— การจัดการกับตัณหา

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 17 จาก 35 ตอนของ

การจัดการกับตัณหา

เรื่องที่กล่าวมาในตอนนี้ มีความสำคัญควรสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นตอนที่ใช้ตอบปัญหาเรื่องแรงจูงใจหรือแรงขับในการทำการต่างๆ จะเห็นว่า ผู้ที่ศึกษาหรือคุ้นแต่กับจิตวิทยาการศึกษาของฝ่ายตะวันตก มักจะแย้งว่า เมื่อพุทธศาสนาสอนให้กับตัณหา ดับความอยากเสียแล้ว จะมีอะไรเป็นแรงขับ หรือตัวกระตุ้นให้คนแสวงหา ทำงาน ดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดไปถึงเรื่องที่ว่าจะทำการพัฒนาต่างๆ ได้อย่างไร เมื่อมองจากทัศนะของพุทธศาสนาจะเห็นว่า แนวความคิดของจิตวิทยาตะวันตกนั้นมองอยู่ในวงจำกัด ไม่ทะลุตลอดสาย และขาดหลักการที่สัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันทุกด้านคือ จิตวิทยาแบบตะวันตกศึกษาเฉพาะเรื่องเป็นส่วนๆ อย่างๆ ไปเท่านั้น

คำตอบเรื่องนี้มีอยู่ในตัวตามความที่ได้กล่าวมาแล้ว และที่จะกล่าวต่อไปและควรเน้นว่าตัณหาเป็นแรงขับหรือเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำการต่างๆ ได้จริง แต่เป็นแรงขับในฝ่ายสร้างสมหรือก่อปัญหา และอย่าลืมว่าคนเรามีตัณหาอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มี ขณะนี้เรากำลังจะให้การศึกษาคือขัดเกลาฝึกฝนคนให้ประณีต หรือเดินไปถูกทาง ปัญญาและกรุณาที่สร้างขึ้นมาในกระบวนการนี้ สำหรับปุถุชนจึงเป็นเรื่องของพลังต่อสู้ หรือชักเบนไปสู่ทิศทางใหม่ ซึ่งอาจหมายถึงว่าพลังของตัณหาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ถูกคุมหรือขุดทางให้เดินใหม่

นอกจากนั้น คำว่าดับตัณหาในความหมายที่แท้จริง ก็ไม่ใช่หมายความว่ากด หรือข่ม หรือกักกด แต่หมายถึงการดับอวิชชาที่เป็นรากเง่า หรือต้นตอของตัณหานั้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ไม่ให้ตัณหาได้ช่อง หากจะมีความหมายเป็นการกดหรือข่มไว้บ้าง ก็หมายถึงการควบคุมประมวลรวบเข้าไว้ เพื่อให้พร้อมที่จะตัดได้ง่ายต่อไป การกดหรือข่มตัณหาไว้เฉยๆ อย่างที่มักเข้าใจกัน มีทางก่อให้เกิดอันตรายได้มาก

หากจะประมวลวิธีการกับตัณหา ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาแล้ว คงจะได้ดังนี้

๑. สนองตัณหานั้นในรูปแบบ และในอัตราที่จะไม่ก่อโทษนำความเดือดร้อนมาให้แก่ตนและผู้อื่น และตามที่จะยอมรับได้ โดยหมู่มนุษย์ตกลงวางกำหนดกันไว้ อีกทั้งไม่ทำให้ถลำลึกลงไป หรือด้านหนายิ่งขึ้น พร้อมนั้นก็ดำเนินการในขั้นอื่นไปด้วย เช่น เสวยกาม เสวยโภคะอย่างไม่สยบ ไม่หมกมุ่นมัวเมา มีปัญญารู้เท่าทัน เห็นข้อดีข้อเสีย และรู้จักทำจิตให้เป็นอิสระได้

๒. ถ้ายังไม่พร้อมที่จะทำ หรือ (ที่จริง) ยังไม่ทำในขั้นอื่นต่อไป ก็ขุดทางระบายให้ไหลไปในทางที่เป็นประโยชน์ คติการทำบุญที่เข้าใจกันอย่างสามัญ ก็จัดอยู่ในประเภทนี้

๓. ควบคุมให้อยู่ในขอบเขต โดยปิดโอกาสไม่ให้แสดงออกในทางที่จะเป็นโทษก่อความเดือดร้อนเป็นอันตราย และให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะ หรือเอื้ออำนวยแก่การทำความดี หรือสภาพที่ช่วยให้เป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติต่อไป ในขั้นสร้างเสริมปัญญาดับอวิชชาได้ดีขึ้น ขั้นนี้จะเห็นได้ในรูปของระเบียบวินัยต่างๆ และระบบการดำเนินชีวิตที่ทำให้เคยชินอยู่กับความดีงามและการทำสิ่งที่ดีงาม ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า ศีล

๔. สร้างพลังความเข้มแข็งมั่นคงของจิตใจ อันจัดอยู่ในขั้นสมาธิ คือ

ก. ความเข้มแข็งมั่นคงที่เป็นพลังปะทะต่อต้านยับยั้งหรือเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้ไหลหรือถลำลงไปในทางที่ชั่วหรือเสียหาย เช่น ขันติ ตปะ สติ เป็นต้น

ข. พลังที่ทำให้ตั้งมั่นอยู่แนบสนิทไว้ ก้าวหน้าต่อไป หรือแรงขับให้พุ่งไปในทางที่ดี ทางถูกหรือทางแห่งความเจริญ เช่น ศรัทธาในบุคคลตัวอย่าง ศรัทธาในหลักแห่งความดี ที่เรียกว่า อุดมคติ หรืออุดมการณ์ เป็นต้น ความกล้าหาญในการทำความดี ความฝักใฝ่ในหน้าที่ และกิจการที่จะให้สำเร็จความมุ่งหมาย ตามหลักอิทธิบาท เป็นต้น

๕. การเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เรียกอย่างสมัยใหม่ (ความจริงเก่ามาก) ว่า พัฒนาโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้อง รู้จักเกี่ยวข้องกับตนเองและสิ่งแวดล้อมด้วยท่าทีแห่งปัญญา เป็นการดับอวิชชา และปิดช่องแห่งตัณหา อยู่ในขั้นปัญญาที่แท้จริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา— การศึกษากับแรงจูงใจ >>

No Comments

Comments are closed.