— ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 19 จาก 35 ตอนของ

ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ

ตัวอย่างอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย อย่างเด็กนักเรียนเดี๋ยวนี้ มองหน้ากันปั๊บ ก็เอ๊ะมองทำไม เอาเรื่องหรือไง จะเอาอย่างไร เอาแล้ว ก็จะลงมือใช้กำลังกันเท่านั้นเอง นี้ก็เป็นการมองในวิถีของอวิชชาและตัณหาทั้งนั้น ทำไมจึงเป็นอวิชชา พวกนี้มองแต่รูปลักษณ์ แล้วก็คิดวาดภาพเอาเองต่อไปตามความหมายที่สัมพันธ์กับภวตัณหา คือ เราต้องการสนองภวตัณหาด้วยความมีเกียรติ ความยิ่งใหญ่ เธอจะต้องนับถือฉัน ยอมให้กับฉัน แต่ฉันมีปมอยู่ในใจ ระแวงว่า ภวตัณหาของฉันคงไม่สม เธอมองฉัน คงจะลบหลู่ฉัน เธอขัดภวตัณหาฉัน บีบคั้นฉัน ฉันมีวิภวตัณหาแล้วนะ ฉันอยากจะให้สิ่งที่มาขัดใจฉันอันตรธาน ถูกทำลายหาย พ้นหูพ้นตาไปเสีย หรือมิฉะนั้น เธอจะต้องสนองภวตัณหาของฉันให้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นเขามองหน้า อาจจะไม่ดูหน้าตาว่าเป็นอย่างไรด้วยซ้ำไป แต่ตัวมีปมด้อยอยู่แล้ว ก็นึกว่าเอ๊ะ นี่มองหาเรื่อง จะมองดูถูกเราเสียแล้วกระมัง มันขัดกับตัณหาของเราเสียแล้ว ก็เลยสร้างมโนภาพในทางที่จะชกต่อยกันขึ้นมา เป็นเรื่องของตัณหา

ทีนี้ ถ้าจะมองภาพในแง่ที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร คนเรามองหน้ากันอาจจะเป็นเพราะเขาต้องการรู้ว่าเราเป็นใคร เป็นคนที่เขารู้จักหรือไม่ เขายังไม่รู้ เขาต้องการให้รู้ว่าเขารู้จักเราหรือไม่รู้จัก นอกจากนั้น เขาอาจมองเพื่อขอความช่วยเหลือจากเราก็ได้ เช่น อาจจะขอทางเป็นต้น แล้วก็หาทางช่วยเขาไป ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้ว ปัญหาอย่างนั้นก็ไม่เกิดขึ้น เราก็จะเกิดความเอื้อเฟื้อต่อกัน กลายเป็นกรุณา

คนที่มองอะไรแค่รูปลักษณ์ และวินิจฉัยสิ่งต่างๆ เพียงด้วยพอใจและไม่พอใจในสิ่งนั้น เราเรียกว่าดำเนินในวิถีของอวิชชาและตัณหา ซึ่งไม่ใช่ขบวนการของการศึกษา และเราไม่เรียกคนเช่นนั้นว่า เป็นคนมีการศึกษา คนเช่นนั้นเติบโตขึ้นมาในระบบการศึกษาใด เราจะเรียกระบบการศึกษานั้นว่า เป็นระบบการศึกษาที่ถูกต้องได้อย่างไร เพราะว่าการศึกษาไม่ได้เริ่มต้นขึ้นแม้แต่ในความคิดเบื้องแรกของเขาเสียแล้ว

เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ไขสิ่งนี้ และจะต้องแก้ให้ได้ คือ จะทำอย่างไรให้คนที่เติบโตขึ้นมารู้จักพิจารณามองสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา สัมพันธ์กับวัตถุธรรมในแง่ของคุณค่าแท้ สัมพันธ์กับมนุษย์ในแง่ของปัญญาที่ประกอบไปด้วยอิสรภาพของตนเอง และความเผื่อแผ่อิสรภาพ คือ ความกรุณาให้แก่ผู้อื่น จะทำได้อย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นกัลยาณมิตร

เรื่องที่ว่านี้เป็นการแสดงออกที่มีในทุกๆ อย่าง ตัวอย่างก็มีมากมาย แม้แต่จะสอนเด็กให้ทำอะไรสักอย่าง มันก็มีแรงจูงใจใน ๒ ประเภท เช่นว่า เด็กจะมากวาดที่โรงเรียนให้เรา เด็กก็จะมีแรงจูงใจอย่างหนึ่งในสองประเภท อาจจะกวาดโดยอยากจะให้คุณครูชม หรืออยากจะให้ครูให้รางวัล นี้ก็ประเภทหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งอาจจะเป็นด้วยเด็กรักความสะอาด ต้องการเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสิ่งทั้งหลาย

แล้วอย่างไหนเป็นสิ่งที่เราต้องการ อย่างไหนเป็นอย่างแท้จริง การกวาดที่แท้จริงคือ การทำให้สะอาด และเกิดจากการรักความเป็นระเบียบเรียบร้อย แรงจูงใจที่ทำให้เกิดภาวะนี้เรียกว่า ธรรมฉันทะ ถ้าเขากวาดเพราะเขาอยากได้รางวัลและคำชม เราเรียกว่ามีแรงจูงใจที่ไม่ซื่อตรง เป็นกามฉันทะ ไม่ใช่ต้องการผลงาน แต่ต้องการผลเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่พอวินิจฉัยได้

ทีนี้เราจะต้องการเด็กประเภทไหน ถ้าเราจะพัฒนาในทางการศึกษาให้ถูกต้อง ในระยะยาวเราจะต้องพยายามพัฒนาจิตใจของเด็กให้ทำงานเพื่อมุ่งผล คือความสำเร็จของงานนั้นเอง ถ้าต้องการให้เด็กขยันกวาดบ้านก็ต้องให้เขาเป็นคนรักความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างนี้จะได้ผลระยะยาว แต่ถ้าหากว่าเราจะให้เขาขยันในการทำงานกวาดบ้าน เพียงเพราะอยากได้รางวัล หรือได้คำชมเชยแล้ว อันนี้จะได้ผลเพียงระยะสั้น ไม่ยืนยาว และจะเป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมปัญหาให้แก่ตัวเขา และสังคมต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเราจะปฏิเสธโดยสิ้นเชิงในเรื่องการรู้จักใช้วิถีทางของตัณหาเป็นเครื่องกระตุ้นบ้างในบางกรณี อย่างกรณีของเด็กที่ว่านี้ ถ้าพูดในลักษณะกลยุทธ หรือกลวิธีในทางการศึกษา เราอาจจะนำเอาวิถีของตัณหานั้นมาใช้กระตุ้นก่อน เพื่อช่วยให้เดินหน้าไปสู่การศึกษาอย่างแท้จริงต่อไป หมายความว่าเราอาจจะใช้คำชมและรางวัลบ้างเพื่อเป็นกลวิธี แต่ครูจะต้องตระหนักไว้ในใจเสมอว่า นี่เป็นเพียงกลวิธีเท่านั้น เราจะต้องเตือนใจของเราไว้เสมอ เพื่อเราจะได้ไม่เผลอและหยุดเพียงเท่านั้น เพราะจุดหมายที่แท้จริงของเราก็คือ การที่จะสร้างการศึกษาที่แท้จริง ให้เกิดมีธรรมฉันทะนั้นได้อย่างไร ตราบใดที่เรายังไม่สามารถทำให้เด็กเข้าถึงตัวธรรมฉันทะได้ ก็ยังมีอันตราย ยังไม่ปลอดภัย นอกจากนั้นถ้ายังใช้กลวิธีอยู่ ก็จะต้องมีสติเตือนตนเองเสมอว่าในขณะนี้ เราอยู่แค่ในขั้นกลวิธีเท่านั้น ยังไม่ถึงจุดหมายที่ต้องการ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — การศึกษากับแรงจูงใจ— ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม >>

No Comments

Comments are closed.