จะแก้ปัญหาของสังคมไทย ต้องสืบสาวให้รู้และแก้ให้ตรงกับเหตุปัจจัย

21 ธันวาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 21 ตอนของ

จะแก้ปัญหาของสังคมไทย
ต้องสืบสาวให้รู้และแก้ให้ตรงกับเหตุปัจจัย

ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไรนั้น จะต้องยอมรับก่อนว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มด้วยการรู้เหตุปัจจัย เหตุปัจจัยแห่งปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันมีมาก แต่พูดโดยย่อแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เหตุปัจจัยในวงกว้างของส่วนรวม

2. เหตุปัจจัยในวงแคบของแต่ละคน

ประการแรก มองในวงกว้างของส่วนรวม ปัญหาของสังคมไทยปัจจุบันนี้มีมาก และเหตุปัจจัยก็มีมาก แต่ปัจจัยที่เป็นตัวการใหญ่อย่างหนึ่ง คือ คนไทยขาดจุดหมายรวมของชาติ หรือขาดอุดมการณ์ของสังคม คือขาดจุดหมายร่วมกัน ที่จะรวมใจและรวมความคิดของผู้คนในสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

เราอาจจะพูดว่าให้ทุกคนมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว แต่ก็พูดกันไปลอยๆ คำว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเอาอะไรและจะไปทางไหน ไม่รู้ว่ารับผิดชอบต่อสังคมที่จะเดินไปทิศทางไหน แม้แต่จุดหมายรวมอย่างหยาบ เช่น ในขณะที่โลกนี้อยู่ในยุคของการแข่งขัน แต่ละประเทศต้องพยายามเอาชนะผู้อื่น ญี่ปุ่นก็ต้องการที่จะเป็นที่หนึ่งในโลก อเมริกาก็ตั้งหน้าตั้งตารักษาความยิ่งใหญ่ของตนเอาไว้ให้ได้ มาเลเซียก็ตั้งเป้าจะเป็นอันดับหนึ่งด้านการศึกษาในเอเชียในปี 2543 ฯลฯ แต่ในประเทศไทย จุดหมายรวมซึ่งทุกคนมีจิตสำนึกตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องทำให้ได้มีบ้างไหม ประเทศไทยคิดหรือชวนกันคิดบ้างไหมว่าเราจะเป็นหนึ่งด้านไหนในเอเชียหรือในโลก

ถ้าเรามีจุดหมายที่ทุกคนตระหนักและมีจิตสำนึกคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ตลอดเวลา ใจคนที่รวมเป็นอันเดียวนี้จะทำให้กิจกรรม พฤติกรรม ภูมิปัญญาต่างๆ มาระดมรวมกันเข้าทำให้เกิดผลสำเร็จได้ การสร้างสรรค์จะเกิดขึ้น และปัญหาต่างๆ มากมายจะเบาบางไปเอง โดยไม่ต้องหนักแรงสูญเสียเวลาในการแก้ไข เช่นในโรงเรียนเด็กทะเลาะกันวุ่นวาย ถ้ามัววุ่นแก้ปัญหาแต่ละอย่างก็ไม่รู้จักจบ แต่ถ้าให้มีกิจกรรมที่ทุกคนเห็นคุณค่า ร่วมใจกันที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง พอทุกคนมาใส่ใจทำกิจกรรมนี้จะปรากฏว่าปัญหาต่างๆ หายไปเอง สังคมก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อไม่มีจุดหมายรวมอันใหญ่ที่ทุกคนใส่ใจคิดหมายร่วมกันว่าจะทำให้ได้ แต่ละคนก็เลื่อนลอย แล้วก็มัวแต่ครุ่นคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ กลายเป็นว่าเราไม่มีแรงที่จะไปแข่งขันกับสังคมอื่น ก็เลยต้องแข่งตีกันเอง

เวลานี้ สังคมไทยเปรียบเหมือนไก่ในเข่ง ในเทศกาลตรุษจีนเขาจะเอาไก่เป็ดใส่เข่งไปขึ้นเขียง เพื่อทำเป็นเครื่องไหว้เจ้าในวันตรุษจีน แล้วคนก็ได้กินด้วย ไก่ทั้งหลายแต่ละตัวในเข่ง มองไปทางไหนก็เห็นแต่พวกเดียวกัน แล้วก็กระทบกระทั่งกัน จิกตีกันวุ่นวาย จนกระทั่งในที่สุดก็ไปขึ้นเขียงตายไปด้วยกันทั้งหมด

สังคมที่ไม่มีจุดหมายรวมใหญ่ที่จะรวมสายตาให้มองไกลออกไปข้างนอกนั้น แต่ละคนก็จะจ้องมองแต่พวกตัวเอง มองกันไปมองกันมาก็มีแง่ที่จะกระทบกระทั่งกันแล้วก็ขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันไป ในที่สุดก็จะมีสภาพเป็นอย่างนั้นเหมือนกันหมด ตั้งแต่ระดับใหญ่ที่สุดในประเทศลงมา จนถึงเล็กที่สุด จริงหรือไม่ขอให้พิจารณาดู

สังคมไทยขณะนี้ยอมรับหรือไม่ว่าเราขาดจุดหมายรวม ถ้าสังคมไทยมีจุดหมายร่วมก็จะรวมจิตใจของคนทั้งชาติไว้ด้วยกัน ความก้าวหน้าจะทำได้มาก ทั้งในแง่ที่เป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดผลสำเร็จและในการแก้ปัญหาไปด้วยพร้อมในเวลาเดียวกัน และเมื่อมีงานสำคัญที่จะต้องทำร่วมกันแล้ว ปัญหาเล็กๆ ปลีกย่อยก็จะลดน้อยหายไปเอง เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแก้ไข หรือแก้ไขด้วยการละลายปัญหา หมายความว่า ปัญหามีมากมาย เพราะคนไม่มีอะไรจะทำ ถ้ามัวแก้ปัญหาแต่ละอย่าง ก็จะวุ่นวายจมอยู่กับการแก้ปัญหานั่นแหละ ไม่รู้จักจบสิ้น แต่ถ้าเรามีกิจกรรมหรืองานสร้างสรรค์สักอย่างที่ทุกคนพร้อมใจกันทำ คนทั้งหลายก็จะมาใช้เวลาหมดไปกับการทำงานสร้างสรรค์จนลืมที่จะสร้างปัญหา เลยกลายเป็นว่าปัญหาหมดไปเอง โดยไม่ต้องแก้ไข

ประการที่สอง มองอย่างแคบที่ตัวคนแต่ละคน เมื่อมองในวงแคบจะเห็นว่าปัญหาต่างๆ มาจากตัวคนแต่ละคนนี่เอง และที่ตัวคนแต่ละคนนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือคุณภาพของคน คุณภาพของคนมีเท่าไรก็สร้างสังคมได้เท่านั้น คุณภาพของคนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องพัฒนาคน อะไรเป็นตัวพัฒนาคนก็คือการศึกษา ปัจจุบันนี้ก็ยอมรับกันทั่วไปและเน้นกันมากในเรื่องการพัฒนาคน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคนนั้นยังมีปัญหาที่ว่า กระบวนการพัฒนาคนนั้นเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจุดเน้นคือต้องพัฒนาคนเพื่อสร้างคุณภาพคน แต่เราจะพัฒนาคนที่จุดไหน คุณภาพของคนควรเป็นอย่างไรเป็นต้น ก่อนที่จะพัฒนาคนก็ควรจะรู้ว่าจะให้คนเป็นอย่างไร

สังคมไทยก็อยากจะบรรลุความสำเร็จในการแข่งขัน ซึ่งเป็นค่านิยมของยุคนี้คือการมีชัยชนะ คนที่จะมีชัยชนะได้ต้องมีความเข้มแข็ง ถ้าเราหันมามองดูคุณภาพของคนไทยที่อยู่ในระบบแข่งขันนี้ว่าจะสามารถเอาชนะได้หรือไม่ เช่นดูว่ามีความเข้มแข็งพอไหม เราก็จะมองเห็นจุดตัดสินได้พอสมควร

ถ้าคนไทยจะชนะการแข่งขันในเอเชียหรือในโลกก็ตาม คนไทยจะต้องมีคุณภาพข้อที่หนึ่ง คือต้องมีความเข้มแข็ง ปัจจุบันคนไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ เมื่อดูไปเรากลับมองเห็นในทางตรงข้ามว่าสังคมไทยในปัจจุบันกำลังอ่อนแอ และดูจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ถ้าสังคมไทยอ่อนแอแล้วจะไปแข่งขันกับสังคมอื่นได้อย่างไร ฉะนั้นขณะนี้สิ่งที่จะต้องทำให้ได้คือ ต้องพัฒนาคนไทยให้มีความเข้มแข็งขึ้นมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สังคมเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ คนต้องขึ้นสู่ความเป็นโลกัตถจารีถ้าขืนอยู่กับค่านิยมเสพบริโภคและชอบพึ่งอำนาจดลบันดาล สังคมไทยจะก้าวไม่ไหว เพราะไม่มีแรงแม้แต่จะคลาน >>

No Comments

Comments are closed.