- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
อาตมภาพจะลองพูดถึงว่า เท่าที่ผ่านมานั้น การศึกษาในประเทศไทยของเราทำให้เกิดความรู้สึกกันว่า ล้มเหลวหรือไม่ได้ผลอย่างไร ข้อสรุปต่อไปนี้ อาตมภาพถือว่าไม่ใช่เป็นผู้กล่าวเอง แต่เป็นการได้ยินได้ฟังมา แล้วมาเล่าให้ฟังว่าการศึกษาในประเทศเราที่ว่าไม่ได้ผลหรือล้มเหลวนั้น มันมีข้อผิดพลาดประการใด ทำไมเราจึงจะต้องมาพัฒนาการศึกษากันด้วย ได้มีกล่าวกันไว้มากต่างๆ กัน อาตมาจะนำมากล่าวเป็นบางแง่บางเรื่องเท่านั้น เช่น มีกล่าวว่า
ระบบการศึกษาของเมืองไทยเท่าที่ผ่านมานั้นได้เกิดผลผิดพลาด คือ ทำให้ผู้ได้รับการศึกษาแล้วมุ่งกันแต่จะแข่งขันกันในการแสวงหาฐานะ หมายความว่ามุ่งที่จะใช้การศึกษาเป็นทางไต่ไปสู่ฐานะอันสูงส่ง และจากการที่พยายามจะแข่งขันกันเพื่อไต่ไปสู่ฐานะ ก็ทำให้เกิดค่านิยมในทางที่เห็นแก่ตัว ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือไปแสวงหาฐานะในทางสังคม และการแสวงหาฐานะในทางสังคมนั้น ก็หมายถึงการหาโอกาสที่จะแสวงความสุข บำเรอตนหรือเอารัดเอาเปรียบกันให้มากขึ้น สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดความผิดพลาดและปัญหาสังคมขึ้นต่างๆ นานา หมายความว่าปัญหาสังคมนั่นก็เป็นผลสะท้อนจากการศึกษานี้ด้วย โดยเฉพาะการที่ทำให้คนพยายามแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน อันนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ ๑ จะว่าเป็นข้อกล่าวหาหรือไม่เป็นข้อกล่าวหา เป็นความจริง ก็แล้วแต่
ประการต่อไป ในแง่จริยธรรมก็มีผู้พูดว่า การศึกษาในปัจจุบันนี้ไม่ประสบความสำเร็จในแง่จริยธรรม จริยธรรมเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างหนึ่งในการให้การศึกษา เราเรียกว่าจริยศึกษา แล้วท่องจำมาสอบเป็นต้น ไม่ได้ผลในทางความประพฤติปฏิบัติ แล้วผลอันนี้ก็ปรากฏในรูปของความวิปริตผันแปรเป็นไปต่างๆ แห่งความประพฤติของเด็กและเยาวชนทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในระดับนักเรียน ตลอดถึงนิสิตนักศึกษาด้วย ซึ่งแสดงถึงผลสะท้อนของการไม่มีหลักเกณฑ์ในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่น อันเป็นเรื่องของจริยธรรมนั่นเอง อันนี้ก็เป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง
ทีนี้ผลร้ายข้อต่อไปก็เกี่ยวกันกับข้อที่ได้กล่าวแล้วนั่นเอง คือว่า การให้การศึกษาเท่าที่ผ่านมานั้นมุ่งแต่ด้านวิชาชีพเกินไป จนกระทั่งไม่สอนกันหรือไม่ได้กระตุ้นเตือนกันในการที่จะใช้ความคิด หรือมุ่งแต่ด้านอาชีพ แล้วก็ทำให้คนนั้นมีความรู้สึกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น แล้วมีความรู้ความคิดไม่กว้างขวางไม่เอาใจใส่ต่อสภาพความเป็นไปในสังคม ปรากฏผลออกมาในรูปของการไม่รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมและการดำเนินชีวิตแบบเอาตัวรอด นี้ก็เป็นภาพสะท้อนของความผิดพลาดอีกอย่างหนึ่ง
ประการต่อไปบอกว่า การศึกษาเท่าที่ทำมาไม่ได้ช่วยให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไป แม้แต่ในทางธรรมชาติด้วย ไม่ใช่แต่ในด้านสังคมเมื่อกี้นี้ที่เกี่ยวกับจริยธรรมเป็นเรื่องของความรับผิดชอบในทางสังคม แต่อีกด้านหนึ่งก็คือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เท่าที่ผ่านมา การศึกษาก็ไม่ได้ช่วยให้คนเห็นคุณค่าและรู้จักสงวนสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น แล้วก็สะท้อนกลับมาเป็นภัยแก่มนุษย์เอง จนกระทั่งบัดนี้เรามีความตระหนกตกใจและมีความเกรงกลัวกันมากว่า การที่เราช่วยกันทำลายธรรมชาตินี้ จะมีผลกลับกลายมา เป็นการทำลายล้างมนุษย์เองในกาลมิช้านี้ นี่ก็เป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง
ประการต่อไป ก็คือการศึกษานั้นต้องการพลศึกษา สุขภาพอนามัยด้วย แต่เท่าที่เป็นมาปรากฏว่าเกิดภาวะที่ไม่สมดุลย์ขึ้น ไม่ได้ผลเท่าที่ควรทั้งในด้านสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจ ในด้านสุขภาพทางกายก็ปรากฏว่า ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะที่อยู่ในถิ่นที่ห่างไกลนั้น ไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่ และการศึกษาเท่าที่ให้ไปขั้นมูลฐาน ก็ไม่ช่วยให้เขาออกไปแล้วสามารถธำรงรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่สุขภาพทางกาย เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องสุขภาพทางกายจึงแพร่หลายอยู่ในประเทศของเราในปัจจุบันนี้ อีกด้านหนึ่ง ในสังคมที่เจริญขึ้นไป แม้ว่าจะมีสุขภาพทางกายดีขึ้น แต่มีส่วนบกพร่องในสุขภาพอีกด้านหนึ่ง นั่นคือสุขภาพทางกายหรือทางวัตถุแล้ว สุขภาพทางจิตกลับเสื่อมโทรมลง แทนที่จะมีความสุขกันมากขึ้นกลับมีความทุกข์มากขึ้น แล้วคนที่เป็นโรคทางจิตก็มีสถิติสูงขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นแล้ว
ผลร้ายอีกอย่างหนึ่งก็คือ การศึกษาในปัจจุบันนี้ไม่สนองความต้องการของท้องถิ่นหรือชุมชนหรือสังคมในแต่ละหน่วยย่อย เท่าที่การศึกษานั้นควรจะให้ เช่น คนที่ได้รับการศึกษาไปแล้ว ไม่สามารถใช้การศึกษานั้นช่วยท้องถิ่นหรือชุมชนของตน ไม่สามารถเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาความเป็นอยู่ในชุมชนนั้นได้ เพราะวิชาการที่เรียนไปนั้นเป็นวิชาการที่ห่างไกลตัว และเรียนชนิดที่ไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนของตัวเองไม่ได้รับการเอาใจใส่ และมีแต่วิชาการที่หยิบให้เป็นก้อนไป เอาไปใช้ไม่ได้ พอสำเร็จการศึกษาขั้นต้นไปแล้วสมมติว่าไปอยู่บ้านก็ไปช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ไม่ได้ ทำให้วิชาการที่เรียนไปเป็นหมัน เป็นเพียงวิชาหนังสืออยู่เฉยๆ เมื่อเรียนเสร็จแล้วเด็กไม่ได้ใช้อีกไม่กี่ปีก็ลืมหนังสือหมด อย่างนี้เป็นต้น เป็นอันว่าความรู้หรือการศึกษาที่เรียนไปนั้นไม่เป็นประโยชน์ ในการที่จะสนองความต้องการของท้องถิ่น ของชุมชน หรือสังคมของตน
ประการต่อไปก็เป็นเรื่องสำคัญมากเหมือนกัน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน เป็นข้อปรารภในหมู่ผู้บริหารการศึกษาทั้งหลาย คือเรื่องของปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษา ปรากฏว่าการดำเนินการศึกษาของเราเท่าที่ทำมาได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า การศึกษาโดยเฉพาะในระบบประชาธิปไตยนี้ เราจะต้องพยายามให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการที่จะได้รับการศึกษาแก่ประชาชน เราเริ่มต้นมีการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ หรือต่อมาเป็นการศึกษาสำหรับมวลชนอะไรทำนองนี้ มีความมุ่งหมายที่จะขยายการศึกษาให้ทั่วถึงให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับต่างๆ โดยไม่ขีดขั้น โดยฐานะทางเศรษฐกิจหรือโดยทางภูมิศาสตร์ พยายามให้พลเมืองได้เข้าถึงการศึกษาในระดับต่างๆ อย่างเสมอภาคกัน
แต่เท่าที่ดำเนินมาปรากฏว่าเราไม่บรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายนี้ ยิ่งเราดำเนินการศึกษาไป ก็ปรากฏว่าเรายิ่งห่างไกลจากเป้าหมายทางการศึกษานี้ออกไปทุกที ปัจจุบันนี้ยอมรับกันว่าการศึกษาของรัฐโดยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาของชนที่มีโอกาสเหนือกว่าในสังคม ทั้งนี้เป็นเรื่องของการได้เปรียบทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และทางภูมิศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่าบุคคลที่อยู่ในถิ่นเจริญมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงกว่า ยิ่งมีเศรษฐกิจดีด้วยก็ยิ่งมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้นจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่อยู่ต่างจังหวัดก็ยิ่งเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์ และยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็อาจไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเลยก็ได้ อย่างดีก็ได้รับการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาตอนต้น ยิ่งอยู่ในชนบทห่างไกล ยิ่งต้องการการศึกษาสูงขึ้นไปเท่าไร ก็ยิ่งต้องมีฐานะเศรษฐกิจสูงมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในสถิติการศึกษาชั้นสูงระดับมหาวิทยาลัยจะปรากฏให้เห็นสภาพเช่นนี้ชัดเจน เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปรากฏว่าสถิติการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาสำหรับชนที่อยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ นักศึกษาประมาณ ๗๐% อยู่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคนั้นมีน้อยเหลือเกิน
ทีนี้ว่ากันในทางเศรษฐกิจในด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ปรากฏว่าผู้ที่เป็นบุตรของข้าราชการหรือพ่อค้าได้รับการศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัยถึง ๗๕% ส่วนลูกของกสิกรมีโอกาสเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพียง ๖% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ว่าเมืองไทยของเรานี้ส่วนใหญ่เป็นชาวนาหรือกสิกรถึง ๗๕-๘๐% อันนี้ก็เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ต่างๆ ทางด้านการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลวในการให้การศึกษาในสังคมไทย
ปัญหาต่างๆ เท่าที่กล่าวมานี้ ถือเป็นเพียงตัวอย่าง เป็นข้อสำคัญๆ อาจจะยังมีอีก แต่ไม่จำเป็นจะต้องสาธยายไปให้หมดทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้ก็รวมได้เป็น ๒ แง่ด้วยกันคือ
๑. ปัญหาทางด้านเนื้อหาหรือสาระของการศึกษา เช่นที่ให้การศึกษาไปนั้น ไม่ได้ผลทางจริยธรรมอะไรอย่างนี้ เป็นต้น
๒. ปัญหาเรื่องการดำเนินการ คือ รูปแบบ ระบบ วิธีการศึกษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เช่น การดำเนินการศึกษานั้น ไม่ให้ความเสมอภาคทางด้านโอกาสในการศึกษา
นี้เป็นการสรุปปัญหาเกี่ยวกับการให้การศึกษา เป็น ๒ ข้อใหญ่ คือ เรื่องเนื้อหาสาระ และวิธีดำเนินการ หรือรูปแบบ และระบบวิธี
ทีนี้ในวันนี้ อาตมภาพก็คงไม่สามารถกล่าวได้ทั่วถึงทั้ง ๒ ด้าน จะต้องจำกัดตัวเอง พูดเฉพาะแต่เรื่องเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ และพูดเฉพาะบางแง่บางส่วนเท่านั้น
No Comments
Comments are closed.