— รัฐ สถาบันสงฆ์ พระเณร และสังคมไทย ควรให้ความรู้ พาออกมาอยู่กันในความสว่าง

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 10 จาก 20 ตอนของ

รัฐ สถาบันสงฆ์ พระเณร และสังคมไทย
ควรให้ความรู้ พาออกมาอยู่กันในความสว่าง

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ควรกำหนดไว้ในที่นี้ คือ ความแตกต่างแห่งประวัติการศึกษา ระหว่างสังคมตะวันตก กับสังคมไทย

ในสังคมตะวันตก การศึกษาที่เจริญมาแบบสมัยใหม่ เกิดจากความขัดแย้งแข่งขัน ระหว่างผู้นำฝ่ายคฤหัสถ์ กับฝ่ายศาสนจักร

กล่าวคือ ผู้นำฝ่ายคฤหัสถ์ทั้งหลาย ไม่พอใจสภาพการศึกษาที่อยู่ในกำมือของศาสนจักรมาเป็นเวลานาน จึงพยายามดิ้นรนให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบ้าง ริเริ่มจัดขึ้นมาเองใหม่บ้าง

ฝ่ายศาสนจักรเห็นเช่นนั้น ก็พยายามรักษาความยิ่งใหญ่ในทางการศึกษาของตนไว้โดยเร่งรัดแก้ไขปรับปรุงจัดการศึกษาของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ต่างฝ่ายต่างพยายามดำเนินการศึกษาของตนให้ก้าวหน้า สภาพการศึกษาของเขาจึงสืบต่อมา ทั้งฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายศาสนจักร ปรากฏผลอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

แต่ในสังคมไทยนั้น ตรงข้าม เมื่อการศึกษาระบบเดิมสะดุดหยุดลง การศึกษาระบบใหม่ของสังคมไทยเริ่มต้นด้วยการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ ช่วยกันจัดดำเนินการศึกษา

ครั้นดำเนินต่อมาได้เล็กน้อย ก็ถึงจุดต่อเนื่องแห่งทางเดินของการศึกษาสมัยปัจจุบัน มีการตกลงกันใหม่ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ โดยรัฐตกลงว่าจะรับเอาการศึกษาสำหรับพลเมืองมาจัดดำเนินการเองทั้งหมด1 ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็ยินยอมด้วยความเห็นชอบและแสดงอาการวางมือจากการศึกษาสำหรับพลเมืองทั้งหมด พร้อมนั้นก็พยายามสร้างแนวความคิดและทัศนคติของตนให้สอดคล้องกับการกระทำนั้นด้วย

การศึกษาของสังคมไทยที่ดำเนินต่อมาถึงปัจจุบัน จึงเริ่มต้นด้วยการตกลงยินยอมกัน ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ ให้ฝ่ายหนึ่งหยุด ฝ่ายหนึ่งทำ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติการณ์ร่วมกันของรัฐกับคณะสงฆ์ครั้งนั้น จะต้องเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การศึกษาปัจจุบันทั้งของฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายพระศาสนามีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ขอย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม การที่พระเณรดิ้นรนออกไปเรียนนอกระบบของคณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ควบคุมไม่ได้นั้น นอกจากเป็นการตัดโอกาสของคณะสงฆ์เองที่จะใช้ระบบนั้นเป็นช่องทางให้การศึกษาสนองความมุ่งหมายของตนเองแล้ว ก็เป็นการตัดโอกาสในการดูแลควบคุมความประพฤติไปด้วย พระเณรที่เล่าเรียนนอกระบบสงฆ์จึงมีโอกาสประพฤติเสียหายได้ง่าย กลายเป็นเหยื่อคำวิจารณ์ติเตียนของสังคมที่ขาดความรู้ความเข้าใจ

เมื่อความประพฤติเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ คณะสงฆ์ (ตลอดถึงรัฐและสังคม) ก็ยิ่งรังเกียจพระเณรที่หาทางเรียนอย่างนั้นมากขึ้นอีก นำไปสู่การพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือหาทางกีดกันการเล่าเรียนนอกระบบ และพยายามบีบคั้นบังคับให้เรียนในระบบที่คณะสงฆ์ต้องการให้มากขึ้น

แต่เมื่อควบคุมไม่ได้ผลจริง พระเณรก็ยิ่งดิ้นรนมากขึ้น นำไปสู่ผลเสียหายเพิ่มพูนยิ่งขึ้น คำติเตียนของสังคมที่มากขึ้น และห่างจากการแก้ปัญหาออกไปทุกที

ในเวลาเดียวกัน ผลร้ายอีกอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น คือความรู้สึกขัดแย้ง จนถึงเป็นปฏิปักษ์ ระหว่างพระผู้น้อย กับพระผู้ใหญ่

โดยเฉพาะ ทำให้พระผู้น้อยเพ่งเล็ง ขาดความวางใจ และมีความรู้สึกรุนแรงต่อพระผู้ใหญ่ที่บริหารการคณะสงฆ์ นำไปสู่การตำหนิติเตียนและการกล่าวร้ายโจมตี

พระผู้ใหญ่ก็ว่า พระผู้น้อยไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย (ลืมคิดว่าการสนใจในธรรมวินัยของพระผู้น้อย เป็นความรับผิดชอบของตนอยู่ส่วนหนึ่งด้วย เพราะพระเณรเหล่านั้น ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แต่เขาส่งมาให้ตนฝึก ซึ่งรวมถึงฝึกให้สนใจในธรรมวินัยด้วย) พระผู้น้อยก็ว่า พระผู้ใหญ่ล้าหลัง บีบคั้นกลั่นแกล้งตน ต่างก็ไปหาจุดตรงข้ามตั้งป้อมหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งไม่เป็นทางของการแก้ปัญหาอย่างใดเลย เป็นการขาดพื้นฐาน คือความรู้ความเข้าใจที่เข้าถึงสภาพความเป็นจริงด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ทั้งสองฝ่ายรู้แต่ความต้องการของตน (จะต่างกันก็เพียงความต้องการของฝ่ายไหนจะเป็นไปเพื่อตนเองและส่วนรวมกว้างแคบกว่ากัน) ล้วนไม่ยอมปรับใจเข้าหากันและวิเคราะห์เหตุผลให้เข้าถึงความจริง ผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจผู้น้อย ผู้น้อยก็ไม่เห็นใจผู้ใหญ่

แง่ที่จะต้องเข้าใจผู้น้อย ได้กล่าวมาแล้วยืดยาว ส่วนแง่ที่จะต้องเห็นใจผู้ใหญ่ก็คือ ท่านไม่ตระหนักถึงสภาพความเป็นจริง จะให้ท่านจัดการแก้ไขได้อย่างไร ถึงจะโจมตีอย่างไร ก็ไม่ช่วยให้ท่านเข้าใจความจริงนั้นได้ ยิ่งโจมตีไป ก็มีแต่จะทำให้ท่านเข้าใจผิด (ถูกก็มี) มากยิ่งขึ้นว่า ฝ่ายผู้น้อยทำเช่นนั้น เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จะทำให้ห่างจากการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น

และถ้าจะว่าทำไมท่านไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็คงจะต้องเห็นใจอีกว่า ท่านมีพื้นฐานการศึกษาอบรมมาในระบบที่จะให้เป็นอย่างนั้น การที่จะแหวกออกจากระบบที่เคยชิน และหุ้มห่อตนมานั้น เป็นของยากยิ่งนัก ท่านผู้ใดทำได้ ก็ต้องนับให้ว่าเป็นกรณีพิเศษ

ถึงท่านที่แหวกออกมาได้เช่นนี้ ก็ติดขัดอีก เพราะได้เพียงตระหนัก แต่ไม่รู้ที่จะจัดเองได้ หรือแม้เห็นทางจัด ก็ยังติดขัดเรื่องกำลังคนอีก เพราะสถาบันสงฆ์ได้ถูกปล่อยทิ้งและสูบเอากำลังออกไปใช้ฝ่ายเดียว ไม่มีเติมเข้ามาเป็นเวลานานจนอ่อนเปลี้ยไปหมด นับเป็นปัญหาที่หมักหมมทับถมจนยากที่จะทำโดยลำพัง

จุดเริ่มต้นที่สำคัญขณะนี้ก็คือ การสร้างพื้นฐานแห่งความรู้ความเข้าใจขึ้นมา และภารกิจนี้เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ ไม่เฉพาะภายในวงของสถาบันสงฆ์เท่านั้น แต่ต้องสร้างให้แก่สังคมทั้งหมดด้วย

– ทั้งนี้ เพราะเหตุผลว่า สังคมมีส่วนรับผิดชอบต่อสถาบันสงฆ์ด้วย ประการหนึ่ง

– เพราะสังคมกำลังเริ่มเพ่งมองสถาบันสงฆ์ในทางที่ไม่น่าพอใจ และด้วยความเข้าใจผิด สถาบันสงฆ์ยังไม่ทันรู้ตัวที่จะปรับตน สังคมหรือกลุ่มชนที่มีอำนาจในสังคม อาจเข้าจัดการกับคณะสงฆ์อย่างผิดพลาดเสียก่อนก็ได้ ประการหนึ่ง

– และประการสุดท้าย ในกรณีที่สถาบันสงฆ์ไม่ยอมที่จะทำความเข้าใจและยอมรับสภาพปัญหาของตน เมื่อสังคมภายนอกไม่ยอมรั้งรออีกต่อไป โดยเฉพาะอาจมีกลุ่มอิทธิพลที่อยากทำการนี้อยู่แล้ว ได้โอกาสหรืออดรนทนไม่ไหว จะเข้ากระตุ้นหรือเร่งเร้าสถาบันสงฆ์ให้จัดการแก้ปัญหา หรือเข้าแก้ปัญหาเสียเอง สังคมหรือกลุ่มชนนั้น ก็จะได้ทำการนั้นโดยมีความรู้ความเข้าใจเป็นพื้นฐาน

พระเอาเปรียบสังคมนั้นหายาก เจอมากแต่พระ ๒ พวก
คือ ชาวนาชาวบ้านนอกที่เสียเปรียบจึงส่งลูกมาบวชเรียน
กับชาวบ้านที่เอาเปรียบพระเณรโดยบวชเข้ามาเอาศาสนาหากิน

อนึ่ง ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเอาเปรียบสังคมอีกเล็กน้อย

ความจริง พระเณรที่เป็นลูกชาวนาชนบทห่างไกลนั้น ถ้าเรียนอะไรจริงจังสักอย่างแล้ว ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้เอาเปรียบสังคมได้ เพราะอะไร? ขอให้ดู

พอเริ่มต้น พระเณรเหล่านั้นก็สละผลประโยชน์ส่วนที่ตนพึงได้รับ (ว่าให้ตรงคือถูกตัดออก) จากภาษีอากร เข้ามารับทุนเล่าเรียนจากประชาชนโดยตรง

ต่อมา เมื่อเล่าเรียนได้ความรู้จากสถาบันสงฆ์ไปบ้างแล้ว ยังไม่ทันได้ทำงานให้แก่สถาบันสงฆ์ ก็ออกไปทำงานสร้างผลิตผลให้แก่รัฐ

กลายเป็นว่า คณะสงฆ์ลงทุนผลิตคนให้รัฐ โดยรัฐไม่ต้องลงทุน หรือสถาบันสงฆ์มีค่าเท่ากับเป็นโรงเรียนที่ขาดทั้งทุนทั้งครู แต่ก็ได้ทำหน้าที่ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาให้แก่รัฐเรื่อยมา ตามมีตามได้ ทั้งที่รัฐแทบไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย

ในกรณีของพระเณรที่เล่าเรียนเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผู้เอาเปรียบสังคม หรือถ้าเอาเปรียบ ก็ย่อมน้อยกว่านักเรียนนักศึกษาโดยทั่วไป

ข้อที่จะเอาเปรียบได้นั้นมีแต่ว่า เมื่อเรียนอยู่นั้น ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติดีให้สมกับภาวะ และไม่ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ให้ถูกต้อง ก็กลายเป็นชาวบ้านที่เข้ามาเอาเปรียบศาสนา หาใช่เป็นพระเณรที่เอาเปรียบสังคมไม่

แต่ถ้าพระเณรเหล่านั้นศึกษาเล่าเรียนและประพฤติปฏิบัติดี พอรักษาตัวได้ ไม่ให้เป็นที่น่ารังเกียจ และไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถกล่าวหาว่าเป็นผู้เอาเปรียบใครๆ ได้เลย

ถ้าจะใช้คำว่าเรียกร้องกันแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า สังคมเรียกร้องบริการจากสถาบันศาสนา โดยผ่านบุคคลที่อยู่ในสถาบันนั้น ในอัตราส่วนที่แตกต่างกันตามระดับฐานะหน้าที่ของแต่ละบุคคลในสถาบัน

สำหรับพระหนุ่มและสามเณรในวัยเรียนนั้น ถ้าทำได้เพียงเป็นผู้ประพฤติอยู่ในกรอบวินัย ทำตนให้เป็นภาพแห่งความร่มเย็นปลอดภัย ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นบานผ่องใส เป็นสิริมงคลและความงดงามแก่ผู้ได้เห็น อย่างที่รู้สึกสืบกันมาตามประเพณีในสังคมไทย ถ้าทำได้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าเป็นบริการที่เพียงพอเท่าที่สถาบันสงฆ์จะพึงเรียกร้องจากพระเณรเหล่านั้น เพื่อให้ช่วยสถาบันสงฆ์ในการที่สถาบันจะทำหน้าที่ของตนต่อสังคมอย่างถูกต้อง

สำหรับสังคมไทยที่เข้าใจตนเองดีนั้น การที่เยาวชนยอมนำตัวเข้ามารับการฝึกอบรมอยู่ภายในกรอบพระวินัย ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับพุทธศาสนิก ที่จะแสดงความยอมรับให้เป็นตัวแทนแห่งคุณธรรมด้วยการกราบไหว้ อย่างเท่าเทียมกับที่พึ่งกระทำแก่ท่านผู้ทรงคุณธรรมอย่างสูง โดยไม่มีการแบ่งแยก

ทั้งนี้ เพราะพุทธศาสนิกกระทำการกราบไหว้ มิใช่ด้วยความยึดถือในตัวตน หรือด้วยความเห็นแก่ตัว มิใช่ไหว้ด้วยตัณหา คืออยากได้ผลประโยชน์ จึงไหว้ มิใช่ไหว้ด้วยมานะ คือถือตัวตนวัดฐานะศักดิ์ศรีสูงต่ำ จึงไหว้ มิใช่ไหว้ด้วยทิฐิ คือสักว่ายึดถือตามๆ กันมาว่าเป็นหลักปฏิบัติอย่างนั้นๆ โดยไม่รู้ ไม่เข้าใจความหมาย และความมุ่งหมาย จึงไหว้ แต่ไหว้ด้วยเห็นแก่ธรรม คือเพื่อธำรงและเชิดชูคุณธรรมความดีงามของสังคม

อย่างไรก็ดี มีข้อที่น่าเสียดายในขณะนี้ก็คือ ระบบของสถาบันสงฆ์ที่กำลังถูกปล่อยปละละเลยอยู่เช่นนี้ กำลังกลายเป็นเครื่องเปิดโอกาสให้คนในสังคมเมืองเข้ามาแอบแฝง ด้วยเจตนามุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวจริงๆ ซึ่งคนเหล่านี้นั้นแหละ ที่จะเป็นผู้เอาเปรียบทั้งศาสนา และสังคม ครบสองอย่างทีเดียว

พึงสังเกตด้วยว่า ความจริงสถาบันสงฆ์เปิดรับคนจากทุกระดับสังคมเสมอภาคกัน ทุกคนมีสิทธิและมีโอกาสสมัครเข้ามาเท่าเทียมกัน

แต่ในสมัยปัจจุบัน คนมีฐานะดีและมีโอกาสเหนือกว่าโดยทางภูมิศาสตร์เป็นต้น มีช่องทางอื่นที่ได้เปรียบมากกว่า และเห็นว่าสถาบันสงฆ์เป็นช่องทางที่เสียเปรียบ จึงไม่เข้ามาสู่สถาบันนี้เหมือนอย่างสมัยก่อน

ครั้นคนไร้ฐานะและด้อยโอกาสบางคนที่เข้ามาใช้ช่องทางของสถาบันสงฆ์ สามารถเล็ดลอดขึ้นมาถึงระดับการศึกษาเดียวกับคนมีฐานะและมีโอกาสเหนือกว่านั้นบ้าง คนพวกแรกที่ได้เปรียบนั้น ลืมความเดิมที่กล่าวมาแล้ว จึงตำหนิเอาคนพวกหลังที่เล็ดลอดขึ้นมาได้ว่าเป็นคนเอาเปรียบสังคม ทำให้เสียงที่กล่าวหาคนเสียเปรียบว่าได้เปรียบ เป็นเสียงที่มาจากคนได้เปรียบนั่นเอง

นอกจากนั้น นักศึกษาภายนอกที่เคยเกี่ยวข้อง มองเห็นสภาพการบวชเรียนของพระเณรในระบบของสถาบันสงฆ์ปัจจุบัน เมื่อเห็นลูกชาวบ้านนอกเข้ามาบวชเณรเรียนหนังสือ มักมีความรู้สึกโน้มไปทางดูถูกหรือยิ้มเยาะด้วยซ้ำไปว่า เณรลูกชาวบ้านเหล่านั้นโง่เขลาไม่มีทางไป ไม่รู้จักหนทางก้าวหน้า เข้าไปเรียนในระบบที่อับเฉา ชีวิตจะตกต่ำ ไม่มีทางสู้เขาได้

ทั้งที่มองเห็นอยู่ว่าพระเณรลูกชาวบ้านนอกเสียเปรียบอย่างนี้ ขัดอารมณ์เขาขึ้นมา พระเณรลูกชาวบ้านนอกก็กลับถูกมองเป็นผู้เอาเปรียบไปได้

ทางแก้อีกอย่างหนึ่งจึงได้แก่การจัดสภาพสถาบันสงฆ์เสียใหม่ ให้อยู่ในภาวะเอื้ออำนวยที่จะทำให้ผู้มีฐานะดีและมีโอกาสเหนือกว่า ยินดีที่จะเข้ามาใช้บริการของสถาบันนี้ร่วมกับคนที่ไร้ฐานะและด้อยโอกาส เป็นการช่วยให้เกิดความเสมอภาคและความเข้าใจดีต่อกัน เมื่อนั้นเสียงตำหนิกันว่าเอาเปรียบก็จะหมดไปด้วย สถาบันสงฆ์ก็จะทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น คือช่วยเหลือคนทุกระดับได้จริง

นอกจากนั้น การที่รัฐจะต้องมาพิจารณาแก้ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยการลงทุนให้ทุนการศึกษาและบริการสงเคราะห์ต่างๆ ก็จะพลอยผ่อนเบาลงไปด้วย เพราะระบบของสถาบันสงฆ์ตามรูปที่แท้นั้น มีบริการเหล่านี้พร้อมในตัวโดยไม่ต้องให้รู้ตัว เป็นระบบที่ให้ทุน โดยไม่ต้องบอกว่าให้ทุน สงเคราะห์ โดยไม่ต้องบอกว่าสงเคราะห์ และถ้าทำได้สมบูรณ์ตามรูปแบบที่วางไว้ ก็เป็นระบบที่ช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ต้องบอกว่าช่วย เพราะได้อยู่กับประชาชนอยู่แล้วตลอดเวลา

เรื่องที่เป็นปัญหาเท่าที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องรีบจัดการแก้ไข จะแก้ได้ก็ต้องเริ่มด้วยการกล้าเผชิญความจริง

หลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาบอกอยู่แล้วว่า จะกำจัดทุกข์ได้ ต้องกำหนดรู้ทุกข์ก่อน คือต้องกล้าเผชิญหน้ามองดูทุกข์ตามสภาพที่มันเป็นจริง แล้วสืบค้นหาต้นตอให้พบจึงกำจัดได้

คณะสงฆ์ รัฐ สังคมไทย แก้ไขปัญหาให้ถูกทาง
และเอาประโยชน์จากสถาบันสงฆ์ให้สมคุณค่า

ปัญหาที่กล่าวมา เป็นทุกข์ของสังคมที่สำคัญพอสมควร คณะสงฆ์ก็ดี รัฐก็ดี ตลอดถึงสังคมทั้งหมดก็ดี จะต้องรับรู้สภาพของปัญหาตามที่เป็นจริง แล้ววิเคราะห์ปัญหานั้นจนเห็นต้นตอ ตกลงให้แน่ว่าจะเอาอย่างไร แล้วกำหนดวิธีการกับการกระทำให้สอดคล้องกัน

เมื่อกล่าวรวบรัดในเรื่องนี้ สำหรับรัฐกับคณะสงฆ์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบใกล้ชิดที่สุด มีทางเลือกอยู่ ๒ อย่าง ซึ่งจะต้องตัดสินใจกำหนดเอาอย่างใดอย่างหนึ่งให้แน่นอน แล้วกระทำการให้สอดคล้องกับทางเลือกที่ต้องการนั้น พร้อมทั้งจัดการปรับสภาพความเป็นจริงให้ลงกันด้วย ทางเลือก ๒ อย่างนั้น คือ

๑. ให้สถาบันสงฆ์ เป็นแหล่งปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญกิจของผู้เบื่อหน่ายฆราวาสมาก่อนแล้ว ตั้งใจสละโลกเด็ดขาด อุทิศชีวิตต่อพระศาสนา มุ่งหน้าสู่โลกุตตรธรรมอย่างเดียวล้วน

ในกรณีที่กำหนดทางเลือกเช่นนี้ จะต้องให้สังคมไทยทั่วทั้งหมดได้รับรู้ยินยอมร่วมกัน แล้วระงับประเพณีบวชเรียนเสีย มิให้มีลูกชาวบ้านเข้ามาบวชเพื่อประสงค์การศึกษาอีกต่อไป

ในเวลาเดียวกัน รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้ทั่วถึง รั้งเอาเด็กลูกชาวนาชาวชนบท ซึ่งตนแทบจะยังไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลยนั้น อย่างน้อยจำนวนสองแสนคน ที่จะเข้าไปอยู่ในสถาบันสงฆ์ ให้กลับเข้ามารับการศึกษาในระบบของตนให้หมด

๒. ให้สถาบันสงฆ์ เป็นสถาบันการศึกษาด้วย เป็นแหล่งสำหรับผู้สละฆราวาสโดยสิ้นเชิงแล้วด้วย ทำหน้าที่ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือ ยอมรับเอาบทบาทของสถาบันสงฆ์ในสังคมไทยเดิมมาปรับใช้ โดยถือระบบฝึกคัด (ฝึกไปคัดเลือกไป) หรือระบบกลั่นน้ำมัน คือ ทุกส่วนที่เข้ามา ได้รับการดัดแปลงกลั่นกรองให้มีคุณค่าขึ้นเป็นประเภทๆ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างๆ กัน

หมายความว่า ในสายกว้าง รับเอาเด็กและเยาวชนทั่วไปเข้ามาบวช แล้วให้การศึกษาอบรม ให้มีความรู้ความเข้าใจธรรมวินัยเพิ่มขึ้นไปโดยลำดับ ควบคู่ไปกับความรู้ที่จะให้ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกด้วยดี คือ จุดหมายสูงสุดมุ่งฝึกให้อยู่ในศาสนา แต่ในเวลาเดียวกันยอมรับความจริงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ด้วย จึงให้การศึกษาที่สนองทั้งความต้องการของบุคคล ความต้องการของสังคม และความมุ่งหมายจำเพาะของสถาบันไปพร้อมกัน

ในจำนวนผู้เข้ามาบวชทั้งหมด ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละไม่ต่ำกว่า ๙๕ จะกลับคืนไปสู่สังคมคฤหัสถ์ตามเดิมในระยะต่างๆ กัน

ในจำนวนนี้ จะมีผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนเพียงแค่พอมีความรู้ประดับตน มีศีลธรรมดีขึ้น ยังไม่ได้ทำงานให้แก่สถาบันสงฆ์เลย ก็ออกไปทำงานให้แก่สังคมคฤหัสถ์บ้าง ผู้ที่ใช้ความรู้นั้นทำงานให้สถาบันสงฆ์บ้างแล้วจึงออกไปบ้าง และจะมีส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่สุด ที่มีอุปนิสัยพร้อมจะอยู่ในสถาบันต่อไปโดยตลอด เท่ากับเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกขั้นสุดท้ายแล้ว

ส่วนน้อยที่สุดนี้ กับส่วนที่เรียนแล้วอยู่ทำงานให้ระยะเวลาหนึ่งสั้นบ้างยาวบ้าง รวมเข้าด้วยกัน เป็นส่วนที่ดำรงสืบต่ออายุศาสนา และส่วนน้อยที่สุดที่เหลืออยู่นี้ จะได้กำลังสมทบจากผู้ที่เบื่อหน่ายฆราวาสแล้วจึงเข้ามาบวชอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็นองค์ประกอบของสถาบันสงฆ์ที่สมบูรณ์สำหรับทางเลือกที่สอง

ความจริง ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สถาบันสงฆ์ก็อยู่ในทางเลือกที่ ๒ อยู่แล้ว แต่เพราะไม่รับรู้สภาพที่เป็นจริงนั้น จึงทำให้พฤติการณ์ขัดกับความเป็นจริง สิ่งที่มีอยู่ ก็ไม่ถูกจัดทำให้มีประสิทธิภาพ ความมุ่งหมายบางอย่างที่ควรจะมี ก็ขาดไป ความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ก็ไม่ได้ผลจริง และเกิดความเคลื่อนคลาดไขว้เขวต่างๆ มากมาย

แม้แต่กำลังที่ได้รับสมทบเข้ามาจากผู้ที่เบื่อหน่ายฆราวาสวิสัยแล้ว ก็มักไม่เป็นกำลังจริงอย่างนั้น กลับกลายเป็นส่วนที่เสแสร้ง แอบแฝงเข้ามาด้วยความมุ่งหมายซ่อนเร้นเสียจำนวนมาก กลายเป็นตัวการก่อปัญหาทอนกำลังของสถาบันสงฆ์ลงไปอีก และนับได้ว่าเป็นส่วนที่เอาเปรียบทั้งศาสนาและสังคมอย่างแท้จริง

ในทางเลือก ๒ อย่างนี้ จะต้องตัดสินเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งให้แน่ชัดลงไป และปฏิบัติการต่างๆ ให้สอดคล้องกัน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็เห็นจะหมดทางกู้ ถ้าจะเร่งให้หายนะเร็วเข้า ก็โจมตีซ้ำเข้าไป

ถ้าไม่ต้องการอย่างนั้น ก็เลิกโจมตีติเตียนต่างๆ เสียดีกว่า เพราะเพียงสภาพที่เป็นอยู่ซึ่งทิ้งไว้เช่นนี้ ก็เป็นปัญหามากอยู่แล้ว การโจมตีติเตียนโดยไม่ทำและไม่เข้าใจ มีแต่จะทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน และเลวทรามยิ่งขึ้น

น่าสมเพชที่บางครั้งท่านที่เข้ามาในประเภทเบื่อหน่ายฆราวาสแล้ว ก็พลอยร่วมวงติเตียนโพนทะนากับเขาด้วย กลายเป็นผู้สร้างความผิดพลาดไว้เป็นมลทินแก่ตน และร่วมทำลายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปด้วย

สำหรับคณะสงฆ์และรัฐ ถ้ายังคงปล่อยปละละทิ้งสภาพปัญหาให้เป็นไปอยู่ตามเดิมอย่างนี้ ในระยะยาว ภิกษุหนุ่มและสามเณรจำนวนสองแสนนั้น แทนที่จะเป็นสิ่งสร้างเสริมคุณค่า ก็จะกลับเป็นเหตุสะสมปัญหา นำความล้มละลายมาสู่สถาบันสงฆ์เอง พร้อมทั้งก่อปัญหาสังคมแก่รัฐด้วย หรือถ้าไม่ล้มละลายเอง ก็จะเป็นการสร้างสถานการณ์บีบบังคับให้สังคมภายนอกต้องเข้ามาจัดการทำลายล้างสถาบันสงฆ์เสีย

แม้แต่คุณค่าในแง่ช่วยให้ความเป็นธรรมในสังคม ที่มีความสำคัญอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะรัฐบกพร่อง ไม่มีสถาบันอื่นใดมาช่วยแก้ไข

แต่ในกาลภายหน้า สังคมย่อมเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก เมื่อถึงเวลาหนึ่ง การณ์อาจกลับกลายเป็นว่า ผู้ด้อยโอกาสที่เข้ามาสู่สถาบันสงฆ์นั้น ถูกปล่อยปละละเลย ได้รับบริการไม่คุ้มกับเวลาที่สูญเสียไป กลายเป็นว่าสถาบันสงฆ์เก็บพลเมืองของรัฐจำนวนมากมายมากกไว้ ทำให้สูญเสียเวลาและกำลังงานของรัฐไปไม่คุ้มกับได้

หรือไม่ก็ในทางตรงข้าม สมมติว่าบริการการศึกษาของรัฐขยายออกไปทั่วถึง จำนวนผู้ที่เข้ามาบวชก็จะค่อยๆ ลดลงไปจนหมด เหมือนอย่างที่เป็นอยู่แล้วในถิ่นทั้งหลายที่เจริญแล้ว ทำให้สถาบันยุบตัวลงไปเอง หรือไม่ก็จะกลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของผู้ที่แอบแฝงเข้ามาเพื่อหาความสุขสบายไปจริงๆ

ปัจจุบันก็เห็นกันอยู่ชัดๆแล้วว่า คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในด้านช่วยให้ความเสมอภาคทางการศึกษานี้ เหลืออยู่เพียงในขั้นช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงการศึกษาที่ด้อยโอกาส ให้มีทางผ่านสำหรับเข้ามาดิ้นรนแสวงหาการศึกษาเอาเองตามแต่จะหาได้ โดยคณะสงฆ์เองแทบไม่ได้เอาใจใส่จัดและควบคุมดูแลเลย

แม้คุณความดีที่ว่า สถาบันสงฆ์ช่วยให้เยาวชนในเพศสามเณรจำนวนแสนกว่ารูปพ้นไปจากปัญหาเยาวชนที่ร้ายแรงได้โดยสิ้นเชิง เหลือเพียงความเสื่อมเสียเล็กน้อยที่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเฉพาะสำหรับผู้ดำรงเพศสามเณรนั้น ก็เป็นคุณค่าที่แทบจะมิได้อาศัยระบบการศึกษาของคณะสงฆ์เลย หากแต่เป็นเพียงการอาศัยกรอบวินัยและระบบชีวิตในเพศอย่างเดียวเท่านั้นช่วยไว้ หรืออย่างดีก็ด้วยระบบการฝึกอบรมของวัดแต่ละแห่งๆ นั้นเอง

(เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ว่า ใครก็ตามที่เข้ามาบวช เพศภิกษุสามเณร ก็ย่อมช่วยให้เขาพ้นจากการทำชั่วที่ร้ายแรงบางอย่างได้ทันทีโดยอัตโนมัติ ประเพณีไทยที่ให้เด็กอยู่วัดบวชเณรเรียนหนังสือ คงต้องเป็นมาโดยความตระหนักในคุณค่าทางจริยธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน เยาวชนผู้เข้าศึกษาอยู่ในระบบเช่นนี้ ย่อมถูกตัดออกจากปัญหาในการยกพวกตีกัน และปาระเบิดขวดเป็นต้น และเพราะเหตุนี้ ประชาชนทั่วไปตลอดถึงคนแก่เฒ่าจึงไหว้เด็กได้ ทั้งที่เด็กเหล่านั้นยังต้องอาศัยพวกเขาช่วยกันเลี้ยงดู หาอาหารให้รับเป็นทาน)

แต่ในกาลภายหน้า เมื่อยังคงปล่อยไว้อย่างนี้เรื่อยไปอีก ก็ไม่แน่นักว่าแม้แต่ปัญหาเยาวชนที่ร้ายแรงนั้นจะไม่คืบคลานเข้ามาถึงภายในวัดเอง ทั้งนี้ดูเหมือนว่าเค้าของเรื่องนี้ก็ได้เริ่มตั้งขึ้นบ้างแล้ว

สำหรับพระภิกษุสามเณรทั่วไป ข้อเขียนนี้มุ่งหมายให้เกิดความมั่นใจในคุณค่าของสถาบันของตนว่า สถาบันสงฆ์เท่าที่เห็นกันว่าเสื่อมโทรมอย่างนี้ ก็ยังมีคุณค่าแก่สังคมอย่างมากมาย ไม่น้อยกว่าสถาบันอื่นใดทั้งสิ้น

ถึงแม้ในแง่ที่เสื่อมโทรม ความเสื่อมเสียที่มีอยู่ ก็ยังมิได้มากยิ่งไปกว่าสถาบันอื่นใดเช่นกัน

แม้แต่สถาบันของปัญญาชนทั้งหลายที่ติเตียนสถาบันสงฆ์ นั้นเอง สถาบันนั้นสร้างปัญหาใดแก่สังคม สถาบันสงฆ์นี่เองเป็น สถาบันเดียวที่กำลังช่วยผ่อนเบาปัญหานั้น

อย่างไรก็ดี ที่กล่าวเช่นนี้ มิใช่จะให้มีความประมาท เป็นแต่ต้องการให้ตระหนักในความรับผิดชอบที่มีต่อสถาบันของตน จะได้พยายามปฏิบัติตนในทางที่จะกำจัดข้อเสื่อมเสียให้หมดไป รักษาคุณค่าแห่งสถาบันของตนไว้ และส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ให้ถึงขั้นที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้เพราะสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการประพฤติเสื่อมเสีย และไม่พยายามรักษาความดีงามของตน เท่าที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นจากภิกษุสามเณรจำนวนไม่น้อยขณะนี้ ในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนก็คือ การไม่รู้และไม่มั่นใจในคุณค่าของสถาบันของตน ตลอดจนคุณค่าของตนเอง มองเห็นตนเองและสถาบันของตนต่ำต้อยด้อยคุณค่า คล้อยไปตามคำกล่าวหาที่มีผู้ยกขึ้นมาติเตียนเป็นคราวๆ ทำให้เกิดปมด้อย โน้มใจให้ลดตัวลดระดับความประพฤติปฏิบัติของตัว และลดคุณค่าของตัวลงไปตามความรู้สึกด้อยนั้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องยอมรับ

หากไม่แก้ไขสร้างความเข้าใจ และแนวทางออกในการแก้ไขปรับปรุง สภาพนี้ก็จะทรุดลงไปเรื่อยๆ และนำไปสู่ความเสื่อมทราม หรือถึงกับหายนะของสถาบันสงฆ์ได้ทางหนึ่ง

(ลองวางใจเป็นกลางแล้ว นึกสำรวจดูว่า อาการเช่นที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นความจริงที่มีอยู่หรือไม่ คือการที่พระภิกษุรู้สึกภูมิใจและเห็นเป็นความดีเด่นอย่างหนึ่งในการที่ได้รับความสนับสนุนจากนักศึกษาและปัญญาชน ให้ไปร่วมในกิจกรรมบางอย่างของเขา แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นโอกาสหรือเป็นภาระตามหน้าที่ที่จะต้องไปสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เขาในฐานะผู้สอน หากอาการเช่นนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ส่อถึงสภาพที่กล่าวมาแล้ว และเป็นสัญญาณอันตรายที่แจ้งให้ทราบว่า สถาบันสงฆ์ได้คลาดเคลื่อนออกไปจากฐานะที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ตน ลงไปสู่ภาวะเคว้งคว้างเลื่อนลอยแล้ว และไม่รู้ตัวว่ากำลังปลอบใจตนเองด้วยการยึดเอารูปแบบที่พอใจซึ่งสืบต่อมาจากอดีตว่าเป็นฐานะของตน; แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงส่วนประกอบอีกส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งซ้อนอยู่เบื้องหลังส่วนที่เป็นรูปแบบนั้น และเป็นส่วนที่จะก้าวออกมาเป็นส่วนหน้าของสังคมต่อไป สถาบันสงฆ์ก็อาจจะได้ตระหนักว่า ตนยังไม่มีฐานะที่มั่นใจในสังคมที่จะมาถึงข้างหน้า และทุนที่จะดำรงฐานะของตนไว้ ก็แทบจะยังไม่ได้เตรียมทำไว้เลย)

อนึ่ง ปัจจุบัน รัฐได้เริ่มแสดงอาการเอื้อมมือกลับเข้ามาขอรับความร่วมมือในทางการศึกษาจากคณะสงฆ์ใหม่อีก

ในสภาพเช่นนี้ รัฐจะต้องเตรียมจิตใจไว้ให้พร้อมที่จะมองเห็นความอิดโรยและความไม่พร้อมต่างๆ ของคณะสงฆ์ด้วยความเห็นใจและเข้าใจ จะต้องไม่ท้อแท้หรืออิดหนาระอาใจแล้วเลิกราไปเสียก่อน เพราะคณะสงฆ์ได้ถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้งมาเสียนาน ก็ต้องอดทนเอาหน่อย

นึกเสียว่า เป็นผลกรรมเก่าที่ได้ร่วมกันทำไว้ จะได้ตั้งหน้าระดมความเพียรพยายามขึ้นมาชดเชยให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ

พร้อมกับการมีคุณค่าอันสำคัญ สถาบันสงฆ์ปัจจุบันก็มีปัญหาและก่อให้เกิดปัญหามากมายหลายอย่าง ที่ยกมาพูดข้างต้นเป็นเฉพาะบางส่วนที่เห็นว่าสำคัญอย่างยิ่งเท่านั้น และเท่าที่กล่าวมาก็หวังว่าคงพอจะเป็นส่วนช่วยประกอบความคิด ให้มองเห็นสภาพปัญหา จุดที่ควรแก้ไขหรือส่งเสริม และลู่ทางปฏิบัติได้บ้างพอสมควร

ปัญหายังมีอยู่อีกมาก และคุณค่าก็ยังมีอยู่อีกมากเช่นเดียวกัน แต่จะพูดต่อไปก็จะยาวขึ้นทุกทีจนหาที่จบยาก จึงเห็นควรยุติเพียงนี้ก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — โดยความรับผิดชอบ เมื่อติเตียนพระเณร ก็อย่าลืมติเตียนตนเองด้วยบันทึกที่ ๒ ปัญหาเกี่ยวกับ ความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. การเริ่มความร่วมมือกำหนดด้วยพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จะให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทย แลสอนเลขทุกๆ พระอาราม ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ การตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ และการตรา พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ใน พ.ศ. ๒๔๔๖; การแยกพระสงฆ์จากการศึกษา กำหนดด้วยการเปลี่ยนกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ ใน พ.ศ. ๒๔๖๒

No Comments

Comments are closed.