— ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 26 จาก 35 ตอนของ

ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

ในเมื่อเราจะมาพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาในการพัฒนาการศึกษาว่าจะทำกันอย่างไร และโดยเฉพาะในกรณีนี้เราต้องพิจารณาว่าจะนำเอาพุทธศาสนามาใช้ในการพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร ก่อนที่เราจะพูดถึงจุดนี้ เราควรกลับไปพิจารณากันเสียก่อนว่า การศึกษาคืออะไร อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเพราะเรื่องเนื้อหาสาระของการศึกษานี้ที่มันไม่ได้ผล ก็เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น ในข้อที่ว่า ตัวการศึกษานั้นความหมายของมันคืออะไรแน่ อาจจะเริ่มเข้าใจผิดมาตั้งแต่ความหมายของการศึกษาเลยทีเดียว เมื่อเข้าใจความหมายของการศึกษาผิด ก็ทำให้หลักปรัชญาที่จะนำมาใช้กับการศึกษาผิดไปด้วย กำหนดวิธีการก็จะผิดพลาดไปหมด ผลออกมาก็จะกลายเป็นความล้มเหลวหรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทีนี้เราควรตรวจสอบดูว่า การศึกษานั้นคืออะไร และมีความมุ่งหมายอย่างไร

ว่าถึงความหมายของการศึกษานั้น ก็มีผู้ให้ไว้มากมายหลายแบบ แต่ละแบบแต่ละหลักการก็ดีๆ กันทั้งนั้น น่าฟัง ในที่นี้ก็ไม่ใช่โอกาสที่จะกล่าวถึงว่าแต่ละคนให้ความหมายของการศึกษาไว้อย่างไรบ้าง คงจะต้องเลือกเอาสักอย่างหนึ่ง ความจริงนั้นเอาสักอย่างหนึ่งก็ได้ ความหมายที่พอใช้ได้นั้น เอาอย่างเดียวก็พอ เนื้อหาหรือความเข้าใจในถ้อยคำที่ใช้ในคำจำกัดความต่างหากที่ถือว่าสำคัญ อาตมาจะขอยกตัวอย่างมาสักแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

“การศึกษาคือขบวนการสร้างปัญญาและคุณธรรม ความสามารถอันเป็นส่วนประกอบอย่างอื่นๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาล่วงพ้นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง นำชีวิตให้เจริญงอกงามไปสู่ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด และเสวยผลแห่งความมีชีวิตได้โดยสมบูรณ์”

อันนี้ความหมายของการศึกษาอย่างหนึ่ง คำจำกัดความบางทีก็ไม่สำคัญเท่าไร เอามาสักอย่างหนึ่งที่เราเห็นว่าเข้าใจได้ และถูกต้องพอสมควร ที่สำคัญก็คือถ้อยคำที่ใช้ในนั้นเอง แต่ละคำมีความหมายทั้งสิ้น ทีนี้เราเข้าใจคำจำกัดความนั้นว่าอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่คำแต่ละคำซึ่งใช้ในคำจำกัดความรวมนั้น ปัญหาเรื่องถ้อยคำที่ใช้มีมากมาย เขาบอกว่า ขบวนการสร้างปัญญา ปัญหาก็มีว่าอะไรคือตัวปัญญาที่แท้จริง และที่เราสร้างกันมานั้น คือปัญญาหรือไม่ ปัญญานั้นหมายถึงการรู้อะไรกว้างขวาง มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถรู้ รู้เรื่องราว รู้วิชาการ รู้ข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ มากมาย ฉลาดในวิธีการหาเลี้ยงชีพของตน นั่นคือปัญญาใช่หรือไม่ อย่างที่รู้มานี้ถูกหรือไม่ เป็นปัญญาแท้จริงหรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหาเรื่องความหมายของถ้อยคำอีกแล้ว นี่อย่างที่หนึ่ง ทีนี้ต่อไปชีวิตเองก็มีปัญหา ชีวิตคืออะไรและแค่ไหน เขาบอกว่าการศึกษาจะช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงาม หมายความว่าชีวิตเราเฉพาะตัว ชีวิตแต่ละบุคคลหรืออย่างไร อันนี้ก็ เป็นปัญหา ซึ่งจะได้วิเคราะห์กันต่อไป

ข้อต่อไป นำชีวิตให้เจริญงอกงามไปสู่ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด และเสวยผลแห่งความมีชีวิตโดยสมบูรณ์ ผลแห่งความมีชีวิตหรือผลดีที่ชีวิตต้องการนั้นคืออะไร อันนี้ก็เป็นปัญหาอีก เราต้องการอะไร อะไรจะให้ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด อะไรจะให้ความสุขแก่มนุษย์ ทรัพย์สินเงินทอง ความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุสำหรับปรนเปรอความสุขอย่างนั้นหรือเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการ หรือเป็นความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด อันนี้ก็เป็นคำถามที่ต้องพิจารณา

ต่อไปก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับถ้อยคำเช่นเดียวกัน อะไรคือความขัดข้องหรือสิ่งกีดขวางแห่งชีวิต ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ชีวิตมีสิ่งขัดข้องอยู่เสมอ เราอยากจะสร้างตึกต้นไม้ก็ขัดข้องสำหรับเรา พอตัดต้นไม้ลงไปก็สร้างตึกได้ พอสร้างตึกลงไปเป็นที่อยู่ ก็มานึกอีกทีว่าอยากทำให้ที่อยู่มีอากาศเย็นๆ อีกแล้ว ต้องติดเครื่องปรับอากาศ ถ้าไม่มีเงินพอ จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ก็เป็นความขัดข้องอีกแล้ว อันนี้ก็เป็นปัญหา หมายความว่าการศึกษาจะช่วยเราแก้ปัญหาอย่างนี้ตลอดไปหรือ หรือว่าเรามีเงินน้อย เราพออยู่พอกิน เฉพาะซื้อหาอาหารมาทำเองรับประทาน ทีนี้เราอยากกินอาหารในภัตตาคารบ้าง โก้ดี แต่ไม่มีเงินพอ ก็เป็นความขัดข้องอีกแล้ว ไม่สามารถเข้าภัตตาคารได้ การศึกษาจะต้องมาช่วยแก้ปัญหาแบบนี้หรือ หรือเราไม่มีรถยนต์นั่ง ก็อยากจะมีบ้าง จะได้นั่งไปไหนๆ สะดวกสบายและโก้เสียด้วย อันนี้ทำอย่างไรก็ต้องหาทางซื้อรถยนต์ ซื้อรถยนต์ได้แล้วมันไม่สวยเท่าที่ควรถ้าจะต้องเปลี่ยนใหม่ เงินไม่พออีกแล้ว ก็เกิดความขัดข้อง เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเป็นความขัดข้องต่างๆ ซึ่งในชีวิตเราจะประสบอยู่เสมอ ความเป็นอยู่วันหนึ่งๆ ก็มีปัญหาที่บีบคั้นขัดข้องอีกมากมาย คนอื่นก็เป็นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง ธรรมชาติก็เป็นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง ปัจจัย ๔ ที่ไม่พอก็เป็นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง ทีนี้การศึกษาเป็นสิ่งที่จะแก้ไขสิ่งบีบคั้นขัดข้อง เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่า สิ่งบีบคั้นขัดข้องที่แท้จริงนั้นคืออะไร และอะไรเป็นปัญหาที่แท้จริงนี้ด้วย

เท่าที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำ ซึ่งเป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานในหัวข้อสำคัญๆ เกี่ยวกับการศึกษา เช่นเรื่องปัญญา จุดที่ผิดพลาดก็เริ่มต้นที่นี่เอง ถ้าเรามีความเข้าใจผิดพลาดในความหมายของการศึกษา ซึ่งกระจายออกไปเป็นความเข้าใจในถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษาแล้ว แม้จะดำเนินการศึกษาไปอย่างไร ผลที่สุดก็ต้องผิดพลาดอยู่นั่นเอง เพราะว่าความเข้าใจเบื้องต้นที่เป็นรากฐานนั้นผิดเสียแล้วก็มีปัญหาเรื่อยไป แล้วก็มีปัญหาวนเวียนตั้งต้นกันใหม่อีก แล้วก็ล้มเหลวกันเรื่อย เช่น ตัวอย่างที่พูดมา ถ้าเรามีความเห็นว่า สิ่งที่จะให้ความสุขหรือสิ่งที่ดีที่ชีวิตต้องการก็คือวัตถุปรนเปรอความสุขอย่างมากที่สุด ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ความหมายของปัญญาก็จะคล้อยตามความหมายนี้เข้าไป นั่นคือปัญญาก็คือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอความสุข เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว สิ่งบีบคั้นขัดข้องคืออะไร ก็คือสิ่งอื่น มนุษย์อื่น ธรรมชาติแวดล้อมที่เราเห็นว่าไม่สนองความต้องการ หรือไม่พอแก่ความต้องการ ที่จะให้เรามาซึ่งวัตถุปรนเปรอเหล่านั้น ความเข้าใจความหมายของการศึกษาก็จะเป็นไปในรูปเช่นนี้

ทีนี้ก็ต้องถามกันว่า ตามที่เป็นมาเราเข้าใจความหมายของการศึกษาอย่างนี้หรือไม่ ถ้าหากว่าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดและก็ถือได้ว่าเป็นตัวเหตุของการศึกษาที่ผิดพลาด เท่าที่ผ่านมา เพราะว่าความหมายของการศึกษาแบบนี้เป็นไปในแง่ที่บิดเบือน เคลือบแฝง แปลงความหมายให้เข้าข้างตนเรื่อยไปตั้งแต่เริ่มต้น ความหมายแบบนี้เป็นความหมายที่เสริมสร้างความเห็นแก่ตัว ถ้าใช้ศัพท์ทางศาสนาก็หมายความว่าเป็นการขยายอัตตาหรือตัวตนให้กว้างขวางออกไปเรื่อย แม้แต่ความหมายก็เป็นไปในลักษณะที่เห็นแก่ตัวแล้วถ้าหากเราถือว่า ความเห็นชนิดนี้เป็นความเห็นที่ผิด เราก็ต้องแก้ไขตั้งแต่ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำทางการศึกษาเป็นต้นไป ทำความเข้าใจกันใหม่ทุกๆ คำ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา— ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.