แม้แต่จะปฏิบัติต่อเทวดา ก็ต้องรู้ว่าทางสายกลางอยู่ตรงไหน

21 ธันวาคม 2539
เป็นตอนที่ 7 จาก 21 ตอนของ

แม้แต่จะปฏิบัติต่อเทวดา
ก็ต้องรู้ว่าทางสายกลางอยู่ตรงไหน

พระพุทธศาสนาให้ถือธรรมเป็นใหญ่ คือถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และหลักการเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าเอาธรรมมาให้คนไทยแล้ว ทำไมคนไทยยังหวั่นไหว ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ พระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแนวความคิดของมนุษย์ในสังคมอินเดีย ซึ่งสังคมไทยควรจะได้บทเรียน

คนอินเดียถือเทพเป็นใหญ่ เทพสูงสุด อะไรจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เทพจะดลบันดาล ก็เลยต้องบูชายัญเพื่อเอาใจเทพ ต่อมาพระพุทธเจ้ามาบอกว่า ธรรมนี่แหละยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีอะไรสูงไปกว่าธรรม ฉะนั้นเทพต้องไม่เหนือธรรม แต่ธรรมต้องเหนือเทพ เมื่อธรรมเหนือกว่าเทพแล้ว ถ้ามนุษย์ทำถูกตามธรรมก็ไม่ต้องกลัวเทพ เพราะธรรมเป็นใหญ่ เทพก็ต้องทำตามธรรม มนุษย์ไม่ได้ดูหมิ่นเทพ มนุษย์ก็ยังนับถือเทพเป็นผู้ใหญ่ในแง่ภูมิธรรม แต่ทั้งเทพและมนุษย์ถือร่วมกันคือถือธรรมเป็นใหญ่

ในสังคมไทย ชาวพุทธให้เกียรติเทวดา เช่น เวลาทำบุญก็แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดาด้วย เวลาสวดมนต์ก็เชิญเทวดามาฟังธรรมด้วย แต่ถือธรรมเป็นใหญ่ ถ้าเกิดกรณีพิพาทระหว่างมนุษย์กับเทวดา เมื่อมนุษย์ได้พิจารณาแล้วว่าตนทำถูกต้องตามธรรม ก็ไม่ต้องกลัวเทวดา เพราะเทวดาต้องยอมแก่ธรรม

ฉะนั้น ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดที่แท้จริงในสากลโลก ไม่มีอะไรเหนือธรรม มนุษย์ต้องทำการเพื่อธรรม ปัจจุบันนี้เรากำลังสร้างแผ่นดินธรรม ไม่ใช่สร้างแผ่นดินให้กับเทพ ถ้าเทพดีมีธรรมจะต้องมาร่วมมือหรือส่งเสริมมนุษย์ในการสร้างแผ่นดินธรรม แต่มนุษย์ต้องทำ ไม่ใช่รอให้เทพมาทำให้ ความสัมพันธ์กับเทพจะต้องให้ชัดเจนว่า สัมพันธ์ในสถานะไหน และใครมีบทบาทอย่างไร

เพื่อความชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาตามประเพณีของชาวพุทธ ขอพูดเติมไว้อีกหน่อยว่า

คติทางพุทธศาสนาถือว่า เทวดาหรือเทพทั้งหลายนั้นก็เป็นเพื่อนร่วมโลกกับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอื่น ซึ่งเป็นธรรมดาที่ควรมีเมตตาไมตรีต่อกัน และเมื่อว่าโดยเฉลี่ย เทพจะมีภูมิธรรมค่อนไปในทางสูงกว่ามนุษย์ อย่างน้อยแม้จะมิได้มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูงก็ไปเกิดด้วยความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นชาวพุทธจึงมีความสัมพันธ์กับเทวดา โดยปฏิบัติต่อท่าน ดังนี้

1. นอกจากมีเมตตาไมตรีเผื่อแผ่กุศลความดีให้เทวดาแล้ว ก็เคารพนับถือ หรือให้เกียรติเทวดาทั้งหลาย เหมือนปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ หรือเป็นผู้มีคุณความดี

2. เอาคุณธรรมความดีของเทวดามาเป็นที่ระลึกหรือเป็นเครื่องเตือนสติ ให้บำเพ็ญความดีหรือบุญกุศลยิ่งขึ้นไป ดังเช่นข้อปฏิบัติที่เรียกว่า เทวตานุสติ ซึ่งแปลว่าตรองระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดาที่มีอยู่ในตน

3. ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ท่านผู้ใดฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว เราก็ยกย่องเชิดชูไว้เป็นแบบอย่างของสังคม เพื่อให้เป็นเครื่องแสดงว่าสังคมของเราเป็นสังคมที่เชิดชูความดี และเชิดชูคนดี อันจะเป็นเครื่องรักษาสังคมนั้นเองให้อยู่ในสันติสุขได้ยั่งยืนมั่นคง

แต่การที่จะอ้อนวอนหรือรอคอยความช่วยเหลือจากเทวดา หวังพึ่งเทวดา คอยประจบเอาใจเทวดาให้โปรดปรานนั้น ไม่ใช่วิถีทางของชาวพุทธ เช่นเดียวกับในหมู่มนุษย์ การที่จะมัวรอคอยความช่วยเหลือ หรือหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของท่านผู้ใหญ่ คอยไปประจบเอาใจท่านให้ทำอะไรให้ โดยไม่เพียรพยายามทำกิจหน้าที่ของตน ก็ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมใดๆ ของอารยชน

หลักการในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนดี ก็ย่อมช่วยเหลือคนที่ทำความดี ด้วยความดีของท่านเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครไปอ้อนวอนเอาอกเอาใจ ทั้งนี้ เพราะทุกคนมีหลักยึดถือร่วมกัน คือธรรม และจึงปฏิบัติไปตามธรรม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ผู้นำที่ดี ไม่ใช่ผู้ที่คอยช่วยเหลือเขา แต่ผู้นำที่ดี คือผู้ที่ทำให้เขาพึ่งตนเองได้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องถือธรรมเป็นใหญ่ >>

No Comments

Comments are closed.