จุดหมายเพื่อความเป็นนักศึกษา

14 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 5 จาก 10 ตอนของ

จุดหมายเพื่อความเป็นนักศึกษา

ต่อไปนี้ ก็มาช่วยกันแจกแจงความมุ่งหมายในสองช่วงนั้น ข้อแรกคือช่วงสั้น ความมุ่งหมายในช่วงสั้นที่จะให้เป็นนักศึกษาที่ดี ก็ดึงออกมาจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่กล่าวเมื่อกี้ ซึ่งจะทำให้มองเห็นความมุ่งหมายที่เป็นข้อย่อยๆ ต่างๆ หลายข้อ และทุกข้อนั้นจะโยงสัมพันธ์กันหมด เพราะภายในธรรมชาติของมนุษย์นั้น ทุกอย่างมีความสัมพันธ์โยงกัน เป็นข้อเตือนใจว่า การที่จะคิดอะไรออกมา จะต้องมองเห็นว่ามันเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้ไหม สำหรับในกรณีนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าทุกข้อสัมพันธ์กันอย่างไร

ข้อที่หนึ่ง คือ จะต้องให้มีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้จนถึงภาวะสูงสุด และเราจะต้องเชื่อศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวของเรา

ข้อที่สอง คือให้มีจิตสำนึกในการศึกษา หมายความว่า มีความสำนึกอยู่เสมอในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เมื่อเราเชื่อว่าเรามีศักยภาพ และเห็นว่าเราจะต้องพัฒนาตนขึ้นไป เพื่อจะได้เป็นผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ เราก็จะต้องมีจิตสำนึกอยู่เสมอในการที่จะศึกษา สำนึกอยู่เสมอในการที่จะพัฒนาตน เรียกว่ามีจิตสำนึกในการศึกษา การมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือในการที่จะพัฒนาตนอยู่เสมอนี้ จะพ่วงเอาคุณสมบัติอย่างอื่นมาด้วย โดยเฉพาะความอ่อนน้อมถ่อมตน และความพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น ตอนแรกเมื่อเราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ก็อาจจะทำให้เราคิดผิด ไขว้เขวไป แล้วผยองลำพองตน แต่พอสำนึกตัวว่าจะต้องพัฒนาตน ก็จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนขึ้นมาแทนที่

ข้อที่สาม คือ จะต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้องในทางการศึกษา คือความใฝ่ปรารถนาที่เรียกว่า ฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ ได้แก่ ความใฝ่สัจจะ ใฝ่ความจริง และใฝ่ความถูกต้องดีงาม เรียกสั้นๆ ว่า ความใฝ่รู้ และ ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่ความจริง ก็คือใฝ่รู้ความจริง เรียกว่า ใฝ่รู้ และใฝ่ความดีงาม ก็คือ ใฝ่ที่จะทำสิ่งดีงามให้เกิดเป็นเกิดมีขึ้น เรียกว่า ใฝ่สร้างสรรค์ พูดได้เป็นสองสำนวน คือ ใฝ่สัจจะหรือใฝ่ความจริง และใฝ่ความดีงาม กับใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์หรือใฝ่ทำ เราจะต้องสร้างคนให้มีความใฝ่รู้ หรืออยากรู้ แล้วก็อยากสร้างสรรค์

ข้อที่สี่ คือ จะต้องให้มีท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหลาย เพราะการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ในแง่หนึ่งก็คือการรู้จักสัมพันธ์กับโลก กับสภาพแวดล้อม หรือประสบการณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบตนนั้นเอง เราจะต้องมีท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ต่างๆ ถ้าไม่มีท่าทีที่ถูกต้องแล้วการพัฒนาตนก็จะไม่เริ่ม ท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหลายนั้นคืออะไร ก็คือท่าทีที่มองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ เมื่อพบประสบการณ์ต่างๆ สถานการณ์ต่างๆ ให้มองเป็นการเรียนรู้ หรือการที่จะได้ข้อมูลหรือสาระมาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตน เรียกง่ายๆ ว่า สำเหนียก หรือรู้จักสำเหนียก ท่าทีนี้ตรงกันข้ามกับการมองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการชอบหรือชัง คือ ตามปกติ คนที่ยังไม่มีการศึกษาจะมองอะไรด้วยท่าทีของการที่จะชอบหรือไม่ชอบ แต่พอมีการศึกษาขึ้นมา หรือฝึกให้มีการศึกษา ก็จะเปลี่ยนเป็นท่าทีของการมองโดยเห็นเป็นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเดินเข้าสู่แนวทางของการศึกษา

ข้อที่ห้า คือ สร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับสังคมและธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่จะทำให้เกิดความเกื้อกูลต่อการเรียนรู้ หรือความเป็นอยู่อย่างไร้ปัญหา เป็นธรรมดาว่า คนเราจะต้องมีความสัมพันธ์กับสังคมและธรรมชาติแวดล้อม เพราะเป็นองค์ประกอบอีกสองอย่างในการที่มนุษย์จะดำรงอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้รวมไปถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เช่นเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเราจะต้องมีความสัมพันธ์กับมันอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะก็คือจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามหรือสังคมที่พึงปรารถนา ซึ่งมีลักษณะหนึ่งที่สำคัญ คือเป็นสังคมที่มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาตนของมนุษย์ทุกคน โดยที่แต่ละคนมีส่วนร่วมช่วยกันสร้างมันขึ้นมา แล้วมันก็ส่งผลย้อนกลับมาต่อมนุษย์ทุกคน ที่จะช่วยเกื้อให้เขาสามารถพัฒนาตนขึ้นไปได้

ข้อที่ห้านี้อาจแบ่งซอยออกไปเป็น ๒ ข้อ คือ เป็นความสัมพันธ์เชิงรับเอา ได้แก่รู้จักคบหาเกี่ยวข้อง ถือเอาประโยชน์จากคนและสิ่งเหล่านั้น หรือทำให้คุณค่าที่มีอยู่ในคนหรือสิ่งเหล่านั้นบังเกิดเป็นประโยชน์แก่ตน อย่างหนึ่ง และเป็นความสัมพันธ์เชิงเอื้ออำนวยให้ ได้แก่ ช่วยเหลือเกื้อกูลทำตนให้เป็นประโยชน์แก่คนและสิ่งเหล่านั้น อย่างน้อยไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย ไม่ก่อโทษแก่คนและสิ่งเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง ถ้าแบ่งซอยอย่างนี้ ก็เพิ่มข้อเป็นข้อที่ห้า รู้จักคบหาเกี่ยวข้อง ถือเอาประโยชน์จากบุคคลและสิ่งแวดล้อม และข้อที่หก มีความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนก่อโทษแก่สังคมและสภาพแวดล้อม

ข้อที่เจ็ด คือ ให้มีความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา อย่างที่เรียกว่าคิดเป็น การคิดเป็นนี้เป็นรากฐานของการที่จะทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น ข้อนี้ทางพระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นอันว่ามีหกข้อ หรือแบ่งละเอียดเป็นเจ็ดข้อด้วยกัน ทั้งหกหรือเจ็ดข้อนี้ดึงมาจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในกระบวนการของการศึกษาจนเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ว่ามาเมื่อกี้ และทุกข้อนั้นโยงสัมพันธ์กันหมด หลักเจ็ดข้อหรือความมุ่งหมายเจ็ดประการนี้ ถ้าเราสร้างให้มีในนักศึกษาได้ ก็เรียกว่าเป็นนักศึกษาที่แท้จริง เป็นนักศึกษาหรือนักเรียนที่ดี นักศึกษาหรือนักเรียนที่ดีซึ่งมีคุณสมบัติอย่างนี้ ก็จะปฏิบัติต่อวิชาเฉพาะและวิชาชีพอย่างได้ผลดี ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้ว เขาก็จะได้นำวิชาเหล่านั้นไปใช้อย่างถูกต้อง แม้แต่ในเวลาเรียน เขาก็จะตั้งท่าทีและวางจิตใจอย่างถูกต้อง โดยมีความพร้อมที่จะเรียน นอกจากวิชาการที่เล่าเรียนแล้ว เขาก็จะมีท่าทีปฏิบัติถูกต้อง ต่อประสบการณ์และสถานการณ์ทุกอย่างที่เข้ามา โดยมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสิ่งที่จะเรียนรู้ เป็นส่วนของการศึกษาหรือพัฒนาของเขาไปหมด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จุดหมายสูงสุดของชีวิตบุพภาคของการศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.