- ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)
- สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด
- ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่
- ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
- เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
- บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
- ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก
- บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
- ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา
- กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน
- จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
- หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่ ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
- ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
- ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต
- ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔
- จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว
- ถ้าความไม่ประมาทมา ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า
- งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา
- คำปรารภ
บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา
ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
อเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รุ่งเรืองเฟื่องฟูยิ่งนักดังว่าแล้ว เวลาผ่านมาราว ๑ ทศวรรษ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ดแต่งหนังสือขึ้นมาเอาสภาพสังคมอเมริกันที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมนั้นตั้งเป็นชื่อหนังสือว่า The Affluent Society (John Kenneth Galbraith, 1958) เขาวิจารณ์บริโภคนิยมที่มากับความมั่งคั่งพรั่งพร้อมของอเมริกานั้น เขาบอกว่า แทนที่จะเอาแต่โฆษณาให้คนเกิดความต้องการแบบไม่รู้จักพอขึ้นมาแล้วจะได้ผลิตสินค้าขึ้นมาขายมากๆ เพื่อสนองความต้องการเทียมนั้น ควรเอาเงินไปใช้สร้างสาธารณประโยชน์กันดีกว่า นี่ก็เป็นเสียงธรรมที่เตือนสติขึ้นมาในกระแสบริโภคนิยมของอเมริกา (Galbraith ได้เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานาธิบดี John F. Kennedy)
เศรษฐกิจที่มั่งคั่งนั้น มากับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความจำเป็นเร่งด่วนในการสู้รบ ทำให้ต้องระดมกำลังเต็มอัตราเต็มเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อสิ้นสงคราม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลนั้น ก็เอามาสร้างความเจริญรุ่งเรือง ความสะดวกสบาย และความมั่งคั่งพรั่งพร้อม ใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโต
แต่ในกระบวนการสร้างความเจริญมั่งคั่งสะดวกสบายนั้น เทคโนโลยีก็เป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์รุกรานทำลายธรรมชาติ พร้อมกับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคน ทำให้คนมีชีวิตที่พึ่งพาขึ้นต่อเทคโนโลยี แล้วคนก็แปลกแยกจากธรรมชาติ ตลอดจนแปลกแยกจากคนเองด้วยกัน
มนุษยชนถิ่นพัฒนานั้นลำพองตัวว่ามีความเจริญก้าวไกล ได้ล่วงรู้ความลับของธรรมชาติ สามารถเอาธรรมชาติมาจัดการผันแปรกำจัดดัดแปลงให้เป็นไปต่างๆ ที่จะรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ได้ตามใจปรารถนา แต่ที่จริงมนุษย์ไม่รู้ความจริงทั่วตลอดเพียงพอ เวลาผ่านไปไม่นานนัก ก็เริ่มเจอเรื่องราวเหตุการณ์อันเป็นผลร้าย ที่ทำให้ตื่นตระหนกกลัวภัยซึ่งคาดไม่ถึง
เรื่องหนึ่งที่เด่นดังขึ้นมาในระยะต้นๆ ปรากฏในปี 1962/๒๕๐๕ เมื่อนักชีววิทยาชื่อ Rachel Carson เขียนหนังสือออกมาชื่อว่า The Silent Spring แปลง่ายๆ ว่า “วสันต์ที่วังเวง” (วสันต์ คือฤดูใบไม้ผลิ ไม่ใช่ฤดูฝน-วัสสานะ)
The Silent Spring บอกเล่าให้ผู้คนมองเห็นสภาพความสูญเสียย่อยยับของระบบนิเวศ ทั้งประดาสัตว์และพืชพันธุ์ อันจะคืบเคลื่อนมาถึงตัวมนุษย์เอง เนื่องมาจากการผลิตยาฆ่าแมลง เฉพาะอย่างยิ่ง ดีดีที/DDT ขึ้นมาใช้กันอย่างย่ามใจ เสียงนี้ปลุกคนให้สะท้านใจตื่นกลัวภัย เริ่มจะหงอกันขึ้นมา
ราเชล คาร์สัน เขียนเตือนว่าพฤติกรรมหยิ่งผยองลำพองตนของมนุษย์ที่คิดว่าตนพิชิตธรรมชาติได้และจะจัดการธรรมชาติให้เป็นไปตามชอบใจของตัวนั้น ก็คือกระบวนปฏิบัติการในการทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ของตัวมนุษย์เอง1
จากนั้น ผลเสียผลร้ายจากการบริโภคกินเสพฟุ่มเฟือยไม่รู้จักประมาณของมนุษย์ และจากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ก็ทยอยโผล่ออกมา ทั้งขยะล้นเหลือ น้ำเสีย ดินเสีย หมอกควัน อากาศเป็นพิษ โลกร้อนมากขึ้น ผู้คนเจอแต่เรื่องที่ทำให้ตื่นกลัว ต้องลุกขึ้นมารวมกำลังกัน เช่นเดินขบวนเรียกร้องให้แก้ไขป้องกันภัย ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ ให้พิทักษ์รักษาแผ่นดิน แล้วก็ได้เกิดมี Earth Day วันแม่พระปฐพี หรือวันพิทักษ์โลก (๒๒ เมษายน) ขึ้นในปี 1970/๒๕๑๓ และถึงปลายปีนั้น รัฐสภาสหรัฐก็ได้ให้กำเนิดองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA = Environmental Protection Agency) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหญ่ที่สุด โดยภายใน ๕ ปี มีงบประมาณวันละ ๒ ล้านเหรียญสหรัฐ
ถึงปี 1978/๒๕๒๑ คนอเมริกันก็ต้องตื่นตระหนกครั้งใหญ่ เมื่อมีข่าวน่ากลัวว่า ที่คลอง Love Canal ใกล้น้ำตกไนแอการา ชุมชนชาวหมู่บ้านประสบภัยจากน้ำเสียปนสารเคมีที่เป็นพิษ อยู่ๆ น้ำเน่าน้ำเสียก็ปุดๆ โผล่ขึ้นมาที่สนามหญ้าหน้าบ้าน บางบ้าน น้ำเสียเป็นพิษซึมเข้าไปในชั้นใต้ดินของบ้าน มีกลิ่นแปลกๆ เด็กๆ เป็นโรคผิวหนังที่ไม่รู้จัก แม่แท้งลูกบ้าง ลูกเกิดมาไม่สมประกอบบ้าง คนเป็นโรคปวดหัวบ้าง เป็นโรคตับ ก็มี จึงโวยวายกันขึ้นมา
แล้วก็ค้นหาสาเหตุกันจนได้พบว่า ที่นั่นเมื่อ ๓๐ ปีก่อนโน้น เป็นที่ทิ้งน้ำเสีย และฝังสารเคมีที่เป็นพิษกว่า ๘๐ ชนิด ทิ้งและฝังกันอยู่ ๕ ปี ทับถมกันเกือบ ๒๒,๐๐๐ ตันแล้วก็กลบที่ไว้นานจนทางการอนุญาตให้สร้างเป็นที่คนอยู่อาศัยได้ จึงมีการสร้างหมู่บ้านนั้นขึ้น เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ทางการจึงประกาศให้เป็นที่คนอยู่อาศัยไม่ได้ คนต้องอพยพทิ้งบ้านไปราว ๑,๓๐๐ คน แล้วอาคารบ้านเรือนที่นั่นก็ถูกรื้อถอนทำลายทั้งหมด
เหตุการณ์ร้ายแรงนี้นอกจากทำให้ประชาชนตื่นกลัวกันใหญ่แล้ว ก็ทำให้ทางการต้องลุกขึ้นมาสำรวจตรวจดู แล้ว EPA ที่ว่าเมื่อกี้นั้น ก็ได้ตัวเลขประมาณว่า เฉพาะในนิวยอร์กยังมีที่เป็นขุมภัยร้ายอย่างนี้อีก ๓๐ แห่ง และทั่วประเทศอเมริกามีมากกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง โดยประมาณว่าจะต้องใช้เงินทำงานชำระล้างทั้งหมด สี่หมื่นสี่พันล้านเหรียญสหรัฐ
ปัญหาใหญ่ที่ยืดเยื้อมานาน ๓๐ – ๔๐ ปี ก็คือเรื่องขยะล้นบ้านล้นเมือง ทำให้ต้องไปหาที่ทิ้งไกลๆ นอกประเทศ ดังที่เป็นข่าวขึ้นมาว่า เรือเดินสมุทรอเมริกันบรรทุกขยะไปทิ้งทะเล หาที่ทิ้งไม่ได้ แล้วจบลงด้วยพฤติกรรมแปลกๆ บ้างก็ไปตกลงให้เงินแก่ผู้ปกครองหมู่เกาะบางแห่งที่ยอมให้ใช้เป็นที่ทิ้งขยะ บ้างออกเรือเร่ร่อนหายไปเป็นปีๆ จึงกลับมาโดยไม่รู้ว่าเอาขยะไปทิ้งได้ที่ไหน บางประเทศที่ยากจนอย่างในแอฟริกาก็ยอมตกลงรับเป็นที่ทิ้งขยะ จนขยะถูกเรียกว่าเป็นสินค้าส่งออก (waste export)
แล้วก็มีกรณีที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ๆ ในทะเล เช่น นานๆ ก็จะมีข่าวเรือบรรทุกน้ำมันอับปาง อย่างกรณีเรือ Exxon Valdez ไปชนหินโสโครกแล้วอับปางที่อะแลสกา (Alaska) เมื่อปี 1989/๒๕๓๒ น้ำมันไหลแผ่ขยายไปในทะเล ๒๕๘,๐๐๐ บาร์เรล ทำให้น้ำเสีย และทำลายชีวิตสัตว์ทะเลไปมากมาย นั่นก็เป็นกรณีเด่นดังใหญ่ยิ่งในยุคนั้นแล้ว แต่เวลาผ่านไปใกล้เข้ามา ก็มีเหตุการณ์ที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นอีก อย่างเมื่อปี 2010/๒๕๕๓ ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกเกิดระเบิดในน้ำลึกทำให้น้ำมันรั่วไหลไปในทะเลถึง ๔.๙ ล้านบาร์เรล
ธรรมชาติที่ถูกทำลายเสื่อมเสียหาย ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษภัยมากขึ้นๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ได้พัฒนาเจริญไกล จนสมัชชาใหญ่สหประชาชาติต้องตั้งคณะกรรมาธิการอิสระขึ้นมาศึกษาพิจารณา
เวลาผ่านไป ๔ ปี ผลออกมาเป็นรายงานฉบับสำคัญในปี 1987/๒๕๓๐ ซึ่งเอาไปพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า Our Common Future (อนาคตร่วมกันของเรา) หลังปกตีตัวแดงว่า “This is the most important document of the decade on the future of the world.” (นี้คือเอกสารสำคัญที่สุดแห่งทศวรรษ ว่าด้วยอนาคตของโลก) ทำให้ sustainable development เกิดเป็นคำสำคัญที่ใช้กันอย่างจริงจัง เป็นอันให้รู้ว่า การพัฒนาที่ทำกันมาในอารยธรรมปัจจุบันของโลกนี้ เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
No Comments
Comments are closed.