พร้อมหรือยังกับการเป็น “นิกส์”

28 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 4 จาก 13 ตอนของ

พร้อมหรือยังกับการเป็น “นิกส์”

หากถามว่า เราพร้อมที่จะเป็น “นิกส์” หรือไม่ ก็อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า เราไม่ได้เป็นด้วยตัวของตัวเอง แต่จะเป็นด้วยการไปสัมพันธ์กับต่างชาติ โดยเอาต่างประเทศเข้ามา ในเมื่อเขามีใจที่จะต้องเอาเปรียบแล้ว และคนของเราก็ยังไม่มีคุณภาพพอ ทั้งคนทำงานและคนในระดับบริหารก็อาจจะมีเจตนาที่ไม่น่าไว้ใจ คือให้โอกาสที่ทำให้เขามาเอาเปรียบได้มาก ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็จะทำให้เกิดผลเสีย จึงต้องมีข้อแม้ว่า ถ้าผู้บริหารของเราที่รับหน้ากับต่างประเทศนั้น เป็นผู้ที่เข้มแข็ง มีภูมิปัญญาดี รู้เท่าทันเขา และมีเจตนาดี มีหมู่คณะที่มีความสามารถ มีความเข้มแข็งทางจริยธรรม สามารถจะต้านทานไม่ยอมรับผลประโยชน์โดยเปิดโอกาสให้แก่เขามาก อย่างนี้ยังมีทางเป็นไปได้ แต่ก็เป็นตัว “ถ้า” เท่านั้น เพราะว่าโดยสภาพพื้นฐานเรามองเห็นแล้วว่ายังเป็นอย่างนี้ ฝ่ายบริหารต้องรู้ข่าวสารข้อมูล รู้เท่าทัน มีมาตรการที่รัดกุม และมีความเข้มแข็งทางจริยธรรม

ถ้ามองความต้องการว่า ในการพัฒนาประเทศให้เป็นนิกส์นั้น รัฐบาลเราต้องการอะไร หนึ่ง เราต้องการให้คนของเรามีงานทำมากขึ้น สอง เราต้องการเป็นผู้ผลิต ซึ่งนอกจากทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพียงพอที่จะจำหน่ายในประเทศแล้ว ก็จะผลิตให้ส่งออกไปต่างประเทศ รัฐก็สามารถเก็บภาษี เป็นรายได้เข้ารัฐมากขึ้น หรืออาจจะมองว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้ผลิตมากขึ้น แต่มองในด้านเสีย เราก็ต้องคิดกันว่า ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนนั้น เขาจะยอมให้เราเป็นผู้บริหารหรือมีส่วนบริหารได้แค่ไหน เขาจะยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงให้เราหรือ เราอาจจะยังตกอยู่ในภาวะที่เป็นลูกน้องเขาตลอดไป อันนี้ก็อยู่ที่ความเข้มแข็งของผู้บริหารประเทศของเรา ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนนั้นเขาก็ต้องพยายามกอบโกยผลประโยชน์กลับไปบ้านเขาให้มากที่สุด และการที่จะทำให้คนของเราเปลี่ยนนิสัยไปเป็นผู้ผลิตจะทำได้เมื่อไร อันนี้ก็ยังมองไม่เห็นความมั่นใจจากผู้บริหารในขณะนี้ เพราะลักษณะจิตใจเช่นนี้ต้องมีระบบการศึกษาที่จะมาช่วยทำให้ประชาชนมีลักษณะเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักทำด้วยตนเอง ถ้าได้แค่ไปทำงานให้เขาตามแต่เขาจะบอกหรือวางนโยบายให้ทำ ไม่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในระดับบริหารแท้จริง และไม่เป็นผู้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ก็จะเป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้ไม่สำเร็จ

รวมความแล้ว ขอตั้งเป็นข้อสังเกตและคำถามต่อไปนี้

๑. ในการสัมพันธ์กับต่างชาติที่จะให้เขาเข้ามาลงทุนนั้น เราจะเอาเขาเป็นฐาน โดยมีความพร้อมที่จะก่อร่างสร้างตัวเองต่อจากฐานนั้นขึ้นไปหรือไม่ ถ้าหวังแต่จะให้เขามาทำให้แล้วคิดว่าเราจะได้เอง ก็คงจะเป็นความผิดพลาด

๒. ในด้านเทคโนโลยี เรามีความพึ่งตัวเองได้ในทางเทคโนโลยีหรือไม่ แค่ไหนเพียงใด ถ้าไม่ เรามีการเตรียมตัวหรือมีความคิดที่จะพึ่งตัวเองได้ในทางเทคโนโลยีบ้างเพียงใด คือจะต้องพยายามเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นเพียงผู้บริโภคเทคโนโลยี ไม่เป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยี

๓. ประเทศไทยปัจจุบันมีปัญหาที่ทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านสมองและแรงกายหลั่งไหลออกจากชนบทเข้ามาในเมือง ทำให้ชนบทขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ และซูบโทรมมาก การเดินทางสู่ความเป็นนิกส์จะซ้ำเติมปัญหานี้ให้หนักยิ่งขึ้นหรือไม่ เราได้เตรียมการป้องกันไว้แล้วอย่างไร

๔. ปัญหาด้านวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะมีการคิดเตรียมการหรือเห็นความหวังอย่างไรบ้าง ที่จะสร้างเสริมให้คนมีค่านิยมในการผลิต มีนิสัยรักงาน ไม่ใช่กลายเป็นส่งเสริมค่านิยมบริโภคและความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย กลายเป็นทาสของผู้ผลิตมากยิ่งขึ้น

๕. ในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ถ้าทำอย่างผิวเผิน เป็นความเจริญแต่เปลือกนอก จิตใจและสติปัญญาไม่ได้ เจริญขึ้นมาอย่างแท้จริง คนในสังคมของเราจะยิ่งมีความไม่มั่นคงทางจิตใจ และปราศจากความมั่นใจทางปัญญามากขึ้น ไสยศาสตร์จะเฟื่องฟูแพร่หลายมากขึ้น และความขัดแย้งในสังคมจะเพิ่มขึ้น

๖. ปัญหาสภาพแวดล้อมเสียและทรัพยากรร่อยหรอ ปัจจุบันนี้ก็ยังควบคุมกันได้ไม่ดี ถ้าจะมีอุตสาหกรรมมากๆ เราเตรียมตัวแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้พร้อมและมั่นใจเพียงใด

๗. บทเรียนจากพี่ “นิกส์” เราได้ศึกษาผลดีและผลเสียที่เขาได้ประสบ เพื่อเตรียมการของเราให้รอบคอบไว้แล้วเพียงใด

การพิจารณาคุณภาพคน เราต้องมองไปที่ความเปลี่ยนแปลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนิสัยคนนั้นมีสามทางด้วยกัน คือ หนึ่ง สถานการณ์ภัยคุกคามที่เข้ามา สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยคนได้ เช่นเมื่อมีภัยเข้ามา คนไทยก็จะรวมตัวกัน สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสร้างชาติให้เข้มแข็งให้สู้เขาได้ แต่เมื่อหมดภัยคุกคาม คนไทยก็จะหันมาแตกแยกทะเลาะกันเองอีก เป็นอยู่อย่างนี้มาเสมอ อันนี้ถือว่า เปลี่ยนนิสัยได้ชั่วคราว ไม่ใช่ระยะยาว ปัจจัยที่สองขึ้นอยู่ที่ผู้บริหารประเทศที่มีความเป็นผู้นำสูง สามารถที่จะชักจูงใจประชาชนให้เกิดจิตสำนึกใหม่ และปัจจัยที่สามเป็นการสร้างระยะยาว คือต้องปรับปรุงระบบการศึกษาและหลักสูตร เพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพตามที่วางแผนไว้ คนไทยเรานั้นได้ชื่อว่าไม่ค่อยมีนิสัยรักงาน และได้ชื่อว่าเป็นคนที่รักความสนุกสนาน ทำอะไรแบบผ่านๆ ไป ซึ่งจะขัดกับการที่จะเป็นนิกส์ได้มาก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาใหญ่คือคุณภาพคนพัฒนาการทางการเมือง >>

No Comments

Comments are closed.