- ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)
- สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด
- ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่
- ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
- เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
- บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
- ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก
- บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
- ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา
- กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน
- จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
- หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่ ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
- ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
- ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต
- ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔
- จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว
- ถ้าความไม่ประมาทมา ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า
- งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา
- คำปรารภ
จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน
ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
พุทธธรรมนั้นเริ่มจากการรู้ความจริงที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ แล้วโดยใช้ความรู้นั้น หรือบนฐานของความรู้นั้น จึงปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของการทำเหตุปัจจัยให้เกิดผลที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่คนตลอดจนทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง
นี่คือ เป็นหลักการใหญ่ของพุทธธรรมว่า เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อต้องการผลนี้ จึงต้องทำเหตุปัจจัยนี้
เริ่มด้วยความจริงหลักใหญ่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา… เพราะขาดความรู้จริงแจ่มแจ้ง ก็คิดพูดทำเสียหายไม่ถูกต้องไม่ได้ผลดี จึงเกิดเป็นประดาปัญหา ที่เรียกคำเดียวว่าทุกข์ขึ้น จึงต้องสร้างความรู้ พัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ทัน แล้วเอาความรู้ธรรมดามาใช้แก้ปัญหาให้ทุกข์ดับหายไป แค่นี้ก็พูดได้ในสำนวนหนึ่งว่าเป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
อย่างที่บางทีพูดกันว่า ทำ meditation เจริญสมาธิ ให้มีความสุข แต่ที่จริงไม่ใช่เจริญสมาธิเพื่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยมาเองในการเจริญสมาธิ (สุขเป็นบาทฐานของสมาธิ) ที่แท้นั้น ฝึกสมาธิเพื่อทำจิตให้พร้อมที่จะใช้งานในการพัฒนาปัญญา อย่างนี้จึงจะถูกต้องตามขั้นตอนในกระบวนการปฏิบัติ ดังนี้เป็นต้น
ในที่นี้ จะพูดถึงกระบวนและระบบธรรมในการปฏิบัติ อย่างพื้นๆ ไว้ พอได้เค้าความเข้าใจ ๒ – ๓ ชุด
เริ่มด้วย หลักมูล ที่เป็น จุดตั้งต้น ๓ อย่าง คือ
- มีแดนดินถิ่นอาศัยเป็น รมณีย์
- มีใจชื่นชมอยากทำอะไรๆ ให้ดีงามด้วย ฉันทะ
- มีพื้นใจชื่นบานแจ่มใสด้วย ปราโมทย์
สามอย่างนี้ พึงมีไว้ใช้เป็นประจำตั้งแต่ต้นไปจนถึงจุดหมาย คือลุถึง วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ สุข เกษม นิพพาน
ข้อ ๑ ถิ่นรมณีย์ ถือตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้เองว่า ก่อนตรัสรู้ จะทรงบำเพ็ญเพียร ได้เสด็จไปทรงหาถิ่นสถานที่เหมาะ
เมื่อเสด็จถึงอุรุเวลา บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ตรัสว่า
“รมณีโย วต ภูมิภาโค”
“ผืนแผ่นดินถิ่นนี้ รมณีย์จริงหนอ มีไพรสณฑ์ร่มรื่น น่าชื่นบาน ทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใส เย็นชื่นใจ ชายฝั่งท่าน้ำก็ราบเรียบ ทั้งโคจรคาม (แหล่งอาหาร) ก็มีอยู่โดยรอบ เป็นถิ่นสถานอันเหมาะจริงหนอ ที่จะบำเพ็ญเพียร”…
แล้วลงประทับนั่ง ตรัสว่า “อลมิทํ ปธานาย” – “ที่นี่ละ เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียร” แล้วประทับบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั่นจนได้ตรัสรู้
จึงพูดได้ว่า ถิ่นรมณีย์ เป็นที่ตั้งต้นของพระพุทธศาสนา
ถิ่นอุรุเวลาอันรมณีย์นั้น มีโพธิรุกขมูล คือร่มพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ เป็นตัวแทน หรือเป็นสัญลักษณ์ นี่คือ รุกขมูล โคนต้นไม้ ซึ่งท่านหมายถึงบริเวณที่มีร่มเงาต้นไม้ เป็นสื่อนำให้นึกถึงรมณีย์
“รุกขมูล” เป็นเสนาสนะ คือที่นั่งที่นอนที่อยู่อาศัยพื้นฐานของพระสงฆ์
เมื่อพระภิกษุจาริกถือธุดงค์เดินไป ก็เรียกว่าไปรุกขมูล
แล้วก็ได้ถือกันมาเป็นหลักเป็นประเพณีว่า
พระสงฆ์จาริกไปๆ พอใกล้เข้าพรรษา ก็จะหาวัดหาที่พักในถิ่นรมณีย์ ที่จะเข้าอยู่จำพรรษา
พระที่ไปปฏิบัติธรรมในป่า ก็เลือกที่เป็นรมณีย์
คนจะสร้างวัด ก็สร้างวัดให้เป็นที่รมณีย์
พระอยู่วัด ก็ดูแลรักษาวัดให้รมณีย์
ชาวบ้านที่ดี ก็มีสมานฉันท์ร่วมแรงร่วมใจกันทำบุญด้วยการทำที่ทำกินถิ่นอาศัยของชุมชนให้รมณีย์
ข้อ ๒ ฉันทะ ความพอใจชื่นชมยินดีอยากทำให้คนสัตว์และสิ่งสรรพ์อยู่ในสภาวะดีงาม เข้าถึงภาวะที่เลิศล้ำเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ เป็น “มูล” คือเป็นที่มา เป็นต้นกำเนิดของธรรมทั้งปวง เช่นแสดงออกเป็น เมตตา กรุณา ตามพุทธพจน์ที่ว่า “ฉนฺทมูลกา…สพฺเพ ธมฺมา” – “ธรรมทั้งปวง มีฉันทะเป็นมูล” (องฺ.ทสก.๒๔/๕๘/๑๑๔) ธรรมที่มักตามติดฉันทะมาเป็นแฝด ก็คือ วิริยะ ความเพียรแกล้วกล้ามุ่งหน้าบุกฝ่าไปให้สำเร็จลุถึงจุดหมาย
ข้อ ๓ ปราโมทย์ คือความชื่นบานแจ่มใสใจโปร่งโล่ง เป็นจุดตั้งต้นที่แสดงถึงการเริ่มก้าวไปในทางของการปฏิบัติธรรมที่จะดำเนินไปถึงจุดหมาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทุกคนเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ คือมีปราโมทย์ประจำเป็นพื้นใจ ใครไม่มีปราโมทย์ อย่าว่าจะไปถึงนิพพานเลย แค่สมาธิ ก็ไปไม่ไหว
กระบวนปฏิบัติธรรมให้ถึงสมาธิ คือ
ปราโมทย์ ➔ ปีติ ➔ ปัสสัทธิ (ผ่อนคลาย) ➔ สุข ➔ สมาธิ
ทีนี้ กระบวนใหญ่ของการปฏิบัติที่เดินหน้าไปตลอดจนลุจุดหมาย เรียกว่า ปาโมชชมูลกธรรม คือ ธรรมมีปราโมทย์เป็นมูล ๙ (นว ปามุชฺชมูลกา ธมฺมา, เช่น ขุ.ปฏิ.๓๑/๑๘๒/๑๒๕) คือ
ปราโมทย์ → ปีติ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ → ยถาภูตญาณทัศนะ → นิพพิทา → วิราคะ → วิมุตติ
มูล ๓ ข้อนี้อาศัยกันและหนุนกันไปตลอด เช่นว่า
มีฉันทะชื่นชมสภาวะที่ดีงาม พอเจอรมณีย์ ก็ชื่นบานแจ่มใสได้ปราโมทย์ พบเห็นอะไรไม่รมณีย์ ก็มีฉันทะอยากทำให้มันสดใสงดงามขึ้นมาเป็นรมณีย์ แล้วก็ยิ่งมีปราโมทย์ ร่าเริงใจ นำไปสู่ความสุข แล้วก็เป็นอยู่ ปฏิบัติธรรม ทำการทั้งหลายให้ดียิ่งขึ้นไป ด้วยใจที่มีกำลังแห่งฉันทะนั้น
มองดูปัญหาของบริโภคนิยมที่พูดถึงข้างต้น ถ้าใจคนมีปราโมทย์อยู่เป็นประจำ ก็ไม่ต้องอัดอั้นไปด้วยความคิดที่จะหาความสุข เพราะมีปราโมทย์เป็นความพร้อมที่จะมีความสุขอยู่ในตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดหาความสุข มีแต่จะสร้างจะพัฒนาความสุขได้ด้วยการสนองฉันทะของตัวเอง
พอมีฉันทะขึ้นมาแล้ว ทีนี้ก็อยากทำงานปฏิบัติการใส่ใจจริงจังอย่างมีความสุข ทำงานจนลืมกินลืมนอน ไม่มีความเบื่อหน่ายอัดอั้นหรือความเครียดที่จะต้องชดเชยหรือระบายคลายออกไปด้วยการกินเสพเครื่องดื่มของกินเหลือเฟือที่จะพาให้เป็นโรคอ้วนทำร้ายตัวเอง และไม่ระดมทับถมบรรดาขยะของเสียที่จะเป็นภาระเกินกำลังระบบรักษาดุลของธรรมชาติ ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อมให้เสียหาย
แถมความรักรมณีย์ มีฉันทะที่ทำให้ปราโมทย์ ก็เป็นหลักประกันพื้นฐานที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ยอมให้สิ่งแวดล้อมเสียหายเสื่อมไปจากภาวะที่เป็นรมณีย์
มูลทั้ง ๓ นี้ เป็นเรื่องใหญ่ พูดไว้เท่านี้ก่อน สรุปอีกทีว่า
- มีถิ่น รมณีย์ ที่ธรรมชาติงามอุดมเหมาะสมที่จะอยู่อาศัยทำกิจกรรมกิจการ
- มี ฉันทะ ชื่นชมสภาวะที่ดีงาม อยากทำสิ่งทั้งหลายให้เลิศล้ำสมบูรณ์
- มี ปราโมทย์ ชื่นบานแจ่มใสเป็นประจำในพื้นใจ
No Comments
Comments are closed.