ประเทศเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องถือธรรมเป็นใหญ่

21 ธันวาคม 2539
เป็นตอนที่ 8 จาก 21 ตอนของ

ประเทศเป็นประชาธิปไตย
ประชาชนต้องถือธรรมเป็นใหญ่

เป็นอันว่าต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ต้องเชิดชูธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราถือธรรมเป็นใหญ่ เราเคารพธรรม” และพระองค์ได้ตรัสถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิว่าเป็น ธรรมาธิปไตย คือ ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และถือหลักการเป็นใหญ่

คำว่า “อธิปไตย” นั้น เวลานี้ต้องแยกว่ามีการใช้ใน 2 ความหมาย คือ

1. ความหมายที่บัญญัติกันในสมัยปัจจุบัน หมายถึงระบอบการปกครองที่ใครเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าของอำนาจ เช่น ราชาธิปไตย ได้แก่ระบอบการปกครองที่องค์ราชาหรือพระมหากษัตริย์เป็นใหญ่ เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ อภิชนาธิปไตย ได้แก่ระบอบการปกครองที่กลุ่มคนชั้นสูงเป็นใหญ่ ประชาธิปไตย ได้แก่ ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ คือ เป็นเรื่องของรูปแบบหรือระบบแห่งกิจการของสังคม

2. ความหมายเดิมซึ่งใช้ในหลักธรรม หมายถึงคุณสมบัติหรือลักษณะท่าทีแห่งจิตใจและการปฏิบัติของบุคคล ที่จะยึดถืออะไรเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่สิ่งใด เอาอะไรเป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจ และในการปฏิบัติจัดทำกิจการต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปมี 3 อย่าง คือ

1) อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ เอาความพอใจชอบใจ ผลประโยชน์ เกียรติหรือศักดิ์ศรีของตนเป็นเกณฑ์ อย่างดีก็เอาความเคารพตัวเองเป็นใหญ่

2) โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือเอาความนิยมหรือกระแสสังคม เสียงชื่นชมยกย่อง การที่จะหลีกเลี่ยงคำนินทา หาแต่คำสรรเสริญ การจะได้รับคะแนนนิยมเป็นเกณฑ์

3) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือยึดถือหลักการ เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นไปตามเหตุผล กฎกติกา และกฎหมายที่วางเป็นหลักไว้ เป็นเกณฑ์ตัดสิน

ใน 3 ข้อนี้ คุณสมบัติ ลักษณะท่าที หรือเกณฑ์ตัดสินใจที่ดีที่สุด คือ ธรรมาธิปไตย

อธิปไตยใน 2 ความหมายนี้มาบรรจบกันตรงที่ว่า ในระบบการปกครองใดๆ ก็ตาม บุคคลที่เป็นผู้ปกครองหรือเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจนั้น เป็นหัวใจที่จะทำให้การปกครองเกิดผลดีหรือผลร้าย ให้การปกครองนั้นบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการปกครองหรือไม่ ฉะนั้น ผู้ที่ปกครอง หรือเจ้าของอำนาจปกครอง ไม่ว่าในระบบใดก็ตาม ควรจะต้องเป็นธรรมาธิปไตย เช่น

ในระบอบราชาธิปไตย องค์ราชาต้องเป็นธรรมาธิปไตย ถ้าองค์ราชาเป็นธรรมาธิปไตย ราชาธิปไตยนั้นก็เป็นราชาธิปไตยที่ดีที่สุดในจำพวกราชาธิปไตยด้วยกัน

ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนแต่ละคนต้องเป็นธรรมาธิปไตย ถ้าในสังคมใดประชาชนเป็นธรรมาธิปไตยกันมากที่สุด ประชาธิปไตยของสังคมนั้นก็เป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดในบรรดาประชาธิปไตยทั้งหลาย

ถ้าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในบรรดาระบอบการปกครองทั้งหมด ประชาธิปไตยของสังคมใด มีประชาชนที่เป็นธรรมาธิปไตยมากที่สุด เราก็จะได้ระบอบการปกครองที่ดีซึ่งเป็นที่สุดของที่สุด

ต้องย้ำว่า เวลานี้เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นผู้ปกครอง หรือเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครอง ดังนั้น ประชาชนแต่ละคนจึงต้องเป็นธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ หมายความว่า ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ถือหลักการและกฎกติกาเป็นใหญ่ เมื่อคนเป็นธรรมาธิปไตย สังคมจึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ และระบอบประชาธิปไตยจึงจะสำเร็จ ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยเป็นธรรมาธิปไตย เพราะปัจจุบันนี้สังคมไทยยังหาคนที่เป็นธรรมาธิปไตยได้ยาก คือ ยังมัวหวังพึ่งเทพเจ้าหรือสิ่งดลบันดาลภายนอกทั้งหลาย ยังไม่มั่นใจในธรรม

คนไทยต้องเป็นไท ซึ่งแปลว่า อิสระ คือเป็นใหญ่ในตัวเอง ไทยจะเป็นไทได้ไทยต้องชูธรรม ถ้าไทยชูธรรมไทยจะเป็นไทได้แท้จริง หากไทยไม่ชูธรรม ไทยก็อาจจะกลายเป็นทาส อย่างน้อยก็เป็นทาสทางวัฒนธรรม เป็นทาสที่รอรับความช่วยเหลือ เป็นทาสในระบบแข่งขัน เป็นทาสทางเศรษฐกิจ เป็นทาสของผู้ผลิต โดยเป็นนักบริโภค ที่ต้องถูกเขาบันดาล ต้องถูกเขากำหนด ไทยก็จะไม่เป็นอิสระแท้จริง

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องมีความชัดเจนในหลักการของพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องถือธรรมเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงถือธรรมเป็นใหญ่ ไม่มีอะไรใหญ่กว่าธรรม

คนที่ถือธรรมเป็นใหญ่ คือเป็นธรรมาธิปไตยนั้น มีลักษณะสำคัญ คือ

    1. เป็นคนมีหลักการ ไม่เลื่อนลอยไหลไปตามกระแส เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นไปตามเหตุผล และกฎกติกาเป็นเกณฑ์ตัดสิน
    2. ใช้ปัญญาและพัฒนาปัญญาอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลความเป็นไปตามเป็นจริง และเพื่อให้รู้เข้าใจ เข้าถึงหลักการ ความจริงความถูกต้องดีงาม และเหตุผลในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้สามารถรักษาหลักการ ความจริง ความถูกต้องไว้ได้
    3. มีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ สุจริตใจในการใช้ปัญญาพิจารณาตัดสินใจ ไม่เอนเอียงไปด้วยอคติ
    4. รักธรรม รักความจริงความถูกต้องดีงาม ทำอะไรก็มุ่งจะให้ถึงธรรมและเป็นไปตามธรรม มุ่งให้ได้ความจริง มุ่งให้เกิดความถูกต้องดีงาม จนข้ามพ้นความยึดถือในตัวตนไปได้ ให้ธรรมเป็นใหญ่เหนือแม้แต่เกียรติและศักดิ์ศรีของตน และเพราะรักธรรมมุ่งให้เกิดความเป็นธรรมนั้น จึงเป็นคนที่พูดด้วยง่าย รับฟังข้อมูลและเหตุผล ไม่ดื้อรั้นในทิฏฐิ

ใน 4 ข้อนี้ ข้อสุดท้ายเป็นตัวตัดสินความเป็นธรรมาธิปไตย แต่ในการปฏิบัติ จะขาด 3 ข้อแรกก็ไม่ได้ ต้องมีไว้ครบทั้งหมด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แม้แต่จะปฏิบัติต่อเทวดา ก็ต้องรู้ว่าทางสายกลางอยู่ตรงไหนประเทศชาติไม่มีทางพัฒนา ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพ >>

No Comments

Comments are closed.