- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
การศึกษากับแรงจูงใจ
ต่อจากการมองความหมายและตีค่าแล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามาสัมพันธ์และมีความสำคัญมากในทางการศึกษานี้ คือสิ่งที่เราเรียกว่าแรงจูงใจ แรงจูงใจนั้นเป็นสิ่งที่มีบทบาท เป็นตัวกำกับการแสดงของคนของชีวิตมนุษย์ เมื่อเราจะทำอะไรนั้น ตามปกติเรามีแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง ทีนี้แรงจูงใจนั้นมีความสัมพันธ์กับการมองความหมายและการตีค่าที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ การมองที่ตีค่าของสิ่งต่างๆ โดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหา จะนำไปสู่แรงจูงใจแบบหนึ่ง ซึ่งทางธรรมเรียกว่า กามฉันทะ ส่วนการมองความหมายและตีค่าโดยวิถีทางของปัญญาจะนำไปสู่แรงจูงใจอีกแบบหนึ่งเรียกว่า ธรรมฉันทะ ทั้งสองอย่างนี้เป็นอย่างไร
หันกลับมาสู่ชีวิตจริง ลองยกตัวอย่างมาดู เช่น ท่านจะมาเรียนหนังสือนี่ ท่านต้องมีแรงจูงใจ ท่านจึงมา ทีนี้ท่านจะมีแรงจูงอย่างไร มาพูดที่นี่ ท่านทั้งหลายเป็นครู อาตมาจะไม่ยกเป็นตัวอย่าง จะหันไปยกตัวอย่างข้างนอก เอาท่านที่ไม่เป็นครู ตัวอย่างที่ยกบ่อยๆ คือเรื่องแพทย์ มองเห็นง่ายดี
แรงจูงใจอะไรทำให้คนเรียนแพทย์ก็ตอบได้ว่า เพราะอยากเรียนแพทย์ อยากเรียนแพทย์เพราะอะไร เพราะอยากเป็นแพทย์ ตอบง่ายดี แต่ที่ว่าอยากเป็นแพทย์อันนี้แหละ มันมีความหมายและคุณค่าต่อบุคคล ไม่เหมือนกัน คำว่าอยากเป็นแพทย์ ส่องไปถึงความเป็นแพทย์อยู่ในใจ ซึ่งไม่เหมือนกัน
ความเป็นแพทย์มีความหมายและคุณค่าต่อเขาไม่เหมือนกัน มันต่างกันอย่างไร บุคคลหนึ่งอยากเป็นแพทย์ ความเป็นแพทย์ของเขาหมายถึงการที่ว่าจะได้รู้จักโรคภัยไข้เจ็บ จะได้รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย จะได้ทำให้คนมีสุขภาพพลานามัยดี นี่คือความหมายในแง่หนึ่ง การเป็นแพทย์คือ การได้ทำหน้าที่แพทย์
ทีนี้ความหมายที่การเป็นแพทย์คือการได้อาชีพที่ทำเงินได้ดี รวยไว นี่คือความหมายที่พ่วงอยู่ข้างหลัง เป็นแรงจูงใจของคนในสังคมปัจจุบัน ที่มันมีปัญหามาก ก็เพราะแรงจูงใจประเภทที่ ๒ ที่ว่านี้ ซึ่งเกิดจากการมองความหมาย และตีค่าแบบที่เราเรียกว่า อวิชชาตัณหานั้นเอง
แต่ถ้าว่าตามหลักความจริงตรงตามความหมายที่แท้แล้ว การเป็นแพทย์คืออะไรแน่ การเป็นแพทย์ที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติตรงตามความหมายของมันแท้ๆ ก็คือการทำหน้าที่แพทย์ กล่าวคืออย่างน้อยขั้นที่หนึ่งในทางด้านวิชาการ คือการรู้จักโรคภัยไข้เจ็บเป็นอย่างดี ขั้นที่สองคือการรู้จักรักษาคนไข้ให้หายเจ็บป่วย และทำคนให้มีสุขภาพพลานามัยดี
ที่ว่ามานี้แหละคือฉันทะหรือที่เรียกว่าแรงจูงใจสองประเภท ซึ่งเป็นตัวชักนำพฤติกรรมของคน มีผลต่อชีวิต การดำเนินชีวิต พฤติกรรมของเขาทั้งหมด
ถ้าเราเรียนแพทย์ด้วยการมองความหมายของการเป็นแพทย์ในแง่ว่า คือการที่จะได้เล่าเรียนรู้วิชาการแพทย์ การที่จะรู้จักโรคภัยไข้เจ็บ การที่จะได้ทำหน้าที่รักษาคนไข้ให้หายเจ็บป่วย การที่จะเป็นผู้สามารถช่วยทำสังคมไทยให้มีแต่ประชาชนที่มีสุขภาพดี อันนี้จะมีผลต่อพฤติกรรมตั้งแต่การศึกษาเล่าเรียนเป็นต้นไป คือเขาจะตั้งใจศึกษาเพื่อรู้ซึ้งในวิชานั้นให้มากที่สุด และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาจะพยายามทำหน้าที่คือการรักษาคนไข้ และจะพยายามมุ่งทำงาน เพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นจากการมีหน้าตาเศร้าสร้อย ซูบผอมเหี่ยวแห้งไปสู่การมีหน้าตายิ้มแย้มเบิกบานแจ่มใส เขาจะใส่ใจคิดอยู่เสมอว่าคนไข้คนนี้มีทุกข์มาแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เขามีหน้าตาผ่องใสได้เบิกบาน และจะทำอย่างไรให้เขามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นมา
นี่คือแรงจูงใจอันเกิดจากการมองความหมายและตีค่าแบบที่เราต้องการ แรงจูงใจประเภทนี้ คือฉันทะ ประเภทที่มีชื่อเรียกว่า ธรรมฉันทะ แปลว่าฉันทะในธรรม หรือแรงจูงใจที่ตรงตามธรรม แรงจูงใจตรงตามธรรมคือ ตรงตามความหมายที่แท้จริงของมัน ตรงตามเรื่อง ตรงตามหน้าที่ มันตรงตามที่ว่า การเป็นแพทย์คืออะไร คือการทำหน้าที่รักษาโรค การรู้จักรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หาย หรือการทำคนไข้ให้หายจากโรค นี้เป็นความหมายที่ตรง ซื่อสัตย์ เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ไม่มีผิดเลย และเป็นวิถีทางที่แก้ปัญหาได้ด้วย
ทีนี้ แรงจูงใจประเภทที่ ๒ คือการตีค่าในแบบของการมองหาทางที่จะสนองความต้องการ ปรนเปรอตนเอง ซึ่งจะออกมาในรูปที่ว่า การเป็นแพทย์คือการประกอบอาชีพที่ทำเงินได้ดี และจะรวยไว จากการมองความหมายในแง่นี้ ก็จะมีผลต่อการเล่าเรียนศึกษา เขาจะศึกษาพอให้เสร็จๆ ไป ไม่ต้องการเนื้อหาที่แท้จริง หรือเลือกจับเอาแต่ส่วนที่จะให้ผลดีในด้านการสอบการเลื่อนชั้น เขาจะนึกถึง คอยวันคอยคืนว่า วันไหนเราจะได้ปริญญา เราจะได้ใบสำคัญนั้น เราจะได้ใบประกอบโรคศิลป์ เราจะได้นำไปประกอบอาชีพและจะทำเงินให้เร็วไว เมื่อถึงเวลาไปทำการรักษาโรค เขาจะมองดูคนไข้ว่า คนนั้นรวยไหม แต่งตัวดี หรือแต่งตัวไม่ดี จะไม่มองดูหน้าตาว่า คนนี้มีโรคภัยอะไร มองแต่ว่าแต่งตัวดีไม่ดี มีฐานะเป็นอย่างไร นั่งอะไรมา คนนี้รักษาแล้วจะได้เงินสักเท่าไร เป็นต้น จากนี้ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ว่า เขาอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาคนไข้ประเภทหนึ่ง แล้วพยายามไปหาคนไข้อีกประเภทหนึ่ง เป็นต้น จากนั้นก็จะมีผลต่อสังคมเป็นทอดๆ ต่อไป
นี้คือปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการศึกษาเอง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบของการศึกษากล่าวได้ว่า การศึกษาที่ให้ในรูปนี้เป็นการศึกษาที่ผิด และระบบการศึกษาที่ผิดนี้ มันเริ่มจากจุดผิดพลาด คือตัวการศึกษาที่แท้จริงในตัวบุคคลแต่ละบุคคลนั่นเอง เริ่มจากจุดเริ่มต้นของความคิดนี้เอง นี้คือแรงจูงใจในการกระทำของมนุษย์ ที่กล่าวว่าเป็นเรื่องสัมพันธ์กับการศึกษา และมีความหมายเข้าไปเกี่ยวข้องกับรากฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว คือการมองความหมายและการตีค่าของสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางด้านวัตถุธรรมและทางด้านสังคม
No Comments
Comments are closed.