ทางออกของสังคมไทย

28 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 1 จาก 13 ตอนของ

ทางออกของสังคมไทย1

สภาพสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะช่วงห้าปี หรือสิบปี แต่นานมาแล้วที่เรามักถูกมองว่า เป็นประเทศที่มีค่านิยมตามสังคมตะวันตก ภาพที่เราตื่นตามเขานี้เป็นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งบัดนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นในช่วง ๕-๑๐ ปี ที่ผ่านมา คนของเราเริ่มหันมาทักท้วงกันเองมากขึ้น คือในระยะก่อนหน้านั้น ลักษณะการตามเขาเป็นไปอย่างชื่นชมและพอใจที่จะตามจริงๆ แต่มาในช่วงหลังๆ นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ว่า อย่างน้อยคนพวกหนึ่งได้หันมาพิจารณาหรือติติงกันเองว่า พวกเราทำไมมีค่านิยมตามฝรั่งมาก และมีความคิดที่จะหันกลับมาในทางที่จะขุดค้นเอาคุณค่าหรือหลักความคิดที่เป็นของตัวเองขึ้นมาใช้ และสร้างความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น ลักษณะพิเศษในระยะ ๕-๑๐ ปีนี้ ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มหันมาพยายามกำหนดเส้นทางเดินของตัวเองขึ้นบ้าง แต่อาจจะกล่าวได้ว่า กระแสหลักเราก็ยังคงตามเขาอยู่

เป็นอันว่า ช่วงนี้ก็ได้มีการคิดและพยายามที่จะหาทางด้วยตัวเองขึ้น และก็เริ่มมีแรงต้านทานขึ้นภายในตัวเอง การที่เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า ประเทศตะวันตกเองซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ได้เกิดปัญหาขึ้นมา และเขาเองก็ได้ตระหนักในปัญหาของตนเองด้วย เขารู้สึกว่า อารยธรรมตะวันตกเริ่มจะติดตันแก้ปัญหาไม่ตก อาจจะพากันเดินทางไปสู่ความผิดพลาดหรือความหายนะ เพราะฉะนั้น เขาก็ได้หันมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ ในบรรดาผู้ที่หันมาทบทวนใหม่นี้ ก็มีบางพวกที่หันมาสนใจตะวันออก สนใจความคิดของพวกตะวันออก ที่เขาเรียกว่า “ภูมิปัญญาของตะวันออก” ฝรั่งทั่วไปเริ่มมีความรู้สึกว่าติดขัด และพวกหนึ่งหันมาสนใจที่จะศึกษาเอาความคิดจากตะวันออกไป เช่น มีการศึกษาศาสนาและปรัชญาของจีนและอินเดียสมัยโบราณกันแพร่หลายขึ้น

ฝ่ายคนไทยเราเอง ซึ่งติดตามเขามาตลอด เมื่อเห็นเขาเป็นอย่างนี้ ตัวเองก็ชะงักเหมือนกัน ส่วนคนไทยอีกพวกหนึ่งนั้น เป็นพวกที่อาจจะเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญา ซึ่งคอยพิจารณาอยู่แล้ว มีความระมัดระวัง คิดถึงคุณค่า ภูมิธรรมภูมิปัญญาของตัวเองอยู่แล้ว พวกนี้ก็มีกำลังและโอกาสมากขึ้นในการที่จะแสดงออก ดังนั้น ขณะนี้ แม้ว่ากระแสยังไม่หมุนกลับ แต่กระแสที่เราหมุนตามเขานั้น ก็มีเค้าที่จะเบาลงบ้างแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปจุดเปลี่ยนที่สำคัญ >>

เชิงอรรถ

  1. บทสัมภาษณ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับพิเศษ ครบ ๓๕ ปี ๒๘ กันยายน ๒๕๓๑

No Comments

Comments are closed.