จุดหมายระดับต่างๆ ของชีวิต

14 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 9 จาก 10 ตอนของ

จุดหมายระดับต่างๆ ของชีวิต

อนึ่ง จุดหมายของจริยธรรม ท่านก็เรียกว่า อรรถ เหมือนกัน เพราะอรรถแปลว่า ความมุ่งหมาย หรือความหมาย หรือจุดหมาย หรือจุดประสงค์นั่นเอง การดำเนินชีวิตที่ดีงาม คือจริยธรรม ก็วัดด้วยความสำเร็จในการบรรลุอรรถ อรรถนี้แบ่งได้เป็น ๓ ประการ คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ หรือความมุ่งหมาย หรือจุดประสงค์ที่เป็นปัจจุบัน หรือจุดมุ่งหมายที่มองเห็นได้ เช่น การมีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตัวได้ มีฐานะ มีเกียรติ มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมในสังคม มีครอบครัวที่ดีงาม อะไรต่างๆ ทำนองนี้ นับว่าเป็นจุดหมายของชีวิตในขั้นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปธรรม มองเห็นได้ง่าย หรือเห็นๆ กันอยู่ ถ้าพูดตามภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า การพึ่งตนเองได้ในทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนแม้แต่ในทางการเมือง ทิฏฐธัมมิกัตถะนี้เป็นเป้าหมายเบื้องต้น ซึ่งจริยธรรมจะต้องทำให้สัมฤทธิ์

๒. สัมปรายิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ที่เหนือขึ้นไป ประโยชน์ที่เลยออกไป หรือลึกซึ้งกว่านั้น ประโยชน์ที่ล้ำเลยออกไป นี้ก็คือการมีความมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตของตนเองว่า เรามีความประพฤติดีงาม เรามีความดีงาม เราได้ทำสิ่งที่ดีงาม ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายที่จะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องได้ สัมปรายิกัตถะนี้เป็นเรื่องของชีวิตด้านใน ซึ่งเมื่อมีแล้ว นอกจากทำให้เกิดสุขภายในแล้วก็เป็นหลักประกันชีวิตในโลกหน้า คนที่มีคุณธรรมเข้าถึงจุดหมายนี้แล้ว ก็มั่นใจตนเองได้ ไม่ต้องกลัวปรโลก ไม่ต้องกลัวโลกหน้า เรียกว่า มีความมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตของตน

๓. ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด คือ ความมีจิตใจที่เป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย จนผ่านพ้นความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานได้ ไร้ทุกข์ ซึ่งเป็นที่บรรจบครั้งสุดท้ายของปัญญา จริยธรรม และความสุข

อรรถ ๓ ประการนี้ใช้เป็นเครื่องมือวัดความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา แบ่งออกไปได้เป็น ๒ แนว เรียกว่า แนวราบ กับแนวตั้ง ที่พูดมาเมื่อกี้นี้เป็นแนวตั้ง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ ปรมัตถะ สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ ส่วนในแนวราบก็แบ่งเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็คือประโยชน์ทั้งสามข้อในแนวตั้งที่ว่ามาแล้วนั่นเอง ซึ่งจะต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น ทั้งแก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และแก่สังคมร่วมกัน เรียกว่า อัตตัตถะ ประโยชน์ตน ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น และอุภยัตถะ ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย อันนี้ก็เป็นเครื่องวัดความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา

อาตมาคิดว่าได้พูดมาก็เลยเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็คิดว่าจะต้องสรุป เป็นอันว่า ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไปนี้ เมื่อว่าในระยะยาว จุดหมายสูงสุดก็คือ การสร้างบัณฑิต คือ มนุษย์ที่มีการบรรจบประสานกัน ขององค์ทั้งสามแห่งการมีชีวิตที่ดีงาม คือ มีปัญญารู้ความจริง มีการดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่าความดีงาม หรือคุณธรรมและจริยธรรม และการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ หรือมีความสุขนั่นเอง สามอย่างนี้เป็นจุดหมายสูงสุด แต่ในระหว่างนั้น ก็มีจุดหมายในท่ามกลาง คือการเป็นนักศึกษาที่ดี เป็นนักเรียนที่ดี ที่มีองค์ประกอบ ๗ ประการ ดังที่ได้กล่าวมา ซึ่งทำให้เป็นผู้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการศึกษาเล่าเรียน และในการที่จะพัฒนาตนต่อไป เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วก็เป็นอันว่าเรากำลังสร้างนักเรียน นักศึกษาที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างบัณฑิตต่อไป

การที่จะสอนวิชาพื้นฐานทั่วไปให้ได้ผลอย่างนี้ ก็ดูจะไม่ค่อยง่ายนัก เพราะเป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษา ในที่นี้ จะขอสรุปโดยหันเข้ามาหาผู้สอน ขอสรุปง่ายๆ ว่า การสอนวิชาพื้นฐานให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์นี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย อาจพูดเชิงเปรียบเทียบว่า จะสอนวิชาเฉพาะหรือวิชาชีพ ให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์ ขอย้ำอีกทีว่า จะสอนวิชาเฉพาะและวิชาชีพให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะวิชาชีพและวิชาเฉพาะเป็นการสร้างเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเก่งในทางนั้นๆ จะมาสอน แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์ เพราะเป็นการสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สร้างความเป็นนักศึกษาที่ดี และสร้างความเป็นบัณฑิตที่แท้

ขอสรุปด้วยคำพูดที่กล่าวมาเมื่อกี้ และขอตั้งจิตตั้งใจเป็นกัลยาณฉันทะ อาราธนาคุณพระอภิบาลทุกท่าน ที่ได้มาร่วมกัน ด้วยกุศลเจตนาในการประชุมปฏิบัติการนี้ ขอจงได้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการที่จะดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่วงการการศึกษา และประโยชน์สุขของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตัวอย่างปัญญาที่ควรสร้างขึ้นในการศึกษาคำอนุโมทนา >>

No Comments

Comments are closed.