บทสรุป

28 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 11 จาก 13 ตอนของ

บทสรุป

โดยรวมแล้วก็อย่างที่พูดมาทั้งหมด สังคมไทยเวลานี้ เป็นสังคมที่ยังไม่น่าพอใจ เพราะเป็นสังคมที่มีปัญหาหมักหมมตัวอยู่มาก แต่ถ้าเรานำไปเทียบกับสังคมอื่นบางประเทศ ก็ยังมีที่น่าพอใจอยู่บ้าง ที่ว่าไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรงเหมือนในหลายประเทศ ยังพอประคับประคองตัวไป อาจจะเป็นด้วยลักษณะของคนไทยซึ่งมีทั้งแง่ดีแง่เสีย ที่ดีก็มีอยู่ว่าเป็นคนไม่ชอบความรุนแรง อะลุ่มอล่วยปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เก่ง แต่เป็นการปรับตัวเฉพาะหน้ามากกว่า การปรับตัวเพื่อผลระยะยาวไม่ค่อยมี ในการที่จะให้มีการปรับปรุง เราจะต้องมีการปรับตัวเพื่อผลระยะยาวด้วย จะต้องทำอย่างมีความมุ่งหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ปรับตัวเพื่อให้พ้นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่บีบบังคับให้ผ่านไปที ไม่ใช่อย่างนั้น สังคมของเรามักจะมีความเป็นไปในลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างนี้เสมอมา จะต้องพยายามแก้ไขปัญหาระยะยาวกัน และต้องสร้างนิสัยในการรักงาน ในการที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ผลิต ผู้สร้างสรรค์ ไม่มัวเมาในค่านิยมของการเป็นผู้บริโภค ความฟุ้งเฟ้อ การแข่งขันอวดฐานะกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบาดไปทั่วสังคมไทยในขณะนี้ และจะต้องเร่งให้การศึกษา ในด้านหนึ่งสำหรับประชาชนก็ต้องปรับปรุงให้การศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพคนในระยะยาว ในวงแคบเข้ามา ทางคณะสงฆ์จะต้องมีการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาของพระเณร โดยเฉพาะในชนบท ในฐานะที่พระได้รับความเชื่อถือเป็นผู้นำชุมชนของท้องถิ่น เพื่อจะทำให้ท้องถิ่นของไทยได้ผู้นำที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น

ในขณะที่อารยธรรมมนุษย์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย จะมีปัญหาจากความเจริญด้านข่าวสารข้อมูลได้มาก ประเทศไทยจึงจะได้รับผลกระทบจากความเจริญแบบนี้ด้วย ถ้าปรับตัวไม่ดี การหลอกลวงและเอารัดเอาเปรียบกันด้วยข่าวสารข้อมูลจะมีได้มาก จะมีภาวะที่เรียกได้ว่าถูกข้อมูลท่วมทับหรือสำลักข้อมูล เพราะไม่รู้จักเลือกคัดเอาประโยชน์ มีกองขยะข้อมูล การผูกขาดอำนาจ และการฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากข่าวสารข้อมูล ถ้าพัฒนาโดยไม่ได้พัฒนาจริง เพียงแต่รับเอาสิ่งบริโภคที่เป็นความเจริญภายนอกเข้ามา ก็จะเกิดปัญหาเหล่านี้มากมาย เริ่มแต่ภาวะพึ่งพาขึ้นต่อประเทศอื่น ในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลนั้นเอง จึงจะต้องพัฒนาด้านภายในตัวคนให้มากให้พร้อม ให้รับสถานการณ์ใหม่ได้ ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ให้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ให้มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล พัฒนาฉันทะ ความใฝ่สัจจะ ใฝ่ความจริง ใฝ่ดี ความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ ที่ทำให้รักงาน เพียรพยายามพัฒนาศักยภาพของตน สร้างเสริมคุณภาพชีวิต และประโยชน์สุขของสังคมร่วมกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ด้านลับเร้นของปัญหาการพัฒนาภาคผนวก – ปัญหาการแปลและตีความคำบาลีของพระโพธิรักษ์ >>

No Comments

Comments are closed.