- ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)
- สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด
- ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่
- ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
- เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
- บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
- ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก
- บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
- ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา
- กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน
- จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
- หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่ ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
- ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
- ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต
- ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔
- จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว
- ถ้าความไม่ประมาทมา ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า
- งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา
- คำปรารภ
บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น
แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
ลงท้าย คนอ้วน และโรคอ้วน ก็เหมือนจะเป็นผลรวมปลายทางที่สะท้อนปัญหาของบริโภคนิยม อย่างที่คนจะพูดได้ว่า ก็บริโภคกันนักจนอ้วนกันไปเกือบครึ่งเมืองอย่างนี้ จะไม่ให้ขยะล้นประเทศได้อย่างไร แม้ในเรื่องดินเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย ฟ้ามัวด้วยฝุ่นควันพิษ เป็นต้น ก็ทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ต้นทางในการผลิต ถึงปลายทางตอนบริโภค คนทำร้ายธรรมชาติ แล้วสิ่งแวดล้อมที่เสียหายตีกลับมาเป็นพิษเป็นภัยแก่คนทำให้มนุษย์อยู่อาศัยในโลกนี้ได้ยากขึ้นๆ และตัวคนเองเจอทุกข์เจอภัย ก็เดือดร้อน เสียสุขภาพ เกิดโรคอ้วนขึ้นมา เลยไปถึงปัญหาจากไขมัน โรคหัวใจ มะเร็ง ฯลฯ เข้าทำนองว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
ต้นตอของปัญหาอยู่ในตัวคน ปัญหาเกิดจากคน คนสร้างปัญหา แล้วลงท้าย ปัญหาก็มาลงที่คน คนต้องผจญปัญหา และมันก็เป็นปัญหาจากการหาความสุขของคน คือคนพวกที่ถือบริโภคนิยมนั้น เหมือนกับมีคติว่า เสพให้มากที่สุด จะได้มีความสุขมากที่สุด แล้วจากการกินเสพมากเกินไป ตัวคนเองก็เกิดโรคเสื่อมเสียสุขภาพ ข้างนอกก็ผลาญทรัพยากร ก่อขยะ ของเสีย ทำลายธรรมชาติทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษภัยอย่างที่ว่าไปแล้ว
ทีนี้ ตัวคนที่ก่อปัญหานั้น ก็เป็นปมปัญหาซับซ้อนอยู่ในตัวเขาเอง ตั้งแต่บอกว่าหาความสุข ก็เหมือนกับฟ้องว่าตัวเองไม่ค่อยมีความสุข จึงมองหาเที่ยวหาความสุขจากข้างนอก คือจากการเสพอามิส ซึ่งเป็นความสุขที่พึ่งพา ขึ้นต่อสิ่งเสพข้างนอกนั้นๆ แล้วก็ได้แค่สมใจผ่านไปทีหนึ่งคราวหนึ่ง ไม่เป็นความสุขที่ยั่งยืนประจำอยู่ในตัวเอง
แล้วปมหาความสุขนี้ ก็โยงไปที่ชีวิตด้านการอยู่ร่วมสังคม ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ในสังคมที่พัฒนาแล้ว เจริญทางวัตถุมาก ที่อยู่กันแบบปัจเจกตัวใครตัวมัน ไม่ค่อยจะอบอุ่นด้วยไมตรีสงเคราะห์ แถมมีวิถีชีวิตที่ดำเนินไปในสังคมที่เป็นระบบแข่งขันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ก็เจอความกดดัน เบียดแซง มีความเครียด ความกังวล ร้อนรน กระวนกระวาย ไปถึงปฏิกิริยาเบื่อหน่าย หดหู่ ผิดหวัง ซึมเศร้า เหงาหงอย
ในวิถีชีวิตที่ดำเนินไปนั้น ส่วนสำคัญก็คือ การทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือการทำงานในอาชีพ ซึ่งใช้เวลา เรี่ยวแรง พลังงานส่วนใหญ่ของชีวิต ปัญหาว่าชีวิตมีความสุขความทุกข์หรือไม่แค่ไหน จึงต้องดูที่นี่ให้จริงจังด้วย
อย่างเรื่องที่เล่าว่า คนทำงานด้วยความเบื่อหน่ายแปลกแยก ใจไม่สบายเลย มองแต่ว่าเมื่อไรจะหมดเวลาสักที มีตู้หยอดตังค์อยู่ใกล้ๆ เดี๋ยวๆ ก็ไปกดเอาน้ำหวานบ้าง ข้าวโพดคั่วบ้าง มันทอดกรอบ หรืออะไรที่ชอบมาดื่มมาเคี้ยว นี่คือระบายความอัดอั้นเบื่อหน่ายออกไป แต่ได้โรคอ้วนมา คนบริโภคมากไม่ใช่สนองความต้องการของชีวิตที่จะมีสุขภาพ แต่เกินความต้องการจนกลายเป็นการเบียดเบียนชีวิต
ตำราใหญ่ชุดหนึ่งบรรยายความในหัวเรื่องโรคเนื่องด้วยอาชีพ หรืออาชีวิกาพาธ (occupational disease) พูดถึงโรคต่างๆ และภาวะเสื่อมเสียสุขภาพ ที่คนทำงานเสี่ยงที่จะประสบในอาชีพนั้นๆ เฉพาะอย่างยิ่งในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จากสารเคมี จากแก๊ส จากโลหะเช่นปรอท จากฝุ่นผงเช่นถ่านหิน จากอุณหภูมิ จากเสียง จากความสั่นสะเทือน ฯลฯ ไปลงท้ายที่โรคจากปัญหาจิตใจ
เขาบอกว่าสภาพจิตตัวร้ายที่เจอกันเป็นสามัญทั่วไปมี ๒ อย่าง คือ ความเบื่อหน่าย (boredom) กับความเครียด (mental stress) ซึ่งอาจเกิดจากความไม่พอใจไม่สมใจในงาน ทำงานซ้ำซาก งานหนักเกินไป ทำให้ไม่ตั้งใจทำงาน ผลงานด้อยต่ำ ทำงานผิดพลาด อาจเกิดอุบัติเหตุ และตัวคนก็ไม่มีความสุข เสื่อมเสียสุขภาพ ทั้งจิตและกาย ทำให้งุ่นง่านหงุดหงิด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และเกิดโรคต่างๆ ไปจนถึงโรคหัวใจ ลงท้ายบอกวิธีแก้ไขว่า ออกกำลังบริหารร่างกายตามสมควร เจริญสมาธิ (meditation) พักผ่อนหย่อนใจ และบำบัดรักษา (“occupational disease.” Encyclopædia Britannica, 2014.)
มองกว้างออกไปในโลกเวลานี้ พูดได้ว่าการทำงานอาชีพมี ๒ ระบบใหญ่ คือระบบบังคับ กับระบบเงื่อนไข หรือระบบจำเป็น กับระบบจำใจ หรือระบบฝืนใจ กับระบบจำใจ
ระบบบังคับหรือระบบจำเป็น ก็คือทำตามอำนาจที่ควบคุมสั่งการ ส่วนระบบเงื่อนไข คือระบบเสรีที่จำใจทำงานซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้ค่าตอบแทนอันเป็นเหมือนรางวัลที่ตัณหาอยากได้ ทั้ง ๒ ระบบนี้ทำให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตจิตใจอย่างที่ได้ว่าแล้ว
ระบบที่ ๓ ซึ่งเป็นทางสายกลาง คือระบบตรงความพอใจ หรือระบบเต็มใจ คือทำงานที่มองเห็นคุณค่าประโยชน์แล้วอยากทำให้สำเร็จอย่างดีที่สุด โดยมีทุนที่อุ่นใจมั่นใจว่าจะได้เป็นประกันการครองชีวิตที่ดี เรียกให้สั้นว่า ระบบฉันทะ
สังคมในประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วในบัดนี้ ซึ่งได้พัฒนาอย่างสูงนำหน้าทางวัตถุไปไกล ได้ชื่อว่ามั่งคั่งพรั่งพร้อม กลับประสบปัญหามากมายร้ายแรง ทั้งปัญหาชีวิตครบร่างกายและจิตใจ ปัญหาสังคม ปัญหาธรรมชาติตลอดถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยมีอาการปรากฏแก่คน ซึ่งเป็นผู้เสวยผลของการพัฒนานั้น กลายเป็นวิปริตผิดแปลกไป กายเป็นโรคอ้วนโยงต่อไปสู่โรคอื่นๆ ใจเครียดเบื่อหน่ายกันแพร่หลาย เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นๆ ถึงขั้นฆ่าตัวตายกันมาก
บริโภคนิยมเหมือนจะเป็นลักษณะสำคัญของอารยธรรมปัจจุบัน แล้วก็เป็นตัวฟ้องบอกอาการป่วยของอารยธรรมนั้น
No Comments
Comments are closed.