- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
เท่าที่กล่าวมาเป็นอันสรุปได้ว่า การมองความหมายหรือตีค่าของมนุษย์นี้มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ มองในแง่ของอวิชชาและตัณหา กับมองในแง่ของปัญญา การมองนี้ก็ไปสัมพันธ์กับวัตถุธรรมในแง่ของการมองหาคุณค่าที่แท้อย่างหนึ่ง สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในทางสังคม คือมนุษย์ด้วยกัน ในแง่ของความกรุณาอย่างหนึ่ง ถ้าได้อย่างนี้แล้ว ในทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นจุดเน้นของการศึกษาที่ถูกต้อง และการศึกษาเริ่มต้นจากจุดนี้ ถ้าไม่เริ่มต้นจากจุดนี้จะมีการศึกษาไม่ได้ เพราะว่าวิชาการต่างๆ แม้ว่าเราจะเรียนไปมากมาย มันก็จะไม่แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ถ้าหากไม่มีจุดเริ่มต้นในทางความคิดที่ถูกต้องอันนี้
เพราะฉะนั้นถ้าจะทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูในการศึกษาที่ถูกต้อง ก็จะต้องกระตุ้นความคิดของศิษย์ให้ดำเนินไปตามสายที่ถูก ให้เขาเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในทางวัตถุธรรม จะเป็นอุปกรณ์ในการดำเนินชีวิตก็ดี หรือเป็นสิ่งแวดล้อมในทางธรรมชาติก็ดี และสิ่งแวดล้อมในทางสังคม ให้เข้าไปถึงความหมายที่แท้จริง โดยอาศัยปัญญาให้เกิดความต้องการในคุณค่าที่แท้ และมีความสัมพันธ์ในแบบกรุณา หรืออย่างน้อยก็ให้จิตใจยังมีอิสรภาพอยู่
ทีนี้ จะกระตุ้นความคิดได้อย่างไร ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น รับประทานอาหาร ครูจะสอนศิษย์ หรือพ่อแม่จะสอนลูกก็ได้ เป็นการให้การศึกษาแต่เบื้องต้นทีเดียว จะชักจูงให้ลูกศิษย์หันเหไปทางไหน จะให้ไปในวิถีของอวิชชาตัณหา หรือในวิถีของปัญญาและกรุณาก็ได้ เมื่อเด็กรับประทานอาหาร เราอาจจะมีวิธีกระตุ้นให้เด็กคิดในแง่ของการไม่เพ่งเล็งหลงติดในความเอร็ดอร่อย ให้รู้จักพิจารณาในแง่คุณค่าที่ว่า เกื้อกูลแก่สุขภาพ สะอาดปลอดภัย เป็นต้น อันนี้ใช้มากในทางพระพุทธศาสนา
อย่างพระมาบวช เริ่มต้นท่านให้พิจารณา ปฏิสังขาโย นับว่าเป็นหลักในการศึกษาทางพระพุทธศาสนา พระใหม่ต้องว่าได้ โดยเฉพาะคนโบราณจะสอนนาคตั้งแต่ก่อนบวช บอกให้ท่องปฏิสังขาโย แต่ตอนหลังๆ ท่านท่องกันไปอย่างนั้นเอง บางทีไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไร กลายเป็นท่องคาถาเสก คล้ายกับเสกอาหารนั้นให้มันสำเร็จรูป พระจะได้ฉันอาหารนั้นได้ แต่ความจริงในการพิจารณาปฏิสังขาโยนั้น มีความหมายว่า เราพิจารณาแล้วโดยแยบคาย (นี่เป็นภาษาโบราณ) จึงฉันอาหาร พิจารณาอย่างไร พิจารณาว่าอาหารที่เราฉันนี้ ฉันเพื่อจะยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี เพื่อเราจะสามารถทำหน้าที่บำเพ็ญสมณธรรมได้ เรามิได้ฉันเพื่อจะประมาท มัวเมา เพื่อแสวงหาความเอร็ดอร่อย เพื่อจะโก้หรูฟุ้งเฟ้อ นี่ท่านให้พิจารณาอย่างนี้
ในการสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ท่านให้พิจารณาอย่างเดียวกันนี้ทั้งหมด ท่านให้ปฏิสังขาโยต่ออาหาร ต่อจีวร ต่อเสนาสนะกุฏิวิหารที่ใช้ ต่อคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะประยุกต์หลักนี้มาใช้กับเด็ก มันก็มีผลเหมือนกัน แต่ทีนี้เราลืมไป เราไม่เคยสอนเด็กอย่างนี้เลย สอนให้แกนึกถึงแต่คุณในทางเสริมตัณหาอย่างเดียว มุ่งไปทางเอร็ดอร่อย ในทางโก้หรู เด็กบางคนไม่เคยได้รับการศึกษาและอบรม ในแง่ที่จะชี้ถึงคุณค่าที่แท้จริงว่าอาหารนั้นมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร
เพราะฉะนั้น แม้ว่าเรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เรายังแสวงหาคุณค่าในทางตัณหาอยู่ แต่เราจะลืมไม่ได้ เราจะต้องเตือนสติตนเองว่าเราจะขัดเกลาชีวิตให้มีความประณีตยิ่งๆ ขึ้น เราจะให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่เด็กด้วย จะต้องสอนเด็กให้รู้จักพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารที่มีต่อชีวิตอย่างแท้จริงนี้ด้วย หากว่าเด็กจะทำอะไรก็ให้รู้จักมองคุณค่าที่แท้จริงนี้ด้วย ไม่ใช่คิดแต่จะสนองความอยากความต้องการทางตัณหาแต่ฝ่ายเดียว ถ้าหากเด็กดูโทรทัศน์ก็จะต้องแนะนำให้รู้จักใช้ความคิดว่า เราจะได้ประโยชน์อะไร ควรดูโทรทัศน์เพื่ออะไร เพื่อสนุกเพลิดเพลินอย่างเดียวหรือ หรือควรจะหาความรู้และจะได้ความรู้อะไรขึ้นมา แม้แต่เรื่องสนุกสนาน แม้แต่เรื่องเลวร้าย ถ้าหากในขณะนี้เราติเตียนโทรทัศน์ว่ารายการไม่ค่อยจะสู้ดี ถึงอย่างนั้นถ้าหากว่าเป็นภาวะจำยอม ยังมีอยู่และเด็กของเรายังดู ถึงเรื่องจะเลวร้าย แต่ถ้าเรามีวิธีการพูดการคิด เราก็จะให้เด็กหันเหความคิดไปในทางที่ดีงาม และบรรเทาความคิดในทางที่เลวร้ายไปได้
หรืออย่างที่ว่าเมื่อกี้ เรื่องเด็กชาวชนบทดูภาพกรุงเทพฯ บางทีเราคิดว่า จะกระตุ้นความคิดของแก กระตุ้นให้คิดอย่างเสรี บางทีเลยคิดผิดถ้าไม่มีความมุ่งหมาย ให้แกดูรูปตึกสวยงามในกรุงเทพฯ ตึกใหญ่ๆ น่าดูเหลือเกิน กระตุ้นความคิดของแกแล้ว กลายเป็นไปกระตุ้นตัณหาของแก คือแกอยากจะอยู่อย่างนั้นบ้าง อยากอยู่อย่างสบายในกรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์อย่างที่ว่า ถ้ากระตุ้นอย่างนั้น อาจจะผิดพลาดไปแล้วกลายเป็นสร้างปัญหา แกคิดอย่างเสรีแต่กลับหมดอิสรภาพ แทนที่จะได้ปัญญากลับได้ปัญหา แต่ถ้ากระตุ้นให้แกได้คิด กระตุ้นปัญญา ไม่ใช่กระตุ้นตัณหา ให้แกคิด ศึกษาวิเคราะห์ความจริง ว่าตึกที่อยู่ในกรุงเทพฯ นี่มันอยู่ในท่ามกลางอะไร นอกจากตึกอย่างนี้ ในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง ความเป็นอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร ถ้าคนบ้านนอกจะเข้าไปอยู่ในกรุง แล้วจะมีชีวิตเป็นอย่างไร เราควรจะเข้าไปอยู่หรือไม่ จะเข้าไปอยู่เพราะเหตุผลอะไร หรือบ้านนอกเราจะดีกว่าในแง่ไหนอย่างไร จะต้องให้เขาพิจารณาความจริงอย่างนี้ด้วย
อันนี้เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง และสัมพันธ์กับปัญหาปัจจุบัน ที่พยายามจะดึงชาวบ้านนอกให้เข้าไปในกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เป็นปัญหาที่คุณครูโดยเฉพาะท่านที่ทำงานในชนบทสามารถช่วยได้มากทีเดียว ถ้าหากจะสอนกระตุ้นความคิดเด็กให้เห็นสิ่งสวยงามในสถานที่เจริญแล้ว ก็อย่าลืมกระตุ้นความคิดให้วิเคราะห์เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นและสิ่งอื่นที่สัมพันธ์กันอยู่ด้วย ให้เขารู้ตามความเป็นจริงว่า ที่มันดีและไม่ดีนั้น ดีและไม่ดีอย่างไร นอกจากดีและไม่ดีในแง่ที่เป็นที่น่าพอใจไม่น่าพอใจแล้ว เป็นอย่างไรอีก อันนี้คือการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ที่เข้ามาสัมพันธ์กับหลักการที่ได้กล่าวมาแล้วคือ เรื่องการมองความหมายและตีค่าของสิ่งต่างๆ โดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหาฝ่ายหนึ่ง กับวิถีทางของปัญญาและกรุณาอีกฝ่ายหนึ่ง
No Comments
Comments are closed.