- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
๓. เรื่องต่อไป คุณค่าแท้คุณค่าเทียมจะมีผลทางปฏิบัติอย่างไร จะขอพูดอีกครั้งในเรื่องการสนองความต้องการทางปัญญา และการสนองความต้องการในด้านตัณหา กล่าวคือในการกระทำของคนเรานั้นเราจะต้องมีแรงขับไสหรือแรงจูงใจในการกระทำ ในการดำเนินชีวิต ในกิจกรรมทุกๆ อย่าง แต่แรงจูงใจนั้นเราวิเคราะห์หรือไม่ว่ามันเป็นอย่างไร มีกี่แบบ กี่ประเภท แรงจูงใจใดเป็นไปเพื่อการศึกษาที่ถูกต้อง แรงจูงใจใดเป็นไปเพื่อการศึกษาที่ผิดพลาด แม้การเข้ามาในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ท่านก็จะต้องมีแรงจูงใจให้มาเรียน แรงจูงใจของเราจะเป็นไป ได้สองรูป รูปที่หนึ่งคือ สิ่งที่เราติเตียนกันในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดหรือความล้มเหลวอย่างหนึ่งในการศึกษา คือว่า แรงจูงใจในการเลือกเข้าเรียนวิชาต่างๆ ในสถาบันต่างๆ นั้น เป็นไปในรูปที่ว่าต้องการขั้น ต้องการฐานะทางสังคม ต้องการปริญญาบัตร หมายความว่าความมุ่งหมายที่เลือกเข้ามาเรียนวิชาการเหล่านี้คือก็ เพื่อเป็นบันไดไต่เต้าไปหาผลประโยชน์ของตนเอง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง เวลาจะเลือกเรียนก็คิดว่าวิชานี้จบไปแล้วจะหางานทำได้ง่ายได้เงินมากไหม วิชาไหนได้เงินดีกว่ากัน อันนี้ก็เป็นวิธีเลือกหรือแรงจูงใจในปัจจุบันที่ถือเป็นความผิดพลาด
ทีนี้แรงจูงใจอะไรเป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง แรงจูงใจที่ถูกต้องคือแรงจูงใจที่ตรงกับเรื่องตรงกับความหมายที่แท้ของสิ่งนั้น ตรงกับเนื้อหาสาระของสิ่งนั้น เป็นไปเพื่อการทำกิจที่จะให้เกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้น ให้เกิดคุณค่าแท้ เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เช่นว่า เราอยากจะเรียนแพทย์เพราะเราอยากเป็นแพทย์ อยากเป็นแพทย์เพราะอยากรักษาโรค เราอยากเห็นเพื่อนมนุษย์ของเราปราศจากความเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างน้อยก็อยากทำความรู้จักอยากรู้ว่าโรคต่างๆ มันเป็นมาอย่างไร จะรักษาอย่างไร ข้าพเจ้าต้องการเห็นมนุษย์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ข้าพเจ้าอยากเห็นโลกนี้ ประเทศไทยเรานี้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเลย อย่างนี้เรียกว่า แรงจูงใจในการเรียนแพทย์ บางคนไม่เป็นอย่างนั้นเลย กลายเป็นว่าข้าพเจ้าอยากเรียนแพทย์ เพราะอยากเป็นแพทย์ คำว่าอยากเป็นนายแพทย์ ในที่นี้หมายความว่า นายแพทย์นั้นทำเงินได้ดี
นี่คือแรงจูงใจที่แตกต่างกัน แม้ความอยากเป็นอย่างอื่นก็เช่นเดียวกัน อันนี้เป็นเพียงยกตัวอย่าง มิใช่มาติเตียนฝ่ายแพทย์ แต่ทุกอาชีพเหมือนกันหมด ในปัจจุบันนี้มันเป็นค่านิยมโดยทั่วไป ซึ่งเราไม่สามารถโทษคนใดคนหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งได้ แต่เป็นของกลางที่เราต้องรับผิดชอบและช่วยกันแก้ไข การเลือกเรียนวิชาหรือการทำอาชีพอะไรก็ตาม มันจะเป็นในรูปนี้
การเคลื่อนคลาดในเบื้องต้นนี้จะนำไปสู่ปัญหาสังคมโดยประการทั้งปวง การศึกษาปัจจุบันนี้แหละเป็นตัวเหตุสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาสังคมเป็นอันมาก เป็นปัญหาที่พันและต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่เลือกเรียนวิชาจนถึงเลือกงานอาชีพ และพฤติกรรมในการทำงาน พอเริ่มต้น ความหมายของการศึกษาก็ถูกบิดเบือน ความหมายอย่างง่ายๆ ของการศึกษาชนิดที่ชาวบ้านเข้าใจก็คือ การเล่าเรียน
แต่ความจริงไม่ใช่เพียงแต่เล่าเรียนเท่านั้น พูดให้ชัดขึ้นไปอีกว่า การหาความรู้มาฝึกฝนตน หรือการฝึกฝนตนด้วยความรู้ ฝึกตนไปทำไม ฝึกตนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามต่อไปแต่ความหมายของการศึกษาเปลี่ยนไป ไม่ใช่หาความรู้มาฝึกฝนตนเสียแล้วกลายเป็นหาความรู้มาเป็นเครื่องต่อเงิน ครั้นถึงเวลาจะประกอบอาชีพ ไปสมัครงาน ก็ไม่ใช่สมัครงานเพื่อทำงาน ไม่ใช่สมัครงานเพื่อจะเอางานอาชีพนั้นเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต ทำงานที่ตรงกับความรู้ความถนัดความสามารถ ช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ให้สำเร็จ แต่กลายเป็นสมัครงานเพื่อหาเงินใช้ สมัครงานเพื่อเป็นบันไดไปสู่ตำแหน่งฐานะและเป็นเครื่องต่อมือต่อตัวสำหรับหยิบผลประโยชน์อื่นๆ ต่อๆ ไป
จากการที่เราไม่เลือกเรียนวิชา เพราะอยากทำการทำหน้าที่ที่เป็นสาระของวิชานั้น ก็ทำให้เรามุ่งไปแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ แล้วก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น อยากเรียนแพทย์เพราะอยากได้เงินได้ทอง เมื่อเรียนสำเร็จมาแล้วก็ไม่มีความพยายาม ไม่มีฉันทะในการที่จะรักษาโรคอย่างจริงจัง คิดแต่ว่า รายนี้รักษาแล้วจะได้เงินมากหรือเงินน้อยเป็นต้น การที่จะเอาใจใส่ต่อคนไข้เป็นต้น มันก็จะต้องน้อยลงไป ถ้าท่านเป็นครู ท่านก็จะนึกในแบบเดียวกันอีก เราต้องการเลือกเรียนวิชาการศึกษา เพราะเราต้องการได้ปริญญาทางการศึกษา ได้ปริญญาเพื่ออะไร เพื่อมีอาชีพ มีเงินมีทองใช้ มีฐานะสูง เสร็จแล้วไม่พยายามแก้ปัญหาทางการศึกษา ไม่คิดที่จะช่วยให้เด็กดี ไม่คิดจะช่วยให้เกิดพลเมืองดีขึ้นในประเทศไทย ใจเราจะไปมุ่งหมายอยู่ที่เงินทอง พฤติกรรมที่ออกมามันก็ไม่ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาแท้จริงในสังคมไทย
เพราะฉะนั้น การศึกษาในประเทศไทยเรา ปัจจุบันนี้จึงถือว่าเป็นตัวการอันสำคัญเหลือเกินที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะแรงจูงใจที่เกิดขึ้นในการศึกษามันไม่ใช่แรงจูงใจเพื่อการทำหน้าที่ แต่เป็นแรงจูงใจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งอันนี้เราเรียกว่าเป็นคุณค่าที่สนองความต้องการในด้านตัณหา เป็นการสนองตัณหา มิใช่สนองปัญญา นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องมาช่วยกันแก้ไข แล้วเราเรียกแรงจูงใจที่สนองความต้องการทางตัณหาว่าเป็นฉันทะแบบหนึ่ง
แรงจูงใจหรือความใฝ่ที่จะกระทำการนั้น เราเรียกว่าฉันทะ ฉันทะนั้นมี ๒ แบบคือ
– แรงจูงใจที่เป็นไปเพื่อสนองตัณหา หรือแสวงหาคุณค่าที่เทียมนี้เรียกว่า กามฉันทะ
– แรงจูงใจที่เป็นไปเพื่อการทำหน้าที่ เพื่อเนื้อหาที่ถูกต้องของสิ่งนั้นเรียกว่า ธรรมฉันทะ
จะเห็นว่าแรงจูงใจในด้านธรรมฉันทะนั้น กำลังบกพร่องเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทย ทำอย่างไรเราจะสร้างมันขึ้นมาได้ เราต้องหันเหความใฝ่แสวงคุณค่า หันเหแรงจูงใจมายังกิจหน้าที่ความดีงามของสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องให้มากที่สุด
ถ้าท่านจะกวาดถนนเพราะมีอาชีพในการกวาดถนน ฉันทะหรือแรงจูงใจที่ถูกต้องคืออะไร แรงจูงใจในการกวาดถนนคืออยากจะกวาดให้ดีที่สุด ต้องการให้ถนนในเมืองไทยนี้หรือชุมชนนี้ราบเรียบ สวย สะอาด เรียกว่า ธรรมฉันทะ เป็นแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมา นี่คือความตรงไปตรงมา ความซื่อสัตย์ที่มีต่อกฎธรรมชาติเมื่อเราจะทำอะไรควรมีความซื่อตรงต่อสิ่งนั้น
แต่ที่ทำกันเรามักทำอ้อมๆ เรากำลังทำสิ่งหนึ่งเพื่อประโยชน์ของอีกสิ่งหนึ่ง แทนที่จะถือว่าผลประโยชน์เป็นเพียงผลพลอยได้ หรือปัจจัยเกื้อหนุนในการที่จะทำหน้าที่ของเรา นี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดในเรื่องฉันทะหรือแรงจูงใจ
แล้วอันนี้มันเกิดมาจากอะไร อันนี้ก็สัมพันธ์สืบเนื่องมาจากคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้ พูดสั้นๆ ว่าเป็นแรงจูงใจเพื่อตัวตน หรือแรงจูงใจเพื่อสนองความอยากของตัวตนอย่างหนึ่ง กับแรงจูงใจเพื่อชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องปัญญากับตัณหา ในฝ่ายที่สนองความต้องการที่เห็นแก่ตัวเป็นฝ่ายของตัณหา อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายของปัญญา สิ่งสำคัญที่เราต้องการในการนี้คือปัญญา แล้วเราก็มาถึงปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง คือเรื่องปัญญา ซึ่งเป็นตัวแกนสำคัญในขบวนการให้การศึกษา
No Comments
Comments are closed.