- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่
หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
ยิ่งระยะนี้ก็มีข่าวคราวอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม ที่เราจะต้องมีความหนักแน่นและตั้งหลักให้ดี มองไปให้ดี เหตุการณ์ร้ายเหล่านี้เป็นบททดสอบชาวพุทธว่าจะสอบผ่านไหม ถ้าโยมไม่มีหลัก โยมก็สอบไม่ผ่าน อาจจะสอบตกแล้วก็หล่นจากพระศาสนาไปก็ได้
แต่ถ้าเป็นคนที่มีหลักดี ก็สอบผ่าน และบททดสอบเหล่านี้ก็จะทำให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น กลับเป็นเรื่องดีไป เพราะเราได้บททดสอบมาช่วยทำให้เราพัฒนาตัวเองดียิ่งขึ้น
สำหรับบางท่าน ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็อาจจะได้เป็นบทเรียน คือเอาเป็นบทเรียนสอนตัวเองว่า เออ เรานี่รู้ไม่เท่าทัน เราพลาดไปแล้ว ทีนี้เราก็ได้บทเรียนในการที่จะวางตัวให้ดีขึ้น ในการที่จะเข้าให้ถึงหลักพระศาสนา ถ้าได้เป็นบทเรียนอย่างนี้ ก็ยังดี
ตอนนี้บททดสอบและบทเรียนก็เกิดขึ้นอีกแล้ว ก็ขอให้เราใช้บททดสอบนี้ให้เป็นประโยชน์ หรือมิฉะนั้นก็เอาเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้ความรู้ และรู้จักฝึกฝนปฏิบัติตนเองในทางพระศาสนาให้ถูกต้องยิ่งขึ้น
พระพุทธศาสนาของเรานี้เป็นศาสนาที่มีหลัก เป็นศาสนาที่มีเหตุผล พุทธศาสนิกชนจะต้องยึดหลักให้ได้ แล้วเอาตัวพระศาสนาและเอาความรู้ในพระศาสนาเป็นหลัก พอเรารู้หลักพระศาสนาแล้ว เราก็ไม่แกว่งไกว
ที่ว่าแกว่งไกวนั้น ก็คือแกว่งไกวไปตามบุคคล และเสียงเล่าข่าวลือเกี่ยวกับความวิเศษ ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หรือความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ผูกติดอยู่กับบุคคล คนโน้นดังมา คนนี้ดังมา มีเสียงฮือฮาอย่างไร ก็เฮกันไป เสร็จแล้ว พอมีอะไรเกิดขึ้น เราก็เอาพระศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคลนั้นเสียแล้ว บุคคลนั้นเป็นอย่างไรไป เราก็พลอยเป็นไปด้วย นี่เรียกว่าไม่มีหลัก
ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีหลักของเราแล้ว บุคคลโผล่ขึ้นมา เราก็เอาหลักเป็นเครื่องวัด ถ้าท่านประพฤติถูกหลัก ทำตามหลัก สอนตามหลักดี เราก็อนุโมทนาด้วย ถ้าท่านมีอันเป็นไปอย่างไร เราก็อยู่กับหลักต่อไป บุคคลนั้นก็ผ่านไป
No Comments
Comments are closed.