ปัญหาสันติอโศกฟ้องถึงปัญหาคุณภาพคน

28 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 9 จาก 13 ตอนของ

ปัญหาสันติอโศกฟ้องถึงปัญหาคุณภาพคน

ที่ว่าสำนักสันติอโศกนี้มีความถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้จะต้องแยกพูดเป็นแง่ๆ ไป เริ่มต้นก็เห็นด้วยอยู่แล้วในแง่ที่ว่า กิจการพระศาสนานี้จะต้องปรับปรุง และในขณะที่การปรับปรุงจากส่วนกลางยังไม่เกิดขึ้น ก็มีหน่วยย่อยต่างๆ ริเริ่มงานปรับปรุงกันขึ้นเอง ด้านโน้นบ้างด้านนี้บ้าง อะไรที่สันติอโศกทำได้ดี คนอื่นก็ควรต้องยอมรับและชื่นชมด้วย อย่างน้อยก็เจตนาของหลายๆ คนทีเดียวในสันติอโศกนั้น ที่ต้องการจะทำดีจะปรับปรุง แต่วิธีปรับปรุงแบบสันติอโศกนี้ มีข้อที่ไม่เห็นด้วยหลายอย่าง คือ อันที่จริงน่าจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการปรับปรุง แต่กลายเป็นการปรับปรุงหรือจะทำดีด้วยวิธีที่ตัวเองก็ทำความผิดขึ้นมาด้วย ด้านหนึ่งคือ การไปละเมิดกฎหมายของบ้านเมืองเข้า แต่ถ้าละเมิดแล้วก็บอกตรงไปตรงมาว่าละเมิด ก็จะเป็นเพียงกรณีของการปกครองจะว่ากันไป ข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการเที่ยวตีความหลีกเลี่ยงไปเลี่ยงมา ซึ่งเป็นทางให้เกิดความสงสัยในเจตนา เรื่องนี้ได้เคยเขียนชี้แจงมาก่อนแล้ว เพื่อให้เห็นว่า ตามหลักความจริงและตามเหตุผล การกระทำอย่างนั้นจะมีความหมายอย่างไร ไม่ควรจะมัวพยายามตีความเลี่ยงไป ควรพูดกันตรงๆ ดีกว่า เช่นเห็นว่า กฎหมายไม่ดีไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็ว่ามาอย่างนั้น เรื่องการทำผิดกฎหมายนั้นแม้จะสำคัญก็เป็นเรื่องของบ้านเมือง แล้วแต่ใครจะมีอำนาจตัดสินและลงโทษหรือยกโทษอย่างไร ในขั้นสุดท้ายแล้ว พระสงฆ์ก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย ไม่มีอำนาจอะไรเลย นอกจากต้องปฏิบัติตามในฐานะที่ก็เป็นพลเมืองของประเทศด้วย ถึงแม้ถ้าสันติอโศกจะถูกลงโทษตามกฎหมาย เรื่องราวเสร็จสิ้นไป ก็มีแง่ควรได้รับความเห็นใจ แต่เจตนาและพฤติกรรมที่แสดงออกในการตีความเลี่ยงหลบกฎหมายนั้นแหละ ที่เป็นปมทำลายความรู้สึกดีงามนั้นไปหมด

อย่างไรก็ตาม เหนือปัญหากฎหมายนั้นไปอีก สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพระสงฆ์ก็คือเรื่องธรรมวินัย ซึ่งเป็นตัวแท้ของพระศาสนาในระดับที่จะเป็นมาตรฐานให้ยึดถือร่วมกันได้ ซึ่งพระสงฆ์มีหน้าที่รักษาไว้ หรือว่าให้ถูกวิธีก็คือพุทธบริษัททั้ง ๔ จะต้องช่วยกันรักษา ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ธรรมวินัยเป็นศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล เมื่อพระองค์ล่วงลับไป ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับพระธรรมวินัยนี้จะต้องช่วยกันทำให้เกิดมีขึ้นและดำรงรักษาไว้ ปัญหาเรื่องสันติอโศกถือผิดจากธรรมวินัย หรือทำธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน ก็ยังค้างอยู่ ยังหาพ้นไปไม่ ข้อสำคัญจะต้องรับฟังด้วยใจสงบ แล้วพิจารณาตามเหตุผล อย่าให้เกิดปฏิกิริยา อย่าเพิ่งคิดว่าเขาไม่ชอบใจหรือมุ่งร้าย ต้องยอมรับบ้างว่า คนอื่นที่เขาหวังดีต่อพระศาสนาก็มีอยู่ ถ้าตนเองมีข้อชี้แจงอย่างไร ก็พูดออกไปตามเหตุผลและข้อเท็จจริง และไม่ตราคนอื่นว่าเขาชั่วร้ายไปหมด

ระหว่างที่มีเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือความสับสน ความเข้าใจผิดพลาด การแสดงอารมณ์ต่างๆ การจับไม่ถูกแม้แต่ว่าตัวปัญหาคืออะไรอยู่ที่ไหน เช่น มีการพูดและออกข่าวมา กลายเป็นว่า เกิดมีการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างคนสองกลุ่ม ซึ่งความจริงเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มเลย แม้แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นเราก็เห็นว่าประชาชนได้มีความสับสน สื่อมวลชนเองก็มีความสับสนด้วย มีการจับประเด็นผิด ออกข่าวว่าเป็นการขัดแย้งระหว่างคนสองฝ่าย ซึ่งถ้ามองภาพอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าพลาดหมดเลย

ความจริงเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ได้มีปัญหาเกิดขึ้นในการพระศาสนาเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสันติอโศก เมื่อเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร ก็มีผู้ให้ความคิดเห็นอะไรต่างๆ ความคิดเห็นในการแก้ปัญหานี้อาจจะแตกต่างกันได้ ขัดแย้งกันได้ แต่เป็นเรื่องของการหาทางแก้ปัญหาอันนี้ ซึ่งเป็นปัญหาเดียว ตัวปัญหานั้นคือเรื่องสันติอโศกว่าผิดหรือถูกอย่างไร แต่ไม่ใช่เรื่องคนสองกลุ่มว่าสันติอโศกกับใครขัดแย้งกัน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หนังสือพิมพ์บางฉบับหรือแม้แต่โทรทัศน์ที่ได้ยินมากลายเป็นอย่างนั้นไป ก็แสดงว่าเขาจับประเด็นไม่ถูก เราก็จะต้องสร้างภาพให้เห็นว่า ได้มีเรื่องที่เกิดขึ้น คือ กรณีสันติอโศกเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว และเราจะแก้กันอย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าคนจับภาพนี้ผิด ก็จะทำให้การตีความ การมองอะไรต่างๆ ผิดไปหมด

ส่วนในการรับผิดชอบที่จะต้องแก้ไขปัญหาสันติอโศกนี้ก็มีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ในระดับคณะสงฆ์ก็คือมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์เหมือนรัฐบาลปกครองประเทศ มีหน้าที่ต้องแก้ไข ในแง่บ้านเมืองก็มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ ตามกฎหมายก็ระบุไว้ชัดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในระยะที่ผ่านมา การทำหน้าที่ก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร อาจจะปล่อยปละละเลยเกินไป เรื่องก็เลยยืดเยื้อเรื้อรังกันมา ในแง่ผู้เกี่ยวข้องด้านอื่น เช่น สื่อมวลชน บางทีก็ไม่พูดกันด้วยเหตุด้วยผล ก็ไปเอาความรู้สึกส่วนตัวที่พอใจไม่พอใจฝ่ายโน้นฝ่ายนี้มาเป็นเครื่องแสดงออก พูดเหน็บแนม ประชดประชัน แสดงอารมณ์ และไม่พิจารณาที่ตัวประเด็น แต่ไปเอาเรื่องปลีกย่อยนอกเรื่องมาพูดกัน แม้แต่เสนอประเด็นให้แล้วก็ไม่พิจารณาในประเด็นนั้น เช่นบอกว่า ประเด็นปัญหาได้แก่ ประเด็นกฎหมาย ประเด็นการเมือง ประเด็นธรรมวินัย แม้มีผู้เสนอประเด็นให้แล้วว่าเรื่องอยู่ที่นี่ ก็ไม่มาเถียงกันในประเด็น แต่กลับตีเฉออกไปเรื่องอื่นๆ ตัวอย่างเช่น หลายคนก็จะยันอยู่ที่ว่า สำนักสันติอโศกก็ดีนี่เคร่งครัดดี มีพระอื่นตั้งเยอะเป็นพวกเดรัจฉานวิชา ใบ้หวย ทำไมไม่ไปจัดการ ก็จะพูดกันในทำนองนี้จนกระทั่งเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า มีกลุ่มหนึ่งคือสันติอโศก กับกลุ่มอื่นคือคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ได้แก่ พระพวกใบ้หวย เดรัจฉานวิชานั้น พระกลุ่มอื่นทั้งหมดเป็นพระที่ประพฤติเสียหาย ได้แก่พระในคณะสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่นอกสันติอโศก สร้างภาพอย่างนั้น

ผู้ที่สร้างภาพอย่างนั้นไม่ได้พิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ที่จริงนั้น สันติอโศกก็เป็นกลุ่มหนึ่งหรือเป็นสำนักหนึ่งในคณะสงฆ์ไทยทั้งหมด เหมือนกับคณะอื่นหรือสำนักอื่น ซึ่งก็มีเยอะแยะ เช่น สำนักอาจารย์ชา สำนักอาจารย์บัว สำนักสวนโมกข์ และอีกมากมาย สำนักต่างๆ เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นสำนักในคณะสงฆ์ไทยทั้งสิ้น และก็ยังมีพระที่ประพฤติเหลวไหลอย่างที่ว่าอีกมาก ซึ่งจะต้องแก้ไข ยิ่งการบริหารการปกครองย่อหย่อนอ่อนแอ พระประเภทอย่างนี้ก็จะยิ่งมีมากขึ้น แต่พระที่อยู่ในสำนักต่างๆ อย่างท่านอาจารย์ชา หรือสวนโมกข์ฯ เราจะไปตราว่าเป็นพระใบ้หวยหมดได้อย่างไร ไปสร้างภาพรวมว่า ถ้าเป็นพระในคณะสงฆ์ ก็เป็นพวกใบ้หวยอะไรไปอย่างนี้ได้อย่างไร เป็นการใช้คำพูดไม่ถูกต้อง สันติอโศกควรจะต้องยอมรับความดีงามของพระสงฆ์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่ท่านประพฤติปฏิบัติดีของท่านอยู่เงียบๆ ในที่ต่างๆ กระจายไป ไม่ใช่ติเตียนกราดไปหมด จนทำให้คนมองภาพพระสงฆ์ทั้งหมดผิดพลาดจากความเป็นจริง และที่ว่าพระองค์นั้นองค์นี้ หมู่นั้นหมู่นี้เป็นพระของมหาเถรสมาคมก็ไม่ถูก เพราะมหาเถรสมาคมก็เป็นเพียงเหมือนคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระที่ไหนหรือรูปใด ส่วนพระในสำนักต่างๆ ทั่วไปก็อยู่ของท่านตามสำนักต่างๆ มากมาย สันติอโศกก็เป็นสำนักหนึ่ง ถึงจะแยกกันอยู่เป็นต่างหมู่ต่างพวกต่างนิกาย แต่ถ้าเป็นพระไทยที่ถือหลักธรรมวินัยเดียวกัน สืบมาจากแบบแผนประเพณีการบวชตามสายของคณะสงฆ์ไทย ก็ล้วนอยู่ในคณะสงฆ์ไทยด้วยกันทั้งสิ้น เว้นแต่ใครจะขาดจากความเป็นพระภิกษุออกไป จึงจะพ้นไปอยู่นอกคณะสงฆ์ และถ้าสำนักใดตั้งขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นธรรมดาที่จะมีคนเรียกว่าเป็นสำนักเถื่อน

การที่ท่านไม่ยอมขึ้นกับมหาเถรสมาคม อันนี้ก็คือตัวปัญหาข้อหนึ่ง หมายความว่า สันติอโศกก็เหมือนกับสำนักอื่นๆ ที่มีอยู่ตามปกติ แต่ท่านเกิดมาบอกว่าฉันไม่ขึ้นกับมหาเถรสมาคม มันก็เลยกลายเป็นปัญหา การที่ท่านบอกว่าลาออกแล้ว ไม่ขึ้นกับมหาเถรสมาคมนั้น เป็นไปได้จริงหรือเปล่า ประเด็นต้องจับอย่างนี้ ตามเอกสารของสันติอโศกว่า ท่านโพธิรักษ์ก็เกิดโดยคณะสงฆ์บวชโดยคณะสงฆ์ไทย แม้ท่านจะมาตั้งสำนักขึ้นเอง ก็เป็นสำนักหนึ่งซึ่งอยู่ในคณะสงฆ์ ถ้าท่านไม่ตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เป็นการสร้างปัญหาขึ้น เหมือนกับที่อื่น ซึ่งเขาก็อาจจะสร้างปัญหาของเขาได้เหมือนกัน เมื่อสันติอโศกสร้างปัญหานี้ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมาวินิจฉัยกันว่าเป็นไปได้ไหม ถูกต้องไหมที่จะทำอย่างนั้น

ที่ว่านี้เป็นการพูดแบบเป็นกลางๆ เพราะปัญหาไม่ได้ขึ้นกับตัวเรา ไม่ขึ้นต่อทรรศนะ แต่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงก็คือ กฎหมาย กฎหมายคณะสงฆ์ซึ่งรัฐสภาตราเอาไว้นี้ สำหรับปกครองพระสงฆ์ไทยทั้งหมด ก็ต้องมาวินิจฉัยว่าท่านโพธิรักษ์ สำนักสันติอโศกอยู่ในคณะสงฆ์ไทยไหม เป็นพระไทยหรือไม่ ซึ่งเราก็วินิจฉัยได้ด้วยการบวช ว่าท่านบวชในคณะสงฆ์ไทย อุปัชฌาย์ท่านก็เป็นพระในคณะสงฆ์ไทยตามปกติ มันก็เท่านี้ ก็ว่าไปตามกฎหมาย อันนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องทรรศนะ มันเป็นปัญหาของความจริง ต่อมาท่านบอกว่าท่านลาออก เราก็ต้องมาพิจารณาอีกว่า การที่ลาออกนั้นสำเร็จไหม ท่านยังเป็นพระไทยอยู่หรือไม่ ตามหลักการแล้ว การที่เข้ามาในคณะสงฆ์ไทย คือ การบวชอย่างพระไทย การออกไป คือ การสึก พระโพธิรักษ์ก็บวชเป็นพระไทย ในเมื่อท่านยังไม่สึก ก็ยังเป็นพระไทย ยังไม่ออกไปจากคณะสงฆ์ไทย ก็ยังอยู่ใต้บังคับของกฎหมายคณะสงฆ์ไทย เรื่องก็เท่านั้น ทีนี้ท่านอ้างว่าลาออก ในการที่พูดลาออกนี้ จะทำให้เกิดผลอะไรขึ้นมา เราจะลาออกจากอะไรเราก็ต้องทำตามวิธีการลาออกให้เสร็จ เราเกิดในประเทศไทยแล้ว ยังไม่ได้ออกจากประเทศไทยไปโอนเปลี่ยนสัญชาติใหม่ หรือยังไม่สิ้นชีวิต จะขอลาออกจากรัฐบาลไทย ประกาศไปก็คงไม่มีผลอะไร ในเมื่อวิธีการเข้ามาในคณะสงฆ์ มาเป็นพระไทย ก็เข้ามาด้วยวิธีการบวช ก็ต้องลาออกด้วยวิธีการสึก ท่านโพธิรักษ์ท่านว่าท่านลาออกจากคณะสงฆ์ไทย ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ไทย แต่ท่านยังจะเป็นพระไทย ยังแต่งตัวเป็นพระไทย ไม่ยอมสึก ก็จึงเป็นปัญหา ยิ่งกว่านั้น ท่านบอกว่า ท่านลาออกจากมหาเถรสมาคมแล้ว ท่านจึงไม่ต้องขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ ความจริงท่านไม่ต้องลาออกจากมหาเถรสมาคม เพราะท่านไม่ได้เป็นอะไรในมหาเถรสมาคมอยู่แล้ว จะลาออกทำไม ทีนี้แม้แต่พระที่มีตำแหน่งอยู่ในมหาเถรสมาคม ถึงท่านจะลาออกจากมหาเถรสมาคม ก็ยังขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ ไม่พ้นไปได้ ถ้าจะให้พ้นก็ต้องสึก จะเห็นว่า ลักษณะการพูดของพระโพธิรักษ์ชวนให้ชาวบ้านไขว้เขวสับสนได้มาก จะเป็นเพราะท่านไขว้เขวสับสนเอง หรือเพราะต้องการทำให้ประชาชนไขว้เขวสับสนก็แล้วแต่

อีกเรื่องหนึ่งที่บางคนพูดให้สับสน คือ คำว่า มหาเถรสมาคม พอเห็นว่ามีคำว่า สมาคม ต่อท้าย ก็เลยพูดให้เข้าใจไปในทำนองที่ว่าเป็นสมาคมหนึ่ง เหมือนกับสมาคมทนายความ สมาคมนักหนังสือพิมพ์เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง คำว่ามหาเถรสมาคม เกิดขึ้นนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนจะมีการใช้คำว่าสมาคมในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน มหาเถรสมาคมมีความหมายเฉพาะ หมายถึง องค์กรปกครองของพระสงฆ์ คล้ายกับรัฐบาลที่ปกครองประเทศ แต่ยิ่งกว่ารัฐบาลอีก เพราะมหาเถรสมาคมปกครองคณะสงฆ์ ทั้งโดยอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้งสามอย่างกุมอยู่ในองค์กรเดียว

เมื่อเราจะตั้งคณะสงฆ์ของเราเอง เราก็ต้องไปบวชของเราอีกแบบหนึ่ง หรือเราจะไปเข้ากับคณะสงฆ์อะไร จะไปเข้ากับจีนก็ต้องไปบวชกับคณะสงฆ์จีน ก็เท่านั้น อันนี้เป็นปัญหาเรื่องข้อเท็จจริง ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความเห็น เมื่อท่านอยู่ในคณะสงฆ์ ท่านไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ ก็เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิด ก็ต้องวินิจฉัยว่ามีความผิดหรือไม่ ต้องว่าไปตามกฎหมาย เราไม่ได้พูดในแง่ว่ากฎหมายนี้ดีหรือไม่ มหาเถรสมาคมดีหรือไม่ ตอนนี้เราไม่พูดกัน เพราะมันคนละเรื่อง ต้องพูดกันเป็นเรื่องๆ ไป ถ้าท่านเห็นว่ามหาเถรสมาคมไม่ดี ปัญหาไม่ใช่มาพูดว่าลาออก ท่านต้องบอกว่า มหาเถรสมาคมนี้ไม่ดี พวกเรามาช่วยกันล้ม อะไรอย่างนี้ ก็ต้องว่ากันตรงๆ หรือว่ากฎหมายคณะสงฆ์นี้ไม่ดี ไม่ให้ความเป็นธรรม หรือไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องว่าตรงๆ ว่าไม่ดี พวกเรามาช่วยกันเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงแก้ไข ถ้าทำตรงๆ อย่างนี้ ปัญหามันก็จะไปอีกแบบหนึ่ง แต่คนที่มีเหตุผลจะรับฟังได้ ก็พูดกันตรงไปตรงมา ไม่ใช่เลี่ยงว่าฉันไม่ขึ้นกับกฎหมายนี้ กฎหมายนี้ไม่เกี่ยวกับฉัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ขณะนี้ที่ยังติดขัดอยู่ เท่าที่ฟังดู เขาก็กลัวว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเสียงคน คนจำนวนมากนับถืออยู่ ถ้าทำอะไรไปก็จะเป็นการกระทบกระเทือน ก็มองไปในแง่นี้ แต่ในแง่ของประชาชนที่ดูอยู่ ก็อาจจะระแวงและมองได้หลายอย่าง เช่น อาจจะมองว่า รัฐบาลเองก็ยังไม่มีความมั่นคงในตัวเองพอ ก็เลยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือแม้แต่จะพูดอะไรให้ชัดเจนออกไป เพราะคงจะยังต้องกลัวเรื่องเสียงคน อะไรต่างๆ ถ้าคนไหนมีกลุ่มใหญ่บ้าง มีอิทธิพลบ้าง ผู้บริหารบ้านเมืองที่ยังไม่มีความมั่นใจในตัว ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะปฏิบัติ ก็อาจจะหวาดๆ รักษาฐานของตัวเองไว้ก่อน หรือมิฉะนั้นรัฐบาลเองก็อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องดีพอ ยังจับประเด็นไม่ถูก หรืออาจจะมีอะไรลึกล้ำยิ่งกว่านั้นไปอีก หรือแม้แต่คณะสงฆ์เองก็อาจจะมีความอ่อนแอ ก็เลยไม่กล้าจัดการในเรื่องเหล่านี้ อันนี้เป็นการมองอย่างคนวงนอก เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจ และชักชวนกันให้ตั้งอยู่ในเหตุในผลและขอให้ทำหน้าที่กันให้ถูกต้อง

คนที่จะรับผิดชอบสังคม จะแก้ไขปัญหาของส่วนรวม จะเป็นฝ่ายบ้านเมือง หรือทางด้านพระศาสนาก็ตาม จะต้องรู้จักตัวเอง คือสังคมของเรานี้พอสมควร ทั้งส่วนอดีตว่าสืบมาอย่างไร ปัจจุบันนี้เราอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในภายนอก ที่เป็นอย่างไร ปัญหาที่เผชิญอยู่มีโยงใยอะไรไปถึงไหนบ้าง และมองการข้างหน้าเพื่อประโยชน์ที่ยาวไกลสักหน่อย ถ้าจับเรื่องแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้หน้ารู้หลัง โผล่ออกไปเห็นอะไรสวยงามก็จะรับเข้ามา แล้วสิ่งนั้นอาจจะพาความพินาศมาให้ก็ได้ ถ้าเราได้แต่คนชนิดที่รู้หลังแค่คืบ เห็นปัจจุบันแค่ที่จ่อมก้น และมองข้างหน้าแค่มือจะเอื้อมเอา ถ้าอย่างนี้ ก็หวังยากที่สังคมนี้จะรอดปลอดภัย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ในความดีงาม ก็ต้องระวังความรุนแรงด้านลับเร้นของปัญหาการพัฒนา >>

No Comments

Comments are closed.