- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
๔. ปัญหาก็มีว่า ปัญญาที่แท้จริง ชนิดที่เราต้องการนั้นคืออะไร ปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ได้รู้เห็นอะไรมาก รู้กว้างขวาง ฉลาดในการทำมาหาเลี้ยงชีพ อันนี้เป็นปัญญาหรือไม่ ถ้าหากเราเห็นว่าผลดีที่เราต้องการคือความพรั่งพร้อมทางวัตถุ แล้วเราใช้ปัญญาเพื่อหาทางสนองความต้องการนี้ มันก็ไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง เป็นเพียงการอาศัยปัญญาเพื่อที่จะมารับใช้ตัณหาเท่านั้น เป็นปัญญาที่ควบคู่กับตัณหา ปัญญาที่แท้จริงไม่เกิดขึ้น ปัญญาที่แท้จริงมาควบคู่กับอะไร เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ขอเสนอไว้ให้เป็นข้อพิจารณาก่อนว่า ปัญญาที่แท้จริงนั้นมากับกรุณา นอกจากนั้นปัญญาที่แท้จริงจะทำให้เกิดอิสรภาพและเป็นทางมาแห่งเสรีภาพที่แท้จริงด้วย
ปัญหาจะเกิดขึ้นต่อไปอีกว่า อิสรภาพที่แท้จริงคืออะไร ได้กล่าวในเบื้องต้นครั้งหนึ่งแล้วว่า การล่วงพ้นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง อันนั้นแหละคืออิสรภาพ ปัญญาที่แท้จริงคืออะไร ทำให้เกิดอิสรภาพอย่างไร มากับกรุณาอย่างไร ขอให้มาช่วยกันพิจารณาดู
การยกตัวอย่างอาจจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น เมื่อเห็นคนคนหนึ่งแบกของหนักมา ของที่ถือมาเป็นประโยชน์ต่อเรา เราน่าจะแย่งชิงเอามาใช้ ความคิดในทางแย่งชิงหรือลักขโมยก็จะเกิดขึ้น หรือเพลาลงมา ไม่ต้องถึงขั้นอยากชิงลักขโมย เพียงแต่ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดจำกัดแคบติดอยู่แค่ตัวตน เห็นแก่ความสะดวกสบาย ความสุขสำราญส่วนตัวอย่างเดียว ก็จะมองด้วยความรู้สึกเกะกะกีดขวางรำคาญ ขัดสายตา หรืออาจแรงขึ้นไปเป็นขัดใจ เกิดโมโหเกรี้ยวกราดไปเลยก็ได้
ส่วนอีกคนหนึ่งมองด้วยปัญญาพิจารณาเหตุผล โดยไม่เกี่ยวกับตัวตนที่จะได้จะเอา ก็จะมองด้วยสายตากว้างขวาง เกิดความเข้าใจเห็นใจตามมาเป็นความกรุณา โดยจะเกิดความรู้สึกขึ้นว่าคนคนนี้ เขาแบกของหนักมาเขาคงจะเกิดความเมื่อยล้า เขากำลังทำงานอาชีพอะไร เขามีความทุกข์ร้อนอย่างไร ก็จะเกิดความคิดในทางที่จะช่วยเหลือ หรืออย่างน้อยก็เห็นใจ หรืออาจมองหาทางแก้ปัญหาในวงกว้างอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามควรแก่เรื่องราวสถานการณ์หรือภาวะของตน เป็นความกรุณา
ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งในทางโลภะ ชายหนุ่มคนหนึ่งออกจากเมืองเดินทางผ่านไปในทุ่งนา เห็นหญิงสาวชาวนาผู้หนึ่ง รูปร่างสวยงาม ความคิดก็จะเกิดขึ้นได้สองแบบ ถ้าเขามองด้วยสายตาของตัณหา เขาก็จะปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัสที่มีในหญิงนั้น แล้วความนึกคิดของเขาก็จะวนอยู่แค่เรื่องตัวตนของเขาที่จะได้จะเอา กับหญิงนั้นในความหมายและในแง่ที่เป็นวัตถุสนองความต้องการของตัวตนของเขาเท่านั้น จากนั้นก็อาจจะมีตัวตนของเขาที่ติดตันอัดอั้นอับจนไม่อาจได้ หรือเอาไม่ได้ ถูกกระทบกระเทือนหรือบีบคั้นด้วยความไม่สมปรารถนา เกิดอาการอย่างอ่อนๆ เป็นความพะวักพะวนใจ มีปมขึ้นมาขัดขวางการทำงานของจิต ทำลายความเป็นอิสระในใจ หรืออย่างรุนแรง อาจเกิดความกลัดกลุ้มทรมานใจ ล้วนเป็นการสร้างปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นมาเองในรูปใดรูปหนึ่ง โดยที่ว่านั้นไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเลย หรือมิฉะนั้นถ้าพลุ่งออกมาข้างนอก ก็อาจจะเกิดปัญหาอื่นขึ้นต่อไปได้อีกหลายๆ อย่าง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องบรรยาย
แต่ถ้าเขามองด้วยสายตาของปัญญา ก็จะมองเห็นกลางๆ และเห็นกว้างขวาง ไม่เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนที่จะได้จะเอา และไม่เกิดปมที่จะมากำจัดอิสรภาพของจิต หรือขัดขวางการทำงานของความคิด คือเขาจะมองในความหมายและเกิดความคิดในแง่ที่ว่า หญิงคนนั้น เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพทำนา เขาอาจจะนึกต่อไปถึงอาชีพของชาวนาหรือนึกถึงการงานของหญิงชาวนาคนนั้น อาจจะนึกว่าบุคคลผู้นี้หรือชาวนาคนนี้มีความรู้สึกอย่างไร เขาอาจจะกำลังสุขสบายใจ เพลิดเพลินกับธรรมชาติที่สวยงาม ก็แล้วไป หรือเขาอาจจะทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย ขณะนี้เขาอาจจะกำลังเหนื่อยไม่สบายใจ หรือเขาอาจจะคิดถึงอาชีพของเขาว่าการทำนาเป็นอย่างไร ได้ผลดีหรือไม่ ความเป็นอยู่ของเขาตลอดถึงครอบครัวของเขาเป็นอย่างไร แล้วความรู้สึกเห็นใจเพื่อนมนุษย์หรือความคิดในทางที่จะช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น เป็นเรื่องของคุณธรรมคือความกรุณาและความรู้สึกในด้านที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเป็นลักษณะและอาการของจิตใจที่ยังมีอิสรภาพ
พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาเป็นกิจกรรมของจิตที่มีอิสรภาพ เกิดจากการมองสิ่งทั้งหลาย (คือมองโลกและชีวิต) ด้วยปัญญาซึ่งมีกรุณาเป็นพลังควบเคลื่อน หลักนี้ถือได้ว่าเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับวัดหรือวินิจฉัยว่าคนใดมีการศึกษา (ที่แท้จริง) หรือไม่ มีปัญญา (ที่แท้) หรือไม่ แม้แต่คนในระดับที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า ผู้มีการศึกษา จะเป็นครูก็ตาม แพทย์ก็ตาม นักกฎหมายก็ตาม ตลอดจนนักบริหารและนักปกครอง ก็จัดได้ว่า ผู้นั้นมีการศึกษา ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ หรือมีเพียงการศึกษาที่เป็นรูปแบบเป็นชั้น เป็นขั้น มีการศึกษาที่เข้าถึงเนื้อตัวของชีวิต หรือมีเพียงความรู้สำหรับเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ เป็นผู้ที่จะออกไปช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ หรือจะไปเป็นตัวการช่วยพอกพูนสะสมปัญหา
นี้เป็นเรื่องของการที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เริ่มด้วยการมองความหมายในสองแบบนี้ การมองความหมายสองแบบนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด และเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของมนุษย์ หรือเพิ่มพูนปัญหาของมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นไปเพื่อแก้ทุกข์ของมนุษย์ หรือเพื่อพอกพูนทุกข์แก่มนุษย์ นี้คือจุดวิกฤตของการศึกษา เป็นต้นทางที่จะนำไปสู่ความสัมฤทธิ์หรือความล้มเหลวของกระบวนการการศึกษาทั้งหมด
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ถูกต้องคือปัญญาในแง่นี้ คือตัวปัญญาที่บริสุทธิ์ ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ไม่เพียงรู้จักรูปลักษณ์ของสิ่งนั้นเท่านั้น ไม่เพียงแต่เห็นปรากฏการณ์ของสิ่งนั้นหรือ มองเห็นข้อเท็จจริงเป็นชิ้นๆ ก้อนๆ เท่านั้น แต่มองอย่างวิเคราะห์และสืบค้น เข้าใจถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นด้วย ว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นอย่างนี้ เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ ว่าสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ อย่างไร องค์ประกอบของมันมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร มิใช่คิดวนอยู่แค่ตัวตนของเรา กับภาพที่มองเห็นเฉพาะในแง่ที่เราน่าจะได้น่าจะเอา หรือที่ขัดใจเราไม่น่าจะเอา น่าจะให้วินาศดับสูญไปเสีย จากความคิดแนวนี้จะนำไปสู่ความคิดที่ถูกต้องต่อๆ ไป เรียกว่าเป็นความคิดที่อยู่ในกระบวนการการศึกษา เกิดจากความเข้าใจข้อเท็จจริงอย่างแท้จริง ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว จึงจะก้าวไปสู่ความรู้ขั้นญาณได้
ความรู้ที่เกิดจากปัญญาแบบนี้เราเรียกว่า ญาณ คือการหยั่งรู้ เป็นการรู้ขั้นผลนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง อันนี้แหละคือสิ่งที่เราต้องการในการศึกษา และเป็นการแยกระหว่างการศึกษาที่ถูกกับการศึกษาที่ผิด การศึกษาที่ผิดเราเรียกว่ามิจฉาศึกษา มิจฉาศึกษาก็คือว่า เราอาจจะรู้จริง แต่ไม่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหามนุษย์เลย เป็นเพียงความรู้เพื่อสนองความต้องการของตัวตน หรือสนองตัณหาเท่านั้น
การศึกษาที่แท้จริงนั้น ตัวแกนของมันไม่ได้อยู่กับระบบอะไรที่ไกลตัวเลย มันอยู่ใกล้ๆ อยู่กับตัวเรานี่เอง อยู่ที่จุดเริ่มแห่งความคิด ถ้าหากว่าเราเริ่มผิดแล้วก็ผิดตลอดไป นั้นคือตัวปัญญา ปัญญานี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องการ เป็นปัญญาที่ทำให้เราเกิดอิสรภาพ เมื่อเกิดปัญญาอย่างนี้แล้ว มันไม่จำกัดขอบเขตด้วยเรื่องตัวตน เป็นปัญญาที่ปลอดโปร่ง เมื่อเรามีอิสรภาพหรือความปลอดโปร่งโล่งใจแล้วเราก็คิดเผื่อแผ่อิสรภาพนั้นไปยังผู้อื่น ความนึกคิดเผื่อแผ่อิสรภาพไปให้แก่ผู้อื่นนี้เรียกว่าความกรุณา ถ้าขาดปัญญาเสียแล้วความกรุณาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นรากฐานแห่งกรุณา
แล้วบัดนี้เราสามารถสร้างปัญญาชนิดนี้ขึ้นได้หรือยัง ถ้าหากไม่สามารถสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์ปลอดโปร่งเช่นนี้ขึ้นได้แล้ว เราก็ไม่อาจสร้างการศึกษาที่แท้จริง แล้วอิสรภาพเสรีภาพที่ต้องการ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะอิสรภาพที่แท้จริงนั้นคือภาวะที่เกิดขึ้นจากปัญญาชนิดนี้ เป็นตัวแกนกลางและเป็นรากฐานแห่งเสรีภาพ เสรีภาพที่แท้จริงต้องมาจากอิสรภาพนี้และปัญญาชนิดนี้ ไม่ใช่เสรีภาพเทียมที่ล้นทะลักออกมาเพื่อกลบปมบีบคั้น หรือชดเชยความขาดอิสรภาพในภายใน ปัญญาชนิดนี้มีชื่อเรียกจำเพาะทางพระพุทธศาสนาว่า สัมมาทิฏฐิ แปลว่า การสอบเห็นถูกต้อง หรือเข้าใจถูกต้อง เกิดจากการเริ่มต้นความคิดที่ถูกต้อง หรือความคิดที่เริ่มต้นอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การศึกษาที่แท้เริ่มต้นจากตัวความคิดที่ถูกต้อง หรือจะกล่าวว่า สัมมาทิฏฐิคือตัวแท้ของการศึกษาก็ได้ในความหมายทางพระพุทธศาสนา
No Comments
Comments are closed.