- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี
แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
ตอนนี้ก็มีเรื่องแทรกเข้ามาหน่อย พระโพธิสัตว์เป็นผู้บำเพ็ญบารมี เพียรทำความดีทั้งปัญญาและบรรดาปุญญังอย่างยวดยิ่งสูงสุด สามารถสละชีวิตช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรมดา ทีนี้ใกล้ตัวเราเข้ามา ก็มีพระคือพระภิกษุ ก็ต้องรู้ว่าพระทำอะไร หรือว่าพระภิกษุมีบทบาทหน้าที่อะไร
พระนั้นตัวท่านเองมีหน้าที่ศึกษา คือเล่าเรียนและปฏิบัติ เล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และฝึกปฏิบัติให้ทำได้ทำเป็น ทั้งเล่าเรียนและปฏิบัติจึงเป็นศึกษา (ศึกษามิใช่แค่เล่าเรียน) เพื่อให้เจริญพัฒนาขึ้นไปในศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อศึกษาจบ เป็นศึกษิต ก็เรียกว่าอเสขะ ผู้ไม่ต้องศึกษา คือเป็นพระอรหันต์
ที่ว่านั้นเป็นเรื่องของตัวท่านเอง แต่ที่มองกันทั่วไป มักดูว่าท่านทำอะไร อย่างที่ว่าท่านอยู่ในโลกด้วยบทบาทหน้าที่อะไร
คนมากมายมองพระทำนองว่าเป็นเจ้าพิธี จะทำสังฆทาน ก็ไปวัด นิมนต์พระมาทำพิธี มีงานทำบุญบ้าน ก็นิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์ เป็นพิธี จัดงานศพ ก็มีพิธีที่นิมนต์พระมาสวดมาติกา มาบังสุกุล ฯลฯ ชาวบ้าน ประชาชน จะได้พบพระ ก็คือในพิธีต่างๆ
พระเป็นเจ้าพิธีจริงหรือ? การมองพระเป็นเจ้าพิธี ก็คือการมองพระให้เป็นอย่างพราหมณ์ ก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ชาวชมพูทวีปอยู่ในศาสนาพราหมณ์ ต้องทำพิธีบูชายัญมากมายซึ่งถือเป็นหน้าที่ ตั้งแต่บูชายัญย่อยๆ ประจำวัน ที่ทำกันเองในบ้านตามที่พราหมณ์สอนไว้ และบูชายัญใหญ่ๆ ที่ต้องไปหาพราหมณ์ให้ทำพิธีให้ เสร็จแล้วก็ถวายทักษิณา เป็นค่าทำพิธี
เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระเที่ยวจาริกไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน คนเลื่อมใสนำข้าวของมาถวายพระ ก็เรียกว่าทักขิณา/ทักษิณา พระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายของทักษิณานั้นใหม่ว่า มิใช่เป็นค่าตอบแทนในการทำพิธี แต่เป็นของที่ประชาชนถวายด้วยศรัทธาเชื่อกรรม เพื่ออุดหนุนพระให้มีกำลังที่จะศึกษาคือเล่าเรียนปฏิบัติอย่างที่ว่า แล้วจะได้เที่ยวจาริกนำธรรมไปบอกเล่ากล่าวสอนให้แก่ประชาชน
ที่ว่านั้นก็คือ ภิกษุหรือพระในพระพุทธศาสนานี้ อยู่ในโลกโดยมีบทบาทหน้าที่ในการบอกเล่ากล่าวสอนให้ธรรมแก่ประชาชน เรียกสั้นๆ ว่า “ธรรมทาน” แล้วชาวบ้านจะบำรุงพระให้มีกำลังศึกษาเอาธรรมมาสอนให้แก่ประชาชน ก็ถวายวัตถุปัจจัย เรียกสั้นๆ ว่า “อามิสทาน” ก็เลยเป็นคำคู่ที่แสดงบทบาทหน้าที่ต่อกันระหว่างพระกับชาวบ้าน ว่าชาวบ้านถวายปัจจัย พระให้ธรรม เป็นหลักคู่สำคัญที่ควรรู้กันให้ชัด และปฏิบัติกันให้ตรง
หลักการที่พระกับโยม ทั้งสองฝ่ายอาศัยกัน เกื้อหนุนกัน ด้วยวัตถุปัจจัย กับการให้ธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อญฺโญญญนิสสิตา” (อาศัยซึ่งกันและกัน) เป็นอันว่าบทบาทหน้าที่ของพระก็คือการให้ธรรม สั่งสอนแนะนำ ให้ประชาชนเจริญพัฒนาก้าวไปในการศึกษา พูดสั้นๆ ในแนวของพระโพธิสัตว์ว่าให้เขามีปุญญังและปัญญาที่เจริญพัฒนายิ่งขึ้นไป หรือเป็นคนที่มีคุณภาพนั่นเอง
ส่วนพิธีกรรมทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องสามัญของสังคมที่มีวัฒนธรรมประเพณีของหมู่มนุษย์ที่มาอยู่ร่วมกัน เมื่อพระยืนอยู่ในหลักการแห่งการให้ธรรม แทนที่จะมาเป็นเพียงเจ้าพิธี ก็ใช้พิธีกรรมนั้นเป็นโอกาส คือ เมื่อมีพิธี คนมากมายก็มาชุมนุมกันตามธรรมดาของเขาเอง และใจตั้งมองดูไปที่พระพร้อมที่จะฟัง พระก็มีโอกาสดีที่จะให้ธรรม นี่คือ เมื่อปฏิบัติถูกต้อง พิธีกรรมก็มาเป็นเครื่องมือ หรือเป็นโอกาสของการทำบทบาทแห่งการให้ธรรมดังที่ว่านี้
ทั้งหมดนั้นเป็นหลักการบางอย่างที่นึกขึ้นมาได้ ก็พูดไป ที่จริงมีเรื่องควรจะพูดอีกมาก แต่ตอนนี้อยากจะโยงเรื่องมาหาตัวโยม
No Comments
Comments are closed.