- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
บทพิเศษ ๒
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์1
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์กำลังเกร่อเหลือเกิน ถ้าปฏิบัติไม่ถูก เสียหลักเมื่อไร ก็ไปเลย คือทำให้ตกจากพระศาสนา ตัวเองก็พลัดตกจากพระพุทธศาสนา พร้อมกันนั้นก็พาให้เกิดผลเสียแก่สังคมส่วนรวม พุทธศาสนาเองก็จะเสื่อมโทรม ดังนั้น จะต้องมีหลักที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง
คนสมัยพระพุทธเจ้าเชื่อถึงขนาดเอาฤทธิ์มาวัดกันว่า ความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พระองค์จึงต้องทำลายความเข้าใจผิดของมนุษย์เสียใหม่ พระองค์ทรงใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ ปราบเสร็จ เข้าสู่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ (คือ) คำสอนที่เป็นจริง ทำให้เห็นความจริง ปฏิบัติ ก็พบความจริงแห่งความพ้นทุกข์
หลักพระพุทธศาสนา ต้องการพัฒนาคนให้เจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา คนยังไม่พัฒนา ก็ลุ่มหลงมัวเมาในฤทธิ์ หรือหวังผลจากฤทธิ์ เราทำอย่างไรจะพาเขาให้ก้าวจากจุดยืนนี้ไป เราจะต้องปฏิบัติให้เหมาะควรกับเหตุปัจจัยของแต่ละคน
คนจำนวนมากยังไม่แว่วเสียงธรรม ถ้าจะยอมละเว้นการประพฤติตามอำเภอใจ เพราะเชื่อถือและเกรงกลัวต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เขาเคว้งคว้างไม่มีหลักอะไร
ข้อสำคัญก็คือ อย่าหยุดจมกันอยู่กับความเชื่อแบบปฐมกัปเรื่อยไป หรือเอาความศักดิ์สิทธิ์นั้นไปรับใช้สนองกิเลสของเขา ล่อให้เขาหาลาภให้แก่ตัว แทนที่จะช่วยยกเขาให้ขยับขึ้นมา
“ผู้สอน” ต้องรู้ก่อนว่า หลักพระพุทธศาสนาคืออะไร สอนให้รู้หลัก ผู้สามารถพอ สอนแป๊บเดียว ผู้ฟังก็ก้าวเข้ามาถึงจุดที่ต้องการได้เลย พระพุทธเจ้า ตามปกติไม่ทรงใช้ฤทธิ์ ทรงใช้วิธีเขี่ยผงในตา ผู้ไม่สามารถใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ให้ถึงความจริงได้ ก็อาศัยฤทธิ์เป็นสื่อเพื่อจูงเขาขึ้นมา แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เพื่อดึงเขาก้าวต่อ ไม่ใช่ดึงตัวเข้าไปหมกอยู่ให้เขาหลงยิ่งขึ้น ตัวเองหลงลาภสักการะ แทนที่จะมุ่งประโยชน์แก่เขา ก็กลายเป็นมุ่งจะไปเอาจากเขา กลายเป็นหลอกลวงเขาไป
จะพาเขาเดินก้าวหน้า เริ่มต้น ตัวเองต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ก่อน ต้องมีเมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อเขา ไม่คิดหลอกลวงหาลาภสักการะจากเขา ต่อจากนั้นต้องปฏิบัติให้ถูกหลักการ ๓ อย่าง
หลักการที่ ๑ หลักกรรม คือ การที่จะเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อภินิหารจะต้องไม่ให้เสียหลักกรรม เชื่อในหลักเหตุผล ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เชื่อในการกระทำของมนุษย์ว่า ผลที่ต้องการสำเร็จด้วยการกระทำ เมื่อเราหวังผลสำเร็จ เราต้องทำ และจะต้องทำเหตุดี เพื่อให้เกิดผลดี นี้คือหลักความเชื่อที่สำคัญ ถ้าทำให้คนรอคอยการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ผิดหลักกรรมทันที คือว่าผิดจากความเป็นพุทธศาสนิกชนเลย
หลักการที่ ๒ หลักสิกขา คือฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องก้าวต่อไป ไม่ใช่มัวเพลินหยุดนิ่ง พระจะต้องจูงให้เขาเดินหน้า
ตอนแรกอาจจะเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นกำลังใจก่อน แต่พฤติกรรมที่วุ่นวายพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น จะต้องเบาบางลดน้อยลงไปตามลำดับ
ถ้าต้องมัวปลอบขวัญกันอยู่ ก็ไม่รู้จักเติบโตเป็นผู้ใหญ่สักที กลับยิ่งเสี่ยงภัยหนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นภัยในความเพลินเพลินที่เกิดจากความหลง และความประมาทของตัวเอง
ถ้าจะหาที่พักพิงอย่างนี้บ้าง ก็เอาพอช่วยให้สดชื่นมีกำลังวังชาขึ้น แล้วรีบลุกขึ้นเดินทางมุ่งหน้าต่อไป จนในที่สุด จะไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปเอง เพราะความเชื่อไม่ผิดหลักกรรม การปฏิบัติไม่ผิดหลักสิกขา
หลักการที่ ๓ คือความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ ประวัติเทพเจ้ามีแต่เรื่องวุ่นวายแย่งชิงรบราฆ่าฟันกัน คือฤทธิ์จะควบมากับกิเลส ในพุทธศาสนา ความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ค่อยๆ โน้มมาสู่ปัญญา ความบริสุทธิ์ และคุณธรรม
ฤทธิ์อะไรก็สู้ฤทธิ์แห่งความจริงความดีและความบริสุทธิ์ไม่ได้ ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาสูงสุดที่ความบริสุทธิ์ ปัญญา และคุณธรรม เราสร้างพระพุทธรูปเป็นมนุษย์ธรรมดา นั่งงามสง่าด้วยธรรม ไม่ต้องแผลงฤทธิ์ สงบเย็นมีเมตตา ยิ้มแย้มให้คนอุ่นใจ สบายใจ มีความสุข นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้
ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า ตลอดจนเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเครื่องบำรุงขวัญให้อุ่นใจมั่นใจขึ้นมา แต่ถ้าหลงเพลินอยู่ ก็จะปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่คิดทำอะไรๆ ที่ควรทำตามเหตุตามผล ทอดทิ้งเรื่องเหตุปัจจัยเสีย เอาความหวังกล่อมใจจมอยู่ในความประมาท ไม่อยู่กับความเป็นจริง ก็คือหลอกตัวเองนั่นเอง
ถ้าความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในความหมายที่ลอยพ้นกิเลส หันสู่คุณพระรัตนตรัย ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากคุณธรรม มีความบริสุทธิ์ มีปัญญา มีกรุณาเป็นหลัก ก็ใช้ได้
เมื่อนับถือความศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกต้องแล้ว ก็ปฏิบัติตามหลัก คือ หลักกรรม ให้หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม โดยใช้ปัญญาทำที่เหตุปัจจัย และ หลักสิกขา ให้ฝึกฝนพัฒนาตน ก้าวหน้าในวิถีทางแห่งธรรมยิ่งขึ้นไป
No Comments
Comments are closed.