— การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 6 จาก 35 ตอนของ

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด

ทีนี้ก็ถึงแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ครูทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้ หรือแนะนำชี้ช่องทางให้ศิษย์สามารถไปดำเนินชีวิตที่ดี มีความรู้สึกนึกคิดที่ดี เราก็จะต้องมาเริ่มต้นกันตั้งแต่จุดพื้นฐานของการใช้ความคิดทีเดียว หมายความว่าเราจะมาเริ่มต้นการศึกษาที่จุดเริ่มต้นของความคิดภายในจิตใจของคนเรา และพระพุทธศาสนาก็ถือว่า การศึกษาที่แท้นั้น เริ่มจากจุดแรกของความคิด ถ้าเริ่มผิดแล้วการเดินสายความคิดก็ผิด แล้วก็จะทำให้พฤติกรรมต่างๆ ของคนที่แสดงออกในลำดับต่อมาผิดพลาดไปหมด แต่ถ้าเริ่มต้นความคิดหรือจุดเริ่มต้นของความคิดถูกต้องแล้ว ก็เป็นไปได้เต็มที่ที่ว่าเขาจะมีพฤติกรรมต่อไปในทางที่ถูกต้อง เป็นการศึกษาที่แท้จริง จุดเริ่มต้นของความคิดที่มุ่งประสงค์ในที่นี้คืออะไร ขอใช้คำเรียกไปพลางก่อนว่า การรู้จักมองความหมาย และตีค่าของสิ่งต่างๆ

มนุษย์นี้ย่อมจะเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เราพูดว่า เราดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตคืออะไร ก็หมายถึงการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเรา สิ่งแวดล้อมตัวเรานั้นอาจแบ่งออกคร่าวๆ เป็น ๒ พวกด้วยกัน

พวกที่ ๑ คือสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม สิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรมนั้นอาจเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติบ้าง เป็นสิ่งแวดล้อมในด้านวัตถุอุปกรณ์ เช่น พวกเทคโนโลยีต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการที่จะดำเนินชีวิตอย่างสะดวกสบายเป็นต้นบ้าง และ

พวก ๒ คือสิ่งแวดล้อมในทางสังคม หรือถ้าจะให้ถูกต้องตามความหมายของพระพุทธศาสนามากขึ้น อาจใช้ว่า สิ่งแวดล้อมทางด้านชีวิตสัมพันธ์ ซึ่งกินความกว้างขวางและลึกซึ้งกว่า แต่ในที่นี้จะใช้ว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคมไปก่อน เพราะใช้กันมาเคยชิน และถึงอย่างไรสิ่งแวดล้อมด้านนี้ ก็มุ่งที่มนุษย์ก่อนอื่นและมากที่สุด

เมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตก็จะเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ๒ ประเภทนี้ การที่มนุษย์เข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ ก็เข้าไปเกี่ยวข้องโดยเริ่มต้นตั้งแต่ความคิด คือการที่จะมองความหมายของสิ่งต่างๆ ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องและเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นอย่างไร จากจุดแรกของการมองความหมายและการตีค่าเหล่านี้ ก็จะปรากฏออกมาเป็นรูปของความคิด ความคิดที่เดินเป็นสายไปตามแนวของความหมายและคุณค่าที่เห็นนั้น จากความคิดก็มาเป็นการกระทำ เป็นพฤติกรรมต่างๆ

ในทางพุทธศาสนาถือว่า จุดเริ่มต้นความคิดคือการมองความหมายและตีค่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะระมัดระวัง เพราะเป็นจุดสำคัญของการศึกษา ความคิดในชั้นนี้เราใช้ศัพท์ว่า มนสิการ แปลว่า การทำในใจ หมายถึงการที่จะมองความหมายของสิ่งต่างๆ และตีค่าของสิ่งเหล่านั้นอย่างไร หน้าที่ของครูในแง่นี้ ก็คือการช่วยชี้ช่อง ชี้แนะ หรือชี้นำให้แก่มนสิการของศิษย์ โดยที่ว่าจะกระตุ้นให้ศิษย์เกิดความคิดอย่างไร มองความหมายและตีค่าในแนวทางใด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์— การคิดอย่างเสรี >>

No Comments

Comments are closed.