บทบาทสำคัญของพ่อแม่ แน่แท้คือการช่วยให้ลูกศึกษา

21 ธันวาคม 2539
เป็นตอนที่ 14 จาก 21 ตอนของ

บทบาทสำคัญของพ่อแม่
แน่แท้คือการช่วยให้ลูกศึกษา

การศึกษาเริ่มต้นที่บ้าน คือในครอบครัว เพราะการศึกษาคือการเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี เด็กเกิดมาต้องเรียนรู้วิธีที่จะดำเนินชีวิตที่ดี นี่คือการศึกษาเริ่มต้น และการเริ่มเรียนให้รู้จักที่จะดำเนินชีวิตนี้เด็กอาศัยพ่อแม่ก่อนใคร ทางพระพุทธศาสนาจึงเรียกบิดามารดาว่าเป็นบูรพาจารย์ คือ ครูต้น หรืออาจารย์ต้น การศึกษาเริ่มต้นในบ้านคือการเลี้ยงดูลูก การเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้องจึงเป็นการช่วยให้เด็กเรียนรู้ คือให้เด็กฝึกตัวให้รู้จักดำเนินชีวิตได้ดี ดังนั้น การเลี้ยงดูของพ่อแม่จึงควบคู่ไปด้วยกันกับการเรียนรู้ของลูก พูดสั้นๆ ว่า เลี้ยงคู่กับเรียน

ที่จริงนั้น ถึงพ่อแม่จะไม่ตั้งใจ เด็กก็ได้เรียนรู้เองอยู่แล้ว คือเรียนวิธีกิน วิธีดื่ม วิธีขับถ่าย วิธีนั่ง วิธีนอน วิธียืน วิธีเดิน และวิธีพูด เป็นต้น เพราะเป็นความจำเป็นในการที่จะมีชีวิตอยู่ เรียกว่า “เรียนรู้เพียงเพื่ออยู่รอด” แต่ทำอย่างไรจะให้การเรียนนั้นเป็นไปอย่างมีจุดหมายและได้ผล ผู้เลี้ยงจึงต้องรู้วิธีเลี้ยงเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างได้ผล ให้เป็นการ “เรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดี” หรือเป็น “การศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์” ฉะนั้นจึงต้องตระหนักรู้และตั้งใจว่าจะให้การเลี้ยงคู่กับการเรียน

ปัญหาครอบครัวปัจจุบันคือ พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น และรักลูกไม่เป็น รู้กันอยู่ว่าพ่อแม่ต้องใกล้ชิดและแสดงความรักความอบอุ่นแก่ลูกให้มาก แต่ก็ต้องระวัง ถ้าพ่อแม่แสดงความรักด้วยการบำรุงบำเรอทางวัตถุมากๆ จะทำให้ลูกเป็นนักเสพนักบริโภค เลยไม่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง แทนที่จะเป็นคุณกลับกลายเป็นโทษ การแสดงความรักของพ่อแม่ต่อลูกจึงต้องแสดงให้ถูกต้อง เรียกว่าเลี้ยงลูกให้ถูกทาง ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ควรจะยอมรับกันว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้เลี้ยงลูกให้เป็นนักเสพนักบริโภค ขาดความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาลูกให้เป็นนักศึกษาและนักสร้างสรรค์ และยิ่งกว่านั้น ยังถูกเทคโนโลยีข่าวสารโดยเฉพาะโทรทัศน์ยึดครองดินแดนของตนไปเสียด้วย

ก่อนจะพูดเรื่องนี้ต่อไป ขอแทรกหลักการสำคัญไว้หน่อยเพื่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก

ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พ่อแม่มีบทบาทในการเลี้ยงลูก ซึ่งแสดงออกในสถานะ 3 อย่าง คือ

1. เป็นพรหม คือเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้สร้างชีวิตของลูก และเป็นผู้อภิบาลให้ลูกเจริญเติบโต ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ และให้ลูกพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ คือทั้งมีความรักความอบอุ่นความอ่อนโยน ประกอบด้วยเมตตา ไมตรี เป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล (บทบาทแห่งเมตตา กรุณา มุทิตา) และทั้งมีความเข้มแข็ง หนักแน่น อยู่กับความเป็นจริง เป็นคนมีเหตุผล พร้อมที่จะรับผิดชอบชีวิตของตนเอง และเป็นหลักให้แก่ผู้อื่นได้ (บทบาทแห่งอุเบกขา) ซึ่งเป็นการเตรียมลูกให้พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม คือโลกมนุษย์ที่ดีงามมีสันติสุข

2. เป็นบูรพาจารย์ คือเป็นครูอาจารย์คนแรก ที่ฝึกสอนให้ลูกรู้จักวิธีดำเนินชีวิต ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน มีการกินอยู่หลับนอน เดิน พูด รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด คุณธรรม ทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อม พูดสั้นๆ ว่า ช่วยให้ลูกพัฒนาทั้งทางพฤติกรรม ทางจิตใจ และทางปัญญา

3. เป็นอาหุไนยบุคคล หรือที่คนไทยนิยมพูดว่า เป็นพระอรหันต์ของลูก คือมีความจริงใจ สุจริตใจ บริสุทธิ์ใจ ต่อลูก รักลูกด้วยใจจริง สม่ำเสมอ ยั่งยืนตลอดไป ไม่ถือสาความผิดพลาดของลูกต่อตัวท่าน พร้อมที่จะให้อภัย มีคุณธรรมความดีเป็นแบบอย่างให้ เป็นผู้ควรแก่ความเคารพนับถือและการบูชาพระคุณ

บทบาทในฐานะเหล่านี้ได้พูดไว้ที่อื่นมากมายยืดยาวแล้ว ในที่นี้ขอสรุปไว้แค่นี้ก่อน แต่มีบทบาทที่เป็นคุณของพ่อแม่อีกอย่างหนึ่ง ที่อยากจะย้ำไว้ที่นี่ คือบทบาทที่พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “เป็นผู้แสดงโลกแก่ลูก” หรือเป็นผู้นำเสนอโลกนี้แก่ลูก (บาลีใช้คำว่า “โลกสฺส ทสฺเสตาโร”)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระวัง! การศึกษาที่แท้เพื่อพัฒนาคนไทย หรือการศึกษาเทียมเพื่อลดคุณภาพคนไทยพอลูกลืมตาดูโลก พ่อแม่ก็เริ่มแสดงบทบาทแรก >>

No Comments

Comments are closed.