างง่ายๆ แม้แต่ข่าว ข่าวนั้นแม้มีเพื่อความรู้ แต่บางคนก็จะมองในแง่ของความเพลิดเพลินอย่างเดียว ต้องการหาความสนุกสนานความเพลิดเพลินแล้วก็ผ่านไป แต่บางคนอาจจะมองในแง่ที่จะได้ความรู้ความเข้าใจจากข่าวนั้น หรือถ้าเป็นเรื่องราวที่สนุกสนานตื่นเต้น คนหนึ่งอาจจะได้แต่ความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่อีกคนหนึ่งจะมองหาความหมายในแง่ที่ว่ามันมีประโยชน์ มีสาระ มีคติธรรมอย่างไรด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — การคิดอย่างเสรี— ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม >>

No Comments

Comments are closed.