ตัวอย่างปัญญาที่ควรสร้างขึ้นในการศึกษา

14 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 8 จาก 10 ตอนของ

ตัวอย่างปัญญาที่ควรสร้างขึ้นในการศึกษา

สำหรับวงการการศึกษาเล่าเรียนนั้น ปัญญาอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือปัญญาที่เรียกว่า ปฏิสัมภิทา แปลว่า ปัญญาแตกฉาน ปัญญาแตกฉานนี้มีคุณค่ามาก เพราะมันจะสร้างเสริมความสามารถ และประสิทธิภาพในการที่จะไปทำงานช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เป็นปัญญาที่แก้ไขปัญหาให้ตนเองได้อย่างเดียว ปฏิสัมภิทานี้ มี ๔ ข้อ คือ อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติหรือภาษา และปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณหรือความคิดทันการ

ข้อที่หนึ่งกับที่สอง คือ อัตถปฏิสัมภิทา กับ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถกับปัญญาแตกฉานในธรรมนี้ เป็นเรื่องที่อิงกันอยู่ อาศัยซึ่งกันและกัน จะต้องเข้าใจความหมายของอรรถกับธรรมก่อน อรรถและธรรม คืออะไร ธรรม คือสิ่งที่เป็นหลักเดิม ได้แก่ ตัวเหตุ ตัวกฎเกณฑ์ ตัวหลักการ ตัว concept หรือ ตัวประเด็น ตลอดจนถ้อยคำอะไรต่างๆ ส่วน อรรถ นั้น ก็คือสิ่งที่ขยายออกไปจากตัวธรรมนั่นเอง เช่น ถ้าธรรมเป็นเหตุ อรรถก็คือผล ผลคือสิ่งที่สืบเนื่องมาจากเหตุ อรรถจึงเป็นผล ถ้าธรรมเป็นกฎเกณฑ์ ความเป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้นก็เรียกว่าอรรถ ได้แก่เรื่องราวต่างๆ และปรากฏการณ์ที่เป็นผล ถ้าธรรมเป็นหลักการ อรรถของมันก็คือความมุ่งหมาย ได้แก่ความมุ่งหมายของหลักการนั้นเอง ถ้าธรรมเป็น concept ความหมายของมันก็เป็นอรรถ ถ้าธรรมเป็นตัวประเด็น เนื้อความคำอธิบายที่ขยายออกไปก็เป็นอรรถ ถ้าธรรมเป็นถ้อยคำ ความหมายหรือเนื้อความของถ้อยคำนั้นก็เป็นอรรถ สองอย่างนี้เป็นคู่กัน ถ้าเราฟังคนสักคนหนึ่งพูด เขาพูดมากมาย เราจับประเด็นได้ไหม ถ้าจับประเด็นได้ นี่คือ อาการของธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในตัวธรรม ถ้าเขาพูดคำอะไรมาสักคำ เราเข้าใจความหมายขยายความได้ นั่นคืออาการของอัตถปฏิสัมภิทา ถ้าเขาพูดมาย่อๆ เป็นประเด็น เราสามารถคิดอธิบายขยายความออกไปได้ นั่นคืออาการของอัตถปฏิสัมภิทา ปฏิสัมภิทาสองอย่างนั้นคู่กันอยู่อย่างนี้

โลกปัจจุบันนี้เป็นโลกแห่งยุคข่าวสารข้อมูล มีข่าวสารข้อมูลมากมาย คนที่ไม่มีปฏิสัมภิทาอยู่ในโลกนี้ จะเกิดโทษมาก ข้อมูลจะเป็นพิษ ถ้าเป็นสื่อมวลชน ก็รายงานข่าวไม่ตรงประเด็น หรือจับความหมายเรื่องราวที่ไปสัมภาษณ์เขามาไม่ได้ ว่าผิดไปไม่ตรงเรื่อง จับประเด็นไม่ถูก หรือจับประเด็นได้แต่อธิบายไม่เป็น ขยายความไม่ถูก หรือแม้แต่คนทั่วไปที่อยู่ด้วยกันในสังคมนี้ เวลาเขาพูดอะไรมา เขาบรรยายอะไรมา จับประเด็นไม่ถูกต้อง นี้ไม่มีธัมมปฏิสัมภิทา หรือว่าตัวรู้เรื่องอยู่ มีความเข้าใจในตัวหลัก แต่เอาไปคิดขยายความไม่ออก อธิบายไม่ได้ ก็ไม่มีอัตถปฏิสัมภิทา เรื่องราวความเป็นไปในสังคมนี้ มีข่าวคราวเหตุการณ์เกิดขึ้น อะไรเป็นตัวประเด็น อะไรเป็นตัวปัญหา ต้องจับให้ได้ในโลกยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ถ้าไม่มีปฏิสัมภิทานี้แล้ว จะยุ่งยากมาก ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะเกิดโทษต่อมนุษย์ แต่ถ้ามีปฏิสัมภิทานี้ ข้อมูลเหล่านั้นจะกลับเป็นคุณ เป็นประโยชน์ ช่วยในการแก้ปัญหา ทำให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้น จะต้องมีธัมมปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉาน เข้าใจในตัวเหตุ ในหลักการ ในกฎเกณฑ์ ในตัว concept ในตัวประเด็น แล้วก็มีอัตถปฏิสัมภิทา ที่จะเข้าใจปรากฎการณ์ที่เป็นผล ความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ความหมายของสิ่งทั้งหลาย ความมุ่งหมายของหลักการต่างๆ ตลอดจนสามารถคิดอธิบายขยายความอะไรต่างๆ ออกไป

ข้อที่สาม นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ หรือภาษา คือความสามารถในการใช้ภาษา สื่อความหมายถ่ายทอดแสดงอรรถแสดงธรรมที่ว่ามาเมื่อกี้ บางคนรู้อรรถรู้ธรรมแต่ใช้ภาษาไม่เป็น ไม่สามารถบรรยายสื่อสารกับคนอื่น พูดให้เขาเข้าใจไม่ได้ มีความต้องการอย่างไร พูดไม่ชัดแจ้ง ไม่ตรงเรื่อง ทำให้เขาเข้าใจความต้องการของตนไม่ได้ เรียกว่าขาดนิรุตติปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทานี้ ก็มีความจำเป็นมากในวงการศึกษา โดยเฉพาะในยุคของความเจริญแห่งข่าวสารข้อมูลนี้ ถ้าใช้ภาษาเป็นก็จะถ่ายทอดความคิดเห็นทัศนะ ความต้องการของเราให้เขาเข้าใจได้ ทำให้เขามองเห็นชัดเจน ตลอดจนสามารถพูดจา เขียนบรรยายโน้มน้าวใจคนให้เห็นตาม รู้สึกตาม เช่น ทำให้ซาบซึ้งอ่อนโยน ผ่องใส เบิกบาน เป็นต้น ปฏิสัมภิทานี้จึงมีความสำคัญยิ่งในการที่จะให้การศึกษาแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นครู

ข้อที่สี่ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ หรือปัญญาในเชิงปฏิบัติการ คือการที่สามารถเอาความรู้ที่ตนมีอยู่แล้วต่างเรื่องต่างแง่ต่างด้านมาเชื่อมโยงกัน ปรุงแต่งสร้างเป็นความรู้ใหม่ เป็นความคิดใหม่ที่ใช้แก้ปัญหา ใช้ปฏิบัติการทำงานสร้างสรรค์อะไรต่างๆ ให้สำเร็จได้ ฉับไวทันการ ถ้าเรามีความรู้อยู่ แต่เอาออกมาใช้ไม่ได้ เอามาทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะฉะนั้น จะต้องมีปฏิภาณปฏิสัมภิทา เป็นปัญญาเชิงปฏิบัติการที่ใช้ทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จ แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วย

ทั้งหมดนี้รวมเป็นปฏิสัมภิทา ๔ ประการ ซึ่งท่านกล่าวว่ามีในพระอรหันต์ที่เป็นชั้นยอดทั่วไป อย่างที่กล่าวว่าบรรลุอรหัตต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ปฏิสัมภิทานี้เป็นปัญญาหมวดหนึ่ง คือเป็นชื่อของปัญญาที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านเฉพาะทาง นำมาพูดไว้ในที่นี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การที่จะสร้างปัญญาขึ้นนั้น ควรจะเป็นปัญญาอย่างไร นี้เป็นปัญญาหมวดหนึ่งที่ขอเสนอ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จุดหมายเพื่อความเป็นบัณฑิตจุดหมายระดับต่างๆ ของชีวิต >>

No Comments

Comments are closed.