ธรรมชาติของมนุษย์

14 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 10 ตอนของ

ธรรมชาติของมนุษย์

มีปัญหาต่อไปว่า บัณฑิตคือคนอย่างไร นักศึกษาและนักเรียนที่ดีคือคนอย่างไร คำตอบในเรื่องนี้จะช่วยให้กระจายรายละเอียดของความมุ่งหมายออกไปได้ อย่างไรก็ตาม ประการแรกสุด การที่จะวางความมุ่งหมายต่างๆ ของการศึกษาให้ถูกต้องได้นั้น ความมุ่งหมายที่จะกำหนดวางกันขึ้น จะต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ และสอดคล้องกับจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ด้วย ถ้าเราวางความมุ่งหมายต่างๆ ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ไม่สอดคล้องกับจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์แล้ว ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา ทำไมจึงเกิดปัญหา ก็เพราะว่า ถ้าจุดมุ่งหมายหรือความมุ่งหมายที่เราวางนั้น ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ มันก็ขัดแย้งกับธรรมชาติ เมื่อขัดแย้งกับธรรมชาติ มันก็ไม่สมจริง และเมื่อขัดแย้งกับจุดหมายสูงสุด มันก็ทำให้จุดหมายนี้ตัน เดินต่อไปไม่ได้ตลอด และเป็นความมุ่งหมาย ที่ไม่เกื้อกูลต่อการที่จะเดินหน้าไปหาจุดหมายสูงสุดของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จุดหมายต่างๆ ในระหว่างจะต้องเป็นทางเดิน และเป็นจุดผ่านที่จะช่วยให้เราก้าวต่อไปสู่จุดหมายสูงสุดด้วย ยิ่งกว่านั้น ถ้าความมุ่งหมายที่เราวางนี้ ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ และขัดกับจุดมุ่งหมายสูงสุดแล้ว ความมุ่งหมายที่เราวางนี้เองก็อาจจะกลายเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ กล่าวคือ พร้อมกับความขัดแย้งต่อธรรมชาติของมนุษย์ และขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายสูงสุดนั้น มันก็จะเป็นตัวก่อปัญหาขึ้นมาโดยทำให้เราเขวออกไปนอกทาง หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอะไรต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ด้วย เรียกว่าต้องมองการศึกษาให้เห็นทะลุตลอดกระบวนการไปเลย แล้วเราก็จะวางความมุ่งหมายในระดับกลางๆ หรือในระดับระหว่างได้ทุกระดับทีเดียว เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็เลยต้องพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ และจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์นั้นก่อนว่าคืออะไร

จะขอพูดตามแนวของธรรมว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร หลักพระพุทธศาสนานั้นถ้าพูดในเวลาสั้นๆ จะพูดให้ง่ายก็ได้ เมื่อว่าอย่างรวบรัด ธรรมชาติของมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ท่านบอกว่า คนเราเกิดมายังมีความไม่รู้ มีความไม่ประสีประสา ไม่เดียงสาต่างๆ ซึ่งเรียกว่า อวิชชา เมื่อคนเราเกิดมายังมีความไม่รู้ แต่มาอยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมต้องเกี่ยวข้องมากมาย ในการที่มนุษย์จะอยู่รอดได้ต่อไป มนุษย์จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น และจะต้องปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง การที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ต้องอาศัยความรู้ ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร คือ ปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็เกิดความขัดข้อง ติดขัด บีบคั้นต่างๆ ความบีบคั้นขัดข้องต่างๆ นี้ ทางพระศาสนาเรียกว่า ทุกข์ หรือคำศัพท์ทั่วไป เรียกว่า ปัญหา จึงเป็นอันว่า ชีวิตที่มีอวิชชาก็จะต้องประสบความทุกข์ ประสบปัญหา เป็นชีวิตที่มีทุกข์

ตอนนี้ ในเมื่อเรายังไม่มีความรู้ แต่เราก็จะต้องดำเนินชีวิตให้รอดอยู่ในโลก เราจะทำอย่างไร ด้วยความไม่รู้นี้ เราก็จึงทะยานดิ้นรนให้พ้นไปจากสิ่งบีบคั้นขัดข้องต่างๆ นั้น โดยเอาความอยากเป็นตัวนำ เมื่อไม่มีความรู้เป็นตัวนำให้ทำการ เราก็เอาความอยากของเราเป็นตัวนำ ความอยากนี้เรียกว่า ตัณหา เป็นอันว่า เราก็ทะยานดิ้นรนไปตามอำนาจของตัณหา จะทำอะไรก็เอาความอยากเข้าว่า เมื่อเอาความอยากเข้าว่า ไม่เป็นไปด้วยความรู้ ก็แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ โดยมากจะกลับทำให้เกิดปัญหาซ้อนขึ้นมา เมื่อจะแก้ปัญหาแก้ทุกข์ แต่กลายเป็นสร้างทุกข์ สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น หรือทำปัญหาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็เลยยุ่ง ยิ่งติดขัดผูกรัดตัวนุงนัง เพราะฉะนั้น จะต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่

ทำอย่างไรชีวิตจึงจะดำเนินไปด้วยดี แก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็ต้องย้อนกลับไปมองว่า การที่ติดขัดก็เพราะเราไม่มีความรู้ วิธีแก้ก็คือจะต้องสร้างความรู้ขึ้น จะต้องมีความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา หรือทำลายอวิชชา สร้าง วิชชา ขึ้นมา ถ้ามีความรู้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องแล้วก็จะทำให้เราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง เมื่อปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้ เมื่อแก้ปัญหาได้ก็คือทำให้ทุกข์ดับได้ ความรู้ความเข้าใจนี้ก็คือการรู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เหตุ รู้ปัจจัย รู้กฎเกณฑ์ของมัน แล้วก็แก้ปัญหาตามความรู้นั้น คือแก้ตามเหตุตามปัจจัยของมัน เป็นอันว่า จะต้องสร้างปัญญาที่เรียกว่าวิชชาขึ้นมา ถ้าสร้างปัญญาขึ้นมา ก็แก้ปัญหาได้ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดี ไม่มีทุกข์ แต่จะสร้างปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร ในการสร้างปัญญานี้ ไม่ใช่ว่าความรู้จะเกิดขึ้นมาเองง่ายๆ ลอยๆ คนจะต้องเรียนรู้ และจะต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่มีความหมายโยงไปถึงอะไรอีกหลายอย่าง เช่นจะต้องรู้จักแสวงหาข้อมูล จะต้องมีความสามารถในการคิด จะต้องรู้จักมีความอดทน มีความขยัน มีความคิดแยบคาย และมีสภาพจิตใจที่เกื้อกูลต่อการที่จะคิด พร้อมที่จะแสวงหาและทำให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของการที่จะต้องสร้างคุณสมบัติของตัวให้พร้อมขึ้นมา ปฏิบัติการในการสร้างสรรค์คุณสมบัติเพื่อความเกิดขึ้น และเจริญงอกงามแห่งปัญญานี้ เรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนาตน มนุษย์จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นมา จึงจะมีความรู้และแก้ปัญหาได้ดี

ถึงตอนนี้ก็มีปัญหาแทรกเข้ามาว่า มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนให้พร้อมที่จะมีปัญญา ตลอดจนมีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาตอบว่าได้และได้จนถึงสูงสุดทีเดียว ท่านบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่า มีศักยภาพ ก็เป็นอันว่ามนุษย์นี้มีศักยภาพในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เราเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพ สามารถพัฒนาตนให้สูงสุด จนกระทั่งมีปัญญารู้แจ้งความจริง สามารถแก้ปัญหาหลุดพ้นจากทุกข์ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จุดหมายระหว่างทางจุดหมายสูงสุดของชีวิต >>

No Comments

Comments are closed.