จุดหมายเพื่อความเป็นบัณฑิต

14 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 7 จาก 10 ตอนของ

จุดหมายเพื่อความเป็นบัณฑิต

เมื่อพูดถึงความมุ่งหมายช่วงสั้นแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอพูดถึงความมุ่งหมายช่วงยาว หรือความมุ่งหมายชนิดปลายทาง ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุด ได้แก่ ความสัมฤทธิ์ผลของการพัฒนา ซึ่งเป็นการสร้างบัณฑิตที่แท้จริง ความมุ่งหมายสูงสุดในขั้นปลายของกระบวนการที่ว่าเป็นการสร้างบัณฑิตนี้ ได้บอกแล้วข้างต้นว่าเกิดจากการบรรจบประสานกันขององค์ทั้งสาม องค์ทั้งสามคืออะไร ขอทวนอีกครั้งหนึ่ง องค์ทั้งสามนั้น คือ

  1. เข้าถึงความจริงด้วยความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา หมายถึง รู้สภาวะ รู้กฎเกณฑ์ รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย หรือรู้สัจจธรรมนั่นเอง นี้เป็นองค์ที่หนึ่ง คือมีปัญญาเป็นพื้นฐานเบื้องแรก
  2. เมื่อรู้แล้วก็ดำเนินชีวิตตามปัญญาที่รู้นั้น ซึ่งจะเป็นการดำเนินชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย คือปฏิบัติต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อม ต่อสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา รวมทั้งต่อชีวิตของตนเองอย่างถูกต้อง ทำให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร้ปัญหา หรือแก้ปัญหาได้ ข้อนี้เรียกสั้นๆ ว่า ความดีงาม ได้แก่ จริยธรรม
  3. เมื่อดำเนินชีวิตถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้องแล้ว ก็เข้าถึงภาวะไร้ปัญหาไร้ทุกข์ที่เรียกว่า ความสุข เป็นจุดหมายประการที่สาม

องค์สามอย่างนี้จะต้องมาบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมันมาบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ภายในตัวบุคคล ก็เรียกว่าเป็นความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา แล้วเราก็เรียกบุคคลนั้นว่าเป็น บัณฑิต สร้างบัณฑิตได้สำเร็จ

จุดหมายสูงสุดสามประการ หรือองค์ทั้งสามเท่าที่อธิบายมานี้ยังเป็นการพูดอย่างกว้างๆ เกินไป เช่น บอกว่า ปัญญา คือ รู้ความจริง รู้ความเป็นไปของเหตุปัจจัย รู้ความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักแก้ปัญหา รู้จักสร้างสรรค์ รู้จักจัดทำดำเนินการให้สำเร็จ ถึงจะบอกความหมายของปัญญาอย่างนี้ ก็ยังกว้างอยู่ ทำอย่างไรจะลงไปสู่รายละเอียดได้มากกว่านี้ ก็ต้องพิจารณาแยกแยะปัญญานั้นในภาวะที่มันทำหน้าที่เฉพาะด้านๆ ปัญญาที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านๆ นั้น ก็มีชื่อเฉพาะต่างๆ กันมากมาย ในที่นี้ อาตมาอยากจะเสนอไว้สักอย่างหนึ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บุพภาคของการศึกษาตัวอย่างปัญญาที่ควรสร้างขึ้นในการศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.