คุณสมบัติของผู้มีการศึกษา

10 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 10 จาก 20 ตอนของ

คุณสมบัติของผู้มีการศึกษา

ต่อไปสุดท้าย วิธีหนึ่งที่จะวัดผลการศึกษา ก็ดูที่คนซึ่งได้รับการศึกษา ดังนั้น อาตมภาพจะขอพูดเป็นเรื่องสุดท้าย คือเรื่องคุณสมบัติของคนมีการศึกษา อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเมื่อดำเนินการศึกษา เราก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้คนของเรามีคุณสมบัติอย่างไร ทีนี้มองในแง่ของพุทธศาสนา ท่านบอกว่าคนที่มีการศึกษาคือคนที่เจริญแล้ว เราใช้ศัพท์สมัยใหม่ว่าได้พัฒนาแล้ว ทางพระท่านใช้คำว่า ได้ภาวนาแล้ว ภาวนา แปลว่า ฝึกอบรมหรือเจริญ

ตามหลักพุทธศาสนา คนที่พัฒนาแล้วเป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมไปด้วยกัน พร้อมกับการพัฒนาตนเอง คือพัฒนาตนเองไปด้วย พัฒนาสังคมไปด้วย คนเช่นนี้มีคุณสมบัติ ๔ ประการ ทางพระใช้คำว่า ภาวิตะ ๑. ภาวิตกาย ๒. ภาวิตศีล ๓. ภาวิตจิต ๔. ภาวิตปัญญา แปลง่ายๆ ภาวิตกาย แปลว่า มีกายที่เจริญแล้วหรือมีกายที่พัฒนาแล้ว ภาวิตศีล มีศีลที่เจริญหรือพัฒนาแล้ว ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาหรือเจริญแล้ว และ ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว

เมื่อพูดถึงหลักนี้ อาตมภาพก็เห็นว่าไปตรงกับความคิดของนักการศึกษาอย่างน้อยสายหนึ่งพอดี คือนักการศึกษาสายหนึ่งเขาตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ว่าให้มี Growth หรือความเจริญงอกงาม ๔ อย่าง จะเรียกว่า Development ก็ได้คือ

  1. Physical growth ความเจริญงอกงามทางกาย ตรงกับภาวิตกายพอดี
  2. Social growth ความเจริญงอกงามทางสังคม ตรงกับภาวิตศีล เจริญศีล
  3. Emotional growth ความเจริญงอกงามทาง อารมณ์ ก็ตรงกันพอดีกับภาวิตจิต มีจิตใจที่เจริญภาวนาแล้ว สุดท้าย
  4. Intellectual growth มีความเจริญงอกงามทางปัญญา ตรงกับภาวิตปัญญาพอดี

นี่หมายความว่า อย่างน้อยโดยศัพท์มันตรงกันพอดี แต่ความหมายที่แท้จริงอาจจะไม่เหมือนกันทีเดียว อาตมภาพขอโอกาสอธิบายความหมายในแง่พุทธศาสนาหน่อย

๑. ภาวิตกาย ที่ว่ามีกายอันเจริญแล้ว หรือพัฒนาแล้วนี่ ในสายความคิดตะวันตกรู้สึกจะเล็งไปในแง่มีร่างกายแข็งแรง พลานามัยดี สุขภาพดี เช่นที่ออกมาในรูปพลศึกษา เป็นต้น แต่ในทางพุทธศาสนาพัฒนากายมีความหมายหลายอย่าง อาตมภาพจะเลือกมาเสนอแง่หนึ่ง การเจริญกายในทางพุทธศาสนา แปลกว้างๆ หมายถึง การเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เป็นไปอย่างดี หรืออย่างได้ผลดี เป็นคุณประโยชน์ การที่ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ หรือได้ฝึกอบรมความเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมด้วยชีวิตทางด้านกาย อันนี้เป็นเรื่องของการเจริญกาย

การพัฒนาความเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมด้วยชีวิตด้านกายนี้เป็นอย่างไร เอาความหมายสักแง่หนึ่งคือ คนเรานี้จะมีการเกี่ยวข้องด้านกายกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสภาพแวดล้อมอย่างผิดและอย่างถูก อย่างผิดคืออย่างไร อย่างผิดก็คือทำให้เกิดโทษแก่ชีวิต เสียคุณภาพชีวิต เป็นต้น อย่างที่ถูกก็คือทำให้เกิดคุณประโยชน์เสริมคุณภาพชีวิต สนองกิจที่ใช้ อะไรอย่างนี้ ขอยกตัวอย่างเช่นเรื่องอาหาร เราเกี่ยวข้องกับอาหาร เรากินอาหารเพื่ออะไร ในทางพุทธศาสนาบอกว่า เรากินกัน ๒ แบบ เกี่ยวข้องอย่างที่ ๑ คือ เรากินเพื่อเอร็ดอร่อย สนุกสนานมัวเมา แสดงฐานะว่าฉันโก้ หรูหรา ฉันมีฐานะ อะไรทำนองนี้ นี้เป็นการเกี่ยวข้องแบบที่หนึ่งที่เป็นทางผิด ทีนี้การเกี่ยวข้องแบบที่ ๒ เรากินอาหารเพื่ออะไร เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี อยู่ผาสุกสบาย สามารถทำกิจการงานที่เป็นหน้าที่ของตนได้ดี ช่วยให้การดำเนินชีวิตที่ดีงามเป็นไปได้ อันนี้เป็นการเกี่ยวข้องที่ถูกต้อง ถ้าเรียกเป็นศัพท์เราเรียกว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย เพื่อเอาคุณค่าที่แท้ ตรงข้ามกับเอาคุณค่าเทียม

คุณค่าด้านหนึ่งเป็นคุณค่าที่ผิด เราเรียกว่า คุณค่าเทียม คือไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต เช่นเรากินอาหารเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อแสดงฐานะโก้หรูหราอวดกันอะไรนี้มันเป็นคุณค่าเทียม สนองตัณหาความอยากที่เป็นการปรนเปรอตนเองเท่านั้น ทีนี้อีกด้านหนึ่งคือคุณค่าแท้จริงที่มีต่อชีวิตที่เป็นเรื่องของการสนองปัญญา คือการกินอาหารด้วยการพิจารณารู้ว่าอาหารนี้มีประโยชน์แก่ร่างกายแค่ไหน กินแค่ไหนพอดี ช่วยให้ร่างกายอยู่ได้ดี มีสุขภาพดี ไม่อึดอัดอืดเฟ้อกลายเป็นพิษ อยู่เป็นผาสุก ทำกิจการงานได้ คุณค่าที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ นี้คือการเกี่ยวข้องลักษณะหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญหรือไม่เจริญทางกาย ในทางพุทธศาสนา แม้แต่การเกี่ยวข้องกับสิ่งของทั้งหลายที่เราจะซื้อหา ตลอดจนเทคโนโลยี Technology ที่เราจะเอามาใช้ทุกอย่างจะเป็นไปในลักษณะนี้ทั้งนั้น การเกี่ยวข้องที่ผิด ถ้าเป็นค่านิยมออกมาเด่นจะเป็นค่านิยมบริโภค คือเป็นค่านิยมที่ต้องการคุณค่าเพียงมีอะไร ก็เพื่อจะเอามาเสพเสวยปรนเปรอสนองความอยากบ้าง เพื่ออวดตัวบ้าง ข่มคนอื่นบ้างเท่านั้น ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เป็นคุณค่าที่เอามาใช้พัฒนาชีวิต ดังนั้น ถ้าเราจะมีวิทยุสักเครื่อง หรือชาวชนบทจะมีบ้าง เราจะเร้าความต้องการประเภทไหน ถ้าเราเร้าในแง่ว่าจะได้ฟังรายการบันเทิงต่างๆ สนุกสนานฟังเพลงให้เพลิน เล่นลอตเตอรี่ให้สะดวกอะไรอย่างนี้ ถือว่าเร้าคุณค่าเพื่อสนองตัณหา แต่ถ้าไปพูดในแง่ว่า เราจะได้ฟังข่าวสาร จะรู้ความเป็นไปในบ้านเมืองและในโลก จะหาความรู้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรมเพื่อใช้ปรับปรุงตัว ปรับปรุงถิ่นที่อยู่ หรือเอาไว้แนะนำสั่งสอนลูกหลานอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นคุณค่าที่แท้จริงต่อชีวิต เป็นคุณค่าทางปัญญา เป็นการเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายในด้านกายภาพ ขอผ่านไป

มีข้อสังเกตแทรกไว้อย่างหนึ่ง อันนี้รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก คือปัจจุบันนี้สื่อมวลชนหรือระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้ส่งเสริมให้มีการเอาคุณค่าเทียมมาใช้ในการสร้าง Demand เทียม คือความต้องการเทียม ด้วยการโฆษณา เป็นต้น Demand เทียมนี้เป็นไปมากในสังคมปัจจุบัน Demand เทียมคือความต้องการหลอกๆ ที่ไม่จำเป็น ไม่เป็นคุณค่าเลย แต่มักให้โทษแก่ชีวิต สังคมปัจจุบันหรือระบบปัจจุบันดูเหมือนจะพยายามไปเร้าความต้องการอันนี้ และทำให้เกิดมีความต้องการใหม่ๆ ขึ้นแล้ว จะได้ไปหาซื้อสิ่งเหล่านั้นไว้ใช้ ซึ่งล้วนแต่เป็นความต้องการคุณค่าเทียมทั้งนั้น จึงก่อให้เกิดโทษเป็นปัญหาแก่สังคมมากมาย หลักความเจริญกายจะมาช่วยแก้ปัญหาด้านนี้ได้

๒. ภาวิตศีล แปลว่ามีศีลที่เจริญแล้ว แปลอย่างสมัยใหม่ว่า มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว เทียบกับของฝรั่งว่าเป็นความเจริญงอกงามทางสังคม ศีลคืออะไร ศีลคือระเบียบวินัย ความประพฤติ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสุจริตกายวาจาและอาชีวะ ศีลนี้มองได้ ๒ แง่ มองในแง่ตนเองภายในคือการฝึกอบรมเกี่ยวกับความประพฤติดีงาม ความมีระเบียบวินัย ความสุจริตกาย วาจาและอาชีวะ ที่เป็นพื้นฐานแห่งความสงบในทางจิตใจ ทำให้จิตใจมีสมาธิได้ หรือเป็นพื้นฐานในการฝึกจิตใจต่อไป และ ๒ มองในแง่สังคม แง่สังคมนี้แบ่งศีลได้ ๒ ระดับ หรือละเอียดเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ด้านลบหรือระดับลบ คือการไม่เบียดเบียนกัน หมายความว่าอย่างน้อย เราจะต้องไม่เบียดเบียนกัน และด้านบวกหรือระดับบวก คือช่วยเหลือรับใช้บริการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ที่ทางพระเรียก ไวยาวัจจะ อย่างที่เรามักได้ยินในคำว่า ไวยาวัจกร ไวยาวัจมัยกุศล เป็นต้น อันนี้ท่านจัดเป็นศีลอย่างหนึ่งเป็นศีลในแง่บวก ถ้าให้ละเอียดก็แทรกกลางอีกอย่างเป็นระดับดุลย์หรือดุลยภาพ คือระเบียบวินัย เจริญศีลก็คือสร้างระเบียบวินัย สร้างความประพฤติดีงาม ความสุจริตกายวาจา ความสัมพันธ์ที่ดีงามทางสังคม การไม่เบียดเบียนกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและการฝึกอบรมตนในสัมมาชีพ

๓. ภาวิตจิต เจริญจิต พัฒนาจิตใจ ที่ฝรั่งเรียกว่า emotional growth หรือความเจริญงอกงามทางอารมณ์ หมายความอย่างสั้นที่สุดทางพุทธศาสนาว่า ฝึกจิตให้มีคุณภาพดี ให้มีสมรรถภาพดี และให้มีสุขภาพดี มีคุณภาพดี ก็ประกอบด้วยคุณธรรม เช่นมีเมตตา กรุณา มีขันติ มีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น ให้มีสมรรถภาพดี ทางพระท่านว่าให้เป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน เป็นจิตที่มีความเพียร มีสติ มีสมาธิอะไรพวกนี้ เข้มแข็ง มั่นคง คล่องตัว เป็นจิตที่ใช้งานได้ดี แล้วก็มีสุขภาพดี คือมีความสุข มีความปลอดโปร่งเบิกบานสดชื่นผ่องใส ข้อนี้ถือเป็นสำคัญทีเดียว ในทางพุทธศาสนาถือว่า ความสุขเป็นแกนของจริยธรรม สิ่งหนึ่งที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ ก็คือทำให้คนมีความสุข ถ้าคนไม่มีความสุข เขาก็กลายเป็นปัญหาแก่ตัวและสร้างปัญหาแก่ผู้อื่น คนที่สร้างปัญหาสังคมนั้นเขามีความทุกข์แล้ว เขาจึงไประบายทุกข์แก่ผู้อื่น ถ้าเขามีความสุขเสียแล้ว เขารู้จักหาความสุขได้แล้ว เขาจะไม่ไประบายทุกข์ให้กระจาย จะแก้ปัญหาสังคมไปได้มาก แต่ที่ว่านี้หมายความว่า เราจะต้องสร้างให้เขารู้จักทั้งสุขขั้นต้นและสุขขั้นสูงในทางจิตใจด้วย

๔. ข้อสุดท้ายคือ ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว ของฝรั่งก็ intellectual growth นี่ก็ดูคล้ายตรงกันแต่ความหมายทางพุทธศาสนานั้นท่านว่า ฝึกอบรมปัญญาให้รู้เข้าใจ มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือตรงตามที่มันเป็น การมองเห็น รู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นนี่มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นต้นๆ คือการทำให้ขบวนการรับรู้และความคิดบริสุทธิ์ ตรงตามความเป็นจริงไม่บิดเบือน ไม่ถูกกิเลส เช่นความโลภ หาผลประโยชน์ส่วนตน หรือความโกรธ ความชิงชัง เข้ามาครอบงำ ไม่เกิดอคติ แต่เป็นความคิดที่ปลอดโปร่ง คิดถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ในทางพุทธศาสนาถือว่า ต้องฝึกปัญญา ทั้งในแง่ที่ทำให้ขบวนการความคิดการรับรู้นี้ไม่ถูกกิเลส เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เข้ามาครอบงำ ทำให้เป็นการคิดที่ไม่มีอคติ ด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ และอีกแง่หนึ่งหรือลักษณะหนึ่งที่สำคัญ คือการใช้ปัญญาที่เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส ปัญญาในที่นี้คือการไตร่ตรองวินิจฉัย หมายความว่าปัญญาไตร่ตรองวินิจฉัยตรงตามความจริงเท่าที่รู้ เป็นอิสระ ไม่เฉตามกิเลส ไม่มีกิเลสเคลือบแฝง และเมื่อปัญญารู้เข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างไร อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิดแล้ว ก็ทำตามที่ปัญญาบอก จึงเรียกว่าปัญญาเป็นอิสระ หรือมีอิสรภาพทางปัญญา ไม่ใช่ว่าทั้งที่ปัญญารู้ว่าอันนี้ไม่จริงไม่ถูก แต่ฉันจะได้ผลประโยชน์ฉันก็ทำ ทั้งๆ ที่ปัญญารู้ว่าอันนี้จริง อันนี้ถูก แต่มันขัดผลประโยชน์ของฉัน หรือคนที่พูดนั้น ฉันไม่ชอบ ฉันก็ไม่ทำ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าปัญญาไม่เป็นอิสระ ยังไม่ได้พัฒนา

เรื่องนี้ขอพูดเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยอันหนึ่ง เพราะปัญญาที่เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลสเป็นแกนของการพัฒนาประชาธิปไตย อาตมภาพเห็นว่าถ้าพัฒนาปัญญาแบบนี้ไม่สำเร็จก็พัฒนาประชาธิปไตยไม่สำเร็จ สังคมมนุษย์จะอยู่สงบสุขด้วยอะไรบ้าง แบบหนึ่งคืออาศัยอำนาจของมนุษย์ อย่างดีก็วางกฎหมายขึ้นมา ใครทำผิดจากกฎหมายก็ลงโทษ วิธีนี้ถ้าลำพังใช้อำนาจอย่างเดียวก็อาจจะวุ่นวาย ระบบซับซ้อนมาก ใช้อำนาจเข้าว่า ทำผิดก็ลงโทษ ทีนี้แบบที่สองวิธี ใช้อำนาจเหมือนกัน แต่อำนาจเร้นลับ อำนาจเร้นลับก็ใช้ความเชื่อ เช่นเชื่อต่อผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเชื่อว่าต้นไม้มีรุกขเทวดาก็ไม่กล้าตัด ก็รักษาต้นไม้ รักษาป่าไว้ได้เป็นต้น ทีนี้วิธีอ้างอำนาจ ๒ อย่างนี้เป็นวิธีที่ใช้ความกลัวทั้งคู่ อย่างที่หนึ่งกลัวอำนาจมนุษย์ด้วยกัน อย่างที่ ๒ กลัวอำนาจสิ่งเร้นลับ

สำหรับสังคมที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว วิธีทั้งสองนี้ไม่ถูกต้องทั้งคู่ แต่ต้องใช้วิธีที่ ๓ คือวิธีการแห่งปัญญาหรือวิธีที่ใช้ปัญญา โดยเฉพาะในทางพุทธศาสนาหรือประชาธิปไตยก็ต้องการวิธีที่ ๓ นี้ คือปัญญาไตร่ตรองวินิจฉัยที่ตรงตามธรรม คนที่เรียนแล้วมีการศึกษาแล้ว รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดีหรือไม่ดี เช่นว่า ทำลายป่าตัดต้นไม้จะมีผลเสียมีโทษอะไรบ้าง แต่ปัญหามันจะเกิดขึ้นตอนที่ว่า ปัญญาความไตร่ตรองวินิจฉัยของเขานี้จะเป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลสหรือไม่ ทั้งๆ ที่เรียนรู้แล้วมีการศึกษา รู้ดีว่าการตัดไม้ทำลายป่าจะเกิดโทษแก่ส่วนรวมอย่างไร แต่เพราะความต้องการผลประโยชน์ ก็ไม่ปฏิบัติตามที่ปัญญาบอก แต่ปฏิบัติไปตามความครอบงำของกิเลส ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วพัฒนาประชาธิปไตยไม่สำเร็จ เพราะคนไม่มีปัญญาที่เป็นอิสระ เมื่อปัญญาไม่เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส ก็จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมเรื่อยไป ถ้าอย่างนี้อาตมภาพจะลองถามว่า จะเลือกเอาสังคมแบบไหน ระหว่างสังคมที่รักษาป่าโดยวิธีที่ให้คนเชื่อสิ่งเร้นลับว่ามีรุกขเทวดาเป็นต้น และกลัวเทวดาหักคอ ไม่กล้าตัดต้นไม้ ก็รักษาป่าไว้ได้ กับสังคมที่คนมีการศึกษา แต่ปัญญาไม่เป็นอิสระ รู้แล้วไม่ปฏิบัติ ก็ยังไปตัดป่า การศึกษาแบบนี้จะมีประโยชน์กว่าความงมงายหรือเปล่า อย่างไหนจะดีกว่ากัน (และจะยังเป็นความงมงายอีกแบบหนึ่งหรือเปล่า) หรืออย่างว่าขับรถไปตามทางหลวง ถึงทางโค้งอันตราย ถ้าหากเอาศาลไปตั้งสักศาลหนึ่ง คนกลัว ปรากฏว่าพอไปถึงตรงนั้นแกจะขับรถชะลอช้าลงทุกคัน แล้วบีบแตรเคารพเทพเจ้า แต่ถ้าหากว่าไม่มีศาลอยู่ทั้งๆ ที่เป็นทางโค้งอันตราย ป้ายก็มีบอกไว้ให้ชะลอ มีปัญญารู้ดีว่านี่ไม่ดี แต่ไม่ยอมชะลอ วิ่งพรวดปรู๊ดไปเลย ปัญญาไม่เป็นอิสระ กับเชื่อเทวดาเร้นลับ หรือใช้ความกลัว อันไหนจะดีกว่ากัน นี้ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว ในการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย จะต้องมีปัญญาที่เป็นอิสระอย่างว่านี้ ต้องสร้างคนที่ปฏิบัติตามปัญญาได้ เมื่อรู้ว่าดีหรือชั่ว ควรปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติ ปัญญาอย่างนี้เรียกว่าปัญญาที่เป็นอิสระ พุทธศาสนาต้องการปัญญาให้เป็นอย่างนี้ ถ้าพัฒนาคนให้มีปัญญาอิสระไม่ได้ การพัฒนาประชาธิปไตยไม่มีทางสำเร็จ

การเจริญปัญญาหรือพัฒนาปัญญานี้ 1 ตามหลักพุทธธรรม ถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะปัญญาเป็นตัวตัดสินชี้ขาดในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา จุดหมายของพุทธศาสนาคือความหลุดพ้น พูดตามภาษาสมัยใหม่ว่า ความเป็นอิสระหรืออิสรภาพ ถ้าให้ตรงกับสำนวนปัจจุบันเต็มที่ เขาเรียกว่า การปลดปล่อย หรือภาวะปลดปล่อย คนจะหลุดพ้นได้ก็ต้องมีปัญญาที่หลุดพ้น หรือจะเป็นอิสระได้ปัญญาต้องเป็นอิสระ พูดให้ตรงตามสำนวนปัจจุบันว่าคนจะได้รับการปลดปล่อยก็ต่อเมื่อปัญญาได้รับการปลดปล่อย

การปลดปล่อยปัญญา แบ่งคร่าวๆ ได้ ๓ ขั้น ซึ่งได้พูดมาแล้วข้างต้น ๒ ขั้น ขั้นต้น คือการทำให้กระบวนการรับรู้และความคิดเป็นอิสระ บริสุทธิ์ ไม่เอนเอียง ปราศจากอคติ ไม่ถูกบิดเบือน ไม่เคลือบแฝงด้วยกิเลสต่างๆ เช่น ความโลภเห็นแก่ได้ และความพยาบาทเคียดแค้นชิงชังเป็นต้น มองเห็นตรงตามที่เป็นจริง ขั้นที่ ๒ ใช้ปัญญาอย่างเป็นอิสระ คือเมื่อปัญญารู้ว่าความจริงความถูกต้องดีงาม เป็นอย่างไรแล้ว ก็สามารถทำหรือปฏิบัติได้ ตรงตามความจริงความดีงามที่รู้ด้วยปัญญานั้น ไม่ถูกกิเลสครอบงำให้ทำเฉโก ส่วนขั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดคือ ปัญญาที่พ้นจากความหลงผิดต่อโลกและชีวิตหรือเป็นอิสระจากอวิชชาได้สิ้นเชิง หมายถึงการรู้เข้าใจสังขาร คือโลกและชีวิตนั้นตรงตามสภาวะที่เป็นจริง ซึ่งไม่เที่ยง ไม่คงที่ ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ขัดแย้ง คงสภาพอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นตัวตนที่ใครๆ จะยึดถือครอบครองได้ เรียกกันสั้นๆ ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ตรงความจริงแล้วจิตใจก็เป็นอิสระ ไม่ยึดติดถือมั่น ไม่เกิดมีกิเลสและความทุกข์ที่จะครอบงำจิตใจได้อีกต่อไป

สำหรับมนุษย์ปุถุชนทั่วไป และในแง่เกี่ยวกับสังคมการปลดปล่อยปัญญาขั้นที่สอง คือ การทำได้ตรงตามความจริงและความดีงามที่ปัญญาบอก เป็นจุดสำคัญที่เน้นพิเศษ ความสำเร็จของการศึกษาและการพัฒนาประชาธิปไตย วัดได้ที่นี่ เหมือนตัวอย่างเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าที่เคยพูดเมื่อกี้ เรามีวิธีป้องกันแก้ไข ๓ อย่าง หนึ่งใช้อำนาจคนให้กลัวการลงโทษอย่างดีก็ออกกฎหมายกำหนดโทษและความผิด สองใช้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้กลัวผีสางเทวดาให้โทษ สามใช้การไตร่ตรองวินิจฉัยและกระทำตามปัญญา ที่รู้ความจริงรู้ดีรู้ชั่วความถูกต้อง วิธีที่หนึ่งคนจะพยายามเลี่ยง ทำให้ต้องวางระบบซับซ้อนยุ่งยากขึ้น และได้ผลน้อยลง บางทีคนตัดสมคบกับคนรักษากฎหมายทำทุจริต กลับยิ่งร้ายหนักขึ้น วิธีที่สองถ้ายังเชื่ออยู่ก็ได้ผลชะงัด แต่ถ้าไม่เชื่อก็หมดความหมาย วิธีที่สาม ถ้าปัญญาไม่เป็นอิสระก็ไม่ได้ผลอะไรเลย ซ้ำร้ายปัญญากลับไปเป็นเครื่องมือให้ตัณหาแสวงหาผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ดูเหมือนว่าวิธีใช้อำนาจคนด้วยกันก็ดี วิธีมอบความไว้วางใจแก่ปัญญาของคนแต่ปัญญานั้นยังไม่ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระก็ดี น่าจะเป็นวิธีเลวร้ายไม่ได้ผลดี สู้แต่วิธีเชื่อและกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม วิธีที่สองเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ปัจจุบันคนสมัยใหม่หาว่างมงาย สอนให้ชาวบ้านเลิกเชื่อไปเสียเกือบหมดจนแทบจะไม่ได้ผลอยู่แล้ว สมัยปัจจุบันเลยอาจจะกลายเป็นยุคสมัยที่ไร้สมรรถภาพที่สุด และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็สามารถเป็นยุคที่เลวร้ายที่สุดด้วย

ว่าถึงความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ มีเรื่องที่ขอพูดแทรกอีกหน่อย คือ ในลัทธิศาสนาที่เชื่อถือพระเจ้าผู้สร้างผู้บันดาลหรืออำนาจเร้นลับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เขาจะวางกฎเกณฑ์ข้อห้ามข้อบังคับทางศีลธรรมกำกับไว้ตายตัว พร้อมทั้งคำขู่ผู้ฝ่าฝืนว่าจะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดรุนแรง คนที่เชื่อก็ฝากความหวังไว้กับอำนาจดลบันดาล เพียงแต่ปฏิบัติตามไปให้ถูกต้องตามข้อห้ามข้อบังคับนั้น ไม่ต้องใช้ความคิดอะไรเองมาก แม้แต่พุทธศาสนาแบบปนไสยศาสตร์ในสมัยโบราณ เมื่อพระอาจารย์จะให้เครื่องรางของขลังแก่ศิษย์หรือใครสักคนหนึ่ง ก็ไม่ให้ง่ายๆ ต้องตรวจดูความประพฤติก่อน และเวลาจะให้ก็มีการสั่งกำกับข้อปฏิบัติว่า จะทำอันนั้นไม่ได้ ทำอันนี้ไม่ได้ เช่นว่า ห้ามด่ามารดาเขา ห้ามทำร้ายเขาก่อน เป็นต้น และต้องประพฤติตัวอย่างนั้นๆ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม เครื่องรางของขลังนั้นก็จะไม่รักษาหรือเสื่อมไปเลย หรือผู้ได้ของขลังนั้นจะมีอันเป็นไป ต้องประสบผลร้ายอย่างนั้นๆ อย่างนี้ศีลธรรมก็อยู่ไปได้แบบหนึ่ง แต่ในพุทธศาสนาที่แท้ ท่านวางหลักศีลธรรมไว้ตามแนวเหตุผล ให้ผู้ปฏิบัติรู้จักใช้ปัญญา พิจารณาตัดสินใจเลือกปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อมีฉันทะและถือธรรมเป็นใหญ่ มีหิริโอตตัปปะไว้ ศีลธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม และวิสุทธิวิมุตติธรรม ก็อยู่ได้หมด แต่ในปัจจุบันนี้น่าสงสัย ถ้าความรู้จักคิดเหตุผลวินิจฉัยด้วยปัญญาตามหลักธรรมาธิปไตยก็ไม่ใส่ใจฝึกกัน ปล่อยให้นิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนาจเร้นลับกันเกร่อ และความศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เฟ้อจนไม่มีขอบเขต ไม่มีกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม เหมือนกับว่าใครมีเงิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะรับจ้างพิทักษ์รักษาไปให้หมด ถ้าอย่างนี้ ก็น่ากลัวว่าชาวพุทธปัจจุบันจะมีความเสื่อมโทรมได้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี ตามหลักพุทธศาสนาก็ดี ในยุคพัฒนาประชาธิปไตยก็ดี ย่อมต้องการวิธีที่สาม คือการไตร่ตรองวินิจฉัยการกระทำด้วยปัญญาที่เป็นอิสระ เพราะถ้าทำสำเร็จ มนุษย์จะได้รับการปลดปล่อย (หลุดพ้น) ช่วยให้ชีวิตและสังคมเจริญด้วยประโยชน์สุขได้ดีที่สุด และมีทางผิดพลาดได้น้อยที่สุด เมื่อมนุษย์มีปัญญาที่ปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว กฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม จะได้รับการกำหนดวางอย่างชอบธรรม มนุษย์จะไม่รู้สึกว่ากฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์นั้น เป็นเครื่องจำกัดตัดรอนเสรีภาพหรือเป็นเครื่องบีบคั้นบุคคล แต่เป็นเพียงมาตรฐานกำหนดสำหรับหมายรู้ร่วมกัน ในการที่จะดำรงชีวิตที่ดีร่วมกับผู้อื่นในสังคม และที่จะให้สังคมอำนวยประโยชน์สูงสุดแก่บุคคลทุกคน

ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อเช่นนั้น จะปลดปล่อยปัญญาให้เป็นอิสระได้อย่างไร ปัญญาเป็นสิ่งที่ดี เพราะบอกให้รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม และอะไรเท็จอะไรผิดอะไรชั่วร้าย แต่ปัญญาไม่เป็นอิสระ คือคนไม่ทำตามปัญญาบอก เพราะถูกกิเลสตัณหาเข้ามาครอบงำ ปัญญาเลยกลายเป็นตัวเบิกทางช่วยให้ตัณหาเห็นช่องทางที่จะหาผลประโยชน์ของมันได้มากยิ่งขึ้น วิธีที่จะช่วยให้ปัญญาเป็นอิสระก็คือ เอาพลังฝ่ายตรงข้ามมาปราบตัณหา พลังนั้นก็คือ ฉันทะ (ธรรมฉันทะ) ที่พูดถึงแล้วข้างต้น คนส่วนมากสมัยนี้ รู้เหตุผลรู้ถูกผิดว่าการตัดป่าไม่ดี แต่ที่ทำก็เพราะถูกตัณหาครอบงำ เห็นแก่ผลประโยชน์ของตน คนอื่นๆ ที่รู้ก็ไม่เอาใจใส่ที่จะป้องกันรักษา ถ้าเราสามารถปลุกเร้าให้เขามองเห็นคุณค่าของป่า โทษของการตัดป่า ให้เขารักป่า รักธรรมชาติ อยากมีสภาพแวดล้อมที่ดีงามของธรรมชาติ ถ้าเขารักมากอยากแรงเขาจะยับยั้งได้ ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์หรือสินจ้างรางวัล ถ้าปลุกให้ชาวบ้านมีฉันทะนี้ได้กว้างขวางขึ้น เขาจะพากันเอาใจใส่ช่วยกันบำรุงรักษาป่า อาจจะช่วยป้องกันคนภายนอกไม่ให้เข้าไปทำลายด้วย จะเห็นว่าฉันทะนี้เจริญขึ้นพร้อมกับปัญญาที่เข้าใจคุณค่ารู้ผลดีผลเสียเป็นต้น การพัฒนาฉันทะจึงสัมพันธ์กับการพัฒนาปัญญา หรือเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันกับปัญญา อยู่ในกระบวนการเดียวกันได้ มองอีกแง่หนึ่งว่า การพัฒนาปัญญาที่ถูกต้องจะต้องพัฒนาฉันทะคู่ไปด้วย การคิดการพิจารณาโดยใช้ปัญญาให้เข้าใจคุณค่ามองเห็นผลดีผลเสียเป็นต้นนั้น เรียกชื่อเฉพาะว่าโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการต้องอาศัยความรู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา แต่คงไม่ขึ้นต่อการเรียนน้อยเรียนมาก อย่างที่เข้าใจกันในบัดนี้โดยตรง

เป็นอันว่า ฉันทะนี่แหละเป็นตัวที่ช่วยให้ปัญญาได้รับการปลดปล่อย เมื่อฉันทะพัฒนามากขึ้น ตัณหา ถึงจะยังไม่ถูกกำจัด ก็จะถูกกำจัดให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย และในหลายกรณีก็จะถูกจัดให้กลายเป็นแรงส่งที่ช่วยหนุนฉันทะให้ทำงานได้ผลยิ่งขึ้น ฉะนั้นเมื่อจะพัฒนาปัญญาให้หลุดพ้นเป็นอิสระก็ต้องพัฒนาฉันทะด้วย และนี่คือภารกิจพื้นฐานอย่างหนึ่งที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ

รวมความว่า คุณสมบัติของคนมีการศึกษาหรือพัฒนาแล้ว ตามหลักพุทธศาสนามี ๔ ประการ ดังที่กล่าวมาคือ เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา มีกายที่พัฒนาแล้ว มีศีลที่พัฒนาแล้ว มีจิตที่พัฒนาแล้ว มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว เมื่อทำได้อย่างนี้ถือว่าเป็นผลสำเร็จของการศึกษาในทางพุทธศาสนา คนที่มีการศึกษาและพัฒนาอย่างนี้จะประกอบกันเข้าเป็นชุมชนที่เรียกว่า อริยสงฆ์ อริยสงฆ์แปลให้เป็นศัพท์สามัญว่า สังคมแห่งอารยชน หมายถึงสังคมแห่งอารยชนที่แท้จริง พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะภิกษุสงฆ์ขึ้นที่เราเรียกกันว่า สมมติสงฆ์ ก็เพื่อเป็นผู้นำในการสร้างอริยสงฆ์ หรือสังคมแห่งอารยชนเช่นนี้ให้สำเร็จ แต่ไม่ทราบว่าที่ได้ทำมา ได้สร้างไปได้สำเร็จแค่ไหนเพียงไร

ในวันนี้อาตมภาพได้มาเสนอความคิด ซึ่งขณะนี้ก็ได้เกินเวลาไปมากมายแล้ว แม้ว่าท่านจะยืดให้ตั้งครึ่งชั่วโมง บัดนี้ก็ได้เลยไปอีกตั้ง ๑๕ นาที ก็ต้องขอประทานอภัยด้วย การแสดงปาฐกถานี้ อาตมภาพได้พูดไป ถ้ามีอะไรเป็นประโยชน์ก็ขออนุโมทนาคือถือเป็นส่วนที่ร่วมในการฉลองงานครบรอบวันสถาปนานี้ด้วย ส่วนใดที่ผิดพลาดพลั้งไปก็โปรดให้อภัย

ในวันที่เป็นมงคลนี้ ขออนุโมทนาในกุศลกิจที่ทางคณะท่านอาจารย์ทั้งหลายทุกท่าน ตลอดถึงนิสิตทั้งหลายได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศลกรรมมีการทำบุญตักบาตรเป็นต้น ตลอดจนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งหลาย และอาตมภาพขอตั้งกุศลจิตอวยชัยให้พร โดยอ้างอิงคุณพระรัตนตรัย รตนัตตยานุภาเวนะ รตนัตตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อันเป็นที่เคารพสักการะของเราทั้งหลาย กะตะปุญญานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศล คือความดีที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญไว้ จงประมวลกันเป็นพลวปัจจัยอำนวยให้คณะครุศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งท่านอาจารย์ เริ่มตั้งแต่ท่านคณบดี ตลอดจนอาจารย์ นิสิต และท่านสาธุชนผู้สนใจ ที่มาเข้าฟังในที่ประชุมนี้ จงประสบความเจริญงอกงาม พรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณคุณสารสมบัติทุกประการ จงมีกำลังกายกำลังใจ พรั่งพร้อมในการบำเพ็ญกิจ คือการศึกษาเล่าเรียนก็ตาม ประกอบหน้าที่การงานก็ตาม ให้บรรลุความเจริญก้าวหน้าสำเร็จผลเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวม แก่ประเทศชาติและสังคมสืบไปตลอดกาลนาน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< นำพุทธธรรมมาแก้ปัญหาของไทยดึงออกจากไทย ส่งไม่ถึงอเมริกา >>

เชิงอรรถ

  1. เนื้อความแต่นี้ ถึงก่อนสรุป เขียนแทรกเพิ่มเพื่อให้ความครบถ้วนมาขึ้น

No Comments

Comments are closed.