— พระหรือใคร เอาเปรียบสังคม

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 5 จาก 20 ตอนของ

พระหรือใคร เอาเปรียบสังคม

ในเมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นผู้มาจากตระกูลมีฐานะดีในเมือง จึงกลายเป็นว่า ผู้ที่มีเปรียบทางสังคมอยู่แล้ว มีโอกาสเหนือกว่าอยู่แล้ว กลับได้เปรียบมากขึ้น และได้โอกาสมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่นั้น นิสิตนักศึกษาก็เป็นเพียงผู้รับบริการจากสังคม โดยที่ตามปกติไม่ได้เป็นผู้ทำบริการตอบแทนแก่สังคมเลย

ในกรณีที่เสียงตำหนิติเตียนสถาบันสงฆ์ว่าไม่ได้ทำอะไร เอาเปรียบสังคม ตลอดจนว่าควรจะทำลายสถาบันสงฆ์ลงเหล่านี้ มักเป็นเสียงจากหมู่นักศึกษา (บางกลุ่มบางหมู่) เมื่อความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้น ก็จะเป็นการหมิ่นแหม่ที่นักศึกษาเอง จะเป็นผู้ถูกติเตียนว่า นักศึกษาเองนั่นแหละ เป็นผู้เอาเปรียบสังคมมากที่สุด

นอกจากเอาเปรียบแล้ว ช่องทางที่ชาวนายากจนผู้เสียเปรียบมีอยู่ พออาศัยได้บ้าง ก็ยังจะหาทางไปปิดเสียอีก

(๔) เมื่อมองในแง่หลักความรับผิดชอบในการศึกษา การที่ชุมชนแต่ละถิ่นรับผิดชอบการศึกษาในถิ่นของตนเอง หรือการที่ประชาชนรับผิดชอบการศึกษาโดยตรงนั้นเสียอีก กลับจะเป็นวิธีการที่ดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่การศึกษาของพระสงฆ์ ได้รับทุนอุปถัมภ์ส่วนใหญ่จากประชาชน และได้รับความอุดหนุน (ด้านทุน) จากรัฐเพียงเล็กน้อยอย่างที่เป็นอยู่นี้ ว่าโดยหลักการในระยะยาว จึงน่าจะถูกต้องและเป็นวิธีที่ดีอยู่แล้ว

แต่ที่จะให้หลักการเช่นนี้มีผลดีสมหมายขึ้นได้นั้น จะต้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงด้านอื่นๆ ขึ้นด้วย เช่น เรื่องค่านิยมในการทำบุญ เป็นต้น

ในเรื่องค่านิยมเกี่ยวกับการทำบุญนั้น จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันสังคมไม่ได้รับคุณประโยชน์จากค่านิยมนี้เท่าที่ควร เพราะค่านิยมเรื่องบุญได้คลาดเคลื่อนไปมากแล้ว ด้วยสาเหตุคือการขาดความเข้าใจ และเพราะค่านิยมทางวัตถุของสังคมเอง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่การศึกษาของพระสงฆ์จากค่านิยมในการทำบุญนี้ จึงยังมีเพียงส่วนน้อยที่ได้มาเพื่อการศึกษาโดยตรง ส่วนมากเป็นการได้มาโดยอ้อม

ดังนั้น ในระยะเวลาเฉพาะหน้า เมื่อความตระหนักในคุณค่าอันเป็นบุญของการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ยังมีน้อยอยู่อย่างในปัจจุบันนี้ รัฐจึงควรหันกลับมาเอาใจใส่ รับผิดชอบการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ หรือการศึกษาสำหรับพลเมือง ๓ แสนนี้ ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

(๕) นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐในการพัฒนาประเทศตามระบอบประชาธิปไตย คือ การส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม โดยการกระจายบริการสังคมของรัฐ ให้ทั่วถึง และเป็นธรรมยิ่งขึ้น

การส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษา ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของนโยบายนี้ ดังจะเห็นได้จากถ้อยแถลงในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙ และเอกสารของส่วนราชการอื่นๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ1

แต่เท่าที่สังเกตดู ยังไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า รัฐหรือวงการการศึกษาทั่วไปได้คำนึงถึงหรือแม้แต่มองเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนชาวนาชาวชนบทประมาณ ๒ แสนคน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาของรัฐ เข้าไปรับการศึกษาอยู่ในสถาบันสงฆ์ในรูปของภิกษุหนุ่มและสามเณร และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๕) หลังจากศึกษาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็กลับเข้ามาสู่ระบบสังคมคฤหัสถ์ของรัฐตามเดิม

นอกจากนั้น รัฐและวงการศึกษาอาจจะไม่มองเห็นเลยว่า การศึกษาที่ภิกษุหนุ่มและสามเณรได้รับในสถาบันสงฆ์ มีความสัมพันธ์กับสภาพการศึกษาของรัฐอย่างไร

การแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคในการศึกษาของรัฐ

หากจะให้นโยบายส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม และส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษาสัมฤทธิ์ผลด้วยดีแล้ว จำเป็นที่รัฐและวงการการศึกษา จะต้องหันมาคำนึงถึงสถาบันสงฆ์และพลเมืองในวัยการศึกษาจำนวน ๒ แสนนี้ด้วย

อย่างน้อยก็เป็นการรับรู้สภาพความจริงที่เป็นอยู่ เพื่อจะได้พิจารณารับเอาพลเมือง ๒ แสนนั้นกลับมาให้การศึกษาเองตามข้อตกลงเดิม (คือ ข้อตกลงที่ให้คณะสงฆ์เลิกจัดการศึกษา และรัฐรับเอาการศึกษามาจัดดำเนินการเอง ซึ่งสภาพความเป็นจริงยังไม่เป็นไปตามข้อตกลงนั้น เพราะส่วนใหญ่รัฐได้รับเอาเฉพาะพลเมืองที่มีฐานะดีในเมืองและในกรุงเท่านั้นไปให้การศึกษา ส่วนพลเมืองยากจนด้อยโอกาสในชนบท รัฐยังคงปล่อยให้ออกไปรับการศึกษาในสถาบันสงฆ์ ซึ่งบัดนี้อยู่นอกระบบ นอกความรับผิดชอบของรัฐแล้ว) หรือเพื่อจะได้พิจารณาหาทางสนับสนุนให้กิจการที่สถาบันสงฆ์ได้ดำเนินอยู่แล้ว กลายเป็นส่วนเสริมกำลังของรัฐ ในการแก้ปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ต่อไป อย่างใดอย่างหนึ่ง

อนึ่ง มีข้อควรคำนึงว่า การแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคในการศึกษาด้วยวิธีการให้ทุนในระบบลงทุนของรัฐ ที่กำลังคิดจะทำกับวิธีการเฉลี่ยทุนอุปถัมภ์ในระบบทุ่นทุนของสถาบันสงฆ์ ซึ่งทำอยู่แล้ว วิธีการสองอย่างนี้จะมีทางปรับปรุงนำมาใช้ให้เกื้อกูลกันหรือประสานประโยชน์กันได้อย่างไรหรือไม่

อีกทั้งชวนให้คิดต่อไปอีกว่า ถ้ารัฐจะส่งเสริมลูกเกษตรกรด้วยวิธีการให้ทุนเช่นนี้ รัฐจะต้องลงทุนมากมายสักเท่าใด จึงจะได้ปริมาณคนที่เรียกได้ว่าพอสมควร

จำนวนพระลดลงไปทันตา ถ้ารัฐจัดการศึกษาแก่ประชาทั่วถึง

ลองคิดดูเล่นๆ (ยังไม่แนะให้ทำ แต่ถ้าทำกันจริงๆ ก็ได้ผลจริงตามนี้) ถ้าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ เอานิสิตนักศึกษาในสาขาวิชาฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ทั้งหมดมาบวชเรียนในเพศภิกษุสามเณร อาจารย์ก็ให้บวชสอนด้วย จะทุ่นงบประมาณของรัฐในด้านนี้ลงไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

แล้วเอางบประมาณที่ประหยัดได้นี้ ไปให้ทุนลูกเกษตรกรเรียนหนังสือตามแผนที่วางไว้ โดยให้บวชเรียนเช่นเดียวกัน ก็จะได้จำนวนคนเป็นเท่าตัว นอกจากนั้น การทำบุญตักบาตรก็จะมีชีวิตชีวายิ่งขึ้นในหมู่ประชาชน

๕. สำหรับผู้ที่คิดจะทำลายสถาบันสงฆ์ลงนั้น มีวิธีเสนอให้ทำได้ง่ายๆ คือ ให้รัฐจัดการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกถิ่นแล้ว จำนวนพระภิกษุสามเณรจะลดลงทันตา

จังหวัดใด การศึกษาของรัฐไม่มา เณรยังมีมากมาย
จังหวัดใด การศึกษาของรัฐแพร่หลาย เณรก็หายไปแทบหมด

สภาพเช่นนี้มีปรากฏอยู่แล้วในท้องถิ่นที่การศึกษาแพร่หลาย (โดยเฉพาะในส่วนกลาง) สถิติคนบวชโดยเฉพาะสถิติสามเณรจะลดต่ำมาก จนกระทั่งในถิ่นเจริญอย่างในตลาดหรือตัวเมือง จะหาสามเณรถิ่นนั้นเองมาเรียนหนังสือได้ยาก มีแต่มาจากถิ่นอื่นๆ

ตรงข้าม สถิติสามเณรจะสูงอย่างยิ่งในจังหวัดห่างไกลที่บริการการศึกษาของรัฐไปไม่ถึง และให้สังเกตเถิดว่า ในจังหวัดเช่นนั้น สถิติสามเณรจะสูงกว่า หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับสถิติพระภิกษุ แปลกจากจังหวัดส่วนกลางที่สถิติพระภิกษุสูงกว่าสถิติสามเณรเป็นอันมาก2

ข้อนี้หมายความว่า ประชาชนในถิ่นนั้นๆ ยังได้อาศัยประเพณีไทยเดิมที่รักษาสืบต่อกันมาในสถาบันสงฆ์นี้ เป็นช่องทางเดียวที่จะได้มีโอกาสรับการศึกษาหาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เมื่อรู้คุณค่าแล้ว แทนที่จะคิดทำลาย น่าจะหาวิธีทำให้เป็นประโยชน์มากที่สุดจะดีกว่า อย่างน้อยก็ควรยอมรับและเผชิญหน้ากับภาวะที่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยวิธีเลี่ยงหนีหรือปิดตาว่าไม่เอา ทั้งที่ปิดตาแล้วก็ไม่ช่วยให้สิ่งนั้นพ้นไปได้

ถ้าไม่พอใจจริงๆ จะให้เป็นบทบาทชั่วคราวไปก่อนก็ได้ โดยเฉพาะในเมื่อมีเหตุผลว่า

ประการที่หนึ่ง รัฐต้องยอมรับแล้วว่า รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษาด้วยระบบที่รัฐมีอยู่แล้วได้

ประการที่สอง มีข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า การจัดการศึกษาของสถาบันสงฆ์ใช้เงินลงทุนน้อย และประชาชนมีส่วนรับผิดชอบร่วมด้วยมาก ซึ่งถ้าปรับปรุงค่านิยมของสังคมให้ดีแล้ว จะเป็นประโยชน์มากดังกล่าวแล้วในข้อ ๔. (๔) เป็นแต่จะต้องช่วยกันปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งเกิดจากการปล่อยปละละเลยของผู้ควรเกี่ยวข้องรับผิดชอบให้เรียบร้อยเสร็จสิ้นไป ทำให้บรรลุความมุ่งหมายของศาสนศึกษาที่แท้จริง

นี่ก็คือ ให้ผู้รับการศึกษารู้จักคุณค่าของศาสนา ทั้งสถาบันศาสนา และศาสนธรรม มีความสำนึกและประพฤติปฏิบัติตนสมกับเป็นผู้ดำรงคุณค่าของสถาบันและศาสนธรรม สามารถรับผิดชอบชีวิตของตนได้ ไม่ให้เป็นปัญหาภาระแก่สังคม นำศาสนธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ท่ามกลางสังคมที่เป็นอยู่ได้

มิใช่เป็นเพียงผู้เก็บสมุดจดรายชื่อตัวยาไว้ด้วยความเหนียมอาย เพราะไม่เคยเห็นตัวยาจริง ไม่รู้วิธีใช้วิธีปรุง ไม่รู้จักโรคที่จะรักษา และผู้คนไม่เห็นคุณค่า หรือเป็นผู้ไม่มีอะไรที่จะเป็นหลักของตนเองเสียเลย นอกจากคอยมองดูคนข้างนอกเขาเก็บอะไรกัน ก็โลดแล่นตามไปเก็บกับเขาบ้าง ซึ่งเป็นภาวะเอียงสุดทั้งสองอย่าง

สำนึกทางสังคม พึงมากับการคิดร่วมแก้ไข มิใช่มุ่งไปเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้ง
รับผิดชอบต่อสังคม มิใช่แค่จะแก้ไข แต่ทั้งที่ได้ร่วมให้เกิดปัญหา

๖. ช่วงเวลานี้ เป็นระยะที่มีความตื่นตัวในเรื่องสำนึกทางสังคมในการที่จะรับผิดชอบต่อสังคมกันมาก โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา เสียงกระตุ้นจากปัญญาชนในเรื่องนี้มีอยู่เรื่อยๆ

มีการเพ่งมองกันว่า สถาบันนั้นนี้ กลุ่มชนนั้นนี้ ที่ควรมีบทบาทรับผิดชอบสังคมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ทำ หรือทำก็ทำไปในทางไขว้เขว ทำให้เสียหายหรือกลายเป็นเอาเปรียบสังคมไป

ดูเหมือนว่า เวลาเรานึกถึงปัญหา เรามักนึกในแง่เป็นคนละพวกคนละฝ่าย นึกว่านั่นเป็นอีกพวกหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่ง มีความไม่ดีอย่างนั้นๆ เราจะต้องจัดการทำลายเสีย แทนที่จะนึกว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกัน ที่เราจะต้องรับผิดชอบด้วย จุดต้นตอสาเหตุของความไม่ดีมันอยู่ที่ไหน บทบาทหน้าที่อะไรจะทำให้มันดี ถ้าทำให้ถูกต้องอย่างนี้ๆ มันจะมีส่วนช่วยเกื้อกูลเป็นประโยชน์อย่างไร

เมื่อเป็นกันอย่างที่ว่านั้น ความคิดแก้ไขปรับปรุงจึงมักกลายไปเป็นอันเดียวกับความคิดทำลาย และความเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกัน แทนที่จะเป็นการเข้าร่วมมือช่วยเหลือกัน

น่าวิเคราะห์ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมคืออะไรแน่ การรับผิดชอบต่อสังคม ย่อมรวมถึงความตระหนักในภาวะที่ตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น และการที่ตนมีส่วนรับผิดชอบในปัญหาทั้งหลายของสังคมนั้นด้วย

การรับผิดชอบต่อปัญหานั้น ไม่ได้หมายเพียงการรับผิดชอบในการที่จะเป็นผู้แก้ปัญหาเท่านั้น

การมองความรับผิดชอบเพียงในแง่ของการเป็นผู้แก้ปัญหานั้น เป็นการพรางตนเองอย่างสำคัญ เป็นการแยกตัวออกไปต่างหาก และยกตัวเป็นผู้กล้าหาญจากภายนอกที่จะมาแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่นในสังคม

ความจริง การรับผิดชอบ หมายถึงความสำนึกถึงการที่ตนมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดปัญหานั้นด้วย ไม่โดยตรง ก็โดยอ้อม ในปัญหาทุกๆ อย่าง และในทุกๆ ส่วนของสังคม

การมองความรับผิดชอบไปในรูปของการที่ตนจะต้องช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่นในสังคมนั้น เป็นการมองที่ผิวเผินด้านเดียว นำไปสู่ความตื่นเต้นลำพองตน และไม่ให้ผลยั่งยืนระยะยาว เป็นการแยกตัวออกจากความรับผิดชอบ หรือไม่รับผิดชอบมากกว่า

การรับผิดชอบที่แท้จริง ต้องเริ่มมาตั้งแต่ความตระหนักในการที่ตนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดปัญหาแต่ละอย่างๆ ของสังคมด้วย

ความรับผิดชอบแบบนี้นำไปสู่การสำรวจตนเอง และการ ค้นคว้าศึกษาเหตุปัจจัยของปัญหาอย่างจริงจัง ตลอดจนการแก้ไขที่ เริ่มต้นตั้งแต่การควบคุมพฤติกรรมของตนไม่ให้เป็นโอกาสแก่ปัญหา นั้น เป็นต้นไป

ตัวอย่างการมองความรับผิดชอบที่ว่านั้น ก็คือเรื่องนักศึกษากับสถาบันสงฆ์นี้เอง

นักศึกษาผู้มองในแง่การเป็นผู้แก้ปัญหาอย่างเดียว ย่อมนึกไปในแง่ว่าสถาบันสงฆ์ทำความผิด ควรจะทำลายเสีย หรือตนควรไปจัดการแก้ไข

แต่ถ้ามองในแง่มีส่วนร่วมสร้างปัญหาด้วย จะเห็นว่า การที่ตนแยกตัวออกมาจากชุมชนก็ดี หรือการที่ตนดำรงอยู่ในภาวะนักศึกษาอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็ดี ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้สถาบันสงฆ์ต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นปัญหาเช่นนี้

เมื่อสำนึกได้ถึงขั้นนี้ จึงจะนำไปสู่การเข้าใจปัญหาและการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

เรื่องของนักศึกษานี้ จึงให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาในอีกแง่หนึ่งว่า เป็นการน่ายินดีที่นักศึกษาและปัญญาชนทั้งหลาย ที่ในยุคหนึ่งเคยแยกตัวออกมาจากชุมชน หรือเคยเสวยโอกาสที่เหนือกว่า เป็นผู้ได้เปรียบในสังคม กลับมามีสำนึกทางสังคมจะหันกลับไปช่วยชุมชนหรือสังคมของตน เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา

แต่จะต้องมองความรับผิดชอบให้ถูกต้อง และศึกษาให้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงด้วย มิฉะนั้น การแก้ปัญหาอาจกลายเป็นการสร้างปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

สถาบันสงฆ์ แม้จะว่าเสื่อมโทรม ก็ยังทรงคุณค่าต่อสังคมมากมาย
ถ้ายังเห็นว่าไม่ควรทำลาย ก็ช่วยกันส่งเสริมให้ดีเถิด

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าผู้เขียนบันทึกนี้พอใจกับสภาพสถาบันสงฆ์ หรือการศึกษาของสถาบันสงฆ์เท่าที่กำลังเป็นอยู่นี้เลย ตรงข้าม ยังห่างไกลนักจากสิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นอุดมคติ ยังมีสิ่งที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก

ที่พูดมานี้เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ สภาพที่เป็นอยู่ ที่จะต้องรู้ต้องเข้าใจเพื่อให้ผู้คิดจะรับผิดชอบสังคม ได้มีฐานความคิดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะให้รู้จักแยกปัญหากับสิ่งที่มีปัญหาออกจากกัน จะได้ไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีทำลายสิ่งที่มีปัญหา และหากเป็นไปได้ อาจทำสิ่งที่มีปัญหา ให้กลับเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ขึ้นมาก็ได้

นอกจากนี้ ก็มิใช่เป็นการให้ท้ายพระสงฆ์แต่อย่างใด เป็นแต่ชี้ให้เห็นว่า เท่าที่เป็นอยู่ และเที่ยวหาทางเรียนอะไรๆ นั้น กล่าวโดยส่วนเปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่ได้เอาเปรียบสังคมแต่อย่างใด และสถาบันสงฆ์ แม้อยู่ในสภาพที่ว่าเสื่อมโทรม ก็มิได้ไร้คุณค่าอันสำคัญแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับพระสงฆ์ การที่ได้ชื่อว่าไม่เอาเปรียบสังคมอย่างเดียว หาเพียงพอให้เป็นพระสงฆ์ที่ดี ควรแก่อัญชลีของชาวบ้านไม่ อย่างน้อยจะต้องคำนึงไว้ด้วยถึงพุทธภาษิตที่ว่า

เสยฺโย อโยคุโฬ ภุตฺโต ตตฺโต อคฺคิสิขูปโม
ยญฺเจ ภุญฺเชยฺย ทุสฺสีโล รฏฺฐปิณฺฑํ อสญฺญโต

กินก้อนเหล็กเผาไฟ ที่ลุกไหม้เป็นเปลว
ดีกว่าเป็นผู้ทุศีลไร้สังวร บริโภคอาหารของราษฎร

ความข้อนี้ แม้นักศึกษาทั้งหลายที่ได้ใช้บริการอันเป็นผลเกิดมีจากภาษีอากรของประชาชน ก็จะต้องตระหนักไว้และสังวรด้วยเช่นกัน เพราะอันที่จริงแล้ว นิสิตนักศึกษา รวมถึงนักเรียนทั้งหลาย ก็มิใช่ใคร นอกจากผู้ที่ควรจะได้เป็นภิกษุหนุ่ม สามเณร และศิษย์วัดในความรับผิดชอบของประชาชนอยู่แล้ว แต่หากเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงได้แปรรูปมาอยู่ในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในความรับผิดชอบของรัฐ

รัฐแยกเอาผู้มีโอกาสดีกว่ามาให้การศึกษาเอง ทิ้งผู้ด้อยโอกาสให้วังเวงต้องไปอยู่วัด

มีข้อสังเกตเพียงว่า ปัจจุบัน รัฐแยกเอาผู้มีโอกาสดีกว่ามาให้การศึกษาเองแล้ว แต่ยังปล่อยผู้ด้อยโอกาสให้อยู่ในความดูแลของสถาบันสงฆ์ต่อมาตามเดิม ทั้งที่สถาบันสงฆ์ได้ถูกยกออกไปไว้นอกระบบการศึกษาของรัฐแล้ว

สถาบันสงฆ์ตกต่ำลงไป ปัญหามากมายเกิดขึ้นในพระสงฆ์
มิใช่คนไทยในสังคมนี้หรือที่ได้ร่วมกันสร้างไว้ และควรจะตื่นขึ้นมาร่วมใจรับผิดชอบ

ฐานะที่ตกต่ำลงของสถาบันสงฆ์ก็ดี ปัญหาทั้งหลายที่เกิดแก่สถาบันสงฆ์ และที่เกิดจากสถาบันสงฆ์ก็ดี โดยส่วนใหญ่ มิใช่สิ่งที่สืบเนื่องมาจากภาวการณ์นี้ดอกหรือ และมิใช่สิ่งที่ทุกคนในสังคมได้ร่วมกันสร้างขึ้น และควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบโดยตลอดดอกหรือ

อย่างไรก็ตาม การมีคุณค่าอย่างหนึ่ง อาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งก็ได้ คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในแง่ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นทางมาของปัญหาอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งเป็นปัญหายิ่งใหญ่ถึงขั้นความเป็นความตายของพระพุทธศาสนาทีเดียว

แต่ถ้าจะพูดต่อไป ก็เป็นการพ้นขอบเขตของเรื่องที่ตั้งไว้ จึงยุติไว้เพียงนี้3

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — สภาพสถาบันสงฆ์ บอกสภาพชนบทไทยบันทึกที่ ๑ (เพิ่มเติม): ว่าด้วย การวิเคราะห์ปัญหา และลู่ทางแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถาบันสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙ หน้า ๔๔ กล่าวถึงแนวการพัฒนาส่วนรวม ข้อที่ ๔ คือ การส่งเสริมความเป็นธรรมของสังคม ความตอนหนึ่งว่า “โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของความเจริญที่มั่นคงต่อไปในอนาคต จะได้รับการสนับสนุนในอัตราสูง และกำหนดให้รายจ่ายพัฒนาเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี” และในหน้า ๔๔๖ กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาการศึกษาส่วนรวม ข้อที่ ๖ ว่า “ส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษา ด้วยการปรับปรุง และขยายการศึกษาในส่วนภูมิภาค เร่งรัดให้การศึกษาที่เหมาะสมแก่ประชาชนตามท้องถิ่น โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีลักษณะพิเศษ”

    อนึ่ง ในรายงานการสอบร่วมเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ของสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ บทนำหน้า ๕ ก็ได้กล่าวไว้ว่า

    “๕. เด็กที่มาจากครอบครัวเกษตรกรรม มีเป็นจำนวนน้อยที่สอบเข้าศึกษาต่อได้ แต่เกษตรกรเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ลูกเกษตรกรน่าจะได้รับการส่งเสริมให้ได้มีโอกาสศึกษาสูงขึ้น เช่น จัดให้ทุนการศึกษา เป็นต้น”

  2. เทียบให้ดูสัก ๑ คู่ (สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๒) เลือกจังหวัดที่จำนวนประชากรใกล้เคียงกัน
    จังหวัดกาฬสินธุ์: ประชากร ๕๕๘,๘๖๖ วัด ๕๙๖ พระภิกษุ ๑,๙๗๔ สามเณร ๒,๓๒๖
    จังหวัดอยุธยา: ประชากร ๕๔๗,๗๒๘ วัด ๔๗๐ พระภิกษุ ๖,๔๐๕ สามเณร ๗๘o
  3. ที่มาของสถิติต่างๆ ที่แสดงในบันทึกนี้
    ๑. รายงานการศาสนา ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๑๒, ๒๕๑๓
    ๒. สถิติของสำนักงานเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๑, ๒๕๑๖
    ๓. รายงานการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ของ สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
    ๔. เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ ๔ ของสำนักงบประมาณ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒, ๒๕๑๖

No Comments

Comments are closed.