- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
หน้าที่ประการที่หนึ่ง คือการเป็นสิปปทายกนั้น ไม่ใช่เรื่องของการศึกษาหรือในความเข้าใจทั่วๆ ไป จะเห็นว่า เมื่อพูดถึงการศึกษา เราจะเน้นในข้อแรก คือการถ่ายทอดศิลปวิทยา ตลอดจนวิชาชีพต่างๆ แต่ในทางพุทธศาสนานั้น ไม่ได้ถือว่า วิชาชีพเป็นต้น เหล่านั้น เป็นตัวการศึกษาที่แท้จริง เราอาจแบ่งความรู้เป็น ๒ ชั้น คือ ความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา กับความรู้ที่เป็นอุปกรณ์ สำหรับผู้มีการศึกษาจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์
ทีนี้ในขั้นแรกที่ครูทำหน้าที่เป็นสิปปทายกนั้น ศิลปวิทยาวิชาชีพต่างๆ ที่ครูถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ กล่าวได้ว่าเป็นความรู้ประเภทอุปกรณ์ คือเป็นเครื่องมือสำหรับผู้มีการศึกษาแล้ว จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่ดี เพื่อแก้ปัญหาของมนุษยชาติ เพื่อชีวิตที่ดีงามร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์สุขของสังคมต่อไป ความรู้ประเภทนี้ ถ้าจะเรียกเป็นศัพท์ก็ว่า สุตะ และ ศิลปะ หรือสุตศิลป์
สุตะ คือ ความรู้หรือวิชาการที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้เล่าเรียนถ่ายทอดมาจากคนอื่น หรือสั่งสมเก็บรวบรวมมาจากแห่งต่างๆ ถ้ามีมากก็เรียกว่าเป็นพหูสูต ศิลปะ คือความรู้ประเภทหัตถศึกษาหรือวิชาชีพทั่วๆ ไป ความรู้ที่อาศัยการฝึกปรือลงมือทำให้เกิดความชำนิชำนาญ ความมีฝีมือ เรียกรวมกันให้ง่ายว่า สุตศิลป์
การมีวิชาการหรือความรู้ประเภทที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าความรู้ประเภทอุปกรณ์นั้น มิใช่เป็นเครื่องยืนยันที่แน่แท้เสมอไปว่า จะบังเกิดเป็นผลดีแก่มนุษยชาติ จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ เพราะมันเป็นแต่เพียงอุปกรณ์เท่านั้น หมายความว่าความรู้ต่างๆ เหล่านั้น เราอาจจะนำมาใช้ในทางที่แก้ปัญหาของมนุษย์ก็ได้ หรืออาจจะนำมาใช้ในทางที่จะสั่งสมปัญหาแก่มนุษย์เพิ่มพูนยิ่งขึ้นก็ได้ ความรู้อุปกรณ์หรือความรู้ประเภทที่ ๑ นั้น จะมีผลประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อถูกใช้โดยผู้มีการศึกษา
ทีนี้ การศึกษาที่แท้จริงหรือการศึกษาที่จะทำให้คนเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริงนั้นอยู่ไหน อันนี้แหละคือภารกิจหรือหน้าที่ประการที่ ๒ ของครู ได้แก่ความเป็นกัลยาณมิตรนั่นเอง ภารกิจประการที่ ๒ ของครู ในฐานะกัลยาณมิตร ก็คือการที่จะช่วยชี้ช่องทางให้ศิษย์หรือผู้ที่รับการอบรมสั่งสอนนั้นเป็นคนรู้จักคิด รู้จักมองความหมายของสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง รู้จักแสดงออกอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบและรู้จักการดำเนินชีวิตที่ดี พูดสั้นๆ ว่า มีปัญญาและคุณธรรม อันนี้คือภารกิจของครูที่แท้จริงที่เป็นเนื้อแท้ของการศึกษา ในความหมายของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นที่อาตมภาพจะพูดต่อไปนี้ จะไม่เน้นในหน้าที่ประการที่หนึ่ง คือการเป็นสิปปทายก เพราะเรามีศิลปวิทยาหรือวิชาการต่างๆ ที่จะศึกษามากมาย เอาพอเข้าใจกันว่าวิชาการเหล่านั้นเป็นเรื่องของอุปกรณ์ หรือความรู้ที่เป็นเครื่องมือในการที่ผู้มีการศึกษาจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป ภารกิจที่สำคัญของเราก็คือ ทำอย่างไรจะทำคนให้เป็นคนมีการศึกษาที่แท้จริง เพื่อว่าเมื่อเขามีการศึกษาอย่างนั้นแล้ว เขาจะได้ดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาความรู้ที่เป็นอุปกรณ์ทั้งหลายในการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม และแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างแท้จริง
No Comments
Comments are closed.