- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
การที่ได้ยกเอาหลักในคติพระโพธิสัตว์ขึ้นมาพูดนั้น ก็เข้ากับเรื่องนี้ คือในการทำความดีนั้น ต้องมีแนวทางหรือมีจุดเน้นบ้าง จึงต้องตั้งเป้าไว้ว่า เราจะเอาอย่างไร มิใช่ว่าประพฤติความดีพร่าไปหมด ต้องเอาเป็นข้อๆ ทีละข้อ ทีละเรื่อง หรือสองสามเรื่อง ก็พอ เพราะฉะนั้น นอกจากมีศีลแล้ว ท่านจึงให้มีพรตมีวัตรด้วย
ศีลเป็นความประพฤติสามัญที่ควรปฏิบัติเสมอกันสำหรับทุกคน ในโลก ในสังคม ในชุมชน หรือในหมู่ชนนั้นๆ แล้วแต่กรณี เช่น ในหมู่มนุษย์ทั้งหมด คนเราอยู่ในสังคมด้วยกัน ก็ไม่ควรละเมิดต่อกัน ไม่ควรเบียดเบียนกัน เมื่อต่างคนพากันประพฤติอย่างนี้ ก็อยู่กันดี เมื่อประพฤติกันได้อย่างนี้เป็นปกติ ก็เป็นคนมี ศีล
ทีนี้ นอกเหนือจากความประพฤติสุจริตที่ทุกคนควรมีเป็นปกติเหมือนๆ กัน หรือความประพฤติดีขั้นพื้นฐานที่เรียกว่าศีลนี้ เราอาจทำความดีพิเศษบางอย่างเพิ่มขึ้นมา ให้เป็นความประพฤติพิเศษประจำตัว ที่เรียกว่า วัต (พรต)1 ตลอดจนข้อปฏิบัติย่อยๆ ที่ทำเป็นประจำจำพวกหน้าที่ ที่เรียกว่า วัตร เช่นกิจวัตรต่างๆ
ความประพฤติพิเศษประจำตัว และข้อปฏิบัติที่ทำเป็นประจำเหล่านี้ จะสะสมปรุงแต่งความเคยชินอุปนิสัยความถนัดความสามารถประกอบกันเป็นบุคลิกของเรา ตั้งแต่อากัปกิริยาทั่วไป นี่คือเป็นวาสนาที่จะกำหนดโชคชะตาของเรา
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือบางอย่างให้ได้ผล ก็เอามาถือปฏิบัติประจำตัว เหมือนอย่างที่พระสมาทานพรตสมาทานวัตร เมื่อเราคิดพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว เห็นว่าการกระทำหรือการปฏิบัติอันนี้ ถ้าถือแล้วจะเป็นประโยชน์แก่เรา ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางลบก็ตาม ในทางบวกก็ตาม ก็ตั้งใจสมาทาน คือถือปฏิบัติด้วยความเจาะจงจำนงใจ
ในทางลบ เช่นจะแก้นิสัยบางอย่าง บางคนรู้สึกว่าตัวเรานี้เป็นคนมีนิสัยเสียในเรื่องชอบกินจุกกินจิก คิดขึ้นมาว่าอย่างนี้ไม่ดีนะ ควรแก้ไขเสีย เราก็สมาทานพรตไม่กินจุกจิก จะกินวันละเท่านั้นเท่านี้มื้อ หรือแม้แต่กินมื้อเดียวก็ได้ อาจจะตั้งเป็นวัตรว่าจะกินเมื่อตรงเวลาเท่านั้นเวลาเท่านี้ แล้วแต่จะพิจารณาว่าเหมาะกับตนหรือเป้าหมายของตน พอเราตกลงกับใจของเราได้มั่นใจแล้ว ก็สมาทานเลยว่า เราจะถือข้อปฏิบัติอย่างนี้ตลอดเวลายาวนานเท่านั้นเท่านี้ การถือจำกัดเวลาก็ได้ ไม่จำกัดเวลาก็ได้ เมื่อตกลงสมาทานจริงจัง เอามาตั้งเป็นพรตเป็นวัตร ทำเป็นข้อเจาะจงชัดเจนอย่างนี้ ก็จะประสบความสำเร็จ
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของข้อปฏิบัติ เรื่องความประพฤติ เรื่องพฤติกรรมต่างๆ ถ้าจะให้สำเร็จ ต้องทำเป็นพรตเป็นวัตร ใครจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ ก็สมาทานพรตตั้งเป็นวัตร ก็มีทางแก้ไขได้สำเร็จ นี่เป็นเคล็ดลับในการฝึกคน ท่านจึงให้หลักไว้สองชั้น ไม่ใช่อยู่แค่ศีล แต่มีพรตมีวัตรด้วย ศีลนั้นเรามีเหมือนกับคนอื่น ความประพฤติของเราอยู่ในระดับปกติดีแล้ว เหนือจากนั้น เราก็ถือพรตทำวัตรเพื่อแก้ไขอะไรบางอย่าง หรือทำอะไรที่พิเศษยิ่งขึ้นไป
ในทางบวก เมื่อจะทำความดีบางอย่าง เช่น จะฝึกตนให้เป็นคนกล้าเสียสละ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มากด้วยเมตตาการุณย์ ตัวเคยได้ฟังพระสอนว่ากินคนเดียวไม่ได้ความสุข (เนกาสี ลภเต สุขํ, เช่น ขุ.ชา. ๒๗/๑๖๗๔/๓๓๓) ก็อาจสมาทานความประพฤติพิเศษอะไรสักอย่าง ที่เป็นการไม่กินคนเดียว อย่างพระโพธิสัตว์ในชาดกหนึ่งถือข้อปฏิบัติว่า ถ้ายังไม่ได้ให้อาหารแก่ใคร ตัวเองก็ยังไม่กิน หรือว่า จะไม่ยอมกินอะไรก่อนให้คนอื่น ท่านสมาทานวิธีปฏิบัติว่า แต่ละวันเมื่อตื่นขึ้นมา จะยังไม่ยอมกินอะไร จนกว่าจะได้ให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว
ญาติโยมถือพรตทำวัตรอย่างนี้ได้ ก็ดีเหมือนกัน พอถือหลักว่าต้องให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว ในวันหนึ่งๆ เมื่อตื่นขึ้นมา ก็ต้องหาทางไปให้แก่คนอื่น ไม่รู้จะให้ใคร ก็ถวายพระ ไปตักบาตร ก็เป็นอันว่าได้ให้แล้ว จากนั้นตัวเองจึงจะกินข้าว อย่างนี้ก็ได้สมาทานพรตและทำวัตรแล้ว เป็นตัวอย่างหนึ่ง
เชิงอรรถ
- อย่างพระนี่ ต้องมีศีลเหมือนกันทุกองค์ แต่นอกจากศีล แต่ละองค์อาจเลือกถือธุดงค์ข้อนั้นข้อนี้ และเมื่อถือธุดงค์ข้อนั้นๆ แล้ว ก็มีวัตรที่จะต้องปฏิบัติเป็นรายการย่อยสำหรับธุดงค์ข้อนั้นๆ เช่นเมื่อถือธุดงค์ข้ออยู่ป่า ก็ต้องปฏิบัติอารัญญิกวัตรมากหลายข้อ เช่น ตื่นแต่เช้า ปฏิบัติตามขั้นตอนในการเตรียมตัวออกเดินทางไปรับบิณฑบาต การเข้าสู่ละแวกบ้าน การรับอาหารจากผู้ถวาย การออกจากบ้าน การเตรียมตัวกลับเข้าสู่ที่พำนัก การจัดตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ติดไฟ เรียนรู้ทางนักษัตร รู้จักทิศ
No Comments
Comments are closed.