ทางสองแพร่งแห่งชะตากรรมของโลก เลี้ยงลูกเพื่อสร้างโลก หรือสร้างลูกไปล้างโลก

21 ธันวาคม 2539
เป็นตอนที่ 16 จาก 21 ตอนของ

ทางสองแพร่งแห่งชะตากรรมของโลก
เลี้ยงลูกเพื่อสร้างโลก หรือสร้างลูกไปล้างโลก

ตรงนี้ขอแทรกเข้ามาว่า แนวคิดเกี่ยวกับทัศนคติต่อโลกและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แบบนี้ ต่างจากแนวคิดสายใหญ่ของตะวันตก โดยเฉพาะลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) ที่เคยเป็นแนวคิดกระแสหลักของสังคมอเมริกัน และยังมีอิทธิพลหล่อหลอมภูมิธรรมภูมิปัญญาของฝรั่งมาจนปัจจุบัน เช่น ความนิยมระบบแข่งขันเป็นต้น

แนวคิดตะวันตกแบบนี้มองโลกมนุษย์ทำนองเดียวกับโลกของสัตว์ป่าในธรรมชาติ ที่มีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ตามหลักการที่ว่าใครดีใครอยู่ ใครแข็งใครรอด (natural selection; the survival of the fittest) แต่พุทธศาสนาไม่มองอย่างนั้น เรามองว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่แตกต่างเหนือหรือสูงขึ้นไปกว่าสัตว์ป่า พูดสั้นๆ ว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะทำให้โลกคือสังคมมนุษย์เป็นเวทีแห่งการแข่งขันต่อสู้ แบบใครดีใครอยู่ ใครแข็งใครรอดอย่างสัตว์ป่าก็ได้ หรือจะสร้างสรรค์โลกนี้ให้เป็นโลกคือสังคมแห่งการเกื้อกูลส่งเสริมและสร้างสรรค์ให้มีสันติสุขก็ได้

ยิ่งกว่านั้น เหนือกว่าการเมตตาอาทรเกื้อกูลกันแล้ว มนุษย์ยังสามารถพัฒนาให้สมบูรณ์จนถึงขั้นที่ว่า ทั้งที่ช่วยเหลือเอื้ออาทรกันอย่างนี้ ก็ยังเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ตั้งอยู่ในหลักการ รักษาธรรมไว้ได้ และมีความไม่ประมาท

ถึงตอนนี้ก็ขอย้อนกลับมาที่เก่า ตอนที่พูดว่าเวลานี้พ่อแม่ไทยจำนวนมาก ได้ตกอยู่ในความประมาท ปล่อยให้ไอที โดยเฉพาะทีวีเข้ามาชิงเอาดินแดนหรืออาณาจักรในครอบครองของตน คือบ้านหรือครอบครัวไปเสียแล้ว ทีวีเป็นต้นนั้น ก็มาทำบทบาทในการนำเสนอโลกแก่เด็กๆ แทนพ่อแม่

บ้านและครอบครัวเป็นดินแดนในความครอบครองของพ่อแม่ แต่ปัจจุบัน เมื่อพ่อแม่ส่วนใหญ่เสียอำนาจครอบครองดินแดนนี้ให้แก่โทรทัศน์ไปแล้ว ลูกก็ไปอยู่กับโทรทัศน์และไปเข้าข้างโทรทัศน์กันหมด เมื่อโทรทัศน์มาทำหน้าที่แทนพ่อแม่ในการนำเสนอโลกแก่ลูก เด็กๆ ก็หันไปตามอย่างเลียนแบบสิ่งที่พบเห็นในโทรทัศน์ แล้วมีโลกทัศน์และชีวทัศน์หันเหไปตามอิทธิพลชักจูงของโทรทัศน์นั้น

ตามปกตินั้น พ่อแม่ทำหน้าที่นำเสนอโลกแก่ลูก หรือฉายภาพโลกให้ลูกดูอย่างมีความมุ่งหมายในด้านความดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้รู้จักสิ่งที่พบเห็น หรือเล่านิทานเก่าๆ ให้ลูกฟังอย่างพ่อแม่สมัยก่อน อย่างน้อย เพราะความที่มีเมตตารักลูกอยู่โดยธรรมชาติ แม้ไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ ก็นำเสนอโลกและชักจูงลูกไปในทางของความรู้สึกที่ดีงาม

แต่โทรทัศน์ไม่ได้รักลูกและไม่มีเจตจำนงที่ดีอย่างพ่อแม่นั้น จะเห็นอยู่เสมอว่า โทรทัศน์นำเสนอโลกแห่งความดุร้ายเหี้ยมโหด การทำลายกัน การแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กัน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กรุ่นใหม่จะเติบโตขึ้นด้วยชีวิตจิตใจแบบไหน และจะนำพาสังคมไปทางใด นี่คือปัญหาโดยตรงของการศึกษา ถ้ายังคิดไม่ออก วัฒนธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ช่วยเราอยู่แล้ว โดยเตือนว่า ถ้าจะให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างดี พ่อแม่จะต้องรักษาดินแดนในความครอบครองของตนไว้ หรือเอากลับคืนมาให้ได้ โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกในการดูโทรทัศน์เป็นต้น เพื่อชักนำลูกให้รู้จักดูรู้จักฟังรู้จักคิดและก้าวไปในวิถีแห่งการพัฒนาที่ถูกต้อง

ถ้าพ่อแม่นำเสนอโลกแก่ลูกอย่างผิดพลาด หรือปล่อยให้ทีวีมานำเสนอโลกแก่ลูกออกนอกลู่นอกทางไปแล้ว เมื่อลูกไปถึงโรงเรียนก็อาจจะสายเกินไป เพราะทัศนคติของลูกได้หันเหเสียไปแล้ว เช่นมองเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่มองอย่างเป็นมิตรมีไมตรี แต่มองเพื่อนมนุษย์เป็นศัตรูคู่แข่ง มองโลกเป็นดินแดนที่จะต้องไปแย่งชิงหาผลประโยชน์และสิ่งเสพกัน แทนที่จะมองเป็นดินแดนที่น่าออกไปศึกษาเรียนรู้ และคิดร่วมมือกันสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นจึงต้องระลึกตระหนักไว้ถึงความหมายที่แท้และความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะบทบาทที่สำคัญในการให้การศึกษาแก่ลูก หรือพูดให้ถูกต้องว่าบทบาทในการ “ช่วยให้ลูกศึกษา”

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พอลูกลืมตาดูโลก พ่อแม่ก็เริ่มแสดงบทบาทแรกการศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์ >>

No Comments

Comments are closed.