จุดหมายสูงสุดของชีวิต

14 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 4 จาก 10 ตอนของ

จุดหมายสูงสุดของชีวิต

พอถึงจุดนี้ เราก็พูดถึงจุดหมายสูงสุดได้จุดหมายสูงสุดนี้จะเห็นได้โดยมองย้อนต้นกลับไปว่า มนุษย์พัฒนาศักยภาพจนถึงที่สุดให้เกิดปัญญารู้ความจริง เมื่อเกิดปัญญารู้ความจริงแล้วก็แก้ปัญหาดับทุกข์ได้ เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์หรือที่เรียกกันว่าความสุข ก็เป็นอันว่า ถ้ามีปัญญา มีความรู้แล้ว ก็มีภาวะไร้ปัญหาไร้ทุกข์หรือความสุข ได้สองข้อแล้ว ข้อที่หนึ่งคือมีปัญญา มีความรู้ รู้ความจริง และข้อที่สองคือมีความสุข หรือภาวะไร้ทุกข์ เพราะแก้ปัญหาได้ มีคำถามแทรกเข้ามาอีกว่า การแก้ปัญหาได้คืออะไร การแก้ปัญหาได้ก็คือ การปฏิบัติต่อชีวิตอย่างถูกต้อง ปฏิบัติต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อม ต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง เรียกง่ายๆ ว่าดำเนินชีวิตถูกต้อง การดำเนินชีวิตที่ดีที่ถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ต่อธรรมชาติ ต่อมนุษย์ด้วยกัน ต่อสังคมได้ถูกต้องนี้ เรียกว่าอะไร ก็เรียกกันง่ายๆ ว่า ความดีงาม ซึ่งแยกเป็นจริยธรรมและคุณธรรม จริยธรรมคืออะไร จริยธรรมนั้นความหมายง่ายๆ ก็คือ การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อมอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดภาวะไร้ปัญหาหรือแก้ปัญหาได้ อันนี้เรียกว่า จริยธรรม ทีนี้ซ้อนลึกลงไปกว่าจริยธรรม อยู่เบื้องหลังจริยธรรมนั้นคืออะไร ก็คือ คุณธรรม คุณธรรมคืออะไร คุณธรรม ก็คือคุณภาพหรือคุณสมบัติภายในจิตใจ ที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิต และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนั่นเอง สองอย่างนี้สัมพันธ์กัน คุณธรรมกับจริยธรรมเรียกว่าความดีงาม ตกลงว่ามีองค์ประกอบสามอย่าง ซึ่งในที่สุดก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าสามอย่างนี้มารวมกัน บรรจบประสานได้เมื่อไร นั่นคือเราได้บัณฑิตขึ้นมา คือ

๑. มีปัญญา รู้ความจริง รู้สัจจธรรม

๒. รู้สัจจธรรมแล้ว ก็ดำเนินชีวิตถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อมถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ นี่เรียกว่า ความดีงาม ได้แก่ จริยธรรมพร้อมทั้งคุณธรรมที่อยู่ภายใน

๓. ปฏิบัติถูกต้องแล้วแก้ปัญหาได้ ก็เกิดภาวะไร้ปัญหา ภาวะไร้ทุกข์ คือความสุข

อย่างไรก็ตาม การที่แยกความดีงามออกเป็นจริยธรรมกับคุณธรรมนั้น เป็นการอนุโลมตามความนิยมในภาษาไทยและในวงการการศึกษาของไทย ที่มักพูดถึงคุณธรรมและจริยธรรมแยกเป็นสองอย่างโดยจับให้เข้าคู่กัน แต่ในทางพุทธธรรมไม่จำเป็นต้องพูดแยกอย่างนั้น เพราะจริยธรรมมีความหมายครอบคลุมทั้งหลักปฏิบัติ และคุณสมบัติของชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามก็ย่อมรวมทั้งความดีงามภายในจิตใจ และความดีงามในการแสดงออกภายนอก ดังนั้น จึงใช้เพียง จริยธรรม คำเดียว ครอบคลุมความหมายที่ต้องการทั้งหมด

จริยธรรมนั้น เป็นสิ่งที่เนื่องกันกับสัจจธรรมและสืบต่อจากสัจจธรรมโดยตรง กล่าวคือ เมื่อรู้สัจจธรรมของธรรมชาติแล้ว จึงปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกับสัจจธรรมนั้น และการปฏิบัตินั้นจึงได้ผลดี การปฏิบัติที่ถูกต้องสอดคล้องกับสัจจธรรมและได้ผลดีนั้นเรียกว่า จริยธรรม สัจจธรรมเป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนจริยธรรมเป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ตัวการที่เชื่อมสัจจธรรมกับจริยธรรม ก็คือ ปัญญา ได้แก่ความรู้ในสัจจธรรมนั่นเอง ซึ่งทำให้รู้ที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง จนทำให้แก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้

เป็นอันว่ามีองค์อยู่ ๓ ประการ คือ การรู้ความจริง ความดีงาม และความสุข หรือจะเรียกว่า ปัญญา หรือความรู้สัจจธรรม ๑ จริยธรรม ๑ ภาวะไร้ทุกข์ ๑ การบรรจบขององค์ประกอบสามอย่างนี้เรียกว่าจุดหมายสูงสุด เป็นสุดท้ายปลายทางของการสร้างสรรค์พัฒนามนุษย์ที่เป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ

เป็นอันว่าได้พูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ พร้อมทั้งจุดหมายสูงสุดของชีวิตไปแล้ว แต่ภายในกระบวนการที่จะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดนี้ มีตัวหลักซ้อนอยู่ ๓ อย่าง คือตัวมนุษย์เองเป็นหลักอันหนึ่ง เป็นตัวที่จะก้าวออกไปในการแก้ปัญหา และมนุษย์นี้มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย คือสังคมและธรรมชาติแวดล้อม รวมแล้วจึงมีองค์ประกอบสามอย่าง คือ ตัวมนุษย์ สังคม และ ธรรมชาติแวดล้อม องค์ประกอบสามอย่างนี้ ถ้าเราปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ทำให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดดังที่กล่าวมา

เมื่อเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์แล้ว ก็มาแจกแจงรายละเอียดความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป ในเมื่อวิชาพื้นฐานทั่วไปนี้เป็นวิชาที่จะสร้างบัณฑิต และสร้างคนที่มีความพร้อมในการที่จะศึกษาเล่าเรียน และพัฒนาตนเองให้เป็นบัณฑิต (คือ นักเรียน หรือ นักศึกษา) วิชาพื้นฐานการศึกษานี้จึงเรียกได้ว่า เป็นวิชาที่เป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษา คำว่าวิชาพื้นฐานนี้บางทีก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเข้าใจไปว่าเป็นวิชาเบื้องต้นหรือเป็นส่วนเริ่มแรกของวิชาอื่นๆ ที่สูงขึ้นไป แต่ที่จริงมันก็คือวิชาที่เป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษานั่นเอง ขอทวนอีกทีว่า เมื่อมองความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไปโดยสัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนามนุษย์ ตลอดจนจุดหมายสูงสุดของมนุษย์ตามธรรมชาตินั้นแล้ว เราก็มีความมุ่งหมายเป็นสองระดับ คือ

๑. ความมุ่งหมายช่วงสั้น ได้แก่ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้อง ต่อการที่จะเล่าเรียนศึกษาวิชาการอื่นๆ รวมทั้งวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลาย ตลอดจนต่อประสบการณ์และสถานการณ์ทุกอย่างในการดำเนินชีวิต พูดอย่างง่ายๆ ความมุ่งหมายช่วงสั้นนี้ ก็คือ เพื่อสร้างความเป็นนักศึกษาและนักเรียนที่ดี

๒. ความมุ่งหมายช่วงยาว ได้แก่การเข้าถึงความบรรจบประสานเป็นอันเดียวกันของความรู้ ความดีงาม และความสุข หรือปัญญา จริยธรรม และภาวะไร้ทุกข์ พูดสั้นๆ ว่า เพื่อสร้างความเป็นบัณฑิต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมชาติของมนุษย์จุดหมายเพื่อความเป็นนักศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.