— ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 9 จาก 35 ตอนของ

ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด
ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม

ตัวอย่างในการดำเนินชีวิตของเรา ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะขอยกตัวอย่างที่ยกบ่อยๆ คือเรื่อง หมอกับคนไข้ คนไข้มาหาหมอ แกหน้าตาบูดบึ้ง ไม่แสดงมารยาทที่ควรแสดงกิริยาวาจาไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเห็นคนไข้ที่เป็นอย่างนี้ หมอจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ปฏิกิริยาของหมอจะมีได้ ๒ แบบ แบบที่ ๑ หมอจะมีความรู้สึกว่า หมอเป็นบุคคลชั้นสังคมให้เกียรติ เป็นบุคคลที่ควรต้องแสดงความเคารพนับถือ คนไข้นี้ควรจะให้เกียรติแก่หมอพอสมควร เมื่อคนไข้แสดงอาการไม่เป็นที่พอใจ ถ้าหมอคิดอยู่เพียงแต่ตัวหมอที่ควรได้รับเกียรติ คิดถึงความเคารพและการให้เกียรติที่หมอต้องการ และการที่คนไข้ไม่สนองความต้องการนั้น หมอก็มีอัตตาให้ถูกกระทบกระแทกและอัตตาของหมอก็ถูกกระทบ หมอก็จะรู้สึกว่าอันนี้มันขัดใจหมอ เมื่อขัดใจของตน ไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา ไม่สนองความมีเกียรติ ความเป็นที่น่าเคารพนับถือ หมอก็อาจจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น และอาจจะแสดงปฏิกิริยานั้นออกมาในรูปของความขัดเคือง โมโหฉุนเฉียวหรือความไม่เต็มใจที่จะรักษา และผลที่จะเกิดต่อไปก็เป็นที่ไม่ดี ทั้งในทางมนุษยสัมพันธ์ และในด้านการแก้ปัญหาของมนุษย์

ทีนี้ ในแบบที่ ๒ หมอไม่คิดถึงเรื่องตัวตนของหมอ ไม่คิดถึงความต้องการของเกียรติความต้องการความเคารพนับถือที่ตัวหมอจะได้รับ ไม่นึกถึงอาการแสดงออกของคนไข้ในแง่ที่กระทบตัวตนของหมอ แต่มองตัวคนไข้ในรูปของปัญหา และมองเหตุผลในวงกว้าง ก็จะคิดไปอีกแง่หนึ่งว่า นายคนนี้มีทุกข์มีความเดือดร้อนจึงมาหาเรา รายนี้อาจจะไม่มีเฉพาะแต่ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะมีปัญหาที่เป็นพื้นฐานลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เขาอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับความยากจน เขาอาจจะกำลังมีความกังวลใจว่าจะไม่มีเงินมาชำระค่ายานี้ก็ได้ คือนอกจากจะทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังทุกข์เพราะไม่มีเงินอีกด้วย เรียกว่ามีความทุกข์อย่างยิ่ง ทำให้เขายิ้มไม่ออกและแสดงกิริยาอาการต่างๆ เป็นไปในทางที่ไม่น่าพอใจ เป็นปมความทุกข์ในใจของเขา ถ้าหากหมอนึกอย่างนี้แล้ว ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นคือความรู้สึกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ อยากจะช่วยเหลือ อยากจะแก้ปัญหาของเขา นอกจากแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บแล้วก็อาจจะกลายเป็นแก้ปัญหาทางจิตใจอีกด้วย อาจจะสอบถามคนไข้นั้นว่ามีปัญหาในทางจิตใจอย่างไรบ้าง มีเรื่องทุกข์ร้อนอย่างไร บางทีหมออาจจะได้ช่วย ช่วยอย่างอื่นในทางวัตถุไม่ได้ก็ช่วยปลอบโยนในทางจิตใจให้เขาสบายขึ้น เป็นการแสดงออกในด้านเมตตากรุณา เป็นเรื่องของหนทางที่ดีในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และเป็นทางที่ดีของการแก้ปัญหาของมนุษย์

แม้มองในแง่คนไข้ก็เช่นเดียวกัน คนไข้มองเห็นหมอหน้าตาไม่เบิกบาน ไม่ยิ้มแย้ม คนไข้จะรู้สึกอย่างไร ก็จะเข้าแบบปฏิกิริยาเบื้องต้น คือถ้านึกในแง่ตัวตนที่ต้องการ ตัวตนที่ถูกกระทบ การได้รับสนองตอบความต้องการหรือไม่ได้รับ วนอยู่แค่เรื่องตัวตน ก็จะนึกในแง่ที่ว่าทำไมหมอต้องแสดงต่อเราอย่างนี้ ไม่น่าพอใจ แล้วก็อาจจะโกรธเคือง แต่ถ้าคนไข้คิดอีกอย่างหนึ่งให้ลึกซึ้ง เป็นเหตุเป็นผลกว้างออกไปว่า หมออาจจะทำงานมาตลอดวัน คนไข้อาจจะมากมาย หมออาจจะเหนื่อยมาก อาจจะยังไม่ได้รับประทานอาหารเลย อาจจะไม่สบาย ก็เลยหน้าตาไม่ดี ยิ้มแย้มไม่ออก ทำให้เกิดความเข้าใจดีต่อหมอ เห็นอกเห็นใจ ความสัมพันธ์ที่ดีก็เกิดขึ้น

ทีนี้ ในแง่ของ ครูกับศิษย์ ก็เหมือนกัน ครูมองเห็นศิษย์บางคนมีพฤติกรรมไม่เป็นที่น่าพอใจ แสดงกิริยาอาการไม่ให้ความเคารพนับถือเท่าที่ควร ถ้าครูมองแต่ในแง่ของตัวเราตัวเขา ตัวตนที่ต้องการเกียรติ ตัวตนที่ไม่ได้รับเกียรติ ความคิดก็วนอยู่แค่เรื่องอัตตาที่ถูกกระทบกระแทก ถูกบีบคั้น กามตัณหาและภวตัณหาถูกขัด เกิดเป็นวิภวตัณหา เกิดความขัดใจ ว่าเราเป็นครู นั่นเขาเป็นศิษย์ ทำไมเขาแสดงอาการต่อเราอย่างนี้ อาจจะรู้สึกว่า ศิษย์นี้มาทำลาย หรือมาลบหลู่เกียรติของตนที่เป็นครู ในกรณีนี้ เราก็จะเกิดปฏิกิริยาคือความขัดเคือง โกรธกริ้ว ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาของศิษย์ หรือกลับเพิ่มปัญหา

ทีนี้ถ้าเรามองไปทางตรงข้ามในอีกแง่หนึ่ง ในอีกความหมายหนึ่ง ไม่ดึงเข้ามาหาเรื่องตัวตน แต่มองเด็กในแง่ที่เป็นตัวปัญหาที่จะต้องแก้ และมองเหตุผลของปัญหานั้นในวงกว้าง ก็จะคิดไปในแง่สืบสาวราวเรื่องว่าศิษย์คงมีปัญหาในจิตใจ มีความทุกข์ร้อน คับอกคับใจ หรืออาจมีปัญหาทางครอบครัว เป็นต้น เป็นปมซ้อนอยู่ ทำให้มีพฤติกรรมเช่นนี้ จากการคิดในแง่นี้ ก็นำไปสู่การสนใจเด็กเพิ่มขึ้น การพยายามแก้ปัญหามากขึ้น การมองหาความเข้าใจเพิ่มเติมและนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ เช่น เข้าไปสอบถามเด็ก เป็นต้น

หรืออย่างชาวชนบท เด็กชนบทเห็นภาพเมืองหลวงจากโทรทัศน์บ้าง จากภาพต่างๆ บ้าง เห็นตึกราม รถยนต์ ถนนสวยงาม ทำให้นึกว่ากรุงเทพนี้เป็นสวรรค์อย่างนั้น ทีนี้เด็กชนบทมองเห็นเพียงแค่นั้น ก็สร้างภาพคิดฝันไป จากนั้นก็อยากเข้ามาอยู่ในกรุง โดยไม่คิดว่าปัญหาที่มีอยู่ในกรุงนั้นมีมากมายเพียงไร และเมื่อตนเข้าไปอยู่แล้ว จะมีทางดำเนินชีวิตให้เป็นไปได้อย่างไรหรือไม่ เขาจะมองภาพสิ่งเหล่านี้และคิดฝันถึงความสุขความสนุกความสะดวกสบายแต่อย่างเดียว และพยายามที่จะเข้ามาสู่กรุง เมื่อเข้ามาแล้วก็เกิดปัญหา เช่น การหางานทำไม่ได้ หรือหางานทำได้แล้วเกิดปัญหาซ้อนอย่างอื่น นำไปสู่การสร้างสลัมอะไรต่ออะไร เป็นต้น นำมาซึ่งทุกข์แก่ตนเองและสังคม ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เริ่มต้นจากจุดของการมองความหมาย หรือการก่อรูปความคิดในทางที่จะเป็นไปเพื่อสร้างสม หรือเพื่อการแก้ปัญหา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม— สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ >>

No Comments

Comments are closed.