สังคมเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ คนต้องขึ้นสู่ความเป็นโลกัตถจารี

21 ธันวาคม 2539
เป็นตอนที่ 2 จาก 21 ตอนของ

สังคมเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์
คนต้องขึ้นสู่ความเป็นโลกัตถจารี

ในแง่ธรรมะ ไม่ว่าสถานการณ์จะเสื่อมโทรม น่ากลัวและเลวร้ายเพียงใดก็ตาม ท่านถือว่าจะต้องเอาประโยชน์จากมันให้ได้ ตามหลักพระพุทธศาสนาคงจะได้ยินว่า คนที่ประสบสิ่งเลวร้ายที่สุด ถ้ารู้จักใช้ปัญญาพิจารณาก็สามารถหาประโยชน์จากมันได้ อย่าว่าแต่เรื่องที่ไม่น่าพอใจเลย แม้แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความตาย ทางพระถือว่าแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังสามารถเอาประโยชน์จากความตายมาใช้ในทางปัญญาทำให้บรรลุธรรมสูงสุด และเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปหมดหวัง อย่าไปท้อใจ มองในแง่ธรรมแล้วต้องทำใจได้ วางใจให้ถูก และต้องมองด้วยปัญญา หมายถึงมองตามความเป็นจริง เช่นมองตามเหตุปัจจัย และรักษาจิตของตนให้เป็นอิสระได้ อย่างน้อยก็เห็นความเป็นอนิจจังของสังคม

การที่อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ใช่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่ต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลงไป ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมโทรม ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่ไม่ดีที่จะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมนั้น ถ้าต้องการให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ก็ต้องพยายามแก้ไขเหตุปัจจัยที่ไม่ดี และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่ดีขึ้นมาแทน ฉะนั้นอย่าไปมัวเศร้าเสียใจหรือท้อใจอยู่ จิตใจจะหดหู่ ไม่มีประโยชน์ ต้องทำใจให้สบายและเป็นอิสระ

แต่ถ้ามองเป็นอิสระแล้วนอนสบาย ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เป็นการตกอยู่ในความประมาท เมื่อทำใจให้เป็นอิสระแล้วต่อจากนั้นจะต้องพิจารณาด้วยปัญญาอันแท้จริง ที่ไม่มีกิเลสเข้าไปครอบงำหรือปรุงแต่งที่จะทำให้ผิดพลาดหรือบิดเบือนไป เมื่อมองตามความเป็นจริงหรือตามเหตุปัจจัยก็จะทำให้แก้ปัญหาได้

เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นนั้น ในแง่ดีก็เป็นเครื่องเตือนสติที่ทำให้ตื่นตัวรีบลุกขึ้นมาค้นหาเหตุปัจจัยและแก้ไขต่อไป เพราะถ้าหากไม่มีเหตุร้ายปรากฏก็อาจจะหลงเพลินกันต่อไป ฉะนั้นธรรมจึงเป็นประโยชน์แก่คนเราตั้งแต่ต้นเริ่มตั้งแต่สอนว่า เมื่อประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้าย เราจะต้องหาทางเอาประโยชน์จากมันให้ได้ และต้องใช้หลัก 2 ประการ คือ

1. ใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัยให้รู้เท่าทัน มองเห็นความจริงหยั่งถึงเหตุปัจจัยในสิ่งทั้งหลาย

2. มีสติเตือนตัวให้ลุกขึ้นมาเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยไม่ประมาท

เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ได้ และสามารถทำกิจเพื่อสังคมสำเร็จ

ข้อสำคัญที่ขอย้ำคือ จะต้องระวังตัวเองไม่ให้ตกไปในที่สุด 2 อย่างของคน 2 พวกคือ

1. พวกที่เห็นสภาพสังคมเลวร้ายไม่น่าปรารถนาแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะปลีกตัวหลบลี้หนีไปเสีย

2. พวกที่เห็นสภาพสังคมว่าเลวร้าย แก้ไขไม่ได้แล้ว ก็เลยปล่อยมันไปตามยถากรรม ไม่อยากแก้ไขอะไร เลยอยู่ไปวันๆ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาต้องใช้ทางสายกลาง คือทางแห่งปัญญา โดยเริ่มต้นก็ต้องให้จิตใจของตัวเองตั้งหลักได้ว่า ในท่ามกลางสภาพที่เลวร้ายอย่างนี้เราจะต้องมีชีวิตที่ดีงามได้ พร้อมกันนั้นก็ไม่ทิ้งความเพียรพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของสังคม

สำหรับตัวเองนั้นในทางพระพุทธศาสนามีหลักไว้ให้แล้วว่า ชีวิตของแต่ละคนต้องพัฒนาให้ถึงจุดสูงสุด จนบรรลุธรรมที่เรียกว่า นิพพาน คือ จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะเลวร้ายแค่ไหนเราก็ยืนอยู่ในหลักแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนนี้ และพยายามทำจิตใจให้เป็นอิสระ ในสภาพที่เลวร้ายนั้นถ้าใครรักษาจิตของตนให้เป็นอิสระได้ ก็แสดงว่ามีความสามารถจริงๆ อันนี้เป็นบททดสอบอย่างหนึ่ง

ภาวะสูงสุดของชีวิตจิตใจคือสันติภายใน ไม่ว่าภายนอกจะวุ่นวายเดือดร้อนอย่างไรก็รักษาใจให้มีสันติได้ พร้อมกันนั้นภายนอกก็ถือคติว่าจะต้องช่วยโลกให้เข้าถึงสันติด้วย ในจิตใจมีสันติสงบไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ก็ก้าวไปสู่การแก้ปัญหาของโลกที่ไม่มีสันติได้ ถ้าแต่ละคนทำสันติให้เกิดในใจของตัวเองได้แล้ว ก็เป็นส่วนร่วมที่จะสร้างสันติของโลก อย่างน้อยสันติก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยเริ่มต้นที่จิตใจของเราคนหนึ่ง แล้วมันจึงจะขยายออกไป ทำให้โลกเข้าสู่สันติด้วย

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ตรงตามคติพระพุทธศาสนาที่ว่า คนยิ่งพัฒนาตนได้มากเท่าไร ก็ยิ่งพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อโลกได้มากเท่านั้น คือจะช่วยให้โลกบรรลุจุดหมายด้วยการบำเพ็ญกิจตามอุดมคติที่ว่า “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” ซึ่งแปลว่า (ผู้พัฒนาตนดีแล้วทำกิจ) เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก และเพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของโลกทั้งหมด ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ประธานก็ได้กล่าวไว้ในพิธีเปิดงานเมื่อเช้านี้ โดยที่ท่านเน้นคำว่า โลกานุกัมปะ

คำว่า โลกานุกัมปะ หรือ โลกานุกัมปา แปลว่า น้ำใจเกื้อกูลแก่โลก หรือความเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก มาจากคำว่า โลก ซึ่งในที่นี้หมายถึงสังคมมนุษย์ทั้งหมด กับคำว่า อนุกัมปา ซึ่งแปลว่า ความมีใจอ่อนโยนไวต่อสุขทุกข์ของผู้อื่น หรือความหวังดีปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข หมายความว่ามีจิตใจประกอบด้วยเมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี อยากจะสร้างสรรค์ความสุขให้แก่เพื่อนมนุษย์ และกรุณา คือความปรารถนาที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของสังคม ยุคนี้เรากำลังต้องการโลกานุกัมปะ ซึ่งเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าโลกานุกัมปะกับโลกาภิวัตน์ประสานกันได้ ก็จะช่วยให้โลกนี้มีสันติสุขขึ้นได้

คติ “โลกานุกัมปะ” นี้จะต้องยกขึ้นมาย้ำเน้นให้ทันกับยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัตน์ คือ สภาพความเจริญของโลกแผ่ขยายทั่วไป มีอิทธิพลครอบคลุมและครอบงำทั้งโลก เช่น ข่าวสารข้อมูลที่แพร่ไปทั่วโลก ระบบธุรกิจแบบแข่งขันหาผลประโยชน์ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก เทคโนโลยีต่างๆ ที่ยอมรับกันไปทั่วโลก ปัญหายาเสพติดที่ระบาดไปทั่วโลก ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คุกคามไปทั่วโลก ยุคโลกาภิวัตน์มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ส่วนที่เป็นปัญหานั้นมีมากมาย ตามติดมากับความเจริญแทบทุกอย่าง การที่คนทั้งหลายบ่นว่าพูดกันถึงปัญหาต่างๆ ก็เป็นเครื่องฟ้องว่า ยุคโลกาภิวัตน์ยังเป็นสภาพที่ไม่พึงประสงค์

สภาพของยุคโลกาภิวัตน์อย่างนี้ เท่ากับเร่งเร้าให้หวนกลับไปเอาคติเดิมแห่ง “โลกานุกัมปะ” นั้นมาเข้าคู่กัน หมายความว่า เมื่อถึงยุคโลกาภิวัตน์เราจะต้องกลับไปนำเอาหลักการของพระพุทธศาสนามาสร้างดุลยภาพ การนำเอาโลกานุกัมปะมาใช้ในยุคโลกาภิวัตน์ก็คือ การที่ทุกคนในยุคโลกาภิวัตน์มีอุดมคติแห่งโลกานุกัมปะอยู่ในใจของตน แล้วดำเนินชีวิตให้เกื้อหนุนต่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ และความดำรงอยู่ด้วยดีของโลก เรียกสั้นๆ ว่าเป็น “โลกัตถจารี” (ผู้ประพฤติประโยชน์แก่โลก หรือผู้ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่โลก)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สังคมเป็นอย่างไร จึงแทบไม่มีใครพูดถึงในแง่ดีจะแก้ปัญหาของสังคมไทย ต้องสืบสาวให้รู้และแก้ให้ตรงกับเหตุปัจจัย >>

No Comments

Comments are closed.