บุพภาคของการศึกษา

14 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 6 จาก 10 ตอนของ

บุพภาคของการศึกษา

ทีนี้ ลองหันมาดูหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ หลักหกหรือเจ็ดข้อนี้ ถ้ามองดูตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เอาคัมภีร์มาตรวจสอบ ก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงองค์ธรรมหรือข้อธรรม ที่เกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องไว้ ๗ ประการ เป็นจุดตั้งต้น และเป็นตัวประกอบที่เกื้อหนุนต่อการศึกษา เรียกว่า เป็นบุพนิมิตแห่งอริยมรรค หรือเป็นต้นทางนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและเป็นบุพภาคของการศึกษา หลัก ๗ ประการนี้ความจริงก็ตรงกับหลัก ๖ หรือ ๗ ข้อที่พูดมาแล้วนั่นเอง แต่ในหลักธรรมกลุ่มนี้ แยกข้อที่ ๕ ข้างบนออกเป็น ๒ ข้อ ต่างหากกันชัดเจน จึงรวมเป็น ๗ ข้อแน่นอน และเรียงลำดับต่างออกไปดังต่อไปนี้

๑. กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร หรือ ความรู้จักเลือกหากัลยาณมิตร มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี โดยเฉพาะส่วนที่พึงเน้นย้ำให้มาก ก็คือการรู้จักหาและรู้จักใช้แหล่งความรู้ บุคคลใดหรืออะไรที่จะเป็นแหล่งความรู้ จะช่วยกระตุ้นเร้าส่งเสริมให้ก้าวหน้าในการศึกษาหรือพัฒนาตน ก็รู้จักหารู้จักใช้ รู้จักเข้าไปเกี่ยวข้องพบปะรับเอาประโยชน์ ทำให้เป็นแหล่งและสภาพแวดล้อมที่ช่วยในการพัฒนาตน เช่น รู้จักอ่าน รู้จักรับฟัง รู้จักเลือกอ่าน เลือกรับฟัง เช่น ฟังวิทยุเป็น ดูทีวีเป็น ฟังและดูให้ได้ความรู้ ได้ความคิดที่เป็นประโยชน์ ได้สาระที่จะมาเสริมคุณภาพชีวิต ทำให้สื่อมวลชนเป็นสื่อสารสมชื่อ ไม่ใช่กลายเป็นสื่อไร้สาร เดี๋ยวนี้เป็นปัญหามากว่า เด็กของเรานั้นดูทีวีเป็นไหม ดูแล้วได้ประโยชน์หรือได้โทษ ฟังวิทยุเป็นไหม สดับข่าวสารเป็นไหม อ่านหนังสือพิมพ์เป็นไหม ตลอดจนอ่านหนังสือตำรับตำราเป็นไหม ผู้เรียนทุกคน ควรรู้จักหารู้จักใช้กัลยาณมิตร หรือแหล่งความรู้ให้ถูกต้อง แต่ก็เป็นหน้าที่ของสังคม โดยเฉพาะผู้บริหารผู้ปกครองทุกระดับ เริ่มแต่พ่อแม่และครูอาจารย์ที่จะทำตัวเป็นกัลยาณมิตร และจัดสรรหากัลยาณมิตรให้แก่สมาชิกในสังคมของตนด้วย อันนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญเริ่มแรกทีเดียว เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

๒. สีลสัมปทา การทำศีลให้ถึงพร้อม หรือการสร้างสรรค์ความมีวินัยในการดำเนินชีวิต และความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ศีลคืออะไร ศีลก็คือการดำเนินชีวิตที่เรียบร้อยราบรื่น กลมกลืนและเกื้อกูลในสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี และมีระเบียบในการดำเนินชีวิต โดยมีการแสดงออกทางกาย วาจา และการประกอบอาชีพที่สุจริตปราศจากเวรภัย ประกอบด้วยวินัย ยอมรับระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกาของสังคมที่วางไว้โดยชอบ อย่างน้อยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายและความขัดแย้ง ไม่รุกรานทำลายสภาพแวดล้อม สีลสัมปทานี้ เป็นส่วนเริ่มแรกในกระบวนการศึกษาพัฒนาตน ทำให้รู้จักจัดระเบียบในการเป็นอยู่ หรือดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบ และเป็นสมาชิกหรือส่วนร่วมที่ดีของสังคม ร่วมเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและสภาพชีวิตที่เอื้อหรือเกื้อกูลต่อการพัฒนาต่อไปหรือยิ่งๆ ขึ้นไป

หลัก ๒ ข้อแรก คือ กัลยาณมิตตตา และ สีลสัมปทานี้ ตรงกับข้อห้าที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับสังคมและสภาพแวดล้อม แต่ในที่นี้แยกซอยออกเป็น ๒ ข้อ เพื่อให้เห็นลักษณะของความสัมพันธ์ที่แบ่งได้เป็นสองด้าน ในข้อแรกคือ กัลยาณมิตตตา ความสัมพันธ์กับผู้อื่นและกับสังคมเป็นไปในลักษณะของการเป็นผู้รับ คือรับเอามา หรือได้ประโยชน์แก่ตนเอง แต่ในข้อที่สองคือสีลสัมปทา ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะของการให้ หรือกระทำต่อสังคม โดยมีพฤติกรรมที่เอื้อหรือเกื้อกูล อย่างน้อยไม่เบียดเบียนหรือทำลาย

๓. ฉันทสัมปทา การทำฉันทะให้ถึงพร้อม ก็คือ การสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องในการศึกษา การมีความใฝ่สัจจะ ใฝ่ความดีงาม หรือใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์อย่างที่ว่ามาข้างต้นแล้ว

๔. อัตตสัมปทา อัตตะ แปลว่าตน อัตตสัมปทา ก็คือ การทำตนให้ถึงพร้อม ขยายความออกไปว่า การทำศักยภาพของตนให้เข้าถึงความสมบูรณ์ คนที่ศึกษาเล่าเรียนนั้น จะต้องคอยทำศักยภาพของตนให้คลี่คลาย เผยตัวผลิตผลออกมาพรั่งพร้อม ข้อนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า self-fulfilment หรืออีกศัพท์หนึ่งที่ใช้ในวงการศึกษามากคือ self-actualization ซึ่งก็คืออันเดียวกัน เราแปล self-actualization โดยเที่ยวไปหาบัญญัติศัพท์ใหม่ แต่ที่จริงมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก เรียกว่า อัตตสัมปทา คือการทำตนให้ถึงพร้อม หรือ การทำศักยภาพของตนให้ถึงพร้อมบริบูรณ์

๕. ทิฏฐิสัมปทา การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม ทิฏฐิ คืออะไร ทิฏฐิก็คือ ความเชื่อ ทัศนคติ หรือที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า เจตคติ ค่านิยมต่างๆ ตลอดจนท่าทีและทัศนะในการมองโลกและชีวิต การมีทิฏฐิสัมปทา ก็คือ การมีชีวทัศน์ โลกทัศน์ที่กว้างขวาง ไม่เหลวไหล ไม่งมงาย มีเหตุผล ไม่ถือตามความพอใจ ไม่พอใจหรือความชอบชังส่วนตัว แต่มีทัศนะ มีความคิดที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย มองสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งก็หมายถึงการมีแนวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ที่เกื้อกูลต่อการฝึกฝนพัฒนาตนของเรานั่นเอง ปัจจุบันนี้ เราพูดกันว่า อยากให้คนมีทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็อยู่ในทิฏฐิสัมปทานี่เอง รวมความก็คือ มีทัศนคติ มีความคิดที่มองโลก มองชีวิต มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย และตามความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน คนที่มีทิฏฐิดี จะมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย และมองโดยให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสิ่งทั้งหลาย ถ้ามีทัศนคติอย่างนี้ ความคิดความเห็นก็กว้าง และเป็นพื้นฐานในการที่จะคิดพิจารณาอะไรอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งนำไปสู่การศึกษา พัฒนาตน เพราะมองเห็นว่า ความเจริญงอกงามจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างเหตุปัจจัย ที่จะทำให้เจริญงอกงาม จึงทำให้ใช้ปัญญาวิเคราะห์สืบสาวหาเหตุปัจจัย เพื่อทำการแก้ไขปรับปรุงต่อไป

ทัศนคติแบบมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนี้ ครอบคลุมถึงการมองสิ่งทั้งหลายด้วยท่าทีของการเรียนรู้ หรือท่าทีของการมองประสบการณ์ทั้งหลายโดยเห็นเป็นการเรียนรู้ด้วย โดยมีจุดเริ่มต้นที่การไม่มองสิ่งทั้งหลาย หรือรับรู้ประสบการณ์ด้วยท่าทีของการรับกระทบตัวตน เป็นความพอใจ-ไม่พอใจ หรือชอบ-ชัง เมื่อมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ก็นำไปสู่การสืบค้นตามแนวทางของเหตุปัจจัย เมื่อจะมองหาเหตุปัจจัย ก็ต้องมีท่าทีแห่งการเรียนรู้ อาจกล่าวได้ว่า ทัศนคติแห่งการมองตามเหตุปัจจัย ย่อมพ่วงเอาท่าทีแห่งการมองแบบการเรียนรู้ติดมาด้วย เพราะเมื่อมองตามเหตุปัจจัย ก็ต้องมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้

๖. อัปปมาทสัมปทา การทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทก็คือ ความกระตือรือร้น ความเอาจริงเอาจัง ความเร่งขวนขวาย ไม่นอนใจ ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย ซึ่งเกิดจากจิตสำนึกเกี่ยวกับกาลเวลา หรือลึกลงไปอีกคือจิตสำนึกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะกระตุ้นเร้าให้เร่งขวนขวายปฏิบัติการตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ผู้มีจิตสำนึกอย่างนี้จะไวต่อการรับรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง ไวต่อการรับรู้เกี่ยวกับเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ ตื่นตัวเท่าทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ คอยระมัดระวังเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ เมื่อมีเหตุแห่งความเสื่อมก็รีบคิดหาทางป้องกันกำจัดเสีย มีปัญหาต้องคิด ก็รีบพิจารณาหาทางแก้ไข เห็นอะไรที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ก็พยายามขวนขวายกระตือรือร้นสร้างสรรค์หมั่นกระทำ เฉพาะอย่างยิ่งคือ กระตือรือร้นในการพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้าสู่จุดหมายที่ดีงาม อัปปมาทสัมปทานี้เมื่อมองที่ตัวบุคคล ก็คือ ความมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือในการที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลานั่นเอง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้มีการฝึกฝนพัฒนาตน แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา การทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม คือการรู้จักคิด หรือคิดเป็น อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

หลัก ๗ ประการนี้ตรงกันกับสาระ ๗ ข้อที่ดึงเอามาจากกระบวนการของการศึกษาตามธรรมชาติที่ว่ามาก่อนแล้ว แต่เรียงลำดับข้อไม่ตรงกัน เพราะแบบก่อนนั้นดึงเอามาจากกระบวนการธรรมชาติ โดยจับแยกออกมาทีละข้อๆ ตามที่เห็นในกระบวนการ แต่หลักที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้นี้ คงจะวางตามลำดับในเชิงปฏิบัติว่าควรจะดำเนินไปอย่างไร ขอให้ลองไปเทียบกันดูว่า ๗ ข้อแรกกับ ๗ ข้อหลังนี้ ตรงกันอย่างไร เป็นอันว่า เมื่อบุคคลมีคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นนักศึกษาที่ดี เป็นนักเรียนที่ดี เป็นผู้พร้อมที่จะเรียนรู้ และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการเล่าเรียนศึกษาวิชาการต่างๆ พร้อมที่จะศึกษาพัฒนาตน และดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี นี้คือจุดหมายหรือความมุ่งหมายในช่วงสั้น

หลัก ๗ ประการตามที่ได้บรรยายข้างต้นอย่างยืดยาวนั้น เมื่อพูดให้สั้นเอาแต่ใจความก็คือ คุณสมบัติหรือองค์คุณ ๗ ประการของนักเรียนนักศึกษา ที่การศึกษาจะต้องเอื้ออำนวยและสร้างขึ้นให้สำเร็จ ซึ่งมีดังนี้

๑. ได้กัลยาณมิตร คือ มีพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อน หนังสือ สื่อมวลชน และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีงามเกื้อกูลต่อการพัฒนา ข้อนี้สำคัญเป็นพิเศษในวัยเริ่มแรกของชีวิต และเมื่อเข้าสู่สังคมใหม่ จึงยกขึ้นเป็นข้อแรก ต่อจากระยะแรกนั้นแล้วเน้นการรู้จักเลือกเข้าพบ คบหาสืบค้นแหล่งธรรมแหล่งปัญญา เรียกสั้นๆ ว่า กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร)

๒. ชีวิตมีวินัย คือ รู้จักจัดระเบียบและมีวินัยในการดำเนินชีวิต รักษาระเบียบวินัยของสังคมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้มีความเกื้อกูลไม่เบียดเบียนกัน เพื่อความมีสภาพชีวิต ที่เหมาะสมเอื้อต่อการที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่า สีลสัมปทา (การทำศีลให้ถึงพร้อม)

๓. ใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือ ต้องการเข้าถึงความจริง และทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดมีขึ้น รักสัจจะ รักงาน อันเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้ก้าวหน้าต่อไปในการพัฒนา เรียกว่า ฉันทสัมปทา (การทำฉันทะให้ถึงพร้อม)

๔. เชื่อมั่นในศักยภาพของตน คือ มั่นใจในตนเอง ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นไปให้สมบูรณ์ได้ หรือเชื่อในความเป็นมนุษย์ของตนซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาให้ประเสริฐเลิศได้ และเพียรพยายามในการศึกษาพัฒนาตนยิ่งขึ้นไปให้เต็มที่สมบูรณ์ เรียกว่า อัตตสัมปทา (การทำตนให้ถึงพร้อม)

๕. มีค่านิยมและทัศนคติแนวเหตุผล คือ มีความเชื่อถือทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนา โดยเฉพาะ การมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย รับรู้ประสบการณ์ทั้งหลายด้วยท่าทีของการเรียนรู้ เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา (การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม)

๖. มีสติกระตือรือร้นทุกเวลา คือ มีจิตสำนึกต่อกาลเวลา ตื่นตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ไวและเท่าทันต่อเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ กระตือรือร้นในการป้องกันแก้ไขเหตุแห่งความเสื่อม และสร้างสรรค์เหตุแห่งความเจริญ มีจิตสำนึกในการศึกษาพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า อัปปมาทสัมปทา (การทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม)

๗. พึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด คือ รู้จักคิด รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาให้ได้ความจริง และคุณค่าหรือประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย สามารถคิดแยกแยะ และสืบค้นหาองค์ประกอบและเหตุปัจจัยเป็นต้น ของเรื่องราวเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ คิดเป็น และคิดเองเป็น อันเป็นองค์คุณสำคัญยิ่งในการที่จะพึ่งตนเองได้ และมีความจำเป็นมากขึ้น ตามอัตราส่วนของการขาดแคลนกัลยาณมิตรและการมีปาปมิตรในสังคม ข้อนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ (การพิจาณาโดยแยบคาย)

โดยเฉพาะข้อ ๑ และข้อ ๗ ซึ่งเป็นข้อคุมหัวคุมท้าย ได้รับการเน้นย้ำและกล่าวถึงเป็นพิเศษ ในกระบวนการศึกษาพัฒนาบุคคล ในฐานะเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ และเป็นตัวนำให้องค์คุณข้ออื่นๆ เกิดพ่วงตามมาได้ง่าย นอกจากนั้น องค์ ๒ ข้อนั้น ยังเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ที่เป็นคู่ดุลและคู่เสริมกันด้วย เช่น กัลยาณมิตร เมื่อทำหน้าที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้บุคคลเกิดโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการทำให้ไม่ต้องพึ่งอาศัยกัลยาณมิตรอยู่เรื่อยไปอย่างพึ่งตนเองไม่ได้ และทำให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากความมีกัลยาณมิตร ดังนี้เป็นต้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จุดหมายเพื่อความเป็นนักศึกษาจุดหมายเพื่อความเป็นบัณฑิต >>

No Comments

Comments are closed.