— จากความไม่ยอมรู้ คณะสงฆ์กับพระเณรไปคนละทาง คุมกันไม่ได้ เกิดปัญหาหลากหลาย จุดหมายเพื่อพระศาสนาก็เสีย

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 8 จาก 20 ตอนของ

จากความไม่ยอมรู้ คณะสงฆ์กับพระเณรไปคนละทาง คุมกันไม่ได้
เกิดปัญหาหลากหลาย จุดหมายเพื่อพระศาสนาก็เสีย

การพรางตาตนเองของคณะสงฆ์ ของรัฐ และของสังคม ด้วยการไม่รับรู้ความจริงและการสร้างมโนภาพขึ้นไว้อ้างนั้น เป็นที่มาของปัญหาสังคมที่กว้างไกล ชนิดไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ นำไปสู่การกระทำที่ผิวเผิน เช่น การด่าว่าโจมตีกัน การเรียกร้องอย่างรุนแรง และการแก้ปัญหาแบบขอไปที

ตัวอย่างปัญหาที่ได้เกิดขึ้นแล้วในกรณีนี้ ก็คือ เมื่อคณะสงฆ์จัดวางและดำเนินการศึกษาเพื่อสนองความต้องการที่สอดคล้องกับมโนภาพของตนท่ามกลางสภาพเก่า โดยไม่ได้จัดการแก้ไขระบบประเพณีที่นำมาสู่สภาพเก่านั้น ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น ภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการศึกษาที่คณะสงฆ์จัดให้ จึงดิ้นรนหาช่องทางศึกษาเล่าเรียนเพื่อสนองความต้องการของตนเอง

ในกรณีนี้ ถ้าคณะสงฆ์สามารถควบคุมไม่ให้พระเณรไปเล่าเรียนสิ่งที่คณะสงฆ์ไม่ต้องการได้จริง ก็แล้วไป (ความจริงเมื่อสภาพพื้นฐานขัดกันอย่างนี้ จะคุมอย่างไรก็ไม่มีทางให้เรียบร้อยเป็นผลดีได้) แต่ปรากฏว่าควบคุมไม่ได้ ผลเสียจึงเกิดขึ้นหลายประการ เช่น

๑. ระบบการศึกษาที่คณะสงฆ์ต้องการและจัดไว้ ก็ไม่ได้ผลดีตามความมุ่งหมาย เพราะผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ตกอยู่ในสภาพสักว่าเรียน หรือจำใจเรียนเพราะถูกบังคับ

๒. ระบบการศึกษาอื่นที่คณะสงฆ์ไม่ต้องการ แต่พระเณรต้องการ และคณะสงฆ์สกัดกั้นไม่ได้นั้น ก็คงอยู่เป็นหนามยอกตัวเรื่อยไป และตัดโอกาสของคณะสงฆ์เองในการที่จะนำเอาระบบการศึกษาอย่างนั้นมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์สนองความมุ่งหมายที่ตนต้องการ

๓. เป็นผลเสียทางการปกครอง คุมยาก คุมไม่ได้ ระส่ำระสายไปหมด

๔. เมื่อเสียการปกครอง พระเณรประพฤติเสียหาย ถูกสังคมเพ่งเล็ง ผลก็สะท้อนกลับมาเป็นอันตรายแก่สถาบันสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมานานัปการ เช่น ระบบการศึกษาใหญ่น้อยต่างแบบต่างประเภทได้เกิดขึ้นในสถาบันสงฆ์มากมายระเกะระกะ โดยไม่ต่อเนื่องประสานกลมกลืนกันเลย บางระบบเป็นที่เชิดชูต้องการของผู้บริหาร แต่ผู้รับไม่ต้องการ บางระบบผู้รับต้องการ แต่ผู้บริหารไม่ต้องการ บางระบบคณะสงฆ์ยอมรับ บางระบบมีอยู่ทั้งที่คณะสงฆ์ไม่ยอมรับ บางระบบยอมรับครึ่งๆ กลางๆ นำมาซึ่งความสับสนวุ่นวายใจ และเสียความมั่นคงทางจิตแก่ผู้เข้าสู่สถาบันสงฆ์เป็นอย่างมาก

ยิ่งกว่านั้น ต่อไปข้างหน้าในระยะยาว ถ้าหากผู้ที่คณะสงฆ์รับเข้ามาแล้ว ถูกบีบคั้นให้ไปเรียนนอกระบบที่คณะสงฆ์ต้องการ มีพื้นความรู้ธรรมวินัยน้อย แต่มีความรู้สำหรับเป็นสื่อถ่ายทอดแก่คนปัจจุบันได้มาก พากันแสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย ส่วนผู้เรียนในระบบของคณะสงฆ์ ซึ่งคณะสงฆ์ภูมิใจว่ามีความรู้ธรรมวินัยลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถพูดกับใครเข้าใจ ได้แต่นั่งนอนสืบต่อพระศาสนานิ่งๆ อยู่ในกุฎี หรือออกไปเป็นนักการรับใช้ในอาณัติของปัญญาชนรุ่นใหม่

เมื่อศาสนธรรมถูกแสดงคลาดเคลื่อนออกไปแล้ว คณะสงฆ์ก็คงภูมิใจว่าได้รักษาระบบการศึกษาดั้งเดิมไว้เรียบร้อยเป็นอันดี ด้วยความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ยิ่ง ได้ทำหน้าที่ผลิตศาสนทายาทอย่างได้ผล สามารถปัดความรับผิดชอบในการทำลายศาสนาออกไปจากตนได้ และเสวยผลทั้งนั้นด้วยความชื่นชม

สิ่งที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่มักมองข้ามกันไปก็คือ ระบบการศึกษาสุดสงวนของคณะสงฆ์ที่ได้พยายามรักษาไว้อย่างมั่นคงที่สุด โดยถือ (ตามความเข้าใจของคณะสงฆ์เอง) ว่าเป็นระบบที่สนองความต้องการทางศาสนา เป็นเครื่องสืบต่ออายุพระศาสนาอย่างแท้จริง1 เป็นระบบที่สมบูรณ์ ประดุจว่าผู้รับการศึกษาไปแล้วจะไม่สึกนั้น เมื่อดำเนินไปก็ไม่สามารถล้มล้างสภาพความจริงที่มีอยู่ได้ ความจริงที่ปรากฏก็คงอยู่อย่างเดิมว่า ผู้เรียนส่วนมากสึก ผลเสียจึงเกิดขึ้นอีกหลายประการ โดยเฉพาะความสูญเปล่าในแง่ต่างๆ เช่น

๑. ความสูญเปล่าแก่พระศาสนา

– ด้วยเหตุที่ผู้เรียนส่วนมากสึก (อย่างที่กล่าวแล้วว่าราวร้อยละ ๙๕) ความรู้ที่พระเณรส่วนมากได้เรียนไว้ จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการสืบต่ออายุพระศาสนา ตามความมุ่งหมายแต่อย่างใด เป็นความสูญเปล่าแก่พระศาสนาอย่างแทบจะสิ้นเชิง

– แต่ความสูญเปล่าในแง่นี้ มีส่วนชดเชยขึ้นมาได้ ในกรณีที่ผู้จะสึกจำนวนไม่น้อย ทำงานให้แก่สถาบันสงฆ์อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะออกไปทำงานในสังคมคฤหัสถ์ และในกรณีที่ถ้าหากผู้ที่สึกไปแล้วอยู่ในฐานะ และมีโอกาสประกอบกิจการงานที่ได้ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับมาช่วยสืบต่ออายุพระศาสนาได้ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ในสภาพปัจจุบัน ผลที่หวังในแง่หลังนั้น แทบจะไม่มีเลย เพราะผู้ลาสิกขาไปแล้วส่วนใหญ่ไม่มีฐานะที่เหมาะสมในสังคม ไม่มีโอกาสใช้ความรู้ทางศาสนาของตนให้เป็นประโยชน์ (เช่นรู้บาลีมากมาย ได้ไปเป็นบุรุษไปรษณีย์ ใช้ความรู้ที่เรียนมาแค่อ่านซองจดหมาย) ความรู้ที่ได้เล่าเรียนไปจึงหายไปกับตัว ไม่ได้ย้อนกลับมาเกื้อกูลหรือช่วยรักษาตัวศาสนาและสถาบันสงฆ์เลย เป็นความสูญเปล่าแทบจะสิ้นเชิง

(ข้ออ้างเพียงว่า ความรู้นั้นก็ยังช่วยให้ผู้สึกไปแล้วเป็นคนดีมีศีลธรรม ถ้ามองในแง่ที่สัมพันธ์กับปัญหานี้แล้ว เป็นข้อแก้ตัวที่อ่อนที่สุด ความจริงกลับเป็นข้อ สนับสนุนเหตุผลในแง่ความสูญเปล่านี้อีกด้วยซ้ำ เพราะการปล่อยให้คนดีมีศีลธรรมไปตกต่ำอยู่ ก็คือการสูญเสียประโยชน์ที่สังคมและศาสนาจะพึงได้อย่างมากมาย ถ้าหากคนมีศีลธรรมนั้นอยู่ในฐานะที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น)

สถาบันสงฆ์ก็ไม่ได้ สังคมไทยก็อด

– แม้ในกรณีที่ไม่สึก หรือยังไม่สึก ก็ยังมีความสูญเปล่ามาก ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์แก่พระศาสนาอย่างคุ้มควร เพราะมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่จะใช้ความรู้นั้น

ประการแรก ในแง่การใช้ประโยชน์ภายในสถาบันสงฆ์เอง ผู้เรียนไปแล้วจำนวนมากต้องเก็บตัวอยู่เฉยๆ ไม่มีโอกาสใช้ความรู้นั้นเลย หรือไม่ก็ใช้เวลาให้หมดไปด้วยกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้นั้น อีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสใช้โดยการถ่ายทอดความรู้ออกสอนพระเณรรุ่นต่อจากตน ก็หาผู้เรียนยากเข้าโดยลำดับ เพราะต้องถ่ายทอดอยู่ในระบบที่หมดแรงจูงใจเสียแล้ว และแม้ผู้ที่เรียนจำนวนมาก ก็เรียนเพียงพอให้เป็นทางผ่าน ไม่สู้มีความใฝ่รู้อย่างแท้จริง

ประการที่สอง ในแง่การใช้ประโยชน์เพื่อสังคมภายนอก ขอบเขตที่จะใช้ก็จำกัดอยู่กับสังคมแบบเดิม ซึ่งกำลังแคบเข้าทุกที และหมดไปโดยลำดับ ส่วนในสังคมแบบใหม่ แทบไม่มีโอกาสใช้เลย เพราะไม่มีความรู้อื่นเป็นสื่อหรือเป็นสะพานสำหรับถ่ายทอดด้วย และเพราะเขาไม่ยอมรับคุณค่าด้วย

ในกรณีนี้ ในที่สุดความหมายของการบวชเรียนสืบต่อศาสนาก็คงเหลืออยู่เพียงแค่ว่า เรียนไปแล้ว ไม่ต้องใช้ อยู่เฉยๆ ก็ได้ (ดูเหมือนว่าขณะนี้ก็เข้าใจอย่างนี้กันแล้วไม่น้อย)

ถ้าเข้าใจถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันลงตัวเรียบร้อย คือ เข้ากันได้ดีกับความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งที่มีรออยู่แล้ว ได้แก่ การสร้างคัมภีร์สืบต่ออายุพระศาสนา โดยเก็บไว้เฉยๆ ในตู้ ไม่ต้องมีคนรู้ ไม่ต้องมีคนใช้ เป็นอันได้สองตู้ เป็นตู้ไม้ กับตู้คน ตั้งไว้รอให้เขามาเก็บเอาไปจัดการ

๒. ความสูญเปล่าแก่รัฐ และสังคม

– ความสูญเปล่าแก่สังคมที่เป็นไปเองในตัว จากความสูญเปล่าแก่พระศาสนาตามที่กล่าวแล้วก็ดี จากความสูญเปล่าแก่ตัวบุคคลที่จะกล่าวต่อไปก็ดี จะไม่พูดถึงในที่นี้อีก นอกจากที่มีแง่อันควรกล่าวถึงเพิ่มเติม

ความสูญเปล่าแก่สังคมอย่างสำคัญที่ควรพูดถึงในที่นี้ คือ การที่สถาบันสงฆ์มีคุณค่าในการช่วยให้ความเสมอภาคในการศึกษา แต่คุณค่านี้ไม่เป็นไปเท่าที่ควร เพราะมูลเหตุคือ การไม่รับรู้ และการทำการที่ขัดต่อสภาพความจริงดังที่กล่าวแล้ว

ลูกชาวนาชาวชนบทที่เข้ามาเรียนในสถาบันสงฆ์ปัจจุบัน แม้จะศึกษาเล่าเรียนด้วยตั้งใจจริง มีสติปัญญาดี สูญเสียเวลาในการศึกษาไปยาวนาน และสำเร็จการศึกษาขั้นที่จัดว่าสูงในระบบของสถาบันสงฆ์ แต่เมื่อถึงเวลาระยะใดระยะหนึ่ง ที่อยู่ครองเพศต่อไปไม่ได้ ลาสิกขาออกไป มักต้องตกไปอยู่ในฐานะที่ด้อย และไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ เช่น เป็นบุรุษไปรษณีย์ ใช้ความรู้แค่อ่านซองจดหมาย ก็นับว่าเป็นความสูญเปล่าอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อนำมาสัมพันธ์กับความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็จะยิ่งเห็นความสูญเปล่าและสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมาย

ปัจจุบัน วงการศึกษาบางส่วนของรัฐ เห็นความต้องการของรัฐ ในด้านความรู้ภาษาบาลีและศาสนา และเห็นความสำคัญของวิชานี้ จึงจัดหลักสูตรวิชานี้ขึ้น ให้มีการศึกษาในขั้นสูง เพื่อผลิตผู้รู้ภาษาบาลีและวิชาศาสนา

ในเวลาเดียวกัน ผู้มีความรู้ภาษาบาลีและศาสนาขั้นต่างๆ จำนวนมากมาย ที่ออกไปจากสถาบันสงฆ์ ไปตกอยู่ในสภาพที่ปล่อยความรู้ภาษาบาลีและศาสนาสูญเปล่าไป ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย

อย่าว่าแต่จะได้ใช้ความรู้ภาษาบาลีนั้นทำการอะไรเลย แม้แต่เพียงจะใช้เป็นพื้นฐานในการมาเทียบเคียงขอเข้าไป แสวงความรู้เพิ่มเติมในระบบที่จัดขึ้นใหม่นั้น ก็ไม่มีระดับที่จะวัดได้ เป็นอันต้องถือว่า ไม่มีพื้นความรู้ที่จะเข้าศึกษา

สภาพนี้ ถ้ามองจากสังคมอื่นเข้ามา ก็เป็นสิ่งแปลกประหลาดอัศจรรย์จนน่าขันอย่างหนึ่ง

คนมีความรู้ภาษาบาลี รู้ศาสนา ในสังคมไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากมาย เป็นคนไม่มีประโยชน์ ใช้การอะไรไม่ได้ เหมือนของที่ผลิตขึ้นมาผิดขนาด ผลิตขึ้นมาแล้ว อะไรดีหมด ก็ใช้ไม่ได้ หรือเหมือนผลิตขวดขึ้นมาแล้วจำนวนมาก แต่เป็นขวดที่ปิดตัน ลืมทำปาก ต้องทิ้งเสียไปทั้งหมด รัฐต้องการผู้รู้ภาษาบาลี รู้วิชาศาสนา ต้องลงทุนมากมายผลิตเอาใหม่

ซ้ำร้ายในกรณีนี้ ของที่มีอยู่แล้วแต่ใช้ไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ทิ้ง คงปล่อยให้เกะกะอยู่อย่างนั้น ยิ่งกว่านั้น ยังปล่อยให้ผลิต ระบายออกมาอีกเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งๆ ที่ใช้การไม่ได้ และรู้อยู่แล้วว่าจะไม่เอาไปใช้

๓. ความสูญเปล่าแก่ตัวบุคคล

– บุคคลจำนวนมากมาย ซึ่งไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาด้วย และถึงอย่างไรก็จะต้องเวียนกลับไปอยู่ในสังคมคฤหัสถ์ตามเดิมอยู่ดี ถูกปล่อยให้เข้ามาอยู่ในสถาบันสงฆ์ และถูกปล่อยให้เสียเวลายาวนานศึกษาสิ่งที่เมื่อเขากลับไปอยู่ในสังคมคฤหัสถ์แล้ว จะไม่ช่วยชีวิตเขาให้มีฐานะและโอกาส อันคุ้มกันกับเวลาและแรงงานที่เขาได้สูญเสียไป ในเมื่อเทียบเคียงกับคนพวกอื่นในสังคม ที่ได้ใช้เวลาและแรงงานหมดไปในอัตราเดียวกัน

– นอกจากเวลาที่นับว่าสูญเสียไปในเมื่อเทียบกับระบบภายนอกแล้ว ภายในระบบของสถาบันสงฆ์เอง ยังมีระบบถ่วงเวลาหรือทำให้สิ้นเปลืองเวลาซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่งด้วยเป็นซ้ำสอง กล่าวคือ การแบ่งชั้นเรียนโดยสัมพันธ์กับการวัดผลในระบบการศึกษาของสถาบันสงฆ์ อยู่ในสภาพที่ทำให้ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นระบบที่ยาก คือ สอบได้ยากอย่างยิ่ง จำนวนผู้สอบได้มีเพียงร้อยละประมาณ ๕-๓๕ ของจำนวนผู้เข้าสอบ ผู้เรียนส่วนมากจะต้องตกซ้ำอยู่ในชั้นหนึ่งๆ เป็นเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง เกินกว่านั้นบ้าง ที่ผ่านไปหนึ่งชั้นต่อหนึ่งปีนั้น หาได้ยากนัก

ในเมื่อสภาพความจริงเป็นอยู่เช่นนี้ แทนที่จะยอมรับ แล้วขยายจำนวนชั้นเรียนออกไป ให้ชั้นหนึ่งๆ พอดีกับเนื้อหาวิชาที่จะเรียนได้ในปีหนึ่งๆ อันจะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้เรียนโดยเฉลี่ยจะเรียนได้สะดวกขึ้น ไม่หนักเกินไป สามารถสอบได้และก้าวหน้าไปในการศึกษาตามลำดับปี แทนที่จะทำอย่างนั้น ก็กลับยึดมั่นรักษาระบบไว้ให้แน่นอนตายตัว อย่างที่จะเปลี่ยนมิได้

สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดผลเสียหลายประการ เช่น ผู้ที่ตกซ้ำซากในชั้นเดิม เกิดความเบื่อหน่าย ไม่ใส่ใจวิชาที่เรียนในชั้นที่ซ้ำนั้นอีก และชั้นที่สูงขึ้นไป ตนก็ยังไม่ถึงโอกาสที่จะเรียน เป็นอันเสียทั้งสองด้าน ในระหว่างนี้ ก็กลายเป็นการปล่อยเวลาให้ว่างเปล่าไป ครั้นชินเข้า ก็มักจะติดเป็นนิสัย ทำให้กลายเป็นคนเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้นไปอีก แล้วก็วนกลับมาทำให้ตกซ้ำอีก

ที่ร้ายกว่านั้น เมื่อมีเวลาว่างเข้าเช่นนี้ และไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็เลยเป็นช่องทางให้หันเข้าหาความประพฤติที่เสียหาย หรือไม่เหมาะสมเพิ่มเข้าอีก

นอกจากนี้ยังทำให้เสียประโยชน์ในช่วงท้ายอีกด้วย คือ แทนที่จะเร่งให้ผู้ศึกษาได้เล่าเรียนให้เสร็จๆ ไปเสีย ผู้ที่อยู่สืบศาสนาได้ ก็จะได้หันไปทำงานทำการหรือตั้งหน้าปฏิบัติธรรมจริงจังต่อไป หรือผู้ใดที่สมควรสึก ก็จะได้สึกๆ ไปเสีย ก็กลับมาสร้างเครื่องกักกั้นไว้ ทำให้พะวักพะวน จะไปทางไหนก็ไม่ไป ทำอะไรก็เอาเป็นแน่นอนจริงจังไม่ได้ เป็นผลเสียทั้งแก่ประโยชน์ที่ศาสนาจะพึงได้ และการดำเนินชีวิตของบุคคล

(ในกรณีนี้ ประโยชน์ที่ได้จากการถ่วงเวลาให้พระเณรบวชอยู่ไปได้นานขึ้น เป็นประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มเสีย เสียแล้ว เพราะประโยชน์อย่างนั้นมีอยู่ในสมัยที่พระส่วนใหญ่พอได้เรียนมีความรู้ขึ้นบ้าง ก็เป็นทั้งผู้เรียน ทั้งผู้ทำงานควบกันไป แต่ในสภาพปัจจุบัน ขอบเขตงานที่พระเปรียญนักธรรมจะมีโอกาสทำ ได้แคบเข้า จนแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว ผู้ที่จะทำงาน เช่นสอนไปด้วยระหว่างเรียน เหมือนอย่างแต่ก่อน ก็เหลืออยู่แต่ในบ้านนอก ซึ่งการศึกษาบาลีก็เสื่อมลงโดยลำดับอยู่แล้ว ส่วนในกรุงมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่กลายเป็นเพียงผู้อยู่ว่างๆ เปล่าๆ หรือหาเรียนอะไรอย่างอื่นไปเสีย คณะสงฆ์และแต่ละวัดไม่มีงานให้ทำ ทั้งนี้เพราะคณะสงฆ์และวัดเอง ก็กำลังกลายเป็นผู้ว่างงานอยู่แล้ว จะหางานที่ไหนมาให้สมาชิกของตนได้)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ชาวบ้านนอก กับปัญญาชนไทย ใครกันแน่ที่หลงงมงาย— โดยความรับผิดชอบ เมื่อติเตียนพระเณร ก็อย่าลืมติเตียนตนเองด้วย >>

เชิงอรรถ

  1. ดูเหมือนจะยึดถืออย่างแน่นหนา ถึงขนาดที่ว่า ระบบนี้เท่านั้นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปริยัติธรรม รวมความเป็นปริยัติธรรมเข้าไว้ในตัวหมดสิ้น จนหาความเป็นปริยัติธรรมอีกไม่ได้ภายนอกระบบนี้

No Comments

Comments are closed.