– ๓ – ระบบจริยธรรมที่ครบวงจร

21 กันยายน 2530
เป็นตอนที่ 15 จาก 23 ตอนของ

– ๓ –
ระบบจริยธรรมที่ครบวงจร

ตัวอย่างที่ ๑: เสรีภาพในการแสดงออก

การแสดงออกอย่างเสรี ต้องมีองค์ประกอบครบชุด

ต่อไปขอพูดผ่านไปถึงว่า การฝึกและการใช้จริยธรรมต้องเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร

ปัจจุบันนี้เขานิยมใช้คำว่า “ครบวงจร” อะไรๆ ก็ต้องครบวงจร พูดกันมากเหลือเกิน อีกคำหนึ่งก็คือ “บูรณาการ” ชักเข้ามามาก

ที่จริง จริยธรรมก็เป็นเรื่องแบบเดียวกันนั้นแหละ ต้องครบวงจรเหมือนกัน จริยธรรมก็ต้องเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร ถ้าไม่ครบวงจรก็เกิดผลเสีย จริยธรรมที่ครบวงจรนี่จะยกตัวอย่าง เพราะถ้าจะอธิบายก็กินเวลามาก ต้องมีตัวอย่างจึงจะเห็นง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การแสดงออกโดยเสรี เดี๋ยวนี้เป็นยุคประชาธิปไตย แม้แต่ในวงการศึกษาก็ถือว่าจะต้องฝึกฝนประชาธิปไตย การมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงออกอย่างเสรี เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย และก็เป็นองค์ประกอบทางจริยธรรมด้วย เรื่องนี้จะมาสัมพันธ์กับการปฏิบัติจริยธรรมให้ครบวงจรอย่างไร

ที่ว่าต้องครบวงจรก็เพราะว่า จริยธรรมแต่ละข้อย่อมมีความสัมพันธ์กับข้ออื่น โดยมีจุดมุ่งหมายและมีการรับส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น ดังนั้น จริยธรรมทุกข้อจะต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร หรือเพื่อผลอะไร

การแสดงออกอย่างเสรี หรือเสรีภาพในการแสดงออก มีจุดมุ่งหมายอย่างไร อันนี้มีเรื่องที่จะต้องพูดกันหลายแง่หลายมุม

แง่หนึ่งก็คือเอาด้านความสัมพันธ์ก่อน แล้วมันจะโยงไปถึงความมุ่งหมาย เราจะเห็นว่า การแสดงออกโดยเสรีนี่ มันคู่กันกับการรับฟังผู้อื่นใช่ไหม คือ เมื่อเราแสดงออกโดยเสรี เช่นแสดงความคิดเห็นของเราออกไป เราก็ต้องยอมให้คนอื่นเขาแสดงความคิดเห็นโดยเสรี คือยอมรับฟังเขาด้วย

แต่ตัวแกน หรือสาระสำคัญของการแสดงออกโดยเสรี และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนั้น คืออะไร คือการแสวงปัญญา ต้องการรู้ความจริง หาความถูกต้อง มองเห็นเหตุผล ถูกไหม

เมื่อแสดงออกโดยเสรี แต่ละคนมีความคิดเห็น ก็จะได้สามารถใช้ความคิดเห็นของตน เอามาช่วยประกอบในการที่จะร่วมกันคิดพิจารณา ให้ถึงความรู้ที่ถูกต้อง กล่าวคือ ต่างคนต่างก็คิดหาเหตุผลที่ถูกต้องเท่าที่สามารถและนำมาแสดงออก เมื่อนำมาแสดงออกแล้วก็เป็นการแลกเปลี่ยนกัน คนอื่นเขาก็มีความคิดเห็นของเขา ก็มาพูดให้เราฟังบ้าง แลกเปลี่ยนกันไปกันมาก็เข้าถึงปัญญา เข้าถึงสัจจธรรม ได้ความรู้จริง เกิดความรู้แจ้งขึ้นมา ได้สิ่งที่ถูกต้อง ที่จะใช้ปฏิบัติให้บรรลุความมุ่งหมาย

โดยนัยนี้ เสรีภาพในการแสดงออก ก็คู่กันกับการรับฟังผู้อื่น และมีการแสวงปัญญาเป็นฐาน ฉะนั้น ถ้าจะฝึกการแสดงออกโดยเสรี ก็ต้องฝึกการรับฟังผู้อื่นด้วย และต้องโยงไปหาการใฝ่รู้ความจริง จะฝึกแต่การแสดงออกโดยเสรีอย่างเดียวไม่ได้

นอกจากการรับฟังผู้อื่น โดยมีความใฝ่รู้เป็นฐานร่วมแล้ว การแสดงออกอย่างเสรีสัมพันธ์กับอะไรอีก สังคมที่มีการแสดงออกโดยเสรีที่ดำเนินไปอย่างถูกต้อง จะเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัยมาก อย่างเช่น อเมริกาก็เป็นประเทศที่มีการแสดงออกโดยเสรี แต่ในประเทศนี้ สังคมก็จะต้องมีระเบียบวินัยค่อนข้างดีด้วย คนจะต้องมีการฝึกตนในเรื่องระเบียบวินัย จะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา ดังนั้น พร้อมกันไปกับที่เขาแสดงออกโดยเสรีนั้น ก็จะมีตัวคุม กล่าวคือระเบียบวินัยนี้

ระเบียบวินัย หรือกฎเกณฑ์ของสังคม เป็นเครื่องควบคุมกำกับยับยั้งชั่งใจให้อยู่ในกรอบ ทำให้การแสดงออกโดยเสรี อยู่ในขอบเขตที่ถือว่าพอดี ระเบียบวินัยนี้รวมไปถึงกฎเกณฑ์ของสังคม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในสังคมด้วย

นอกจากนี้ ในสังคมที่มีการแสดงออกโดยเสรีนั้นปรากฏว่า ยังต้องเป็นสังคมที่แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบตัวเองมากด้วย คือเมื่อตัวเองแสดงออกโดยเสรี ตัวเองก็จะต้องรับผิดชอบต่อการแสดงออกของตนนั้นมากด้วย นอกจากรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์ของสังคมแล้วก็รับผิดชอบต่อบุคคลอื่น และต่อสิทธิของคนอื่นด้วย เช่นอย่างในสังคมอเมริกันนั้น พร้อมกับที่แสดงออกโดยเสรี ก็มีสิทธิที่จะถูกซูได้ง่ายๆ ด้วย อยากเสรีอย่างฝรั่ง แต่จะให้เหมือนฝรั่งจริงก็ไม่เอา

ในสังคมอเมริกันนั้น คำว่า “ซู” (sue) คือการเรียกร้องค่าเสียหาย นี่ใช้กันมากเหลือเกิน ถ้าไปละเมิดสิทธิของคนอื่นปั๊บนี่ ถูกซูทันที เพราะฉะนั้น เขาแสดงออกโดยเสรีจริง แต่ก็มีตัวคุมมากเหลือเกิน คุมทั้งในทางสังคม และคุมทั้งระหว่างบุคคลด้วยกัน โดยเฉพาะด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี้ ถูกคุมอย่างหนักเลย ถ้าไปละเมิดเขาปุ๊บ เขาก็ซูปั๊บ แต่ในเมืองไทยเราไม่เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่าง เช่นอาชีพแพทย์ คนไทยเราใช้ระบบจริยธรรมทางจิตใจมาก มีการเคารพนับถือกัน ให้เกียรติแพทย์ แพทย์จะรักษาก็ต้องมีน้ำใจ เพราะว่าคนไข้เขามีน้ำใจ มีความเคารพนับถือ แพทย์ก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางจิตใจ มีความเมตตากรุณาต่อคนไข้ รักษาด้วยความเอาใจใส่ โดยมุ่งประโยชน์แก่คนไข้ มีความเมตตากรุณา ต้องการรักษาให้เขาหาย จึงจะไปด้วยกันได้กับน้ำใจของคนไข้ที่มีความเคารพนับถือ

แต่ถ้าไปตามอย่างสังคมแบบประเทศอเมริกา ความเคารพกันและน้ำใจต่อกันนั้นจะค่อยๆ หมดไป คนไข้ก็ไม่มีความรู้สึกเคารพแพทย์ ไม่ได้นับถือบูชา คิดแต่เพียงว่าจะต้องมอบเงินแค่นี้ไปๆ เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ที่จะแลกเปลี่ยนซื้อขายบริการกัน แพทย์ก็อาจจะมีความรู้สึกแบบธุรกิจ คือมองว่าฉันจะได้เงิน ฉันจึงรักษาคุณ เพราะฉะนั้นฉันจะรักษาให้ ก็เพราะคุณมาซื้อบริการ แต่อย่าพลาดนะ ฝ่ายคนไข้ก็คอยดูอยู่ ถ้าหมอพลาดนิดหนึ่งฉันซู ฟ้องเรียกค่าเสียหายเลย เมื่อไม่มีน้ำใจแล้วมันก็เป็นธุรกิจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ทีนี้ สังคมไทยปัจจุบันนี่กำลังอยู่ระหว่างครึ่งๆ กลางๆ ในแง่หนึ่ง สังคมของเรามาตามประเพณีเดิมในแบบมีน้ำใจ คนไข้มีความเคารพนับถือหมอ หมอเป็นคนประเภทหนึ่งในสังคมที่ได้รับเกียรติมาก อยู่ในกลุ่มพระ ครู แพทย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเคารพนับถืออย่างสูง เพราะฉะนั้น หมอจะไปที่ไหนเขาก็มีความรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณอยู่แล้ว หมอรักษาไป คนไข้ต้องไปกราบไหว้ มีความเคารพซาบซึ้งบุญคุณ ทางฝ่ายแพทย์ ก็ต้องมีเมตตากรุณาตอบแทนดังที่ว่าเมื่อกี้

ทีนี้ เมื่อสังคมเปลี่ยนมาในลักษณะธุรกิจ มันก็กลายเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน ด้วยทรัพย์สินเงินทอง คนไข้ก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องนึกถึงบุญคุณของแพทย์ หรือนึกถึงบ้าง ก็เป็นเรื่องเล็กน้อย ข้อสำคัญคือให้ค่าตอบแทนไปก็แล้วกัน ฉันจ้าง คุณก็รีบไปรักษานะ และรักษาฉันให้ถูกต้องนะ ถ้าเธอรักษาผิดพลาดไปฉันจะซูเธอ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะฉะนั้น ก็เลยมีการฟ้องกันบ่อยๆ

แพทย์บางทีก็ทำดีตั้งใจรักษา เพราะว่าต้องระวังตัวที่จะไม่ให้ผิดพลาด กลัวว่าคนไข้เขาจ้องจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ใช่ตั้งใจรักษาให้ดี เพราะมีเมตตากรุณาปรารถนาดีต่อคนไข้ ฉะนั้น แพทย์บางคนถึงจะรวย แต่ถ้าไม่ระวังตัวให้ดี บางทีถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายรายเดียวเท่านั้น ชดใช้ชั่วชีวิตไม่พอ นี้เป็นเรื่องสำคัญ

การแสดงออกอย่างเสรีของฝรั่ง ที่เป็นต้นตำรับ จะต้องเป็นไปด้วยความระวังตัวในทุกอย่าง ไม่ให้เป็นการล่วงละเมิดสิทธิ หรือทำความเสียหายแก่ผู้อื่น มิฉะนั้น การใช้เสรีภาพจะกลายเป็นการใช้โอกาสตักตวงผลประโยชน์ให้แก่ตนหรือทำตามใจอยากของตัว

แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างครอบครัวก็ต้องระวังตัวทั้งนั้น เด็กบ้านนี้ไปบ้านโน้น ไปกินอาหารของเขา แล้วท้องเสีย บางทีพ่อแม่บ้านนี้ซู ฟ้องเรียกค่าเสียหายบ้านนั้น อย่างนี้เมืองไทยเราทำไหม เราอยู่บ้านนี้ไปเยี่ยมเพื่อนอยู่อีกเมืองหนึ่ง ไปพักในบ้านเขา เวลาจะออกจากบ้านทั้งๆ ที่เป็นเพื่อน ก็เขียนบิลให้กัน ช่วยค่าใช้จ่าย อาตมาไปเห็นด้วยตาตนเอง เมืองไทยเราทำไหมอย่างนั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สร้างจริยธรรมตัวนำขึ้นข้อเดียว จริยธรรมอื่นพ่วงมาเป็นพรวนการแสดงออกอย่างเสรี คือความเหลวไหล ถ้าไม่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย >>

No Comments

Comments are closed.