- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
๑. เรื่องที่กล่าวข้างต้นที่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย ก็คือ การที่มนุษย์พยายามแสวงหาในทางที่เป็นความเห็นแก่ตัว มุ่งประโยชน์แก่ตัวตน และสร้างความหมายไปในทางที่จะส่งเสริมพอกพูนอัตตาให้ขยายใหญ่โตขึ้นเมื่อมนุษย์มีความเห็นแก่ตน ตีความหมายในทางที่จะส่งเสริมตัวอัตตาอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าแม้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็จะตีความหลักธรรมให้เป็นไปเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ตนได้
ยกตัวอย่างเช่น หลักธรรมหลักหนึ่งคือหลักธรรม หลักใหญ่ใจความที่เป็นเนื้อหาสาระของหลักธรรมคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้ทุกคนทราบดี จากหลักเกณฑ์ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี้ ก็มาตีความหมายว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์ตีความหมายคำต่างๆ ในทางที่เห็นแก่ตัวแล้ว เขาจะตีความคำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างไร เขาจะไม่ตีความตรงไปตรงมาอย่างนั้น ทำดีคือทำอย่างไร เช่นว่า ทำดีคือเสียสละให้แก่ผู้อื่น ได้ดีคือได้อะไร ถูกลอตเตอรี่เป็นเศรษฐีร่ำรวย เป็นต้น หรือว่า ถ้าหากข้าพเจ้ามีเมตตา ทำดีได้ผลดีคืออะไร ก็จะเป็นทำนองเดียวกัน คือจะได้ทรัพย์สมบัติหรือประสบลาภยศสรรเสริญต่างๆ นี้คือความหมายของคนโดยทั่วไป
ความเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามหลักธรรมหรือไม่ หรือเป็นความเข้าใจตามความหมายของผู้ที่ตีความในทางที่เสริมสร้างพอกพูนอัตตา
เราทำความดี เช่น ทำทาน คือความเสียสละเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น นั่นเป็นความดีแน่นอนไม่ต้องสงสัย แล้วความดีอะไรที่เราจะได้ ก็คือความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใช่หรือไม่ จิตใจที่กว้างขวางนั้น เป็นความดีใช่หรือไม่ เมื่อทำทานแล้วจิตใจท่านเป็นจิตใจที่กว้างขวางขึ้นไป จิตใจที่กว้างขวางนี้เป็นความดี ถูกไหม ทำดีได้ดี อันนี้คือความดีก็ได้ ความดี แต่ท่านตีความหมาย ทำดีได้ดี ทำความดีไม่ใช่ได้ความดี แต่ทำความดีได้ของดี อันนี้เป็นความหมายที่ไม่ซื่อตรงแล้ว ทำความดีได้ของดี ทำทานได้ทรัพย์สมบัติ อันนี้ไม่ตรงแล้ว เป็นไปในทางสร้างเสริมอัตตา หรือเป็นไปในทำนองส่งเสริมความเห็นแก่ตนให้มากขึ้น
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หรือกฎแห่งกรรมนั้น เป็นกฎธรรมชาติกฎหนึ่ง ตรงไปตรงมา ไม่มีความคลาดเคลื่อน แต่มนุษย์นั่นแหละจะตีความให้คลาดเคลื่อนออกไป เราตีความว่า “ทำความดีได้ของดี” จากหลักที่ว่า “ทำดีได้ดี” ทำดีได้ดีเป็นเรื่องที่มาก่อน แต่ทำดีแล้วจะได้ของดีนั้น เป็นเรื่องที่พ่วงมาทีหลัง เช่นอย่างว่าท่านมีทาน คือความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นทางมาแห่งความสัมพันธ์ที่ดีในทางสังคม เป็นต้น ซึ่งจะเอื้ออำนวยผลดีในการดำเนินชีวิต ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไป อันนั้นเรียกว่าเป็นผลที่ตามมาเป็นเหตุปัจจัยที่เนื่องกัน ความคิดที่ไม่เชื่อมโยงปัจจัยให้เนื่องกัน เอะอะทำความดีปุ๊บก็ได้รับของดีปั๊บ อย่างนั้นแสดงว่าเราไม่ได้คิดตามแนวทางแห่งเหตุผลที่ถูกต้อง
เมื่อตีความหมาย ในแง่ที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวแล้วก็เกิดค่านิยมทางวัตถุขึ้น จากค่านิยมทางวัตถุนี้ ตนเองก็ต้องการแต่ทางวัตถุ และมีความนิยมยกย่องในผู้ที่มีแต่วัตถุเป็นเกณฑ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ในระยะยาวก็จะวัดกันด้วยวัตถุ คือ ใครมีลาภยศมาก ใครมีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็กลายเป็นผู้มีเกียรติในสังคมไป แทนที่จะมายกย่องในคุณค่าแห่งความดี เมื่อมีความนิยมแต่ในทางวัตถุเสียแล้ว ก็จะบิดเบือนความจริงไปในแง่ที่ตนปรารถนา เมื่อไม่คำนึงถึงว่าในด้านความดีเขาทำอะไร เอาแต่วัตถุเป็นเครื่องวัดแล้ว ในระยะยาวคนก็จะแสวงหาแต่ในทางวัตถุ ในสังคมที่แสวงหาแต่ในทางวัตถุ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมนั้น ผลร้ายจะปรากฏออกมาเป็นเช่นไร ก็เป็นสิ่งที่คาดหมายกันได้เอง
ถ้าเราจะวัดความดี เช่น ความร่ำรวยทรัพย์สมบัติ ความพรั่งพร้อมทางวัตถุว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เราควรจะมองดูสิ่งนั้น โดยสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยที่เขาทำ ถ้าของดีนั้นเขาได้มาด้วยความดี เราก็ยกย่องให้ทรัพย์สมบัติลาภยศอำนาจที่ได้มาว่าเป็นสิ่งที่ดีงามด้วย ถ้าหากว่าเขาได้มาด้วยเหตุที่ไม่ดี สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ร้ายไปด้วย คือหมายความว่า เราอาจจะมีความร่ำรวยที่ดีและความร่ำรวยที่ไม่ดี ตามเหตุปัจจัยคือความดีความชั่วที่ทำ คือเราเอาความดีความชั่วเป็นเกณฑ์สำหรับตัดสิน นี่เป็นค่านิยมแห่งธรรม มิใช่ค่านิยมทางวัตถุ เป็นค่านิยมแห่งความดี และสิ่งนี้จะต้องสร้างขึ้นมาจากรากฐาน คือค่านิยมทางจิตใจ เป็นความเข้าใจที่ซื่อตรงต่อธรรมชาติ ถ้าเราไม่ซื่อตรงต่อธรรมชาติ ก็จะตีความหลักเกณฑ์ของธรรมชาติว่าทำดีได้ดี จากการทำความดีได้ดี เป็นทำความดีได้ของดีไปเสีย
เพราะฉะนั้นถ้ามนุษย์เรามีความเข้าใจผิดพลาด โดยบิดเบือนหลักธรรมชาติเข้าหาตนเองเช่นนี้แล้ว ผลร้ายก็เกิดขึ้นแก่มนุษย์เอง แล้วผลร้ายใครเป็นผู้ทำ ก็มนุษย์เองนั่นแหละเป็นผู้ทำ มนุษย์กำลังได้รับผลกรรมจากการที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นเอง คือผลร้ายแห่งมโนกรรมอันเป็นอกุศลในการคิดไม่ซื่อตรงต่อหลักแห่งกรรม หรือกฎแห่งธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เบื้องต้นจะต้องสร้างความซื่อตรงต่อหลักแห่งธรรมชาตินี้ให้ได้เสียก่อน แล้วความหมายที่สืบเนื่องต่อมาจึงจะเป็นไปในทางที่ดีงาม ถูกต้อง และสอดคล้องต้องกัน แล้วเราก็จะมีความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง เราจะวัดคนด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกต้องและดีงามต่อไป เป็นข้อที่หนึ่ง
No Comments
Comments are closed.