ปัญหาแทรกซ้อน ที่สะท้อนอาการป่วยของสังคม

28 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 7 จาก 13 ตอนของ

ปัญหาแทรกซ้อน ที่สะท้อนอาการป่วยของสังคม

กรณีสำนักธรรมกายที่ถามมานั้น ตามที่สดับอยู่ในขณะนี้ก็น่าเป็นห่วงอยู่ ตามข่าวที่ว่ามีสภาพเป็นธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ แต่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้จริงจังก็ยังตอบไม่ได้ ถ้าจะตอบเรื่องนี้จริงจังก็ต้องมีการศึกษาให้ชัด เท่าที่เห็นอยู่ตามที่หนังสือพิมพ์เสนอ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอย่างน้อยก็เป็นการเอาธุรกิจมาใช้ประโยชน์ ทีนี้ ธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจเพื่อสนองความมุ่งหมายทางศาสนา หรือธุรกิจเพื่อธุรกิจ นี่ก็เป็นคำถามข้อหนึ่ง ถ้าเป็นธุรกิจเพื่อศาสนาก็มีคำถามว่า เราควรจะเอาธุรกิจมาใช้ประโยชน์เพื่อศาสนาเท่าไร ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องมาถกเถียงกัน เป็นปัญหาที่หนึ่ง แต่ถ้าเป็นธุรกิจเพื่อธุรกิจ ก็จะมีปัญหาที่สองขึ้นมา กลายเป็นว่าเอาศาสนามาเป็น “เครื่องมือ” เพื่อจะให้วัตถุประสงค์ทางธุรกิจสำเร็จ จะต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ว่า เป็นธุรกิจเพื่อศาสนา หรือธุรกิจเพื่อธุรกิจ แม้ว่าจะเอาธุรกิจมาใช้เพื่อศาสนา ก็จะต้องมีปัญหา ฝ่ายศาสนาเองก็น่าจะต้องมาคิดพิจารณากันว่า ธุรกิจนี่ควรจะมาเกื้อกูลศาสนาได้แค่ไหน เราควรจะยุ่งกับมันแค่ไหน ขอบเขตของเรามีแค่ไหน แค่ไหนจึงจะเป็นการชอบธรรม

ในฐานะองค์กรทางศาสนา มีหน้าที่ที่จะผดุงธรรม ทำหน้าที่เพื่อจิตใจของประชาชน ก็จะต้องมีขอบเขตในการที่จะเอาธุรกิจมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ อาตมาสนใจในแง่ธรรมวินัยเป็นหลักใหญ่ จะต้องพิจารณากันว่าคำสอนเป็นอย่างไร เป็นไปตามพระธรรมวินัยเพียงใด

ในยุคนี้ สภาพอย่างหนึ่งก็คือความสับสน เมื่อมีเรื่องราวเกิดขึ้น และพูดจาวิพากษ์วิจารณ์กันไปออกนอกหลักนอกเหตุนอกผล คนก็จะจับประเด็นของเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ค่อยถูก โดยเอาอะไรต่างๆ มาปะปนกัน เช่นปัญหาเกี่ยวกับความประพฤติกับความรู้ความเข้าใจ ความเป็นคนดีในแง่ของความประพฤติทั่วไป ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เมื่อเขาประพฤติดีทำดีเราก็ยอมรับชื่นชม และก็ควรยกย่องหรือสรรเสริญในเรื่องนั้นๆ แต่เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจว่าเขาเข้าใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องยกขึ้นพิจารณาเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในการทำงานใหญ่ๆ เพื่อผลระยะยาวนั้น การประพฤติดีอย่างเดียวยังไม่พอ แต่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย เพราะความรู้ความเข้าใจนั้น เป็นตัวกำหนดทิศทางการกระทำในระยะยาว ดังนั้น เมื่อเขามีความประพฤติเป็นคุณสมบัติอยู่อย่างหนึ่งแล้ว ก็ควรช่วยทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้เกิดความดีงามที่สมบูรณ์ และในทางกลับกัน ถ้าเราได้คนทำงานที่มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ก็นับว่าได้ทุนดีมาส่วนหนึ่งแล้ว แต่ถ้าเขาประพฤติไม่ดี ก็ย่อมเกิดผลเสียได้ เราก็ต้องพยายามช่วยให้เขาประพฤติดีด้วย เพื่อให้เกิดผลดีงามอย่างแท้จริง แต่ถ้าเขาไม่ยอมประพฤติดีก็ต้องถือว่าเป็นคนที่บกพร่อง ซึ่งจะให้อยู่ทำงานของส่วนรวมต่อไปย่อมไม่สมควร

ในกรณีที่เป็นคนประพฤติดี แต่มีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจนั้น ถ้าเป็นปัญหาความรู้ความเข้าใจที่ในตัวของคนนั้นเอง เราก็สามารถพิจารณากับตัวเขาเอง แต่ในกรณีที่เขารับเอาความรู้ความเข้าใจนั้นมาจากที่อื่น ถือตามผู้อื่น หรือถึงกับถูกชี้นำจากแหล่งความรู้อื่น ไม่ใช่เป็นความรู้ความเข้าใจของตัวเขาเอง เราก็ต้องตรวจสอบไปที่แหล่งที่มาของความรู้ความเข้าใจนั้น

ยิ่งในกรณีที่เป็นเรื่องราวทางพระศาสนาด้วยแล้ว ความประพฤติดีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะความประพฤติดี เป็นเรื่องในระดับศีล ผู้ที่ยึดมั่นในศีลอาจยังมีความรู้ความเข้าใจและความเห็นผิดได้ ซึ่งจะไปออกผลเสียในช่วงยาวไกล ดังนั้น เหนือศีลขึ้นไปก็ยังมีสมาธิและปัญญา นอกจากศีลก็ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย พระศาสนาจะอยู่ได้ต้องอาศัยศีลเป็นเหมือนเกราะหรือกำแพงช่วยห่อหุ้มคุ้มกัน แต่ภายในเกราะหรือในกำแพงก็ต้องมีเนื้อตัว หรือสิ่งที่เป็นสาระซึ่งต้องการรักษาอยู่ข้างใน ถ้ามีแต่เกราะมีแต่กำแพง แต่ข้างในไม่มีเนื้อตัวของพระธรรมวินัยที่แท้จริง ก็ไม่มีตัวพระพุทธศาสนา แต่กลายเป็นรักษาสิ่งอื่นไว้แทน

ปัญหาสันติอโศกนั้น ตัวปัญหาที่แท้จริงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือเรื่องพระธรรมวินัย คือการสอนคลาดเคลื่อนออกไปจากความหมายและหลักการที่แท้จริง จะว่าเป็นปัญหาการตีความพระธรรมวินัยก็ยังไม่ใช่ ยังไม่ถึงระดับนั้นแท้ๆ แต่เป็นเรื่องของการไม่รู้ภาษาบาลีแล้วก็ไม่ศึกษาให้รู้ แต่แปลเอาตามที่ตนนึกคิดเห็นไปแล้วเอาไปสอนเผยแพร่ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนวุ่นวาย ถ้าจะพูดให้เห็นง่ายหน่อย ก็เหมือนคนไม่รู้ภาษาอังกฤษ แค่เคยได้ยินคำพูดบางคำมา และพอเปิดพจนานุกรมดูได้บ้าง เข้าไปที่ร้านขายอาหารแห่งหนึ่ง ถามคนขายว่ามีอาหารอะไรขายบ้าง พอได้ยินว่ามีฮ็อตดอก (hot dog) ก็เลยไปเที่ยวพูดว่า ที่ร้านอาหารนั้นขายเนื้อสุนัขร้อนๆ ลองพิจารณาดูเถิดว่า คนที่สอนที่เที่ยวไปพูดเผยแพร่ให้เข้าใจวุ่นวายอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้กับหลักการของพระศาสนา และทำกับประชาชนที่ไม่ค่อยมีความรู้ จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดอย่างไร และพระธรรมวินัยจะเป็นอย่างไร เรื่องที่เขาจะประพฤติตัวดีหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน ถึงแม้เขาจะไม่มีเจตนาพูดเท็จ แต่เขาก็ทำให้คนเข้าใจว่าฮ็อตดอกเป็นเนื้อสุนัขร้อนๆ ซึ่งผิดความจริงอยู่นั่นเอง1

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศาสนากับสังคมในความดีงาม ก็ต้องระวังความรุนแรง >>

เชิงอรรถ

  1. ดู ภาคผนวก ปัญหาการแปลและตีความคำบาลีของพระโพธิรักษ์

No Comments

Comments are closed.